วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อนาคตโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน

๘ มิถุนายน ๒๕๕๗

“เพื่อให้การบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนตามนโยบายของ หน.คสช. จึงขอให้ทุกส่วนราชการ/ส่วนงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาน้ำ ได้ระงับการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการทั้งปวง (ในส่วนที่ได้รับอนุมัติแล้ว ในส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน และในส่วนที่อยู่ในแผนงาน) โดยให้รวบรวมข้อมูลแผนงาน/โครงการ/งบประมาณ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน ส่งให้สำนักงานฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ภายในวันจันทร์ที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ เพื่อพิจารณาทบทวนและกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อไป”

นี้เป็นข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารฉบับหนึ่งที่ส่งออกมาจาก สลธ.คสช. ซึ่งผมเข้าใจว่า คือ คำย่อของ “สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” และมีการเผยแพร่ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ที่ผ่านมา

พลันที่ผมเห็นเอกสารฉบับนี้ อดไม่ได้ที่จะแสดงความขอบคุณ คสช. โดยเฉพาะจากข้อความที่ว่า “ให้ทุกส่วนราชการ/ส่วนงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาน้ำ ได้ระงับการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการทั้งปวง” เพราะนี้เป็นนิมิตหมายอันดีในการกำหนดทิศทางการจัดการโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท ต่อไปในอนาคตอีกครั้งหนึ่ง

เหตุผลสำคัญเนื่องมาจากจุดกำเนิดและกระบวนการพัฒนาโครงการนี้ถือได้ว่าผิดหลักการของ “กระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดี” อย่างยิ่ง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนมหาศาล
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวไว้นานแล้วว่า กระบวนการนโยบายสาธารณะที่ดี ควรประกอบด้วย "กุศล ๓ ประการ" คือ

(๑) กุศลทางปัญญา คือ มีการใช้หลักฐานข้อเท็จจริงที่ผ่านการศึกษาวิเคราะห์สังเคราะห์อย่างดีจนเป็นความรู้ที่เรียกว่า เป็นการสร้างนโยบายบนฐานของความรู้ (knowledge – based policy formulation)

(๒) กุศลทางสังคม เนื่องจากนโยบายสาธารณะกระทบสังคมทั้งหมดอย่างรุนแรง ดังนั้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ สังคม ควรได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ ร่วมกำหนดนโยบาย โดยทำเป็นกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ทุกฝ่ายเข้าร่วมได้

(๓) กุศลทางศีลธรรม นโยบายสาธารณะที่ดีต้องเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม และเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งสังคม ไม่แฝงเร้นเพื่อประโยชน์เฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่ม

เมื่อนำกรอบกุศล ๓ ประการ มาเปรียบเทียบกับโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน จะพบแต่ “อกุศล” ล้วน ๆ เริ่มตั้งแต่โครงการนี้ไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน ขาดการมีส่วนร่วม อีกทั้งยังมีผู้คนหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งหรือไม่ อย่างไร นี้จึงนำมาสู่การต่อต้านจากประชาชนอย่างกว้างขวาง

หลังมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี ๒๕๕๔ รัฐบาลสมัย "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พยายามผลักดันโครงการนี้ โดยใช้เหตุผลว่าป้องกันการเกิดมหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นอีก

เริ่มแรกรัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ขึ้นมา และเสนอแนวคิดไว้ ๘ แผนงาน คือ (๑) การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้และระบบนิเวศน์

(๒) การบริหารจัดการแหล่งเก็บกักน้ำหลัก (๓) การฟื้นฟูและพัฒนาประสิทธิภาพของสิ่งปลูกสร้างเดิมและก่อสร้างใหม่ตามแผนที่กำหนดไว้ (๔) คลังข้อมูลและระบบคาดการณ์ภัยพิบัติและระบบเตือนภัย (๕) การเตรียมแผนเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ (๖) การกำหนดพื้นที่รับน้ำและมาตรการเยียวยา (๗) การพัฒนาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ และ (๘) การสร้างความรู้ความเข้าใจ การยอมรับ และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่

ทั้ง ๘ แผนงานครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำและมีการเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาคสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวก็จะทำให้ประเทศไทยมีแผนแม่บทการจัดการน้ำที่สมบูรณ์

แต่เมื่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เข้ามาทำโครงการโดยเอาแผนงาน ๘ ข้อของ กยน. มาจัดเป็น ๑๐ แผนงาน (โมดูล) แยกเป็น ๙ สัญญานั้น ไม่มีแผนงานส่วนไหนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชน และภาคสังคม จึงทำให้เกิดข้อโต้แย้งและข้อเสนอแนะทางวิชาการที่ต่อต้านแผนงานทั้ง ๑๐ มากมาย จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๗ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ กบอ. ต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๘ อย่างจริงจัง

เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทาง กบอ. ได้ไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามคำสั่งศาลปกครอง ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างมโหฬาร ดังเสียงสะท้อนหนึ่งจากเวทีเสวนา “ความล้มเหลวเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนและข้อเสนอแนวทางที่ถูกต้องในการบริหารจัดการอุทกภัย” เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ ที่จัดโดยสมาคมวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน

ผลสรุปของเวทีดังกล่าวนั้นระบุชัดเจนว่า “มีรูปแบบและพัฒนาการของเวทีที่ทวีความขัดแย้งและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชนยึดเวที จนกระทั่งประชาชนล้มเวที เนื่องจากแรงคัดค้านของภาคประชาชนและการไม่ยอมรับฟังเสียงประชาชนของภาครัฐบาล” อันมีเหตุมาจากปัญหาด้านกระบวนการ และด้านเนื้อหา

กล่าวคือ

ด้านกระบวนการ : ประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมเวที ลงทะเบียนได้หลายช่องทาง ทั้งทางออนไลน์ ที่อำเภอ หรือลงทะเบียนหน้างานในวันงาน เมื่อประชาชนมาถึงต้องลงทะเบียนตามโต๊ะแยกตามประเภทการลงทะเบียนล่วงหน้า ประชาชนจะได้รับบัตรเข้างานสีต่างๆ กันไปตามประเภทของการลงทะเบียน

แต่จะมีเพียงสีเดียวเท่านั้นที่ได้เข้าห้องรับฟังความคิดเห็นและมีสิทธิกรอกแบบสำรวจความคิดเห็น นั่นก็คือกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ แต่ละจังหวัดมีจำนวนระหว่าง ๘๐๐ – ๑,๐๐๐ คน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนมายื่นที่จุดลงทะเบียนด้วย เพื่อรับเงินค่าเดินทางคนละ ๔๐๐ บาท โดยกลุ่มเป้าหมายนี้คือประชาชนที่ลงทะเบียนกับอำเภอ ที่รัฐบาลกำหนดชัดเจนว่าอำเภอละกี่คน

ด้านเนื้อหา : มีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบผ่านการจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์บริเวณหน้างาน และแจกเอกสารประกอบ ซึ่งบอกเพียงภาพรวมของแผนงาน ไม่มีรายละเอียดของโครงการในพื้นที่ หรือจะมีก็เพียงแค่ ๒ บรรทัด คือข้อมูลที่ตั้ง และความจุเก็บกักน้ำ

ส่วนประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้เข้าห้องแสดงความคิดเห็น จะได้เห็นข้อมูลผ่านการฉายวีดิทัศน์ที่บอกภาพรวมของทั้ง ๑๐ แผนงาน ความยาวประมาณ ๑๕ –๒๐ นาที และภาพโครงการในพื้นที่อีก ๒ – ๓ นาที หลังจากนั้นให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และซักถามวิทยากรได้เพียงเล็กน้อย แล้วก็แยกกันไปเข้าห้องประชุมย่อยๆ ซึ่งแต่ละห้องก็มีอาจารย์หรือวิทยากรประจำอยู่ เพื่อแจกแบบสำรวจความคิดเห็นให้ประชาชนตอบ

ผมได้เคยเขียนบรรยากาศการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นใน ๒ จังหวัด คือ ที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิจิตร ไว้ครั้งหนึ่ง รวม ๓ เรื่อง คือ “คนพิจิตรคัดค้านโครงการ ๓.๕ แสนล้านบาท” (http://bwisutttoto.blogspot.com/2013/11/blog-post_19.html ) “ตามไปดูเวทีรับฟังความเห็นแผนแม่บทจัดการน้ำที่พิจิตร” (http://bwisutttoto.blogspot.com/2013/11/blog-post_18.html ) และ “ไปดูเขาจัดเวทีรับฟังความเห็นเรื่องน้ำมา” (http://bwisutttoto.blogspot.com/2013/11/blog-post_4.html ) ซึ่งทั้ง ๓ เรื่อง ต่างยืนยันว่าเป็นการจัดเวทีที่ไม่สมบูรณ์ทั้งด้านกระบวนการและด้านเนื้อหา

หากย้อนกลับไปดูข้อความในเอกสารที่ออกมาจาก สลธ.คสช. ฉบับเดียวกันนี้ ยังมีข้อความที่ว่า “….เพื่อพิจารณาทบทวนและกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมต่อไป....” นั่นแปลว่าจะมีการนำโครงการนี้มาทบทวนและตัดสินใจที่จะเลือกหน้าไปในทิศทางใดอีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นนี้มีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องออกมาเสนอแนะแนวทางที่น่าสนใจ

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อหัวหน้า คสช ซึ่งนอกจากเสนอให้ยกเลิกแผนงานทั้ง ๑๐ โมดูลแล้ว ยังเสนอให้ “คสช. จัดระบบทบทวนใหม่ โดยวางแผนเร่งด่วน เพื่อรับมือกับฤดูฝนที่จะมาถึง โดยไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการที่รับประโยชน์มาแทรกแซง และใช้แผนบริหารจัดการน้ำที่กรมชลประทานศึกษาร่วมกับไจก้า และแนวทางที่ วสท. ศึกษาไว้ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วม และมีส่วนตัดสินใจ ตรวจสอบบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ในคณะทำงานชุดต่างๆ ไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้อง”

ในส่วนตัวผมเห็นด้วยกับประเด็น “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะตรงกับกุศลทางสังคมตามกรอบ “กุศล ๓ ประการ” ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

อย่างไรก็ตามผมขอเสนอต่อ คสช. เพิ่มเติม ก็คือ การทำให้โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี โดยให้ความสำคัญกับหลักกุศลอีก ๒ ประการ คือ กุศลทางปัญญา และกุศลทางศีลธรรม ที่จำเป็นต้องปฏิบัติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลัก “กุศลทางสังคม” ควบคู่ไปด้วย

เพียงเท่านี้อนาคตของอภิโครงการน้ำ ๓.๕ แสนล้านนี้ ก็จะเดินหน้าได้อย่าง “ตรงใจประชาชน” และท่านก็ไปนั่งอยู่ “ในใจประชาชน” แล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น