วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสไตล์บ้านทุ่ง ตอนที่ ๒

๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗

เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” คำโฆษณาของเครื่องดื่มบำรุงร่างกายยี่ห้อหนึ่ง ที่สร้างความฮึกเหิม มุ่งมั่น ไปสู่เป้าหมายข้างหน้ามิใช่น้อย แต่นั่นล่ะครับ “จะพุ่งชนเป้าหมายได้นั้น” ก็ต้องรู้ว่า “เป้าหมายที่จะพุ่งชนคืออะไร”

เหมือนกับเป้าหมายชีวิตของแต่ละคนที่ย่อมแตกต่างกันไป บางคนอยากรวย อยากมีชื่อเสียง อยากเป็นดารา เป็นหมอ เป็นครู หรืออื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่จะไปถึงได้นั้นต้อง “เป็นไปได้” เพราะมิฉะนั้นก็จะกลายเป็น “เป้าหมายเลื่อนลอย” แทน

เฉกเช่นเดียวกับ “การกำหนดประเด็นเชิงนโยบาย” ใน “วงจรนโยบายสาธารณะ” ก็ต้องมีการ “กำหนดเป้าหมาย” ของประเด็นเชิงนโยบายนั้น ๆ ด้วย

ผมขอยกตัวอย่างเรื่อง “กำแพง” อธิบายให้เห็นถึงการกำหนดเป้าหมายของประเด็นเชิงนโยบายที่ดีในกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ให้เห็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น

เวลากล่าวถึงคำว่า “กำแพง” แต่ละคนคงนึกถึง “กำแพง” ที่แตกต่างกันไป เช่น “กำแพงเมืองจีน” “กำแพงกรุงเบอร์ลิน” “กำแพงวัด” หรือบางคนอาจนึกถึงแค่ “กำแพงบ้านไม้ธรรมดา ๆ”

เห็นไหมครับว่าเพียงแค่คำ ๆ เดียว คนฟังยังมีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย เฉกเช่นเดียวกับการกำหนดเป้าหมายของประเด็นเชิงนโยบาย หากกำหนดไม่ชัดเจน ผลที่ออกมาก็ไม่ต่างจากคำว่า “กำแพง” ข้างต้น

ในเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดหลายจังหวัด ผมมักจะได้ยินชื่อ “ประเด็นเชิงนโยบาย” ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะคล้าย ๆ กับคำว่า “กำแพง” ที่ “เป้าหมาย” ยังเบลอ ๆ ไม่ชัดเจน

เช่น คำว่า “ความมั่นคงด้านอาหาร” “สุขภาวะของผู้สูงอายุ” “การจัดการขยะ” เป็นต้น แต่เมื่อผมยกเรื่อง “กำแพง” ขึ้นมาเทียบเคียง เพื่อสอบถามถึง “เป้าหมาย” ในประเด็นเชิงนโยบายในแต่ละเรื่องที่แท้จริงคืออะไร ความชัดเจนของเป้าหมายก็จะเกิดขึ้นทันที

เช่น ในเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร” เป้าหมายที่แท้จริงคือ “การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์” หรือ “การลดละเลิกการใช้สารเคมี” หรือ “การวางผังเมืองกับพื้นที่เกษตรกรรม” เป็นต้น

หรือเรื่อง “สุขภาวะของผู้สูงอายุ” เป้าหมายคือ “การดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง” หรือ “การสร้างความเข้มแข็งชมรมผู้สูงอายุ” หรือ “บทบาทของผู้สูงอายุต่อการพัฒนาชุมชน” เป็นต้น

ดังนั้นการกำหนด “เป้าหมาย” ของ “ประเด็นเชิงนโยบาย” ให้ชัดเจน จึงมีความสำคัญต่อการทำงานเป็นอย่างมาก

คำว่า “กินคำเล็ก” เป็นอีกคำหนึ่งที่ผมมักใช้ตอบคำถามเรื่อง “ขอบเขตของประเด็นเชิงนโยบาย” ซึ่งหมายถึง “มีขนาดที่เหมาะสม” ทั้งความพร้อมเรื่องข้อมูล เวลาที่มี ความสามารถในการจัดการ รวมทั้งเหมาะสมกับงบประมาณ

ยกตัวอย่างเช่น

ที่จังหวัดกาญจนบุรีเริ่มแรกได้เสนอ “ประเด็นเชิงนโยบาย” เรื่อง “การสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุ” แต่เมื่อได้ทบทวนและจำแนกแยกแยะเป้าหมายที่แท้จริงแล้ว ซึ่งก็ยังมีหลายเป้าหมายย่อย ๆ แต่เมื่อพิจารณาความพร้อมเรื่องข้อมูล เวลา งบประมาณแล้ว ได้ตกลงร่วมกันว่าจะกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ “การสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุ” ก่อน ซึ่งก็คือ “การกินคำเล็ก” นั้นเอง

ผมขอยกตัวอย่างให้ทุกท่านลองตอบคำถามว่า ชื่อประเด็นเชิงนโยบายใดเป็นไปตามหลัก “กินคำเล็ก

(๑) “การจัดการขยะของ อปท.” กับ “การจัดการขยะอันตรายของ อปท.”

(๒) “การสร้างความมั่นคงทางอาหาร” กับ “การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

(๓) “การพัฒนางานสื่อสารสาธารณะ” กับ “การส่งเสริมบทบาทของวิทยุชุมชน”

(๔) “การพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์” กับ “การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น”

จากตัวอย่างทั้ง ๔ กรณีข้างต้น ถ้าท่านตอบว่าชื่อประเด็นเชิงนโยบายอันหลัง แสดงว่าท่านเข้าใจกับคำว่า “กินคำเล็ก” แล้ว และย่อมหมายถึงมุมมองที่ชัดเจนต่อการกำหนด “ประเด็นเชิงนโยบาย” ในกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดดีขึ้นตามไปด้วย

อาจมีบางท่านมองว่า “การกินคำเล็ก” เป็น “การแก้ปัญหาแบบแยกส่วน” ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่าแยกส่วน แต่ “หากต้องการแก้ปัญหาเชิงระบบ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ เรามีความพร้อมเพียงใด ทั้งความพร้อมทางด้านวิชาการ เวลา งบประมาณ และความพร้อมต่อการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

หากต้องแก้เชิงระบบ ต้องมีการทำงานด้านข้อมูลวิชาการที่มีขอบเขตกว้างขวางตามไปด้วย เรามีความพร้อมขนาดนั้นไหม

หากต้องแก้เชิงระบบ เรามีเวลาเพียงพอสำหรับการดำเนินการไหม

หากต้องแก้เชิงระบบ เรามีงบประมาณเพียงพอสำหรับการดำเนินการไหม

หากต้องแก้เชิงระบบ ต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะขยายวงกว้างตามขอบเขตของประเด็นเชิงนโยบายตามไปด้วย เรามีความสามารถที่จะดำเนินการไหม

ตัวอย่างเช่น

หากจะกำหนดประเด็นเชิงนโยบายว่า “การสร้างสุขภาวะผู้สูงอายุ” ก็ต้องมีความพร้อมในการทำงานวิชาการ เวลา งบประมาณ และสร้างการมีส่วนร่วม ที่มากกว่าเรื่อง “การสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุ” หรือ “การดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง” เป็นต้น

ประการสำคัญการเลือก “กินคำเล็ก” ก็คือ “โอกาสสำเร็จ” ที่ย่อมสำเร็จได้ง่ายกว่า “กินคำใหญ่” เป็นธรรมดา

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นก็ย่อมจะเป็นยาชูใจให้กับคนทำงาน ซึ่งดีกว่าจะแก้ปัญหาเชิงระบบที่เสมือน “การสร้างกำแพงเมืองจีน” ที่ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าเป้าหมายที่เราวางไว้จะสำเร็จได้เมื่อใด

“เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในการกำหนดประเด็นเชิงนโยบาย ต้องชัดเจน มีขอบเขตที่เหมาะสม เป้าหมายที่ตั้งไว้จึงจะมีโอกาสพุ่งชนได้จริงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น