วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป : ข้อเรียกร้องบนหลักการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

นับเป็นปรากฎการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นบนหลักการสำคัญของการปกครอง “ตามระบอบประชาธิปไตย” เมื่อประชาชน ภาคองค์กรชุมชน ประชาสังคม นักวิชาการ นักธุรกิจ เกษตรกร กว่า ๓๐ เครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง เครือข่ายจัดการที่ดินแนวใหม่แห่งชาติ เป็นต้น กว่า ๒๐๐ คน มารวมตัวกัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน “เวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ผ่านมา

ในวันนั้น “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป หรือ สชป.” มาประชุมปรึกษาหารือกันถึงช่องทางการเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ที่กำลังเกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ อยู่ในขณะนี้

ที่ประชุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า
• ในสถานการณ์เช่นนี้นับเป็นโอกาสที่ดี ที่มี “กลไกแม่น้ำ ๕ สาย” อันประกอบด้วย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำพิมพ์เขียวเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

• การปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ ควรมีการสร้างสะพานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะจะทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในแต่ละด้านต้องนำมาสู่การ “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” เพื่อนำพาประเทศชาติประชาชนไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน

• ในปัจจุบัน มีพลังมวลชนที่หลากหลายที่ขับเคลื่อนงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีข้อมูล มีประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปครั้งนี้

• ควรจัดตั้ง “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป หรือ สชป.” เป็น “แม่น้ำสายที่ ๖” เป็นช่องทางร่วมมือกับ “กลไกแม่น้ำ ๕ สาย” เพื่อเชื่อมโยงกับพลังมวลชนที่กระจายอยู่นอกสภา ทำงานแบบเสริมพลังกันและกัน และร่วมกันเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศครั้งนี้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่

และที่ประชุมยังได้รับรู้ถึงกำหนดการเปิดตัว “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป หรือ สชป.” ที่จะจัดขึ้น ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันประกาศความร่วมมือจัดตั้ง สชป. แสดงจุดยืนเป็นองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน พลเมืองในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย พร้อมเสนอ ๖ ข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” ประกอบด้วย

ข้อ ๑ สชป. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงองค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อระดมความความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำรัฐธรรมฉบับใหม่อย่างเป็นอิสระ

ข้อ ๒ สชป. เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องกำหนดกรอบทิศทางไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายอำนาจไปสู่การเพิ่มอำนาจประชาชน ทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค นโยบายพื้นฐานแห่งชาติ การใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ด้วยการกำหนดให้มี “สภาพลเมือง” เป็นอำนาจที่สี่ การกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น สิทธิในการกำหนดอนาคตเพื่อการพัฒนาในแต่ละท้องถิ่น การขจัดความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนการรักษาไว้ซึ่งหลักการสำคัญที่ว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพยากรร่วมของคนไทย การนำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ ต้องเป็นไปตามความเห็นร่วมของสังคม

ข้อ ๓ สชป. เห็นว่าในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีของการปฏิรูประเทศ รัฐบาลต้อง เสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนไทยทุกคน ตระหนักและเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้อย่างหลากหลายช่องทาง ตลอดจน ไม่ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป จนกว่าข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปในแต่ละด้านจะเป็นที่ยุติ และเห็นพ้องต้องกันของสังคม อาทิเช่น การชะลอการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ หรือยุติความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ก่อน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปด้านพลังงาน เป็นต้น

ข้อ ๔ สชป. ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่มาจากการระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน แต่ด้วยระยะเวลาจำกัดเพียงหนึ่งปี จึงทำได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นต้องมีการวางพื้นฐาน กลไกหรือกฎหมายและมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการดำเนินงานต่อเนื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ

ข้อ ๕ ในสถานการณ์เร่งด่วน สชป. เห็นว่า คำสั่งของ คสช. บางคำสั่ง ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น คำสั่งที่ ๖๔/๒๕๕๗ และ ๖๖/๒๕๕๗ ซึ่งระบุว่า การปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และ ผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการรื้อถอน ทำลายพืชผล จับกุมเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ยากไร้ และได้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่นั้น รวมทั้งอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาตามนโยบายคนอยู่ร่วมกับป่าของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการกำกับ ดูแล และสั่งการให้หน่วยปฏิบัติของราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยุติการกระทำดังกล่าว และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยมีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืน

ข้อ ๖ เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง ๕ ประการข้างต้น สชป. จะดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยสนับสนุนการขับเคลื่อน สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปทั้งในระดับพื้นที่และประเด็นปัญหา สร้างช่องทางการประสานงานที่ภาคประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการสร้างระบบการสื่อสารสู่สาธารณะให้เกิดการรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การติดตามหนุนเสริมและวางแผนการทำงานในระยะยาวต่อไป

ในการประชุมวันนั้น ทาง สชป. ได้เรียนเชิญ “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.” กว่า ๑๐ คน มาร่วมรับฟังและให้มุมมองต่อการขับเคลื่อนครั้งนี้

สมาชิก สปช. ทุกคนต่างแสดงทัศนะที่ชื่นชมและสนับสนุนแนวทางของขบวนของ สชป. อาทิ

“นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “สปช.เป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยพลังพลเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของสังคมในการร่วมผลักดัน และเรื่องการปฏิรูปไม่ใช่งานแค่หนึ่งปี”

“นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” กล่าวย้ำเตือนว่า “ปัจจุบันความคิดเห็นยังมีความแตกต่างกัน การทำให้เกิดพลังจะต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายเชิงประเด็นที่หลากหลาย เราต้องตกลงกันให้ดี นี้คือหลักการที่สำคัญ”

“นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า “การปฎิรูปครั้งนี้ต้องเป็นกระบวนการที่มีวุฒิภาวะ เป็นกระบวนการที่หวังผล ต้องมาจัดองค์ประกอบใหม่ โครงสร้างดังกล่าวจะต้องมาร่วมคิด เพื่อให้เกิดทางเลือกแนวใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และมีกติกาในเชิงความคิด”

“นางฑิฆัมพร กองสอน” กล่าวสนับสนุนว่า “เรามีเป้าหมายร่วมกันในการปฏิรูป คือ ต้องให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หากการมีส่วนร่วมครั้งนี้ มีกลไกตั้งแต่ระดับตำบล มีการเปิดเวทีเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เพราะเราอยู่ในพื้นที่เราจะรู้ว่าพื้นที่เรามีปัญหาอะไรบ้าง แต่ก็จะคาดหวังจาก สปช. ทั้งหมดไม่ได้ ไม่อยากให้เรื่องการปฏิรูปเป็นเพียงตัวหนังสือ อยากเห็นการปฏิรูปครั้งนี้ นำมาสู่การปฏิบัติ”

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ผมอดคิดไปถึงสิ่งที่ “เอมี่ กัทแมน” และ “เดนนิส ทอมป์สัน” (Amy Gutmann & Dennis Thompson) นักปรัชญาการเมือง ได้เรียกร้องไว้ในช่วงต้นศตวรรตที่ ๒๑ ให้ยกระดับประชาธิปไตยไปสู่ “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” หรือ “Deliberative Democracy”

ที่หมายถึง “การที่คนในสังคมทุกฝ่ายมีโอกาสมาร่วมสนทนาทางการเมือง ร่วมอภิปรายสาธารณะ หรือแลกเปลี่ยนความเห็นสาธารณะอย่างเท่าเทียมกันและอย่างมีอิสระในฐานะที่เป็นพลเมืองของสังคมหรือชุมชน เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อแสวงหาและก่อให้เกิดมติร่วมหรือเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันที่จำเป็นสำหรับนำไปใช้ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือเป็นกรอบสำหรับการพัฒนาเพื่ออนาคตของชุมชนและสังคม”

เพราะสิ่งที่กำลังขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือกระบวนการ “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” ซึ่งถือเป็นการยกระดับ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ไปอีกขั้นหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น