วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เรื่องเล่าจาก “ลุงสมควร”

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ในบ่ายของวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ วันเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารครั้งที่ ๑๘ ในประเทศไทย ที่ห้องประชุมโรงเรียนวัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ผมได้รับการประสานจากเพื่อนภาคีมาช่วยให้แง่คิดในเวทีติดตามประเมินผลกองทุนสวัสดิการชุมชนของจังหวัดนครปฐม เพื่อยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้เป็นงานสืบเนื่องมาจากปีก่อนที่ผมได้เข้ามาร่วมเป็นทีมประเมินผลกองทุนมาแล้วครั้งหนึ่ง

ช่วงหนึ่งของการประชุมมีการเรียนเชิญกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มาเล่ากระบวนการทำงานให้ผู้บริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนอื่นๆ เกือบ ๔๐ แห่ง ได้ฟังกัน ต้องบอกว่านับเป็นความโชคดียิ่งนัก ที่ผมได้มีโอกาสฟังและได้เรียนรู้เรื่องราวจากบุคคลคนหนึ่ง ที่เป็นมดงานตัวน้อยที่กำลังทำงานพัฒนาชุมชนของตนเอง อันเป็นฐานล่างสุดของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

“ลุงสมควร” หรือ “สมควร รวยเรืองรุ่ง” คือ บุคคลที่ผมกำลังกล่าวถึง ชายสูงวัยที่ผ่านชีวิตข้าราชการครูมาอย่างยาวนาน ผู้อุทิศเวลาอันแสนสุขสบายมาทำงานจิตอาสาในตำแหน่ง “เลขานุการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลน เป็นงานที่ต่อยอดมาจากชมรมผู้สูงอายุของตำบลบางเลน โดยเมื่อปี ๒๕๕๒ ได้มีการจัดประชุมและเชิญวิทยากรไปพูดถึงเรื่อง “กองทุนสวัสดิการชุมชน” ให้กับสมาชิกชมรมฟัง และที่ประชุมเห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้งเป็น “กองทุนสวัสดิการชุมชน” จึงได้เปิดรับสมัครในวันนั้น โดยเริ่มต้นที่ตัวกรรมการชมรมผู้สูงอายุ ได้สมาชิกในวันนั้นรวม ๒๓ ราย และมีการเลือกกรรมการขึ้นมาบริหาร โดยได้เชิญเจ้าของร้านทองเข้ามาเป็นประธานกรรมการกองทุน

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนและมีกรรมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีความพยายามหาสมาชิกเพิ่มเติม กลับพบว่าชาวบ้านต่างปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะในช่วงนั้นเกิดความล้มเหลวในการดำเนินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์พอดี จึงทำให้ชาวบ้านต่างเข็ดขยาด

จากปัญหาดังกล่าวทางกรรมการก็มีไม่หยุดยั้ง ยึดหลักการสำคัญว่า “บอกให้เขารู้ ทำให้เขาเห็น” จนในที่สุดทางกองทุนฯได้รับการจดแจ้งจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ จึงได้ใช้ใบจดแจ้งนี้เป็นใบเบิกทางขยายฐานสมาชิกให้มีจำนวนมากขึ้น

จากวันนั้นถึงวันนี้กองทุนมีสมาชิกกว่า ๑,๓๐๐ ราย มีเงินหมุนเวียนกว่า ๒ ล้านบาท มีการจัดสวัสดิการ ๗ ด้าน คือ สวัสดิการสำหรับการเกิด การเจ็บป่วย การเสียชีวิต ผู้ด้อยโอกาส การศึกษา วัฒนธรรมประเพณีและกรณีฉุกเฉิน เช่น การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติเมื่อ ๒ ปีก่อน

“ต้องยอมรับว่าพวกเราไม่ใช่นักขายประกัน ไม่เคยผ่านการอบรมเทคนิคการพูด จึงพูดดุ่ยๆ ครั้งแรกก็เป็นอย่างนี้ ครั้งเวลาผ่านไปสัก ๑ ปี กองทุนได้รับการจดแจ้งจัดตั้งเป็นองค์กรสวัสดิการชุมชนแล้วเปรียบเสมือนเรามีใบรับประกัน เมื่อมีโอกาสลงพื้นที่จะไปทำอะไร เราก็ติดสำเนาใบรับประกันไปด้วยเอาให้ชาวบ้านดู บอกว่ากองทุนเราไม่ใช่กองทุนเถื่อน การพูดหาสมาชิกเราก็ไม่ต้องพูดมากมาย

วิธีการที่ใช้มี ๔ อย่าง คือ

หนึ่ง : บอกให้เขารู้ จะใช้ทุกวิธีที่ทำได้เพื่อทำให้ประชาชนมีความรู้เรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน เช่น ทำแผ่นพับแจก ออกเสียงตามสายของเทศบาล ลงพื้นที่พบปะประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมกับทางเทศบาลทุกโอกาสที่มี

สอง : ทำให้เขาเห็น ข้อนี้สำคัญสุด ถือเป็นหัวใจ เช่น การรับขวัญเด็กแรกเกิด การชดเชยการเจ็บป่วยจากการนอนโรงพยาบาล หากมีใบรับรองแพทย์ก็จะเอาเงินไปมอบให้ หากตายก็จะไปร่วมงานศพ มอบเงินสวัสดิการต่อหน้าคนที่มาร่วมงาน ก่อนมอบก็ขอเวลาบอกให้เขารู้ที่ไปที่มาของเงิน เช่น บอกเขาว่าเป็นสมาชิกเมื่อไร รวมเวทีกี่ปี ส่งเงินเข้ากองทุนเท่าไร วันนี้กองทุนมามอบเป็นเงินเท่าไร แล้วเปรียบเทียบให้เขาเห็นว่ามีผลจ่ายคืนเป็นกี่เท่าของเงินที่ส่งเข้ากองทุน ซึ่งทุกกรณีจะมียอดหลายเท่า

นอกจากจะทำให้เขาเห็นเกิด เจ็บ ตายแล้ว ก็ยังทำกับกรณีอื่น ๆ อีก เช่น ช่วยเหลือผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุที่ยากไร้ ก็ใช้วิธีทำให้เขาเห็น คือ ชวนกรรมการกองทุนไปกันหลาย ๆ คน คนบ้านใกล้เรือนเคียงเห็นออกมาดู เราก็ชวนไปด้วยกัน ที่นี้ก็จะมีคนพูดปากต่อปากขยายวงออกไป

สาม : ขจัดปัญหา มีปัญหาอะไร ประธานและกรรมการต้องรีบลงไปแก้อย่างทันที

สี่ : สร้างศรัทธาให้เกิด ซึ่งเรื่อง “ศรัทธา” เป็นผลจากการทำตั้งแต่ข้อแรก เมื่อทำให้เขาเห็น เขาก็จะเกิดความรู้สึกว่า “เราทำได้จริงและได้หลายเท่าด้วย” ความศรัทธาก็จะเกิดขึ้นตามมา สิ้นปีเมื่อมีการประชุมสมาชิกประจำปี เราก็ชี้แจงรายรับรายจ่าย อธิบายว่าใครได้รับสวัสดิการจากกองทุนไปบ้าง เป็นเงินเท่าไร”

ผมฟัง “ลุงสมควร” ไป ในใจก็คิดตามไปด้วยและเห็นว่า “ยุทธวิธี” ที่เล่านี้ไม่มีในตำราทางวิชาการอย่างแน่นอน มีช่วงหนึ่งลุงตอบผู้เข้าร่วมเวทีที่ถามว่า “มีวิธีการเชื่อมร้อยกับทาง อปท. อย่างไร” ยิ่งทำให้ประทับใจมากขึ้น

“สิ่งที่ อปท. เขากลัวมากที่สุดก็คือ เขาจะเพ่งเล็งว่าเราทำตรงนี้เพื่อหาเสียง สร้างฐานคะแนนเสียงเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้าหรือเปล่า ฉะนั้นเราต้องสร้างความมั่นใจให้เขาไว้ใจ โดยเฉพาะกับตัวนายกเทศมนตรี โดยจะทำอะไรก็ไปบอกให้ตัวนายกได้รับรู้ และถ้าเป็นไปได้ก็จะเอาตัวนายกไปด้วย

เราคนทำงานไม่จำเป็นต้องเสนอหน้า ดันให้นายกเดินหน้าเข้าไว้ และรวมไปถึงตัวรองนายกฯ และสมาชิกสภาด้วย เมื่อทำบ่อย ๆ ความเข้าใจและไว้วางใจก็จะเกิดขึ้น งานก็เดิน พองานเดิน เราก็ใช้โอกาสเสนอขอรับการสนับสนุนเงินสมทบจากทางเทศบาล

การของบประมาณก็ต้องทำให้ทันวงจรงบประมาณของ อปท. ประมาณเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อให้หน่วยนโยบายและแผนทำเรื่องบรรจุไว้ในแผนของเทศบาล ประกาศเป็นเทศบัญญัติต่อไป ซึ่งเมื่อผ่านสภาออกมาเป็นเทศบัญญัติแล้ว เทศบาลก็จะมาเชิญเราไปทำบันทึกข้อตกลงแล้วก็โอนเงินเข้าบัญชีให้เรา เงินที่ อปท. โอนให้กองทุนหากใช้ไม่หมดภายในปี ไม่ต้องส่งคืน เพราะเป็นเงินสมทบตามระเบียบ เราต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำก็อย่าไปโทษ อปท. ว่าเขาไม่ให้”

เมื่อผมตั้งคำถามไปว่า “มีวิธีการใช้เงินกองทุนอย่างไร” “ลุงสมควร” ก็ตอบทันควันว่า

“กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางเลน จะแบ่งเงินออกเป็น ๕ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ ร้อยละ ๕ ของเงินทั้งหมด จัดเป็นเงินคงคลังของกองทุน
ส่วนที่ ๒ ร้อยละ ๓๐ ของเงินทั้งหมด เป็นเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ส่วนที่ ๓ ร้อยละ ๔๐ ของเงินทั้งหมด เป็นเงินสำหรับใช้จ่าย เพื่อการบริหารจัดการ และการจัดสวัสดิการด้านต่าง ๆ ให้สมาชิก เงินส่วนนี้หากไม่พอใช้ก็สามารถดึงมาจากส่วนที่ ๒ ได้
ส่วนที่ ๔ ร้อยละ ๑๐ ของเงินทั้งหมด จัดเป็นทุนการศึกษาให้กับสมาชิกที่เป็นนักเรียนนักศึกษา
ส่วนที่ ๕ ร้อยละ ๑๕ ของเงินทั้งหมด เป็นเงินกองทุนสำหรับจัดการเกี่ยวกับภัยพิบัติต่าง ๆ "


โดยเงินทั้ง ๕ ส่วน จะนำมาจัดสรรใหม่ทุกสิ้นปี”

ผมฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะชื่นชมกับข้อมูลที่พรั่งพรูออกมาจากปาก “ลุงสมควร” เป็นอย่างมาก ในใจยอมรับว่านี้เป็นการออกแบบการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนที่แยบยลระดับมือพระกาฬจริง ๆ

"ทางกองทุนเห็นว่า การศึกษาดูงานเป็นเรื่องสำคัญ จึงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ไปดูที่ อบต.ไร่ส้ม จังหวัดเพชรบุรี ที่ อบต.อ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปพิษณุโลก กำแพงเพชร ก็ได้อะไรดี ๆ มาใช้ แต่ต้องบอกว่าบางแห่งก็สู้เราไม่ได้

บางกองทุนไม่รับผู้สูงอายุเป็นสมาชิก ด้วยเหตุผลว่าใกล้ตาย เรื่องอะไรจะเอาผีมานฝากไว้กับกองทุน เราคิดว่าความคิดนี้ไม่ใช่ ไม่ควรกีดกัน เรามีวิธีแก้โดยตั้งเงื่อนไขว่า หากใครมีอายุ ๖๐ ปี จะสมัครเข้ากองทุน ต้องหาลูกหลานที่อายุไม่มากมาเข้าด้วย ไม่น้อยกว่า ๑ คน ถ้าอายุ ๗๐ – ๘๐ ปี ต้องไม่น้อยกว่า ๒ คน แต่หากหาไม่ได้จริง ๆ เราก็รับเป็นสมาชิก”

กว่า ๓๐ นาทีที่ผมได้ฟังเรื่องเล่าจาก “ลุงสมควร” เกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลน นับเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่หาไม่ได้ในตำรา

ผมสรุปบทเรียนทิ้งท้ายก่อนจบไว้ว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จจากการบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางเลนนั้น มี ๕ ประการ

หนึ่ง : การมีแกนนำขับเคลื่อนที่มีจิตใจที่มุ่งมั่น เกาะติด ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค

สอง : การมีทีมงานที่เข้มแข็ง นั่นก็คือ กรรมการบริหารกองทุน ที่ทำงานเป็นทีม และที่สำคัญมีการวางตัวกรรมการแต่ละคนในบทบาทที่เหมาะสม เฉกเช่น การให้เจ้าของธุรกิจร้านทองมาเป็นประธานกรรมการบริหารกองทุน

สาม : มีการเชื่อมโยงกับทาง อปท. อย่างมีศิลปะ โดยเข้าใจในงานของ อปท. ที่ทำงานอยู่บนความต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน ฉะนั้นจึงมีการวางทีท่าระหว่างกรรมการกับผู้บริหาร อปท.ที่เหมาะสมและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

สี่ : มียุทธศิลป์ในการทำงาน ซึ่งจะเห็นได้จากกิจกรรมที่กรรมการบริหารกองทุนได้ทำในหลายเรื่อง ทั้งการบอกให้เขารู้และทำให้เขาเห็น

ห้า : มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยการเรียนรู้ทั้งจากวิทยากร และการดูงานจากกองทุนสวัสดิการชุมชนแห่งอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีการนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

ว่าไปแล้วการพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชน ถือเป็นหน่ออ่อนสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ยิ่งทำให้เห็นพลังของสวัสดิการชุมชนสู่ความยั่งยืนของชุมชน หากทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการขับเคลื่อน พลังจิตอาสาสร้างสวัสดิการชุมชน จึงเป็นหัวใจสำคัญสู่การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนต่อไปในอนาคต

นี่คือเรื่องราวดี ๆ จากปากของ "ลุงสมควร" ที่เกิดขึ้นก่อนการทำการรัฐประหารยึดอำนาจไม่เกิน ๒ ชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น