วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“พุงเธอโตแล้วนะ”

๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๗

“โต....พุงเธอโตแล้วนะ”

หลังจากที่ผมยกมือไหว้และกล่าวสวัสดี นี้เป็นคำทักทายแรกจาก “พี่สง่า ดามาพงษ์” ในช่วงสายของวันศุกร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ก่อนการประชุมปรึกษาหารือในงานหนึ่งที่กรมอนามัย

ผมรู้จัก “พี่สง่า” มาเกือบ ๒๐ ปี ตั้งแต่สมัยที่กระทรวงสาธารณสุขยังตั้งอยู่ที่วังเทวะเวสม์ข้างๆที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติ ทุกเย็นในวันทำงาน เราจะพบกันบนรถบัสระหว่างเดินทางกลับไปยังที่พักแถวๆถนนลาดพร้าว

ผมค่อนข้างตกใจกับคำทักทายดังกล่าว เนื่องจาก “พุง คือ เครื่องชี้วัดบ่งบอกภาวะสุขภาพของเรา” ฉะนั้น คำทักทายนี้จึงเหมือนสัญญาณบอกว่า “ถึงเวลาแล้วที่ผมต้องรักสุขภาพให้มากขึ้น” คำทักทายจึงกลายเป็นคำแนะนำที่สำคัญยิ่งสำหรับผม

เพราะ “โรคอ้วนลงพุง” คือ ภาวะอ้วนที่มีไขมันสะสมบริเวณช่วงเอวหรือช่องท้องหรือ “พุง” ปริมาณมากๆ และก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายหลายระบบ

ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า “โรคเมตาบอลิคซินโดรม” หรือ Metabolic syndrome ถือเป็นกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ ๒ ด้วย ดังนั้นภาวะอ้วนลงพุงจึงนับว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้

ในวงวิชาการได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า ความยาวของเส้นรอบ “พุง” เป็นตัวบ่งชี้ภาวะอ้วนลงพุงที่ง่ายและชัดเจนที่สุด

มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันแล้วว่า คนเอเชียในปัจจุบันจะใช้การวินิจฉัยว่าใครจัดอยู่ในกลุ่มโรคอ้วนลงพุงบ้าง โดยดูจาก

• เส้นรอบพุงของผู้ชายตั้งแต่ ๙๐ ซม.ขึ้นไป และสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ ๘๐ ซม.ขึ้นไป
• มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า ๑๕๐ มก./ดล.
• มีระดับ HDL คอเลสเตอรอล น้อยกว่า ๔๐ มก./ดล.ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า ๕๐ มก./ดล.ในผู้หญิง
• ความดันโลหิตมากกว่า ๑๓๐/๘๕ มม.ปรอท หรือรับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่
• ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า ๑๐๐ มก./ดล.

โดยพบว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเพียง ๓ ข้อจากเกณฑ์ข้างต้น จะมีอัตราการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ๒ เท่า และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ๔ ข้อจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเป็น ๓ เท่า และเกิดโรคเบาหวานเพิ่มถึง ๒๔ เท่า

จึงเห็นได้ว่าเส้นรอบพุงเป็นตัวบ่งบอกปัจจัยเสี่ยงข้อหนึ่ง ซึ่งเราสามารถตรวจวัดได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ หรือวิธีการคำนวณที่ยุ่งยากเลย

หลังจากประชุมเสร็จ ผมรีบกลับมาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากความรู้ที่ตนเองมี ได้พบคำแนะนำแบบง่าย ๆ ว่า ถ้าเรามีเส้นรอบพุงยาวว่าเกณฑ์แล้วเราควรจะปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมอาหารที่รับประทาน บริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดการดื่มสุรา ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

เมื่อคุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณแล้ว หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน หรือความดันโลหิตได้ อาจจำเป็นต้องมีการใช้ยาในการควบคุมร่วมด้วย เป้าหมายในการใช้ยาก็เพื่อลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มระดับไขมัน HDL (เป็นไขมันที่ทำหน้าที่เก็บกวาดคอเลสเตอรอลจากหลอดเลือดไปขจัดที่ตับ นับว่าเป็นชนิดดี) และลดระดับไขมัน LDL (เป็นไขมันที่ทำหน้าที่นำคอเลสเตอรอลออกจากตับไปสะสมตามผนังหลอดเลือด ถือว่าเป็นชนิดไม่ดี) ซึ่งเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวาน

สาเหตุของโรคอ้วนมีสาเหตุมาจากหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

• พันธุกรรม ถ้าพ่อแม่เป็นโรคอ้วน ลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูง

• รับประทานอาหารมากเกินไป แล้วไม่มีเวลาออกกำลังกาย กล่าวคือ พลังงานที่ได้รับจากการรับประทานมากกว่าพลังงานที่ใช้ไปในการออกกำลังกาย เช่น ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรี่สูง เช่น หนังไก่ทอด มันหมู หมูสามชั้น ขาหมู ครีม เค้ก ฯลฯ แล้วไม่ยอมหาเวลาว่างออกกำลังกายเพื่อให้มีการใช้พลังงานที่ได้รับเข้ามา

• พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม
ทำให้มีการใช้พลังงานต่ำ และทำให้เสียโอกาสในการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายที่มีประโยชน์ต่อ สุขภาพ เช่น การจราจรติดขัดในกรุงเทพ ทำให้ คนส่วนใหญ่ต้องนั่งเฉยบนรถยนต์หลายชั่วโมงต่อวัน ลักษณะงานที่ต้องนั่งทำงานตลอดเวลา พฤติกรรมชอบรับประทานอาหารจุกจิก เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีโรคบางชนิด เช่น Cushings Syndrome ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้อ้วน โดยสาเหตุของโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย จนทำให้อ้วนบริเวณใบหน้า ลำตัว ต้นคอด้านหลัง แต่แขนขาจะเล็ก และไม่มีแรง ในกรณีนี้จะต้องรักษาที่ต้นเหตุคือ ฮอร์โมนที่มีความผิดปกติจึงจะสามารถหายอ้วนได้

นอกจากนั้นแล้ว ความอ้วนนั้นสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิด และมีผลต่อระบบการทำงานในร่างกายหลายระบบด้วยกัน ได้แก่

• ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ซึ่งได้แก่ โรคหลอดเลือดและหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดโคโรนารี
• โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี (gallbladder disease)
• โรคเกี่ยวกับตับ เช่น ตับแข็ง (cirrhosis)
• มะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ปากมดลูก เยื่อบุมดลูก ต่อมลูกหมาก มดลูก รังไข่ เต้านม ถุงน้ำดี ตับอ่อน
• โรคทางเดินหายใจและปอด หายใจลำบากขณะนอนหลับ นอนกรน (snoring) เพราะทางเดินหายใจเริ่มตีบตัน ร่างกายจะขาดออกซิเจน ทำให้ ร่างกายพักผ่อนไม่เต็มที่ ส่งผลให้ง่วงนอนในเวลากลางวันบางคนอาจเป็นมากขนาดหลับในขณะขับรถ จนเกิดอุบัติเหตุได้
• โรคเกี่ยวกับไต เช่น นิ่ว ไตวายจากความดันโลหิตสูง
• โรคกระดูกและข้อต่อ โรคข้อต่อเสื่อม (os-teoarthritis in joints) โดยเฉพาะบริเวณสะโพก หัวเข่า ข้อศอก
• โรคเก๊าท์ (gout)
• โรคเบาหวาน (diabetes mellitus)
• เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน (stroke)
• ซึมเศร้า (depression)
• เส้นเลือดขอด (varicose vein)
• เหงื่อออกมาก (sweating)
• การเป็นหมัน (infertility)

ข้อมูลอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ผมต้องตกตะลึงก็คือ คนอ้วนมีอัตราการเสียชีวิตแตกต่างจากคนรูปร่างปกติ โดยมีงานวิจัยยืนยันว่า “อัตราการเสียชีวิตของคนที่อ้วนมากมีสูงขึ้นถึง ๒ – ๑๒ เท่า ขึ้นกับอายุของแต่ละบุคคล”

ถ้าคนที่อ้วนหรือน้ำหนักเกินสามารถลด น้ำหนักได้เพียง ๕ – ๑๐ % ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น ก็จะสามารถลดอัตราการพิการ และอัตราการตาย (morbidity and mortality rate)ได้ระดับหนึ่ง

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องมีความพอดี การมากหรือน้อยเกินไปอาจเกิดผลเสียได้มากกว่าผลดี "น้ำหนัก" ก็เช่นกัน ถ้ามากเกินไป "อ้วน" ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย แต่ถ้าสามารถลดความมากเกินไปลงมาให้ใกล้พอดีได้ก็จะเกิดการลดอัตราการเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน

เมื่อปี ๒๕๔๘ ได้มีการสำรวจความชุกของโรคอ้วนของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก รวม ๑๔ ประเทศ พบว่าประเทศไทยเรามีความชุกของโรคอ้วนอยู่ในลำดับที่ ๕ รองจากประเทศออสเตรเลีย มองโกเลีย วานุฮาตูและฮ่องกง

แต่สิ่งที่น่าตกใจมากกกว่าก็คือ มีการคาดการณ์กันว่าคนไทยมีผู้รูปร่างท้วมจนถึงระดับอ้วน ประมาณ ๑๗ ล้านคน

การสำรวจสุขภาพของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ซึ่งปรากฏว่าเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างการสำรวจเมื่อปี ๒๕๔๖ – ๒๕๔๗ กับครั้งล่าสุดเมื่อปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ พบว่า

คนไทยมีความชุกของภาวะอ้วนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเพศหญิง เพิ่มจากร้อยละ ๓๔.๔ เป็นร้อยละ ๔๐.๗ และเพศชายเพิ่มจาก ร้อยละ ๒๒.๕ เป็นร้อยละ ๒๘.๔

ฉะนั้นจึงพบว่าคนไทยเรามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรควิถีชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัวและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

เราลองมาดูตัวเลขเปรียบเทียบ สถานการณ์เมื่อปี ๒๕๔๓ กับปี ๒๕๕๓ พบว่า

• อัตราป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพิ่มจาก ๒๕๙ ราย เป็น ๑,๓๔๙ รายต่อประชากรแสนคน
• อัตราโรคหัวใจขาดเลือด เพิ่มจาก ๙๘ ราย เป็น ๓๙๗ รายต่อประชากรแสนคน
• อัตราโรคเบาหวาน เพิ่มจาก ๒๕๘ ราย เป็น ๙๕๔ รายต่อประชากรแสนคน
• อัตราโรคมะเร็ง เพิ่มจาก ๗๒ ราย เป็น ๒๐๖ รายต่อประชากรแสนคน

ที่นี้ลองมาดูพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยกัน จากการสำรวจความชุกของพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บของประชากรไทยอายุ ๑๕ – ๗๔ ปี เมื่อปี ๒๕๕๐ กับปี ๒๕๕๓ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน พบว่า

• คนไทยมีการเคลื่อนไหวทางกายอย่างเพียงพอ ลดลงจากร้อยละ ๙๒.๕ เหลือเพียงร้อยละ ๘๒.๒
• คนไทยมีการออกกำลังกาย ๓๐ นาที/ครั้งและอย่างน้อย ๓ ครั้ง/สัปดาห์ ลดลงจากร้อยละ ๓๗.๕ เหลือเพียงร้อยละ ๓๔.๓
• คนไทยมีการบริโภคผักและผลไม้ตามมาตรฐาน ลดลงจากร้อยละ ๒๒.๕ เหลือเพียงร้อยละ ๒๑.๗

แล้วหากถามว่า ถ้าเราเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนลงพุงแล้ว มีคำแนะนำอะไรไหมเพื่อป้องกันโรคร้ายนี้ สูตรกำจัดมัจจุราชร้าย จำง่าย ๆ ว่า ขอให้ยึดหลัก "3 อ." นั่นก็คือ

อ.อาหาร โดยการหลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม เลือกวิธีเตรียมอาหารด้วยต้ม นึ่ง ย่าง งดของทอด ผัด ที่ใช้น้ำมันมาก เลิกดื่มเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม นมเปรี้ยว กาแฟเย็น ชาเขียว น้ำผลไม้กล่อง น้ำผลไม้รสหวาน

อ.ออกกำลังกาย จงจดจำไว้เสมอว่า "กิน" ให้เท่ากับ "การเผาผลาญ" หากไม่ออกกำลังเท่าที่เรากินเข้าไป เราจะมีพลังงานเหลือเก็บไว้เป็นไขมันรอบพุงเช่นเดิม

อ.อารมณ์ ต้องมุ่งมั่น จริงจัง อดกลั้น อดทน กับนโยบายการเปลี่ยนแปลงตนเอง อย่าให้อารมณ์ความอยากกินมาทำลายนโยบายลดพุงของคุณ ดังนั้นอารมณ์ถือเป็นภารกิจแรกที่เราต้องทำให้ได้

ทั้ง 3 อ. นี้ มีความสำคัญมากเลย เพราะหากต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผล จะต้องปฏิบัติตาม 3 อ.ไปพร้อม ๆ กัน ถ้าคิดจะออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังกินอาหาร โดยไม่ควบคุมอารมณ์ ต่อให้ออกกำลังกายหักโหมแค่ไหนก็ลดน้ำหนักได้แค่ ๑ % เท่านั้นเอง ส่วนคนที่คุมอาหารอย่างเดียว โดยไม่ออกกำลังกายเลย จะลดน้ำหนักได้แค่ ๙ % แต่ถ้าคุมอาหารด้วย ควบคู่กับการออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน เราจะลดน้ำหนักได้ถึง ๙๐ %!!!

ได้ยินแบบนี้ หลายคนก็ยังมีข้ออ้างอยู่ในใจว่า "ก็ไม่มีเวลา จะไปออกกำลังกายได้อย่างไร" จริง ๆ แล้ว เราสามารถทำกิจกรรมอะไรที่ช่วยให้ขยับร่างกายได้ทุกเวลา อย่างเช่นถ้าคุณเป็นพนักงานออฟฟิศ ก็สามารถใช้เวลาในช่วงทำงานขยับร่างกายได้ เช่น

• ทุก ๆ ชั่วโมง ให้ลุกขึ้นมาเดินสัก ๕ นาที เป็นการพักเบรกไปในตัว
• เปลี่ยนจากการขึ้นลิฟต์มาขึ้นบันได เพียงแค่ ๕ นาที ก็จะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้นแล้ว แถมยังช่วยเผาผลาญพลังงานที่มีอยู่ด้วย
• แกว่งแขน
• ลุกนั่ง
• เดินให้มากขึ้น ให้ได้วันละ ๑๐,๐๐๐ ก้าว
• ใช้จักรยาน หรือรถสาธารณะในการเดินทาง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ แค่นี้ ก็ช่วยให้เราเผาผลาญพลังงานไปได้มากโข ไม่ต้องเก็บพลังงานไว้เป็นไขมันหน้าท้องรอบ ๆ พุง ให้เสียสุขภาพอีกต่อไปเลยครับ

เพราะคำทักทายที่ว่า “โต....พุงเธอโตแล้วนะ” ของ "พี่สง่า ดามาพงษ์" เห็นทีผมจะต้องไปงัดจักรยานที่จอดทิ้งไว้นานที่บ้านออกมาขี่อย่างจริงจังเสียแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น