วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญข้าวแห่งแรกในโลก

๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ในวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ อันเป็นช่วงเวลาการปกครองของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ผมหนีเมืองหลวงเดินทางไปร่วมนั่งสนทนาอยู่กับทีมวิจัยในโครงการการจัดทำธรรมนูญข้าวบางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งต่างเป็นผู้ก่อตั้งและสมาชิกกลุ่มศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว รวมกว่า ๑๐ คน ภายในกระต๊อบกลางสวนป่าอันเย็นสบาย ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่กลายเป็นร่มกันแดดได้เป็นอย่างดี

นอกจากครูอำนวย หรือ “อำนวย เสมือนใจ” อดีตครูบ้านนอกที่ขอเกษียณตัวเองก่อนครบกำหนด แล้วหันมาทำงานสาธารณะในบ้านเกิด ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยแล้ว ยังมี “คุณสมชาติ นาควิโรจน์” เกษตรอำเภอบางแก้ว ในฐานะประธานสำนักธรรมนูญข้าวบางแก้ว “คุณจักรกฤษณ์ สามัคคี และคุณนลินี สามัคคี” สามีและภรรยาที่ลงทุนลงแรงจัดตั้ง “ศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว” เพื่อผลักดันการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่

“ด้วยความเป็นห่วงว่าพันธุ์ข้าวดีๆ ของบางแก้วจะสูญหายไป กลายเป็นประกายความคิดสำคัญในการชักชวนให้กลุ่มคนต่างๆ ในท้องถิ่น มาร่วมคิดหาทางป้องกันไม่ให้เป็นไปตามความคิดนั้น”

ผมและทีมงานวิจัยโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ : การจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้การนำของ “เทพรัตน์ จันทพันธ์” หัวหน้าโครงการ ได้เดินทางมาลงพื้นที่และร่วมพูดคุยกันถึง “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” อันเป็นธรรมนูญข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นฉบับแรกของโลกด้วยเช่นเดียวกัน

อำเภอบางแก้ว เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพัทลุง เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ซึ่งได้รับการประกาศจัดตั้งจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นกิ่งอำเภอบางแก้ว เมื่อปี ๒๕๓๓ และจัดตั้งเป็นอำเภอบางแก้วมาตั้ง เมื่อแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๘ ประกอบด้วย ๓ ตำบล คือ ตำบลโคกสัก ตำบลท่ามะเดื่อ ตำบลนาประขอ

ประชาชนชาวบางแก้ว ส่วนหนึ่งเป็นชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเดินทางเข้ามาทางเรือและทางรถไฟ โดยยึดอาชีพทำนามาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จวบจนรัฐบาลในสมัยของจอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีการประกาศให้ อาชีพการทำนาเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย ชาวจีนจึงหันไปทำอาชีพอื่น เช่น สวนยางพารา เป็นต้น

พันธุ์ข้าวดั้งเดิมในเขตอำเภอบางแก้วมีมากมายหลายชนิดและที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ คือ “ข้าวสังหยด” นอกจากนั้นยังมีพันธุ์ข้าวหอมขุนราม ข้ามเหมร่ (มะลิ) หอม ข้าวนางเฟือง ข้าวกอ ข้าวหัวนา ข้าวหอมจันทร์ ข้าวไข่มดริ้น ข้าวเฉี้ยง ข้าวเข็มทอง ข้าวช่อดาน ข้าวช่อหลุมพี ข้าวช่อจังหวัด ข้าวช่อมุด ข้าวช่อม่วง ข้าวนางเกิด ข้าวแดง ข้าวตูน ข้าวนางพาด ข้าวนางหงส์ ข้าวยาไทร ข้าวหมูมูสัง ข้าวหน่วยเขื้อ ข้าวดอกยอม ข้าวนางพญาผักเสี้ยน ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวไครและข้าวเหนียวดำตับแรด

“คุณสมชาติ” ให้ข้อมูลกับวงสนทนาว่า “พื้นที่ทำนาในเขตอำเภอบางแก้วลดลงอย่างน่าใจหาย เหลือไม่เกิน ๓ พันไร่ จากเมื่อ ๑๐ ปีก่อนมีการทำนามากกว่า ๑๓,๐๐๐ ไร่ เพราะชาวนาหันไปทำสวนยางพาราแทน”

จากปัญหาการลดลงของพื้นที่ทำนาอย่างมาก และด้วยความเกรงว่าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่หลากหลายและขึ้นชื่อจะสูญหายไป ทีมวิจัยจึงรับคำเชิญชวนจาก “อ.เทพรัตน์” ที่เข้ามาแนะนำให้มีการทำวิจัยชุมชน เมื่อปลายปี ๒๕๕๕ ซึ่งมีข้อสรุปร่วมกันว่า ควรจัดทำ “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” เพื่อใช้เป็นกติการ่วมกันในการแก้โจทย์ทั้ง ๒ ประเด็นนั้น

กระบวนการยกร่างธรรมนูญข้าว เริ่มต้นด้วยการตั้งทีมทำงานประมาณ ๑๐ คน และได้มอบหมายให้ “ครูอำนวย” เป็นผู้ยกร่าง แล้วนำมาเสนอต่อคณะทำงาน ซึ่งร่างแรกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะขาดสาระสำคัญในเรื่อง “สิทธิชุมชน” และ “ทุนทางวัฒนธรรม” ไป

จวบจนมาถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ได้มีการนำร่างธรรมนูญข้าวที่ปรับแก้ตามคำแนะนำของคณะทำงาน ไปจัดเวทีย่อย ๆ ในตำบลต่าง ๆ ๖ ครั้ง และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นชาวนา ผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ ผู้สนใจ ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิชาการ กว่า ๗๐ คน อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้รับข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมเวทีอย่างกว้างขวาง

และเมื่อทุกอย่างเป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายแล้ว จึงได้จัดให้มีพิธีประกาศใช้ “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” ขึ้นในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ บริเวณศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงเดินทางมาเป็นประธานในพิธีด้วยตนเอง

ในวันประกาศใช้ธรรมนูญข้าวนั้น ก่อนเริ่มพิธีมีฝนตกลงมาอย่างหนัก แต่พอถึงเวลาฝนก็หยุดตก สามารถทำพิธีได้อย่างราบรื่น มีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวด มีการผูกโยงสายสิญจน์ทั่วบริเวณงาน และที่สำคัญก็คือ ได้เชิญปราชญ์ชาวบ้านทั้งอำเภอบางแก้วมาร่วมงาน

“ในวันนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้เน้นย้ำว่าถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่หยิบเรื่องข้าวมาทำกัน และจะนำไปเป็นตัวอย่างกับชาวนาในอำเภออื่น ๆ ด้วย”

ผมหยิบ “ธรรมนูญข้าวบางแก้ว” ขึ้นมาดู มีสาระรวม ๘ หมวด คือ

หมวด ๑ หมวดทั่วไป
หมวด ๒ ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมนูญข้าวบางแก้ว
หมวด ๓ ว่าด้วยสมาชิก
หมวด ๔ ว่าด้วยพันธุกรรมข้าวบางแก้ว
หมวด ๕ ว่าด้วยพื้นที่คุ้มครองการทำนาสมุนไพรและภูมินิเวศน์
หมวด ๖ ว่าด้วยสมุนไพรในนาข้าว
หมวด ๗ ว่าด้วยสิทธิประโยชน์
หมวด ๘ ว่าด้วยประเพณีวัฒนธรรมข้าว

“หลักการสำคัญที่เรานำมาใช้ในการขับเคลื่อนธรรมนูญข้าวฉบับนี้ให้เป็นจริง ก็คือ การพึ่งตนเอง โดยขณะนี้ได้รับคำยืนยันจาก อปท. ซึ่งมี ๔ แห่ง ในเขตอำเภอบางแก้วแล้วว่า จะจัดสรรงบประมาณในปีหน้าสนับสนุนการดำเนินงาน อีกทางหนึ่งคือจะใช้เครื่องมือการสื่อสาร โดยจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารในลักษณะปากต่อปาก โดยใช้คณะกรรมการเป็นผู้ขยายวงไปเรื่อย ๆ ซึ่งทางทีมงานเรามั่นใจว่าอีกไม่นานจะมีชาวนาเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะตอนนี้มีชาวนารายหนึ่งประกาศยกเลิกการทำสวนยางพาราและจะหันหน้ามาทำนาข้าวแล้ว”

“ศูนย์บ้านเรียนรู้เกษตรกรรมธรรมชาติบางแก้ว จะเป็นศูนย์สำหรับการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวดั้งเดิมของอำเภอบางแก้ว ขณะนี้มีชาวนามาขอซื้อพันธุ์ข้าวไปขยายผลมากขึ้น และที่สำคัญมีคนช่วยประชาสัมพันธ์แทนเราตลอดเวลา โดยเฉพาะลูกหลานชาวจีนที่รู้จักพันธุ์ข้าวเหล่านี้มาจากบรรพบุรุษ”

ระยะเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง ที่ผมได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “ธรรมนูญข้าวอำเภอบางแก้ว” ครั้งนี้ นับว่าเป็นความรู้ใหม่ที่สร้างความประทับใจให้กับผมและทีมงานเป็นอย่างยิ่ง อดคิดด้วยความภูมิใจไม่ได้ว่าแนวคิดของ “ธรรมนูญสุขภาพ” ที่เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ได้ถูกนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการจัดทำ “ธรรมนูญข้าว” ของคนบางแก้วครั้งนี้

ผมได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กระบวนการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อการขับเคลื่อน “ธรรมนูญข้าว” ต่อไปในอนาคต ๖ ประการ คือ

หนึ่ง : การเผยแพร่ให้ครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยควรจัดพิมพ์และมอบให้กับทุกครัวเรือน และอาจเชื่อมโยงกับความเชื่อและศาสนาที่คนบางแก้วนับถือศรัทธา ดังเช่น ที่ตำบลแม่ถอด จังหวัดลำปาง ที่มีการจัดพิมพ์ออกมาในลักษณะใบลานสำหรับเทศนาของพระสงฆ์ เป็นต้น

สอง : จัดทำแผนการขับเคลื่อนให้ชัดเจน โดยหยิบประเด็นสำคัญ ๆ ในบางเรื่องมาทำเป็นแผนการทำงานของคณะกรรมการฯ และมีการเชื่อมโยงกับแหล่งทุน อาทิ อปท. ทั้ง ๔ แห่ง และอาจเสนอไปยังจังหวัดเพราะมีงบประมาณสนับสนุนได้อยู่

สาม : ควรมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยใช้การสื่อสารที่มีอยู่ในอำเภอ เช่น วิทยุชุมชน แผ่นพับ หรือในเวทีการประชุมสัมมนา หรืองานประเพณีต่าง ๆ

สี่ : ควรจัดให้มีการจัดการความรู้ ทั้งการถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมางาน และการถอดบทเรียนกิจกรรมที่มีความก้าวหน้าตามสาระในธรรมนูญข้าว และนำมาเป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกและผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง

ห้า : ควรมีการสร้างแรงจูงใจเชิงบวก เช่น การยกย่องชมเชย การมอบเกียรติบัตร ต่อบุคคลที่ทำดีเป็นไปตามธรรมนูญข้าว เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำสิ่งดี ๆ กับผู้อื่นต่อไป

หก : ควรมีการทบทวนธรรมนูญข้าวเป็นประจำทุกปี เพื่อปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับความเป็นจริงและความเป็นไปได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ก่อนที่คณะของเราจะลากลับ ได้มีโอกาสไปสักการะเจ้าแม่โพสพที่ตั้งอยู่ภายในอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ข้าวนานาพันธุ์ และเครื่องมือทำนา โดย “ครูอำนวย” เป็นผู้กล่าวนำให้คณะของเรากล่าวตาม และเมื่อกล่าวจบ บอกให้ทุกคนขอพรตามที่แต่ละคนปรารถนา

“ขอให้ประเทศชาติเรากลับมาสู่ความสงบสุข และขอให้เจตนาของคนบางแก้วที่ถูกเขียนไว้ในธรรมนูญข้าว สำเร็จลุล่วงด้วยเทอญ” ผมรำพึงเบาๆ ก่อนเดินออกจากศูนย์เรียนรู้ฯด้วยความสุขใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น