วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

“ย้อนชีวิต” ในวันงดสูบบุหรี่โลก

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ผมยังจำภาพนั้นได้ดี ย้อนไปเมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว จุดนัดพบของพวกเรา คือ “ซุ้มชาละวัน พิจิตร” ที่ตั้งอยู่หลังอาคารคณะพาณิชย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ภายในซุ้มรุ่นพี่ ๆ ได้ช่วยกันจัดหาโต๊ะไม้พร้อมที่นั่ง ๓ ชุดตั้งอยู่ขนาบกับต้นสนริมรั้ว มีป้ายไม้บอกชื่อกลุ่มตั้งอยู่ แต่ละวันช่วงเปิดการเรียนการสอนก็จะมีพี่ ๆ เพื่อน ๆ ชาวพิจิตรต่างมานั่งพัก พูดคุยกัน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเรียนตามคาบเวลาที่ทำการสอน

ผมก็ไม่ต่างจากเด็กพิจิตรคนอื่น ๆ เริ่มมีเพื่อนสนิทที่ซุ้มมากขึ้น มีกิจกรรมสังสรรค์ในตอนเย็นหลังเลิกเรียนเพิ่มขึ้น จับกลุ่มนั่งล้อมวงคุยกัน โดยมี “เหล้า” เป็นสื่อกลางในการร้อยประสานสมาชิกให้แนบแน่น เสียงกีต้าร์ดีดเป็นจังหวะเพื่อให้ทุกคนส่งเสียงตามบทเพลงที่คุ้นหู

เมื่อมี “เหล้า” เป็นผู้พี่ “บุหรี่” ผู้เป็นน้องก็ตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ภาพอดีตวันนั้นผุดขึ้นมาพร้อมกับที่เสียงจากโทรทัศน์บอกว่า “วันนี้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก” หรือ “ World No Tobacco Day”

จากเด็กบ้านนอกที่เกิดและเติบโตอยู่ในตำบลหนึ่งของจังหวัดพิจิตร ซึ่งมีโอกาสน้อยครั้งมากที่จะเข้าเมืองหลวง เมื่อคุณพ่อคุณแม่อนุญาตให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ “มหาวิทยาลัยรามคำแหง” หลังจากที่ปฏิเสธการไปรายงานตัวเรียนวิชาชีพครูที่ “วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม” แม้ตัวเองจะสอบติดก็ตาม

รถไฟสายเด่นชัย-กรุงเทพฯ จอดรับผมและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ในช่วงหัวค่ำของวันหนึ่งเมื่อปี ๒๕๒๒ จวบจนอรุณรุ่งของอีกวันหนึ่ง รถไฟก็มาจอดที่ชานชลาสถานี “ดอนเมือง”

ผมกับคุณแม่นั่งรถต่อไปยังบ้านพี่สาว ซึ่งเป็นลูกสาวของคุณลุงที่มาตั้งครอบครัวอยู่แถว ๆ สะพานดวงมณี ติดกับรั้วกองบัญชาการทหารอากาศ ดอนเมือง

และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจากเด็กบ้านนอกก็เริ่มกลายเป็นเด็กเมืองหลวงทีละน้อย ๆ

ผมสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยาศาสตร์ และกลายเป็น “ลูกพ่อขุน” ตั้งแต่นั้นมาด้วยรหัส “๒๒” ได้พบเพื่อน ๆ จากจังหวัดพิจิตรที่มาเรียน ณ มหาวิทยาลัยเปิดแห่งนี้หลายคน บางคนเรียนนิติศาสตร์ บางคนเรียนรัฐศาสตร์ บางคนเรียนพาณิชย์ศาสตร์ จากการที่ได้พบได้เจอกันบ่อย ๆ ก็เกิดความสนิทสนมเป็นเพื่อนกัน และกลายมาเป็นสมาชิก “ซุ้มชาละวัน พิจิตร”

ผมเริ่มลองสูบจากก้นบุหรี่ที่เพื่อน ๆ คนหนึ่งจุด แล้วส่งเวียนไปให้กับเพื่อนที่นั่งร่วมวงในซุ้มทีละคน ๆ

เมื่อลองบ่อย ๆ เข้า จากที่รอขอสูบจากเพื่อนกลายมาเป็น “ซื้อเอง” หนังสือที่ถือมาเรียนหากเปิดดูจะมีมวนบุหรี่วางอยู่ในซอกหนังสือ ๑ ตัวบ้าง ๒ ตัวบ้าง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาในกระเป๋าเสื้อที่ผมใส่ไปเรียน จะปรากฏซองบุหรี่ยี่ห้อต่าง ๆ อยู่เสมอ

ผมติดบุหรี่ไปโดยไม่รู้ตัว หลังกินข้าวทุกมื้อต้องสูบ เข้าห้องน้ำต้องสูบ รู้สึกเครียดกับการเรียนต้องสูบ ว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไรต้องสูบ คุยกับเพื่อนต้องสูบ เดินตามถนน ไปเรียน ไปเที่ยวต้องสูบ

ข่าวเรื่องผมสูบบุหรี่รู้ไปถึงคุณพ่อคุณแม่ เมื่อพี่สาวพบที่เขี่ยบุหรี่พร้อมก้นบุหรี่ภายในห้องพัก จนต้องตักเตือนให้เลิก แต่ผมก็ไม่สามารถเอาชนะใจตัวเองให้เลิกได้

๓ ปีครึ่ง ที่ผมอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ นอกจาก “ใบปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง” แล้ว ผมยังได้ “โรคติดบุหรี่” เป็นปริญญาใบที่สอง

จำได้แม่นยำว่า หลังจากทำงานผ่านไปกว่า ๑๐ ปี ทั้งที่ภัตตาคารเสริมมิตร แถว ๆ ถนนลาดพร้าว กองประปาชนบท กรมอนามัย และศูนย์ประปาชนบท จังหวัดขอนแก่น แม้บุหรี่จะเป็นเพื่อนคู่กาย แต่ก็ไม่มากเท่าช่วงที่มาบุกเบิกงานที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่ “ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต ๘ นครสวรรค์” บุคลากรเพียง ๗ คน กับภาระงานมหาศาล และสิ่งที่ผมนำมาขจัดความเครียดจากงาน นั่นก็คือ “บุหรี่”

ผมสูบบุหรี่หนักมาก บางวันเกือบ ๒ ซอง บางครั้งสูบแบบมวนตัวมวน เล็บมือที่ครีบบุหรี่กลายเป็นสีเหลือง เพราะควันบุหรี่ ตื่นเช้าขึ้นมาจะมีเสลดสีดำ ๆ ออกมา

จนวันหนึ่ง ผมต้องไปพบหมอด้วย “โรคภูมิแพ้” หมอท่านนั้นเอ่ยกับผมตอนหนึ่งว่า “สูบต่อไปเถอะ เดี๋ยวก็ตายแล้ว”

จากคำพูดหมอวันนั้น ผมเริ่มคิด “เลิกสูบบุหรี่”

ทุกเย็นผมหาเวลาไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะกลางใจเมืองนครสวรรค์ แต่ผมก็ยังไม่สามารถเอาชนะใจตัวเองได้

จนเวลาผ่านไปอีกหลายเดือน

วันนั้นที่บ้านพักส่วนตัว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองหลายกิโลเมตร ผมมีบุหรี่ติดตัวเพียง ๓ มวน และบุหรี่ก็หมดลงในช่วงบ่ายแก่ ผมพยายามเดินหาร้านค้าที่ขายบุหรี่แต่ก็ไม่มี จะขับรถเข้าเมืองก็ขี้เกียจไม่น้อย เลยตัดสินใจว่าจะลองอดบุหรี่ดู

ผมใช้ความพยายามอดทนต่อสู้กับความอยาก จนผ่านไปถึงเช้าวันจันทร์ได้ โดยสูบบุหรี่ในวันอาทิตย์เพียงมวนเดียว ด้วยการเดินไปขอจากเพื่อนบ้านที่อยู่ซอยถัดไป

ผมเดินทางไปทำงานในเช้าวันจันทร์วันนั้นด้วยความสดชื่น ในกระเป๋าเสื้อของผมไม่มีบุหรี่ติดไปเลย และในวันนั้น ผมก็มอบไฟแช็คยี่ห้อ “ซิปโป้” ที่แสนรักให้กับเพื่อนอีกคนหนึ่งไป

ปี ๒๕๓๗ คือปีที่ผมประกาศยุติการสูบบุหรี่

ผมมีบุหรี่เป็นเพื่อน ๑๕ ปีเต็ม

แม้ผมจะเลิกสูบบุหรี่มาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว แต่บุหรี่ก็ได้เข้ามาสร้างความเศร้าอย่างมหันต์ให้กับผมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมัจจุราชที่ชื่อ “บุหรี่” นี้เอง ที่มาพรากชีวิตของคุณแม่ผมไปด้วย “โรคมะเร็งในกล่องเสียง” เมื่อ ๑๓ ปีที่ผ่านมา

เนื่องใน “วันงดสูบบุหรี่โลก” ปีนี้ นอกจากจะส่งเสียงเตือนมายังเยาวชนคนรุ่นใหม่ว่า อย่าเข้าใกล้กับ “บุหรี่” เลย มันไม่ได้เท่แบบที่น้อง ๆ คิดหรอก แต่มันยังคือมหันตภัยร้ายที่ค่อย ๆ ฆ่าชีวิตเราไปอย่างใจเย็น

จำไว้เสมอว่า “ใจที่เข้มแข็ง” คือ เครื่องมือเลิกสูบบุหรี่ที่ชะงัดที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น