วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” : อีกเส้นทางการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีชีวิต

๕ มิถุนายน ๒๕๕๗

อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะถึงวันจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ซึ่งจะจัดในวันที่ ๑๗-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่จะถึงนี้ ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

“สมัชชาสุขภาพ” เป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่เน้นความเป็นระบบและการมีส่วนร่วม เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งได้ถูกจำแนกออกเป็น ๓ ประเภท คือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น

มาถึงวันนี้ ผมคิดว่าทุกคนคงไม่ปฏิเสธแล้วว่าเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” และ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่” ที่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจังมาหลายปี กลายเป็นคำตอบหนึ่งของสังคมไทยในการแสวงหาทางเลือกทางนโยบายในเรื่องต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามากำหนดทิศทางและอนาคตของตนเองร่วมกัน

ในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังได้มีการขับเคลื่อน “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีชีวิต เป็นนโยบายที่กินได้และเข้าถึง “หัวจิตหัวใจ” คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหรือประเด็นนั้น ๆ มาไม่น้อย ตัวอย่างเช่น
• สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ระบบข้อมูลข่าวสารแห่งชาติ
• สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยร่าง พ.ร.บ คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ.....
• สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไทย ฉบับที่ ๒
• สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี (พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๙)
• สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย
• สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๕๙

อย่างไรก็ตามผู้คนหรือสังคมยังรับรู้กระบวนการขับเคลื่อนดังกล่าวไม่มากนัก จึงทำให้หลายท่านอาจยังไม่คุ้นชินว่า “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” คืออะไร

“สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” คือ สมัชชาสุขภาพที่ใช้ประเด็นสาธารณะเป็นขอบเขตในการดำเนินงาน

ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านคำพูดของ “ดร.ศิริศักดิ์ เทพาคำ” รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ได้อธิบายคำว่า “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” นี้ไว้ในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยกระดับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยใช้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดขึ้นในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“สมัชชาได้เริ่มมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเห็นความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากพระสงฆ์ที่ไปเหยียบย่ำไร่นาทำให้ต้นข้าวและพืชผักที่ปลูกไว้เสียหาย จึงได้จัดประชุมปรึกษาหารือกัน และเห็นว่าควรกำหนดข้อกำหนดให้พระสงฆ์อยู่กับที่ในช่วงต้นฤดูฝน จึงเป็นที่มาของวันเข้าพรรษา-วันออกพรรษา”

หากวิเคราะห์ตามคำพูดข้างต้น จะพบว่า ดร.ศิริศักดิ์ฯ ได้จำแนกแยกแยะให้เห็นขั้นตอนหรือองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” ได้อย่างชัดเจน

โดยชี้ให้เห็นถึงการมีประเด็นที่ต้องการแก้ไขที่มีข้อมูลรองรับ ชี้ให้เห็นกระบวนการที่มีการใช้การปรึกษาหารือเป็นเครื่องมือ ชี้ให้เห็นผลลัพธ์การตัดสินใจที่เลือกใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหา และที่สำคัญยังชี้ให้เห็นผลการนำผลลัพธ์การตัดสินใจนั้นมาปฏิบัติ ซึ่งได้ปฏิบัติสืบต่อกันมากว่า ๒,๖๐๐ ปี จนถึงทุกวันนี้

เหตุผลสำคัญที่เกิดเวทีในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ ขึ้นมานั้น สืบเนื่องมาจากการเตรียมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในปลายปีนี้ ได้มีการเปิดรับประเด็นเชิงนโยบายจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ปรากฏว่ามีภาคีเครือข่ายหลายกลุ่มที่สนใจเครื่องมือนี้ ได้เสนอเรื่องเข้ามายัง สช. เพื่อขอกำหนดเป็นระเบียบวาระในการประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ ๗ นี้

จากการพิจารณาของกลไกทางวิชาการของคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่าหลายประเด็นที่เสนอเข้ามาควรนำเครื่องมือ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” มาขับเคลื่อนจะตรงกับแนวทางในการแก้ไขปัญหามากกว่า เวทีการประชุมในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นมา และเชิญชวนแกนนำแต่ละกลุ่มที่เสนอประเด็นเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจเครื่องมือนี้ร่วมกัน

๑๘ ประเด็นที่เสนอมานั้นมีความหลากหลายอย่างยิ่ง ได้แก่
• การแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทยพลัดถิ่น
• การจัดการลุ่มน้ำท่าจีน
• การจัดการศึกษาทางเลือกไทย
• การตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องมือวัดทางการแพทย์
• การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากการขุดเจาะปิโตรเลียม
• การสร้างเสริมสุขภาพพัฒนาเด็กปฐมวัยจากการอ่าน
• คนไร้สัญชาติ
• ธรรมนูญโรงเรียน
• ประมงเรือเล็ก
• มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี และพยาธิใบไม้ในตับ
• เยาวชนกับยาเสพติด
• ระบบบริการสุขภาพวิถีมุสลิม
• ระบบผังเมืองที่คุ้มครองสุขภาวะประชาชน
• สภาพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย
• สวัสดิการชุมชน
• สุขภาวะกลุ่มชาติพันธุ์
• สุขภาวะผู้สูงอายุ
• อ่าว ก. ไก่

ในเวทีดังกล่าว นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นว่าคุณค่าและกระบวนการของ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” นั้นเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เฉกเช่นเดียวกับ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” และ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่

มีการนำบทเรียนการนำสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นไปทำงานต่อเนื่องในอีก ๓ เรื่อง คือ

• “แผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยและจริยธรรมนาโนเทคโนโลยี่ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙” นำเสนอโดย ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ

• “การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย” นำเสนอโดย ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี นักวิชาการจากสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

• “การปฏิรูปนโยบายและกฎหมายเพื่อลดการผูกขาดและสนับสนุนการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย” นำเสนอโดย ดร.วณี ปิ่นประทีป ผู้อำนวยการสำนักประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ

ในช่วงบ่ายของการจัดเวที มีการแบ่งกลุ่มออกเป็น ๔ กลุ่ม และจัดสรรประเด็นทั้ง ๑๘ เรื่อง เข้าไปอยู่ในแต่ละกลุ่ม โดยตั้งโจทย์สำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ เป้าหมายการพัฒนาหรือสิ่งที่ต้องการแก้ไขคืออะไร และจะออกแบบการทำงานร่วมกันอย่างไร ส่งผลให้แกนนำแต่ละประเด็น/แต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ข้ามกลุ่ม และช่วยกันกำหนดคำตอบตามโจทย์ที่วางไว้

ผมได้มีโอกาสสะท้อนความคิดเห็น ๓ ประการ ในช่วงท้ายของการจัดเวทีในวันนี้

ประการแรก : การจัดเวทีวันนี้ คือ การแสดงเจตจำนงของกลุ่มคนที่มี “จิตสาธารณะ” เห็นประโยชน์ของบ้านเมืองร่วมกัน ที่เป็นเรื่องของ “การอภิบาลระบบ” ที่หมายถึง “การดูแลสังคม” ซึ่ง ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ได้เคยอธิบายไว้ว่ามี ๓ ระบบ คือ การอภิบาลโดยรัฐ การอภิบาลโดยทุนหรือตลาด และการอภิบาลโดยเครือข่าย ซึ่งงานในวันนี้เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับแนวคิดของ “การอภิบาลโดยเครือข่าย” ที่เกิดขึ้นจากคนตัวเล็กตัวน้อยมารวมกัน มาคิดด้วยกันเพื่อที่จะดูแลสังคมในแต่ละประเด็นร่วมกัน

ประการที่สอง : ได้เห็นรูปธรรมของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบสุขภาพ ซึ่งจากเดิมเมื่อเข้าไปในเวทีที่เกี่ยวข้องกับ “สุขภาพ” จะพบผู้คนที่อยู่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ แต่ในวันนี้คนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมาจากคนนอกวงการแพทย์และสาธารณสุข ได้เห็นทั้งกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนงานชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ ได้พบกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลาม กลุ่มคนที่สนใจงานด้านพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งกลุ่มคนที่สนใจในงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในช่วงวัยต่างๆ จึงนับเป็นคุณูปการของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ว่าเป็นเรื่องของ “สุขภาวะ” จึงทำให้คนทุกกลุ่มทุกระดับได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในการสร้างสุขภาวะของคน ของชุมชนและสังคมไทยเฉกเช่นภาพที่ปรากฏในเวทีนี้

ประการที่สาม : กระบวนการขับเคลื่อน“สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น” นอกเหนือจากการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแล้ว ยังมีเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีกลไกการทำงานที่มีหน้าที่ในการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นที่ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วม, การวิเคราะห์กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครอบคลุมกับประเด็นนั้นๆ, การสื่อสารสาธารณะที่กว้างขวาง, การจัดการความรู้เพื่อสรุปบทเรียนและยกระดับการทำงานต่อไปอย่างต่อเนื่อง และการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องพึงพิจารณาต่อไปในกระบวนการทำงาน

ว่าไปแล้วการเริ่มต้นออกสตาร์ทในวันนี้ จึงเป็นอีกเส้นทางสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เคียงคู่ไปกับเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” และ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่” ซึ่งวันหนึ่งดอกผลของสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นคงจะเบ่งบานไปทั่วสังคมไทยทุกหย่อมหญ้าและก่อให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดี เฉกเช่นมติสมัชชาครั้งพุทธกาลที่กำหนดให้พระสงฆ์อยู่กับที่ ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา และมีการนำมาปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น