๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
“อินทิรา คานธี” อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอินเดีย ได้เคยกล่าวไว้ว่า “หากมีเหรียญคนละเหรียญนำมาแลกกัน ก็จะได้กลับไปคนละเหรียญ หากความรู้นำมาแลกกัน ก็จะได้กลับไปคนละสองความรู้”
คำกล่าวนี้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวเปิดในเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดย “รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก” ผู้อำนวยการสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนา จังหวัดลพบุรี ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ในช่วงสายของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ เพื่อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นบอกเล่าให้ที่ประชุมได้เข้าใจถึงพัฒนาการของขบวน “สมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” ที่มีมาอย่างยาวนาน
จากกระแสการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ในช่วงปี ๒๕๔๔ ที่ภาคประชาสังคมในจังหวัดลพบุรีก็ได้มาอยู่ในขบวนสายธารนี้ มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันให้ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ และส่งต่อความเห็นนั้นไปร่วมกับพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศไทย
จากการทำงานครั้งนั้นกลายเป็นจุดสำคัญในการเปิดพื้นที่สาธารณะ เชื้อเชิญผู้คนในจังหวัดได้มาเข้าร่วมกำหนดอนาคตคนลพบุรี มีเวทีสาธารณะระดับจังหวัดเกิดขึ้นทุกปี โดยแต่ละปีมีการหยิบยกประเด็นสำคัญมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น
ปี ๒๕๔๕ “สร้างสุขภาพดี ลพบุรีน่าอยู่” เพื่อหล่อหลอมอุดมการณ์ “สร้างนำซ่อม”
ปี ๒๕๔๖ “ชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่”
ปี ๒๕๔๗ “แม่น้ำลพบุรี” และ “เกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพ”
ปี ๒๕๔๘ “วิทยุชุมชน สร้างคน สร้างสุขภาพ”
ปี ๒๕๔๙ “สุขภาพ ความดีงามและความพอเพียง”
ปี ๒๕๕๐ “การสร้างสังคมรู้รักสามัคคี”
หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ จังหวัดลพบุรีก็ยังคงเดินหน้ายกระดับกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” มาใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง
ปี ๒๕๕๑ ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับตำบล ภายใต้หัวข้อ “ตำบลต้นแบบแห่งสุขภาวะ” โดยใช้พื้นที่ตำบลชอนสมบูรณ์ อำเภอหนองม่วง เป็นฐานปฏิบัติการ มี “พระครูใบฎีกาทรงพล ชยนันโท” เป็นแกนนำ จับประเด็นเรื่อง “การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น” ขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก ซึ่งในที่สุดเกิด “ยุทธศาสตร์ไข่แดง” ที่กำหนดให้ “วัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายคือไข่แดง” ที่ไข่ขาว คือ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ต้องจับมือกันดูแลไข่แดงเป็นเป้าหมายร่วมกัน
แม้จะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่ก็สามารถสร้างความสั่นสะเทือนและเป็นบทเรียนไปในวงกว้างไว้ เปรียบดัง “เด็ดดอกไม้ดอกเดียว กระเทือนถึงดวงดาว” ปัญหา “ท้องไม่พร้อมในตำบลชอนสมบูรณ์มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็นต้นแบบสู่การขยายผลไปยังพื้นที่อื่นทั้งระดับอำเภอและจังหวัด
ปี ๒๕๕๒ ได้ขยายประเด็นของสมัชชาสุขภาพระดับตำบลให้กว้างขึ้น โดยหยิบยกประเด็น “สุขภาวะวัยเจริญพันธุ์ : เด็กดีสร้างสุข” มาปรึกษาหารือกัน และเกิดประเด็นร่วมต่อยอดไปในอีก ๓ ประเด็นคือ (๑) การลดละเลิกเหล้าสร้างสุขพอเพียง (๒) อาหารปลอดพิษชีวิตปลอดภัยสู่นโยบายทางอาหาร และ (๓) ชุมชนเป็นสุข สร้างสุขพอเพียง
ปี ๒๕๕๓ มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับอำเภอ ในประเด็น “สุขภาวะวัยเจริญพันธุ์ : เด็กดีสร้างสุข” โดยการถอดบทเรียนการดำเนินงานแก้ไขปัญหา “ท้องไม่พร้อม” ของตำบลชอนสมบูรณ์ มาขยายผลสู่ตำบลอื่น ๆ ของอำเภอหนองม่วง
ปี ๒๕๕๔ มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด ในประเด็น “ชาวลพบุรีฟื้นฟูภัยพิบัติจัดการสุขภาวะ” และมีการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงาน “ท้องไม่พร้อม” ของอำเภอหนองม่วง โดยมีการพัฒนาศักยภาพแกนนำถอดบทเรียนและบันทึกเรื่องราวการทำงานที่ผ่านมา
ปี ๒๕๕๕ จัดสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด ในประเด็น “การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมของจังหวัดลพบุรี” มาปรึกษาหารือกันจนในที่สุดเกิดมติระดับจังหวัด
ในการขับเคลื่อนงานตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปี ๒๕๕๕ กลไกที่ทำหน้าที่ในการประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เข้ามาทำงานร่วมกันคือ “สถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนา”
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นับเป็นวันสำคัญของการยกระดับกระบวนการสมัชชาสุขภาพ โดย “นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวลพบุรี และได้ชวนคุย ชวนลองทำ “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” เต็มรูปแบบ เกิดแรงบันดาลใจและพลังใจกับทีมงานอย่างเต็มเปี่ยม จนนำไปสู่การเริ่มต้นการทบทวนจังหวะก้าวการทำงานในอดีต เกิดการสานพลังกัลยาณมิตรทั้งเพื่อนเก่าและใหม่ ภายใต้แนวคิด “รักษาเพื่อนเก่า แสวงหาเพื่อนใหม่เพิ่ม”
นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นมา จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยเพิ่ม “สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี” เข้ามาร่วมเป็นกลไกฝ่ายเลขานุการ
ในปีดังกล่าวเกิด “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” หรือ “คจ.สจ.ลพบุรี” ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นประธาน มีที่ปรึกษา รวม ๑๑ คน กรรมการ ๔๖ คน โดยมีสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนาจังหวัดลพบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ร่วมกันเป็นเลขานุการ
ในปีนี้ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรีเต็มรูปแบบไปเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยมี ๓ ระเบียบวาระ คือ (๑) อาหารปลอดภัย (๒) การตั้งครรภ์ไม่พร้อม และ (๓) เด็กติดเกม
ภายหลังจากที่มีมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรีออกมาแล้ว ได้มีการตั้ง “คณะทำงานประสานงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” หรือ “คป.สช.ลบ.” เป็นกลไกในการขับเคลื่อนมติสู่การปฏิบัติ มีกลไกย่อย ๕ ทีม ประกอบด้วย (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิ (๒) คณะทำงานฝ่ายอำนวยการ (๓) คณะทำงานฝ่ายวิชาการ (๔) คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สื่อเพื่อสังคม (๕) คณะทำงานฝ่ายประเมินผล และ (๖) คณะทำงานฝ่ายเลขานุการ โดย คป.สช.ลบ. จะมีการประชุมปรึกษาหารือกันทุก ๒ เดือน
สำหรับในปี ๒๕๕๗ ก็ได้มีการเตรียมจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี เป็นครั้งที่ ๒ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ นี้ โดยมีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นระเบียบวาระการประชุมรวม ๕ เรื่อง คือ (๑) พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ (๒) การพัฒนาระบบการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (๓) การคุ้มครองผู้บริโภค : การจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (๔) การจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด และ (๕) สิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิต
ผมอดคิดไม่ได้ว่ากระบวนการทำงานของสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรีกว่าสิบปี ได้สร้างให้เกิดคุณค่าถึง ๖ ประการ ที่เปรียบประดุจ “เพชรหกเหลี่ยม” ทอแสงสู่สายตาของผู้คนที่ได้เข้ามาเรียนรู้
หนึ่ง ทำให้ได้เห็นคุณค่าและความงดงามที่หลากหลายอยู่ในพื้นที่
สอง เป็นกระบวนการที่ทำให้ได้ทบทวนจังหวะก้าวของการทำงานในพื้นที่
สาม เป็นการเติมเต็ม เสริมพลังใจ เติมฝัน เติมไฟ เติมใจให้กับทีมงานซึ่งกันและกัน
สี่ ทำให้ได้เจอคนหัวใจเดียวกัน และได้เรียนรู้จากกันและกัน
ห้า ได้มุมมองที่กว้างและหลากหลาย พบคนทำงานตัวจริง เสียงจริง
หก ได้โอกาสเรียนรู้ และสร้างพลังจากทุนทางสังคม
และคุณค่าที่เกิดขึ้นนี้เอง ได้ถากถางเส้นทางวันนี้ของ “สมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” จนกลายเป็นจังหวัดตัวแทนของภาคกลาง ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัล “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๗” ที่จะมีการนำเสนอผลงานในเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ นี้
ขอสะกิดบอก “รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก” ในตอนท้ายนี้ว่า “ในวันนั้น ผมเดินทางออกจากจังหวัดลพบุรี ผมได้ซึมซับประสบการณ์ใหม่ มุมมองใหม่และความรู้ใหม่ ที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนางาน “สมัชชาสุขภาพ” ในอนาคตยิ่งนัก ซึ่งมีค่ามากกว่าสองความรู้ตามที่ “อินทิรา คานธี” ได้กล่าวไว้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น