วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สมัชชาที่มีสัมฤทธิ์ผลยิ่งใหญ่เกรียงไกร

๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗

“กลไกสมัชชาในประเทศไทย ฤาจะเป็นเพียงของเล่น ประชุมแล้วก็แล้วกันเช่นนั้นหรือ มีการประชุมสมัชชาที่บังเกิดสัมฤทธิ์ผลบ้างไหม

มติสมัชชาทั้งของสมัชชาสุขภาพและสมัชชาอื่นๆที่จัดขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมาก อย่างเช่นกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติที่เป็นมติสมัชชาผู้สูงอายุ ถึงขั้นประกาศเป็นกฎหมายแล้ว แต่รัฐบาลชุดที่แล้วก็ละเลยไม่ปฏิบัติตาม”

เป็นเสียงของบุคคลที่ผมคุ้นเคย ดึงดูดให้ผมต้องหันไปดูที่มาของต้นเสียงนั้น ภาพที่ปรากฎต่อสายตาคือ “นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน” ปรากฏขึ้นบนจอภาพขนาดใหญ่ ภายในห้องประชุมของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ในพิธีปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ เมื่อบ่ายของวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ในฐานะองค์ปาฐกกล่าวปิดการประชุมในครั้งนี้

เนื้อหาของปาฐกถาชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดไว้ว่า “ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่รับมติของการประชุมสมัชชาไปพิจารณาดำเนินการ ให้บรรลุผลตามควรแก่กรณี” โดยเฉพาะการสร้างกลไกเชื่อมโยงให้เกิดผลทางปฏิบัติ ให้มติสมัชชามีผลบังคับใช้ ให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐนำไปปฏิบัติ ผ่านการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

“สมัชชาที่มีสัมฤทธิ์ผลยิ่งใหญ่เกรียงไกร” คือหัวข้อที่ “นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน” ในนามกรรมการตัวแทนผู้สูงอายุในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แสดงปาฐกถาในครั้งนี้ไว้

โดยได้ยกตัวอย่างการประชุมสมัชชาที่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งไม่เพียงสัมฤทธิ์ผลอย่างธรรมดา แต่เป็นสัมฤทธิ์ผลที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร คือ การประชุมสมัชชาผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยได้ไล่เรียงเนื้อหาที่ผ่านกระบวนการค้นคว้ามาอย่างดีให้ที่ประชุมรับฟัง

บางตอนของปาฐกถาสร้างความฮึกเหิมให้ผมไม่รู้ตัว

“ความสำเร็จของจีน ย่อมประกอบด้วยเหตุปัจจัยมากมาย การประชุมสมัชชาผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเพียงกลไกหนึ่ง แต่เป็นกลไกสำคัญที่ใช้ในการกำหนดหลักการ นโยบาย เข็มมุ่ง แผนงานโครงการ และที่สำคัญคือเป็นกลไกแก้ไขปัญหาความผิดพลาด โดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง”

เชิญชวนทุกท่านมาร่วมรับฟังปาฐกถาอันทรงคุณค่านี้ไปพร้อม ๆ กัน นะครับ

สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือกำเนิดโดยการประกาศของประธานเหมาเจ๋อตง ณ ประตูเทียนอันเหมิน หรือ “ประตูสรวงสวรรค์สันติ” เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ ปัจจุบันจีนกลายเป็นชาติยิ่งใหญ่ มีขนาดเศรษฐกิจเป็นที่ ๒ ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา แซงหน้าญี่ปุ่นซึ่งครองที่ ๒ อยู่ยาวนาน และในไม่ช้าก็คงจะแซงขึ้นเป็นที่ ๑ ของโลก โดยจีนไม่เพียงเป็นที่ ๑ ในขนาดเศรษฐกิจเท่านั้น ในด้านการกีฬา จีนก็สามารถครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองโอลิมปิกในบางปี และในทางวิชาการจีนก็สามารถขึ้นมาเป็นที่ ๒ ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาในด้านการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารวิชาการชั้นนำของโลก และเชื่อว่าอีกไม่นานจีนก็จะสามารถขยับขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้

แน่นอนว่าองค์กรที่เป็นกลไกสำคัญทำให้จีนผงาดขึ้นมาได้เช่นนี้ ก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิกราว ๘๐ ล้าน จากประชากรกว่า ๑,๓๐๐ ล้านคน จีนเพิ่งเฉลิมฉลอง ๙๐ ปี ของพรรคไปเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ นี้เอง

ตลอดช่วงเวลา ๙๐ ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการประชุมสมัชชาผู้แทนรวม ๑๗ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๖๔ โดยครั้งนั้นยังมีสมาชิกเพียง ๕๔ คน ในการประชุมสมัชชาผู้บริหารครั้งที่ ๒ ในปีต่อมา มีสมาชิกพรรคทั่วประเทศเพิ่มเป็น ๑๙๕ คน และการประชุม ครั้งที่ ๓ เมื่อปี ๒๔๖๖ สมาชิกก็ยังมีเพียงหลักร้อย คือ ๔๒๐ คนเท่านั้น หลังจากการต่อสู้อย่างยืนหยัด มีผู้บาดเจ็บล้มตายไปนับล้าน ถึงปี ๒๔๘๘ หลังก่อตั้งพรรคได้ ๒๔ ปี และยังไม่ได้ชัยชนะ สมาชิกพรรคเพิ่มขึ้นเป็น ๑.๒๑ ล้านคน

การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ มีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง ๑๓ คน ขณะนั้นประเทศจีนได้เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐจีน จากการที่ซุนยัตเซ็นสามารถได้ชัยชนะจากการ “ปฏิวัติซินไห่” โค่นล้มราชวงศ์ชิงลงได้

ปี ๒๔๕๔ พรรคบอลเชวิก สามารถโค่นล้มระบอบซาร์ในรัสเซียลงได้ เมื่อปี ๒๔๖๐ มีการตั้ง “องค์การคอมมิวนิสต์สากล” หรือโคมินเทิร์น (Comintern) ขึ้นเพื่อเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ไปทั่วโลก ลัทธิมาร์กซ์แพร่ไปสู่จีน มีการเคลื่อนไหวกรรมกร และเริ่มจัดตั้ง “หน่วย” ลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นในเมืองต่างๆ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง อู่ฮั่น ฉางซา จี่หนาน และกว่างโจว

ผู้นำลัทธิมาร์กซ์ของจีนในขณะนั้นเป็นปัญญาชน คือ ศาสตราจารย์เฉินตู๋ซิ่ว หัวหน้าคณะอักษรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง วัย ๔๐ ปี และหลี่ต้าจ้าว ผู้อำนวยการหอสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ขณะนั้นเหมาอายุได้ ๒๗ ปี

ในเดือนมกราคม ๒๔๖๓ พรรคบอลเชวิกของรัสเซียยึดไซบีเรียตอนกลาง และสามารถสร้างช่องทางคมนาคมทางบกเชื่อมต่อกับประเทศจีนได้

โคมินเทิร์น ได้ส่ง นิคอร์สกี้ เป็นตัวแทนเข้ามาจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยตั้งศูนย์บัญชาการที่เซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๔ และในวันที่ ๓ มิถุนายน มาลิน ผู้แทนคอมมิวนิสต์สากลอีกคนหนึ่งเดินทางจากยุโรปมาถึงเซี่ยงไฮ้เพื่อจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเช่นกัน

ทั้งสองสามารถติดต่อกับหลี่ต๋า และ หลี่ฮั่นจุ้น ผู้รับผิดชอบงานแทนเฉินตู๋ซิ่ว ซึ่งขณะนั้นไม่อยู่ หลังจากขอความเห็นชอบจากเฉินตู๋ซิ่ว และ หลี่ต้าจ้าวแล้ว จึงติดต่อหน่วยลัทธิคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ ให้ส่งตัวแทนหน่วยละ ๒ คนไปร่วมประชุม

การประชุมเริ่มจากครูและนักเรียนจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งไปร่วมประชุมทางประวัติศาสตร์ ณ โรงเรียนสตรีป้อเหวิน เลขที่ ๓๘๙ ถนนไบเออร์ ในเขตเช่าฝรั่งเศส รอจนผู้แทนหน่วยลัทธิมาร์กซ์จากเมืองต่างๆ มาครบแล้ว การประชุมเตรียมการก็เริ่มขึ้น ณ ที่พักในโรงเรียนสตรีนั้น

การประชุม “สมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ ๑” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อคืนวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๖๔ ณ บ้านเลขที่ ๑๐๖ ถนนว่างจื้อ ในเขตเช่าฝรั่งเศสซึ่งเป็นบ้านที่หลี่ซูเฉิงกับ หลี่ฮั่นจุ้น สองพี่น้องพักอาศัยอยู่

มีตัวแทนของจีนเข้าร่วมประชุมรวม ๑๓ คน ตัวแทนจากฉางซา คือ เหมาเจ๋อตง กับ เหอซุเหิง มีมาลิน และนิคอร์สกี้เป็นตัวแทนจากโคมินเทิร์น ทั้งสองผลักดันอย่างเร่าร้อนให้เร่งก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้น

ที่ประชุมเริ่มหารือเรื่องระเบียบวาระการประชุม ได้ข้อยุติให้เริ่มจากการรายงานสภาพงานในพื้นที่ของแต่ละหน่วย ต่อจากนั้นเป็นการอภิปรายหลักนโยบายและแผนโครงการที่จะทำต่อไป สุดท้ายเป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อเป็นองค์กรนำของพรรค

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๔ กรกฎาคม เป็นการประชุมครั้งที่ ๒ เป็นการรายงานสภาพและความคืบหน้าในแต่ละพื้นที่ต่อ วันที่ ๒๕ – ๒๖ กรกฎาคม พักการประชุม เพื่อร่างหลักนโยบายพรรคและแผนงานโครงการ และวันที่ ๒๗, ๒๘ และ ๒๙ กรกฎาคม กลับมาประชุมอีก ๓ ครั้ง

คืนวันที่ ๓๐ กรกฎาคม การประชุมครั้งที่ ๖ เริ่มต้นได้เพียงไม่กี่นาที ก็มีสายสืบฝรั่งเศสคนหนึ่งบุกเข้ามาอย่างฉับพลัน การประชุมยุติลง สายสืบผู้นั้นต่อมาจึงทราบว่าเป็นคนจีนชื่อ เฉินจื่อซิง เป็นญาติกับมาเฟียใหญ่ในเซี่ยงไฮ้

ตำรวจฝรั่งเศส “ได้กลิ่น” การประชุมลับนี้ จากการที่มาลินถูกจับที่เวียนนา แต่ได้รับการช่วยเหลือจนหลุดมาได้ แต่ในที่สุดก็ถูกตามแกะรอยจนพบ ความจัดเจนของมาลิน รีบให้ทุกคนแยกย้ายกันหลบออกไปจากบ้านพร้อมเอกสารทั้งหมด หลังจากนั้น ๑๐ นาที ก็มีตำรวจฝรั่งเศส ๒ คันรถมาล้อมบ้านหลังนั้นไว้แล้วเข้าไปตรวจค้น แต่ไม่พบหลักฐานใดๆ จึงได้แต่เพียงข่มขู่เจ้าของบ้านแล้วกลับไป

ผู้ร่วมประชุมหลบไปที่บ้านของหลี่ต๋า ปรึกษากันเห็นว่าจะประชุมในเซี่ยงไฮ้ต่อไปไม่ได้แล้ว มีผู้เสนอให้ไปประชุมที่เมืองหังโจว แต่มีผู้คัดค้านว่าหังโจวเป็นเมืองใหญ่ ผู้คนพลุกพล่าน “ปิดลับได้ยาก”
หวังฮุ่ยอู้ ภรรยาหลี่ต๋า เสนอให้ไปประชุมที่ทะเลสาบหนานหู เมืองเจียซิง ในมณฑลเจ้อเจียง บ้านเกิดของเธอ ซึ่งเป็นที่เงียบสงบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ผู้คนไม่สงสัย ระยะทางก็ไม่ไกลจากเซี่ยงไฮ้ เดินทางสะดวก “ปิดลับง่าย” ทุกคนเห็นด้วย

รุ่งขึ้นผู้เข้าประชุมแยกย้ายเป็น ๒ กลุ่ม ขึ้นรถไฟไปเจียซิง มาลินกับนิคอร์สกี้เป็นชาวต่างชาติถูกเพ่งเล็งง่าย จึงงด ไม่ไปร่วม หลี่ฮั่นจุ้น ผู้แทนจากเซี่ยงไฮ้กับเฉินกงป๋อจากกว่างโจวยังตกใจไม่หายขอไม่ไป จึงมีผู้แทนไปร่วมประชุม ๑๑ คน เวลา ๑๐.๐๐ น.เศษ เดินทางถึงเจียซิง เข้าพักที่โรงแรมยวนหู เช่าเรือท่องเที่ยวลำหนึ่งออกท่องทะเลสาบ ราว ๑๑.๐๐ น. การประชุมก็เริ่มต้นอีกครั้ง ต่อจากการประชุมเมื่อคืน

เริ่มจากการอภิปราย “หลักนโยบายฉบับแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” เป็นนโยบาย ๑๕ ข้อ เขียนด้วยตัวอักษรราว ๗๐๐ ตัว กำหนดชื่อพรรค เป้าหมายการต่อสู้ นโยบายพื้นฐาน กำหนดให้ขยายการรับสมัครสมาชิกพรรค สร้างระบบการจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นและองค์กรส่วนกลางของพรรค และระเบียบการของพรรค

ที่ประชุมมีมติผ่านความเห็นชอบ “มติฉบับที่หนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน” จากนั้นอภิปรายสรุปความเห็นว่า กำลังของพรรคยังเล็กและอ่อนแออยู่ จึงตัดสินใจใช้กำลังทั้งหมดไปจัดตั้งสหบาลกรรมกร ชี้นำการเคลื่อนไหวของกรรมกร เน้นนโยบายความอิสระในการสัมพันธ์กับพรรคอื่นๆ และเน้นความสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์สากล ซึ่งขณะนั้นคือสากลที่สาม

ในแถลงการณ์ มีการประกาศ “กองทัพปฏิวัติจะต้องร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพโค่นอำนาจรัฐของชนชั้นนายทุน” “ยอมรับเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ จวบจนการต่อสู้ทางชนชั้นยุติ” “ทำลายระบบกรรมสิทธิ์ของชนชั้นนายทุน” เป็นต้น

ห้าโมงเย็น มีเรือติดเครื่องยนต์แล่นเข้ามาใกล้ ผู้เข้าประชุมรีบเก็บซ่อนเอกสาร เอาไพ่นกกระจอกขึ้นมาเล่นกัน แต่พบว่าเป็นเรือนักท่องเที่ยว การประชุมจึงดำเนินต่อไปได้ และจบลงด้วยการเลือกตั้งองค์กรนำ โดยยังไม่ตั้งคณะกรรมการกลาง แต่จัดตั้งเป็นศูนย์กลาง ตัวแทน ๓ คน มี เฉินตู๋ซิ่วเป็นเลขาธิการ จางกว๋อเทาเป็นหัวหน้าแผนกจัดตั้ง และหลี่ต๋าเป็นหัวหน้าแผนกโฆษณา

สุดท้ายผู้ร่วมประชุมประกาศยุติการประชุมสมัชชาผู้แทนครั้งที่ ๑ ด้วยการเปล่งเสียง “สากลที่สามจงเจริญ” “พรรคคอมมิวนิสต์จีนจงเจริญ”

พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้เวลา ๒๘ ปี ผ่านความทุกข์ยากแสนสาหัส สมาชิกจำนวนมากสละชีพไปคนแล้วคนเล่า ปรับปรุงยุทธวิธี เปลี่ยนผู้นำจนได้ผู้นำที่ยิ่งใหญ่คือ เหมาเจ๋อตง ในที่สุดก็ได้ชัยชนะ สถาปนา “จีนใหม่” ขึ้นจนได้

หลังจากนั้นก็ยังต้องเผชิญปัญหามากมายหลายครั้ง ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม และนโยบายที่ผิดพลาด ทั้งนโยบายก้าวกระโดดไกล และการปฏิวัติวัฒนธรรม

หลังผ่านยุคเหมาเจ๋อตง จีนก็เริ่มเดินถูกทาง จากนโยบายสี่ทันสมัย สู่เศรษฐกิจการตลาด โดยยังคงระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ไว้ จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรทุกวันนี้

ความสำเร็จของจีน ย่อมประกอบด้วยเหตุปัจจัยมากมาย การประชุมสมัชชาผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเพียงกลไกหนึ่ง แต่เป็นกลไกสำคัญที่ใช้ในการกำหนดหลักการ นโยบาย เข็มมุ่ง แผนงานโครงการ และที่สำคัญคือเป็นกลไกแก้ไขปัญหาความผิดพลาด โดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

เริ่มจากผู้แทนเพียง ๑๓ คน จากจำนวนสมาชิก ๕๔ คนเท่านั้น จนปัจจุบันสมาชิกขยายออกไปอย่างมากมายถึง ๘๐ ล้าน โดยแต่ละคนจะเป็นสมาชิกได้ จะต้องผ่านการบ่มเพาะ หล่อหลอม ตรวจสอบ และสร้างผลงานจนถึงขั้น จึงจะเป็นสมาชิกได้

ด้วยการมุ่งมั่น ศึกษา ต่อสู้ ยืนหยัด พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ใช้กลไกสมัชชาผู้แทนเป็นเครื่องมือสำคัญ จนบรรลุภารกิจยิ่งใหญ่

ปัจจัยสำคัญ คือ การที่มีพรรคเป็นองค์กรนำที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง นำมติไปผลักดันขับเคลื่อนปฏิบัติจนสำเร็จ ด้วยการยืนหยัดยาวนานถึง ๒๘ ปี จึงบรรลุเป้าหมายใหญ่ในการสถาปนาจีนใหม่ขึ้นได้ หลังจากนั้นก็ยังต่อสู้ ยืนหยัด แก้ไขสิ่งผิดพลาด ผ่านความทุกข์ยากลำบากจนสามารถสะสมความสำเร็จ ผ่านวันเวลาอันยาวนาน กว่า ๙๐ ปี แล้ว

ขบวนการสุขภาพของเราได้ใช้กลไกสมัชชามานานกว่าทศวรรษ เราอาจยังไม่บรรลุความสำเร็จยิ่งใหญ่ แต่ตลอดขบวนการสมัชชา เราย่อมสามารถเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ สร้างรากฐานประชาธิปไตยที่แท้จริง ด้วยการพัฒนาระบบอำนาจอ่อน ขอเพียงยืนหยัด มุ่งมั่น ศึกษา เรียนรู้ และต่อสู้ต่อไป อำนาจอ่อนย่อมสามารถพัฒนาเป็นพลังที่แท้จริงของสังคมไทยได้อย่างแน่นอน”

ในตอนท้าย องค์ปาฐกได้กระตุกให้ผู้ฟังได้คิดตามต่อว่า

“ประสบการณ์สมัชชาผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ย่อมไม่สามารถลอกแบบมาทั้งดุ้น แต่ย่อมสามารถเป็น “บทเรียน” หรือ “กรณีศึกษา” ที่มีคุณค่า ซึ่งประโยชน์จะบังเกิด ก็เมื่อมีการศึกษาเล่าเรียนให้รู้จริง และครุ่นคิดพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จนเห็นลู่ทางที่จะนำมาปรับใช้กับการประชุมสมัชชาของเราได้ ถ้าไม่เรียน-ไม่คิด ก็ไร้ประโยชน์ ต้องทั้งเรียน-ทั้งคิด ดังขงจื้อได้กล่าวไว้เมื่อราวสองพันห้าร้อยปีมาแล้วว่า “คิดแล้วไม่เรียนอันตราย เรียนแล้วไม่คิดเสียเวลาเปล่า”

และนี้คือปาฐกถาที่ยิ่งใหญ่ ผ่านบุคคลที่ยิ่งใหญ่ (ในใจผม) เป็นเครื่องชโลมใจให้กับสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันยกระดับกระบวนการ “สมัชชา” ของประเทศไทยร่วมกัน เพื่อให้เป็น “สมัชชาที่มีสัมฤทธิ์ผลยิ่งใหญ่เกรียงไกร” เฉกเช่นเดียวกับสมัชชาของประเทศจีนต่อไปครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. ดีมากครับ ผมฟังตอนท้ายไม่ทัน ได้ทั้งพลัง ได้ทั้งแนวคิด คิดเพื่อเคลื่อน เคลื่อนอย่างครุ่นคิด

    ตอบลบ