๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่สถานการณ์ประเทศไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้งในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับมิติทางด้านสังคมยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะการลงทุนกับงานทางด้านประชากรไทยตั้งแต่แม่เริ่มต้นตั้งครรภ์ เพื่อสร้างประชากรที่เติบโตมีคุณภาพในอนาคต
ผมนั่งอ่านแนวทางการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศออกมา ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การปฎิรูปทางด้านการเมืองการปกครอง เช่น การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปการเลือกตั้ง และการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจ แน่นอนเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน แต่อย่างไรก็ตามการปฏิรูปทางด้านประชากรไทย ก็นับเป็นเรื่องเร่งด่วนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ ?
• อัตราเพิ่มของประชากรไทยเมื่อปี ๒๕๕๓ อยู่ที่ร้อยละ ๐.๗๒ ลดลงจากเมื่อ ๒๐ ปีก่อนที่มีอัตราเพิ่มที่ร้อยละ ๒.๑
• ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างมาก โดยในปี ๒๕๕๓ วัยแรงงาน ๕.๗ คน ต้องดูแลผู้สูงอายุ ๑ คน แต่หากอัตราการเกิดเป็นแบบนี้ต่อไป อีก ๒๐ ปีข้างหน้า วัยแรงงาน ๒.๔ คน จะต้องมีภาระดูแลผู้สูงอายุ ๑ คน
• สตรีไทยมีอัตราเจริญพันธุ์หรือให้กำเนิดบุตรน้อยมาก เฉลี่ยคนละ ๑.๖ คน ลดลงจากปี ๒๕๑๙ หรือเมื่อประมาณ ๒๕ ปีก่อน ที่มีอัตราเฉลี่ยคนละ ๔.๙ คน (ข้อมูลปี ๒๕๕๓)
• มารดาที่มีอายุ ๒๐ – ๓๔ ปี มีอัตราการคลอดร้อยละ ๗๐.๓ ของจำนวนมารดาคลอดทั้งหมด ในขณะที่มารดาที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี อยู่ที่ร้อยละ ๐.๕ อายุระหว่าง ๑๕ – ๑๗ ปี ร้อยละ ๗.๕ อายุระหว่าง ๑๘ – ๑๙ ปี อยู่ที่ร้อยละ ๘.๗ และที่มีอายุสูงกว่า ๓๕ ปี ขึ้นไป อยู่ที่ร้อยละ ๑๓.๐
• สตรีที่สมรสที่มีอายุ ๑๕ – ๔๙ ปี จะมีอัตราคุมกำเนิด ร้อยละ ๗๙.๓ (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)
• วิธีการคุมกำเนิดของสตรีที่สมรสที่มีอายุ ๑๕ – ๔๙ ปี คือการกินยาเม็ดคุมกำเนิด ร้อยละ ๓๕ รองลงมือคือการใช้วิธีทำหมันถาวร ร้อยละ ๒๓.๗ ส่วนการใช้ถุงยางอนามัย มีการใช้เพียง ๒.๓ (ข้อมูลปี ๒๕๕๒)
• มารดาที่มีอายุระหว่าง ๑๕ – ๑๙ ปี มีอัตราการทำแท้งอยู่ที่ร้อยละ ๒๓.๘ และที่น่าวิตกมากก็คือมีมารดาที่มีอายุยังไม่ถึง ๑๕ ปี มาทำแท้งร้อยละ ๓.๖ จากจำนวนผู้ทำแท้งทั้งหมด (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)
• มารดาที่มาทำแท้งทั้งหมด มีสถานภาพเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ ๓๐.๘ (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)
• มารดาที่มีอายุน้อยกว่า ๑๘ ปี มีการตั้งครรภ์ซ้ำแล้วมาคลอดบุตร อยู่ในอัตราร้อยละ ๕.๔ ของมารดาที่มาคลอดทั้งหมด (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)
• มีนักเรียนออกจากการศึกษากลางคันด้วยเหตุสมรสแล้ว ร้อยละ ๖.๕ ของการออกทุกสาเหตุ
• มารดาที่ช่วงอายุ จะคลอดทารกที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ ๑๐.๔ โดยมารดาที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี คลอดทารกจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ สูงสุดที่ร้อยละ ๑๘.๒ ในขณะที่มารดาที่มีอายุระหว่าง ๑๕ – ๑๙ ปี จะคลอดทารกที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นลำดับรองลงมา ที่ร้อยละ ๑๓.๗ (ข้อมูลปี ๒๕๕๕)
จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมอนามัยโดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ จึงได้มีการจัดทำ “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๒) ว่าด้วยการเกิดที่มีคุณภาพ” ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับ "ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒" ที่ออกตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๓๑ ที่เขียนไว้ว่า “ให้รัฐจัดให้มีแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แบบมีส่วนร่วม”
กระบวนการยกร่างทั้ง ๔ ครั้ง ให้ความสำคัญกับการเชื้อเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้าง “ความเป็นเจ้าของ” ผ่าน “ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” อันประกอบด้วย พลังความรู้ พลังการเคลื่อนไหวสังคม และพลังทางการเมืองและอำนาจรัฐ ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็นทีมคณะทำงานยกร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ครั้งนี้ด้วย
เวทีครั้งที่ ๑ : ธันวาคม ๒๕๕๖ จัดประชุมปรึกษาหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิ ถึงเป้าหมายการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรมีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงไปที่ “การเกิดที่มีคุณภาพ”
เวทีครั้งที่ ๒ : ๒๔ – ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่จังหวัดชลบุรี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมองในการจัดทำ (ร่าง) นโยบายและยุทธศาสตร์ โดยมีผู้แทนหน่วยงาน นักวิชาการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้ร่วมกันจัดทำโครงสร้าง กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์ร่วมกัน
เวทีครั้งที่ ๓ : ๓ เมษายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์จากผู้ทรงคุณวุฒิ
เวทีครั้งที่ ๔ : ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมกรมอนามัย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนโยบายและยุทธศาสตร์จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนองค์ภาครัฐ
ต่อมาในช่วงบ่ายของวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมของโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ได้จัดให้มีเวทีครั้งที่ ๕ ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง “นโยบายและยุทธศาสตร์” จากภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน กว่า ๑๐๐ คน ที่เป็นตัวแทนจากสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ องค์กรสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร เครือข่ายภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น
โครงสร้างของ ร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ได้นำเสนอต่อเวทรับฟังความเห็นครั้งนี้ ประกอบด้วย ๕ ส่วน คือ
ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยบทนำ
ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดที่มีคุณภาพ
ส่วนที่ ๓ ว่าด้วยกฎหมาย นโยบายและบทเรียนจากต่างประเทศ
ส่วนที่ ๔ ว่าด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายใน
ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยสาระสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์
ส่วนที่ ๕ ว่าด้วยการบริหารจัดการนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
สาระสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ในส่วนที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้เข้าร่วมเวทีให้ความสนใจและเสนอแนะนำความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง มีเนื้อหาสาระโดยย่อ ดังนี้
วิสัยทัศน์ : การเกิดทุกรายเกิดจากความต้องการและความพร้อมทุกด้านของผู้ให้กำเนิดเพื่อให้ได้ประชากรที่มีคุณภาพ
เป้าหมายหลัก ๒ ประการ คือ
(๑) ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการตั้งครรภ์ที่มีการวางแผน มีความตั้งใจและอยู่ในวัยอันสมควร
(๒) ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน มี ๖ ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมให้การเกิดทุกรายเกิดจากความตั้งใจ และมีการวางแผน ซึ่งจะนำไปสู่การคลอดที่ปลอดภัย ทารกแรกเกิดมีสุขภาพแข็งแรง ผู้ให้กำเนิดสามารถเลี้ยงดูให้เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาทักษะชีวิตส่วนบุคคล เป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ค่านิยมและมีทักษะชีวิตของปัจเจกบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย ให้สามารถประพฤติปฏิบัติและมีพฤติกรรมที่ถูกต้องทั้งมิติด้านสาธารณสุข และด้านสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดที่มีคุณภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างและส่งเสริมชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับชุมชน มีศักยภาพด้านการจัดการ ทั้งด้านสภาพแวดล้อม วิชาการและการประสานความร่วมมือกับกลไกต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือกันอย่างบูรณาการ
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การปรับระบบบริการทางสุขภาพและสังคม เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาสถานบริการทั้งในและนอกระบบสุขภาพ ให้มีศักยภาพในการรองรับการเกิดที่มีคุณภาพ ทั้งในมิติการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ การป้องกันแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุการณ์ และการจัดการภายหลังการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ของกลไกทั้งในส่วนของภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และองค์กรชุมชนท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การพัฒนากฎหมาย และกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้มีการพัฒนากฎหมาย และกำหนดนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมให้เอื้อต่อการดาเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการจัดการความรู้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการ และพัฒนาระบบจัดการความรู้ของหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
กว่า ๓ ชั่วโมง ในเวทีต่างมีผู้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้มี “การเกิดที่มีคุณภาพ” สามารถสรุปสาระสำคัญออกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ ๑ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์
• การนำเสนอให้เห็นผลการประเมินนโยบายและยุทธศาสตร์ ระยะที่ ๑
• การเชื่อมโยงด้านเนื้อหากับแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑
• กำหนดระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดของนโยบายและยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาของแผนพัฒนา ฉบับที่ ๑๑
กลุ่มที่ ๒ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหาของนโยบายและยุทธศาสตร์
• มีมาตรการที่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนเป้าหมายเฉพาะ เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม ชาวเขา กลุ่มประชาชนมุสลิม กลุ่มคนที่ต้องการมีบุตรโดยไม่ต้องมีครอบครัว กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
• เพิ่มมาตรการรองรับการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นนักเรียนให้เหมาะสม
• เพิ่มบทบาทของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ให้เข้ามาหนุนเสริมงานการเกิดที่มีคุณภาพให้มากขึ้น
• เพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม
• การกำหนดทิศทางการเพิ่มขึ้นของประชากร เพื่อทดแทนอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยที่อยู่ในระดับต่ำ
• เพิ่มมาตรการในระบบบริการสุขภาพเชิงรุกให้มากขึ้น
• ให้ความสำคัญกับบทบาทของครอบครัว บทบาทของพ่อแม่ให้เพิ่มขึ้น
• คำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพด้านกำลังคน โดยเฉพาะทัศนคติของกำลังคนด้านการศึกษา
• ออกแบบระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตของประชาชนที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นเร็วขึ้น
• ใช้มาตรการทางการสื่อสารสาธารณะสมัยใหม่เข้ามาช่วย
• ใช้มาตรการทางการเงินการคลังเข้ามาส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ
กลุ่มที่ ๓ ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ
• กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยงานสนับสนุนให้ชัดเจน เพื่อการติดตามและประเมินผล
• บูรณาการนโยบายและยุทธศาสตร์กับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
• กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน วัดได้ ไม่ลงทุนมากเกินความจำเป็น ควรคำนึงถึงตัวชี้วัดที่มีอยู่เดิมแล้ว
สถานการณ์ทั้งหมดจากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้จะไม่มีความหมายใด ๆ เลย ถ้าทุกฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญ ดังนั้นกระบวนการทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ให้เป็นจริงได้นั้น ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะให้เรื่องราวเหล่านี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นในการปฏิรูปประเทศไทยของทุกภาคส่วนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในกระแสช่วงนี้ให้ได้อย่างจริงจัง และทุกฝ่ายต่างมองเห็น “ความสำคัญในการพัฒนาคนที่ยั่งยืนในอนาคต”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น