วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสไตล์บ้านทุ่ง ตอนที่ ๔

๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗

ครั้งที่แล้วผมได้ทิ้งท้ายไว้ว่าจะนำเรื่อง “นิโรธ” ที่หมายถึง ภาวะที่ปราศจากทุกข์หรือนิพพาน มาวิเคราะห์เรื่องการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ ในเมื่อ “นิโรธ คือ เป้าหมายที่อยากเห็นอยากเป็นอยากมี” หากลองนำมาเปรียบเทียบกับเป้าหมายชีวิตมนุษย์เรา จะพบว่ามีได้แตกต่างหลากหลายกันไป ขึ้นอยู่กับว่า “ใครเป็นคนกำหนด”

เช่น บางคนอาจเป็นพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ปู่ย่าตายาย พินัยกรรมที่ระบุไว้แล้ว ครู เพื่อน เจ้าอาวาสวัดที่ตนเองไปอาศัยอยู่ หรือแหล่งทุนที่ให้ทุนเราไปเรียน และยังอาจมีเหตุผลอีกมากมายที่เป็นตัวกำหนด แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายการตัดสินใจก็จะกลับมาอยู่ที่เจ้าของชีวิตนั้นเป็นผู้กำหนดในที่สุด

ไม่แตกต่างจากการกำหนด “นิโรธ” ในวงจรนโยบายสาธารณะ ที่จะมี “ข้อมูลที่หลากหลาย และอยู่ในระดับต่าง ๆ” มาสนับสนุนและประกอบการตัดสินใจในการกำหนด ผมขอจำแนกแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ

หนึ่ง กรอบข้อมูลระดับโลก ได้แก่ หลักสิทธิมนุษยชน กฎบัตรหรือกฎหมายระหว่างประเทศ มติการประชุมของนานาชาติ เช่น มติสมัชชาสหประชาชาติ มติสมัชชาอนามัยโลก รวมถึงบทเรียนในเรื่องนั้น ๆ ของประเทศต่าง ๆ

สอง กรอบข้อมูลระดับชาติ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย (พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง) และยังรวมไปถึงนโยบายของรัฐบาล นโยบายของหน่วยงาน แผนยุทธศาสตร์ บทเรียนในเรื่องนั้น ๆ ของจังหวัดอื่น ๆ เป็นต้น

สาม กรอบข้อมูลระดับพื้นที่ (ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน) ได้แก่ นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด นโยบายของหน่วยงานในจังหวัด นโยบายของ อปท. และยังรวมถึงข้อตกลงร่วมกันของสังคม อาทิ มติสมัชชาสุขภาพจังหวัด ตำบล และรวมถึงบทเรียนความสำเร็จของพื้นที่ที่อยู่ในจังหวัด

ผมขอยกตัวอย่างเรื่อง “การจัดการขยะโดย อปท.” ที่ได้วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาไว้ในตอนที่แล้วว่า อาจมาจากปัญหาทั้งในขั้นตอนการเก็บรวบรวมขยะ การขนส่งขยะ และการจำกัดขยะ

ฉะนั้นข้อมูลที่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจเพื่อกำหนดเป้าหมายของแต่ละสาเหตุ จึงต้องพิจารณาจาก

ข้อมูลที่เป็นกรอบระดับโลก ได้แก่ กฎบัตรขององค์กรระหว่างประเทศ ปฏิญญาความร่วมมือระดับโลกและระดับภูมิภาค (พหุภาคีและทวิภาคี) ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือด้านการจัดการขยะ ที่เกี่ยวข้อง และอาจจะรวมถึงกรณีตัวอย่างที่ประเทศต่าง ๆ ได้ดำเนินการมาแล้ว

ข้อมูลที่เป็นกรอบระดับชาติ ได้แก่ รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ (รวมถึงกฎหมายลูกด้วย) รวมทั้ง พ.ร.บ.จัดตั้ง อปท. ซึ่งระบุบทบาทหน้าที่ของ อปท.ในการจัดการขยะ นอกจากนั้นคงต้องไปดูนโยบายของรัฐบาลหรือของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม แผนยุทธศาสตร์การกำจัดซากผลิตภัณฑ์ฯ เป็นต้น และรวมถึงงานวิจัย และบทเรียนการจัดการขยะของ อปท. ในจังหวัดอื่น ๆ

ข้อมูลที่เป็นกรอบระดับพื้นที่ ได้แก่ นโยบายของจังหวัด เช่น ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ของ อปท. ทุกระดับ และรวมถึงบทเรียนการจัดการขยะของ อปท.ในจังหวัดตนเอง

หลายท่านคงมีคำถามแล้วว่า “ทำไมต้องทบทวนข้อมูลมากมายขนาดนั้น และใครจะไปทำไหว ?”

ผมจึงต้องเน้นย้ำบ่อยครั้งว่า “นโยบายสาธารณะที่ดี” ควรประกอบด้วย “กุศล ๓ ประการ” คือ กุศลทางปัญญา กุศลทางสังคม และกุศลทางศีลธรรม และการให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลวิชาการข้างต้นนั้นก็คือการดำเนินการที่เป็นไปตามหลัก “กุศลทางปัญญา” เพื่อสร้างการยอมรับของทุกภาคส่วน หากมีการศึกษาข้อมูลวิชาการได้รอบด้านมากเท่าไรก็จะได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน ภาคีที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้กระบวนการทบทวนข้อมูลดังกล่าว เราอาจจะประสานความร่วมมือไปยังนักวิชาการที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ที่ทำงานอยู่ตามหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และนักวิชาการอิสระ มาช่วยก็ย่อมทำได้

อีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีการวิเคราะห์สาเหตุ และการกำหนดกรอบข้อมูลเพื่อนำมากำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่รอบด้านก็คือ “การระดมสมอง” จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงนโยบายนั้น ๆ

ด้วยเหตุนี้จึงได้เห็นจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด มีการแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มี “คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น” เพื่อทำหน้าที่ในการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการและยกร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้การวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลยังมีความเกี่ยวข้องกับคำว่า “กินคำเล็ก” หรือ “กินคำใหญ่” อีกด้วย เพราะจะส่งผลต่อขอบเขตของข้อมูลวิชาการที่ต้องทำการศึกษาอย่างหนีไม่พ้น หากต้องการ “กินคำใหญ่” ข้อมูลทางวิชาการที่จะต้องทำการศึกษาก็จะมีขอบเขตกว้างขวาง สร้างความยุ่งยากและใช้เวลาในการทำงานมากกว่า “กินคำเล็ก” ด้วยเช่นเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น