วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสไตล์บ้านทุ่ง ตอนที่ ๓

๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗

ในปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าเมื่อเกือบ ๒,๖๐๐ ปีมาแล้ว ได้ทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือ "อริยอัฏฐังคิกมัคค์หรือมรรคมีองค์ ๘" กับ "อริยสัจ ๔" หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

หลักอริยสัจ ๔ นี้เอง เมื่อนำมาพิจารณาเป็นหลักในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย จะสามารถอธิบายได้เป็นอย่างดีและชัดเจนที่สุด

ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทุกข์ จึงคือ ปัญหาที่เราต้องการแก้ไข ซึ่งก็คือเป้าหมายของประเด็นเชิงนโยบายที่เราได้ร่วมกันกำหนดไว้

สมุทัย คือ สาเหตุของทุกข์ อันได้แก่ ตัณหาหรือความอยาก สมุทัย จึงคือ สาเหตุของปัญหา หรือสาเหตุที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่จะทำให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

นิโรธ คือ ภาวะที่ปราศจากทุกข์หรือนิพพาน นิโรธ จึงคือ เป้าหมายที่อยากเห็นอยากเป็นอยากมี ซึ่งในที่นี้ก็คือสิ่งที่เป็นเป้าหมายรายสาเหตุที่เราค้นหาได้จากการวิเคราะห์สมุทัย

มรรค คือ วิธีดับทุกข์หรือวิธีแก้ปัญหา มรรค จึงคือ วิธีที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมาย หรือที่นิยมเรียกกันว่า ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หรือมาตรการต่าง ๆ นั่นเอง

เมื่อเราได้ “กำหนดประเด็นเชิงนโยบาย” แล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหลัก “อริยสัจ ๔” นั่นก็คือการกำหนด “ปัญหา” หรือ “ทุกข์” ซึ่ง “ปัญหา” ยังจำแนกได้อีก ๓ ประเภท คือ ปัญหาเชิงขัดข้อง ปัญหาเชิงป้องกัน และปัญหาเชิงพัฒนา ตามที่ผมได้อธิบายไปในตอนที่ ๑

การที่เราจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อมาก็คือ “การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา” ซึ่งการที่จะวิเคราะห์สาเหตุออกมาได้อย่างมีเหตุมีผล เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ต้องใช้การทำงานเชิงวิชาการและการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควบคู่กันไปร่วมด้วย

ตัวอย่างเช่นในเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดกาญจนบุรีได้หารือเรื่อง “การจัดการขยะของ อปท.”

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจ คือ ขั้นตอนการจัดการขยะของ อปท. เสียก่อน ซึ่งในทางวิชาการก็จะประกอบไปด้วย “การเก็บรวบรวมขยะ” “การขนส่งขยะ” และ “การจำกัดขยะ” เมื่อเราเห็นขั้นตอนของการจัดการขยะแล้ว ก็จะนำแต่ละขั้นตอนนั้นมาวิเคราะห์ปัญหา ก็จะพบสภาพปัญหาในแต่ละขั้นตอน เช่น

ปัญหาในขั้นตอนการเก็บรวบรวมขยะ คือ ไม่มีที่ทิ้งขยะ ประชาชนทิ้งขยะไม่เป็นที่ทาง ไม่มีการแยกขยะ คนเก็บขยะไม่พอ ประชาชนไม่จ่ายค่าธรรมเนียม เป็นต้น

ปัญหาในขั้นตอนการขนส่งขยะ คือ ไม่มีรถเก็บขยะ รถเก็บขยะเก่าชำรุด รถเก็บขยะแบบแยกประเภทไม่มี เป็นต้น

ปัญหาในขั้นตอนการจำกัดขยะ เช่น ไม่มีกำจัดขยะ มีการต่อต้านจากประชาชนในการก่อสร้างที่กำจัดขยะ ไม่มีที่กำจัดขยะอันตราย เป็นต้น

ถ้าเราสามารถวิเคราะห์สาเหตุหรือสภาพปัญหาได้อย่างละเอียด การคิดหาทางกำจัดสภาพปัญหาเหล่านั้นก็จะง่ายและตรงประเด็นยิ่งขึ้น

ผมมักได้รับคำถามบ่อย ๆ ว่า “มีกรอบวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาแบบง่าย ๆ บ้างไหม”

กรอบที่ผมแนะนำไป คือ หลัก ๔ M ได้แก่ Man (คน) Money (เงิน) Material (วัสดุ-อุปกรณ์) และ Management (การจัดการ) เพราะสาเหตุของปัญหา มักจะข้องเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลาย ๆเรื่องในกรอบ ๔ M กล่าวคือ

 มาจากปัญหาด้านคน เช่น จำนวนไม่พอ ไม่มีความรู้ ไม่มีทักษะ ไม่มีศักยภาพ ทำงานไม่เป็นทีม

 มาจากปัญหาด้านเงิน เช่น ไม่มีเงินทำงาน ใช้เงินไม่ทัน ใช้เงินเกินงบ บริหารแบบไม่โปร่งใส

 มาจากปัญหาด้านวัสดุอุปกรณ์ เช่น ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ไว้ใช้งาน หรือเก่า ชำรุด ไม่ทันสมัย สูญหาย

 มาจากปัญหาด้านการจัดการ เช่น ไม่มีแผน ไม่มีนโยบาย ไม่มีกฎข้อบังคับ ไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ ไม่มีผลการศึกษา เป็นต้น

นอกจากการวิเคราะห์ตามหลัก ๔ M แล้ว เครื่องมือที่นิยมนำมาใช้ช่วยวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาอีกชิ้นหนึ่ง คือ “แผนผังก้างปลา” หรือ “Fish Bone Diagram” ซึ่งมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป เช่น “โปรแกรมมายด์แมป” (Mind Map) เป็นตัวช่วยจัดการแผนผังดังกล่าวให้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้มีเครื่องมือทันสมัยอย่างไร สุดท้ายก็หนีไม่พ้นหลัก “อริยสัจ ๔” ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้ว่า “ทุกข์” ย่อมเกิดมาจาก “สมุทัย” ไม่พ้น

ในตอนต่อไป ผมจะมาแนะนำการกำหนด “นิโรธ” และค้นหา “มรรค” คอยติดตามต่อกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น