วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

“เบิกโรง-คลี่ม่าน สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน” เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖

๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗

"จึงอยากจะขอ ส่งเพลงนี้แทนพลัง ว่าอย่ากลับหลัง ขอให้เดินต่อไป สักวันต้องถึง จุดหมายที่เธอตั้งใจเอาไว้..."

เสียงเพลง "ชัยชนะ" โดย "กิตตินันท์ ชินสำราญ" กระหึ่มก้องดังห้องประชุมของศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร สร้างพลังให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมายแม้นจะมีปัญหาอุปสรรคมาขวางกั้นได้อย่างดียิ่ง

นับตั้งแต่เวลา ๙ โมงเช้าเป็นต้นมาของวันนี้ (๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗) พิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการนับแต่วินาทีนั้นจนถึงวันพรุ่งนี้ หลังจากเสียงเพลง “ชัยชนะ” จบลง นับเป็นช่วงเวลาอันสำคัญยิ่ง เมื่อ ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๖ ได้กล่าวเปิดการประชุมพร้อมกับเชิญชวนทุกท่านเข้าสู่เวทีในครั้งนี้อย่างพร้อมเพียงกัน

พร้อมทั้งแนะนำปาฐกถาเปิดงานในครั้งนี้ ภาพของ “นางพะโฉะ สิรินิพนธ์” เครือข่ายหมอปฏิวัติลุ่มน้ำแม่จัน จังหวัดตาก กำลังปาฐกถาด้วยภาษากะเหรี่ยงและเธอก็แต่งชุดกะเหรี่ยง ทำให้ผมพลันน้ำตาซึมไม่รู้ตัว นี้คือ “ที่ทางคนเล็กคนน้อยในการส่งเสียงเรื่องราวที่กำลังสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ด้วยภาษาของตนเอง ที่ไม่ใช่ภาษาหลักของคนในประเทศไทย” ต่อหน้าคนในเวทีประชุมนับพันที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักและแต่งตัวด้วยชุดทางการ “มันยิ่งใหญ่เหลือเกินครับ”

นี้เป็นการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งแรกที่ต้องประสบเหตุการเลื่อนจัดมาถึง ๒ ครั้ง จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว และมีนาคมในปีนี้ แม้ว่าเวทีลักษณะนี้จะมีการจัดมาถึง ๕ ครั้งแล้วในประเทศไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมาก็ตาม

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้อธิบายต่ออย่างชัดเจนว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” คือ กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

๕ ปีที่ผ่านมามีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สมาชิกจาก ๓ ภาคส่วนคือ ภาครัฐและการเมือง ภาควิชาชีพและวิชาการ และภาคประชาชนและเอกชน ให้ความเห็นชอบร่วมกันไปแล้วรวม ๕๑ เรื่อง

สำหรับในครั้งที่ ๖ ได้จัดขึ้นภายใต้กรอบความคิดหลัก “สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน” มีข้อเสนอเชิงนโยบายรวม ๙ เรื่อง ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒๓๔ กลุ่มเครือข่าย

มีรายละเอียดดังนี้

เรื่องที่ ๑ แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบายคือ การรวมพลังขององค์กร กว่า ๔๖ หน่วย ที่จะจับมือกันหนุนเสริมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยใช้ "แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน" เป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างบูรณาการ เปรียบเหมือน “การรวมแสงเลเซอร์” ที่ทรงอานุภาพ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของแผนงานร่วมกัน

เรื่องที่ ๒ แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑ เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบายคือ การมียุทธศาสตร์เพื่อจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสื่อรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้ง ทีวีดิจิตอล เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม โซเชียลมีเดีย และวิทยุชุมชน โดยเน้นที่ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่ ๓ ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบายคือ การยกระดับการจัดการอาหารให้กับเด็กนักเรียนในรั้วของโรงเรียน ที่ให้มุ่งที่คุณภาพของอาหาร มีความปลอดภัย และสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในวัยเรียนโดยตรง

เรื่องที่ ๔ นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบายคือ การให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติในการตรวจสุขภาพของประชาชนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีความจำเป็นจริง ๆ

เรื่องที่ ๕ การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ การริเริ่มให้มีการจัดทำข้อบังคับจริยธรรม และแนวปฏิบัติขององค์กรสื่อที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพราะยาสูบและแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพที่ร้ายแรง

เรื่องที่ ๖ เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ การรับรองตัวชี้วัดเป้าหมายการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้องรังที่กำลังคุกคามคนไทยอยู่ในขณะนี้ และนำไปสู่การมียุทธศาสตร์แบบบูรณาการในเรื่องนี้ในลำดับต่อไป

เรื่องที่ ๗ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อ "สุขภาพหนึ่งเดียว" ของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบาย คือ การสร้างความเข้าใจและร่วมมือกันทำงานป้องกันและรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ที่สามารถติดต่อกันระหว่างตัวคน สัตว์ และสภาพแวดล้อม ภายใต้แนวคิด สุขภาพหนึ่งเดียว หรือ One Health

เรื่องที่ ๘ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบายคือ ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ โดยให้มีกลไกและเครื่องมือที่เหมาะสมมาใช้ในการป้องกันผลกระทบจากการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

เรื่องที่ ๙ การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย เป้าหมายของข้อเสนอเชิงนโยบายคือ การมีข้อเสนอเพื่อการปฎิรูประบบสุขภาพที่สอดคล้องกับบริบท สถานการณ์ แนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ต่อกลไกที่กำลังขับเคลื่อนปฏิรูประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

นอกจากการพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายใหม่ จำนวน ๙ เรื่องข้างต้นแล้ว ที่ประชุมยังจัดให้มีการรายงานความก้าวหน้าในการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่าน ๆ มาอีก ๑๐ มติ ซึ่งจะได้นำเสนอในลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันภูมิใจในสิ่งที่เดินหน้าไปได้ด้วยดี และช่วยกันหาทางขับเคลื่อนในประเด็นที่ยังไม่ขยับต่อไป

จากการทำงานมาระยะหนึ่ง ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยทำการประเมินกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไว้ในช่วง ๔ ปีแรก ได้พบคุณค่าของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มี ๕ ประการ ได้แก่

คุณค่าด้านการพัฒนาหรือแก้ปัญหา : สมัชชาสุขภาพได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนแก้ไขมาตรการสำคัญที่มีผลต่อสุขภาวะของสังคม คุณค่าของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมิได้หมายความเพียงการได้มาของมติที่นำไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดแนวทางการจัดการปัญหาสังคมที่ต่อเนื่องเรื้อรัง และไม่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงลำพัง

คุณค่าด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ : ก่อให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีที่มีความแตกต่างในความเห็นและผลประโยชน์ ช่วยสร้างการเรียนรู้และเข้าใจในหน้าที่ความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบทางสังคม การตัดสินใจบนฐานข้อมูลความรู้ และก่อให้เกิดความเข้าใจสุขภาวะองค์รวม อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะมากขึ้น สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของประเด็นสุขภาวะนั้น ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะทางสังคมได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย ทำให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ค้นหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ที่เน้นกระบวนการพัฒนาศักยภาพของผู้ที่เกี่ยวข้อง

คุณค่าด้านการสร้างเครือข่ายและกลไกการจัดการเครือข่าย : สร้างให้เกิดผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้นโยบาย เครือข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นเดียวกัน เครือข่ายที่ขับเคลื่อนต่างประเด็น และการพัฒนาความสัมพันธ์และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างภาคีเครือข่าย เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมพลัง เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงร่วมหรือปฏิญญาประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายต่อสาธารณะ

คุณค่าด้านการพัฒนาองค์ความรู้ : มีการใช้ความรู้นำการเปลี่ยนแปลง ความรู้มิได้หมายถึงความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงความรู้เชิงประสบการณ์ คุณค่าด้านการพัฒนาองค์ความรู้จึงพิจารณาจากการมีชุดความรู้หรือเอกสารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการสมัชชาสุขภาพ และชุดความรู้ที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะแบบองค์รวม ผู้มีส่วนได้เสียในสมัชชาสุขภาพมีความเห็นสอดคล้องกันว่า ผลสืบเนื่องจากการที่สมัชชาสุขภาพออกแบบให้มีกระบวนการเก็บเกี่ยวความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ สรุปความรู้ และใช้ความรู้ ก่อให้เกิดองค์ความรู้จากพื้นที่เชิงประเด็น และระดับชาติในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

คุณค่าด้านผลต่อการขับเคลื่อนสมัชชาประเภทอื่น : ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดการรับรู้ ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ และยังมีการถ่ายทอดรูปแบบ วิธีการไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสังคมในเรื่องอื่น ๆ เช่น สมัชชาปฏิรูป สมัชชาคุณธรรม สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาคนพิการ สมัชชาเด็กและเยาวชน เป็นต้น

แน่นอนครับ อย่างที่ผมบอกเสมอว่า “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ไม่ใช่ “แก้วสารพัดนึก” ที่จะดลบันดาลให้ได้ทุกประการตามที่มีมติออกมา แต่นี้คือ พื้นที่สำคัญที่ “พวกเราทุกคน” ต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำให้เกิดเข้มแข็งยิ่งขึ้น

เพราะความสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” คือ การเปิดกว้างสำหรับทุกภาคส่วน โดยไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะเสียงเล็กเสียงน้อยที่เดิมถูกละเลย ให้ได้มีเวทีหรือพื้นที่เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการนโยบายสาธารณะนี้ได้อย่างทัดเทียมกัน

กระบวนการเช่นนี้จึงนับเป็นกระบวนการที่ยิ่งใหญ่ สร้าง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” และทายท้าหัวใจของทุกคนที่นั่งอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้อย่างยิ่ง แม้นระยะทางยังอีกยาวไกลก็ตาม ดั่งท่อนจบของเพลง "ชัยชนะ" ที่ว่า
"อย่ากลัวแม้ว่า ต้องเจอกับทางที่ดูมืดมน สักวันเธอจะผ่านพ้น หนทางที่แสนไกล จะยากเย็นสักเท่าไร และเพื่อให้รู้ว่า ชัยชนะนั้นคือ...อะไร"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น