วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

“หมวกหกใบ” : เครื่องมือเสริมสร้างกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ที่มีคุณค่าอีกชิ้นหนึ่ง

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗

นอกจาก “เวิลด์คาเฟ่” ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างพื้นที่สนทนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์อันเป็นกระบวนการสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพ” ที่ผมได้เล่าไปอย่างละเอียดในครั้งที่แล้ว “หมวกหกใบ หรือ Six Thinking Hats” เป็นอีกเครื่องมือที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ สำหรับการกำหนดประเด็นเพื่อสร้างให้เกิด “พลังการสนทนา” อันเป็นหลักการสำคัญของกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

ย้อนไปเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่ห้องประชุมของโรงแรมเรือโบราณหรือคุ้มหม่อมไฉไล ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดให้มีเวทีพัฒนาศักยภาพ “นักสานพลัง” กว่า ๕๐ ชีวิต

ในเรื่องเล่าครั้งนั้น ผู้ทำหน้าที่กระบวนกรได้นำเครื่องมือ “เวิลด์คาเฟ่” มาใช้สำหรับการระดมสมองของบรรดานักสานพลัง จนได้ข้อสรุปที่ลึกซึ้งและมีประโยชน์อย่างมากมาย จุดสำคัญที่ทำให้ “เวิลด์คาเฟ่” เกิดผลอันเป็นที่พอใจ นั่นก็คือ “คำถาม” ที่ผู้ทำหน้าที่ “กระบวนกร” ได้ตั้งไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุม

หลักการหรือเทคนิคที่นำมาใช้ในการกำหนดกรอบการตั้งคำถาม ก็คือ “หมวกหกใบ หรือ Six Thinking Hats”

เทคนิคนี้เป็นเครื่องมือที่โด่งดังมากมายาวนานกว่า ๒๐ ปี พัฒนาโดย “เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน” (Edward de bono)

หลักการของเครื่องมือนี้ คือ การจัดความคิดของทุกคนในกลุ่มให้คิดไปในแนวทางเดียวกันในเวลาเดียวกัน เรียกว่าการคิดแบบขนาน (Parallel Thinking) เพื่อป้องกันการขัดแย้งทางความคิดซึ่งกันและกัน และลดทิฐิในความคิดของตนเอง จากนั้นค่อยสั่งให้เปลี่ยนแนวคิดไปอีกแนวหนึ่งพร้อมๆ กัน เพื่อให้ได้พิจารณาในทุกแง่มุมให้ครบทุกมุมมอง

ความคิด ๖ ด้าน ที่เปรียบเสมือนหมวก ๖ ใบ ประกอบด้วย

หมวกสีขาว (White Hat) : เป็นตัวแทนของข้อเท็จจริง ซึ่งได้แก่ ตัวเลขและข้อมูลต่าง ๆ มีประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อหาข้อสรุปโดยไม่คำนึงถึงทัศนคติหรือความคิดเห็นใด ๆ

หมวกสีแดง (Red Hat) : เป็นตัวแทนของอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อเรื่องราวนั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลใด ๆ

หมวกสีดำ (Black Hat) : เป็นตัวแทนของความระมัดระวัง ซึ่งจำเป็นต้องไตร่ตรองและยับยั้งการดำเนินการ ถ้าอาจทำให้ความเสียหายหรือล้มเหลวได้

หมวกสีเหลือง (Yellow Hat) : เป็นตัวแทนของการแสงหาทางเลือกอย่างมีความหวัง พร้อมทั้งทดลองปฏิบัติเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

หมวกสีเขียว (Green Hat) : เป็นตัวแทนของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ที่ให้ความสดชื่น เป็นการเปิดโอกาสให้กับการปรับปรุง สร้างสรรค์และพัฒนา

หมวกสีน้ำเงิน (Blue Hat) : เป็นตัวแทนของการควบคุมความคิดทั้งหมดหรือมุมมองในทางกว้างที่ครอบคลุมทุกสรรพสิ่ง ซึ่งเปรียบเหมือนท้องฟ้า

เมื่อผู้เข้าประชุมเข้าประจำที่ในกลุ่มย่อย “กระบวนกร” ก็ฉายภาพขึ้นจอขนาดใหญ่ ข้อความที่ปรากฏบนคือ “คำถาม” ชวนคิด ว่า “เราได้เรียนรู้อะไรจากเครื่องมือตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐”

แต่เพื่อไม่ให้การคิดของแต่ละกลุ่มไปคนละทิศทาง กระบวนกรจึงได้ตั้งคำถามย่อย ๓ คำถาม สำหรับการประชุมกลุ่มในรอบที่ ๑ โดยอาศัยกรอบความคิดของ “หมวก ๖ ใบ” มาใช้คือ

หมวกสีขาว : สิ่งที่เราเจอ ข้อเท็จจริง

หมวกสีแดง : รู้สึกอย่างไร

หมวกสีเขียว : ต่อยอด

เมื่อหมดเวลาที่กำหนด กระบวนกรก็ประกาศให้สมาชิกแต่ละกลุ่มแยกย้ายไปยังกลุ่มอื่น โดยให้เหลือ “เจ้าบ้าน” ประจำกลุ่มไว้หนึ่งคน เพื่อคอยอธิบายสิ่งที่ได้คุยกันไว้ให้สมาชิกใหม่รับทราบ พร้อมทั้งกำหนด “คำถาม” ใหม่อีก ๒ ข้อ ตามแนวคิดของหมวกอีก ๒ ใบ คือ

หมวกสีเหลือง : คุณค่า ประโยชน์

หมวกสีดำ : เงื่อนไข ข้อควรระวัง

เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อหมดเวลาสมาชิกก็จะย้ายไปยังกลุ่มอื่น โดยมอบหมายให้ใครคนหนึ่งทำหน้าที่ “เจ้าบ้าน” เพื่ออธิบายให้สมาชิกใหม่รับฟังเช่นเดิม

อีกทั้งยังได้เพิ่ม “คำถาม” อีก ๑ ข้อ ตามแนวคิดของหมวกอีก ๑ ใบที่เหลือ คือ

หมวกสีฟ้า : สรุปรวบยอด

เวลาประมาณ ๙๐ นาที สำหรับกระบวนการ “เวิลด์คาเฟ่” ที่มีการตั้งคำถามตามแนวคิดของ “หมวก ๖ ใบ” ได้หมดลง นอกจากภาพของผู้เข้าประชุมที่เดิน นั่ง นอน อย่างมีชีวิตชีวาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้ทุกคนเห็นก็คือ ภาพวาด แผนผังความคิดและตัวอักษรที่ถูกขีดวาดไว้บนกระดาษฟลิปชาร์ทของทุกกลุ่ม ต่างล้วนมีคำตอบตามคำถาม ๖ ข้อ ที่ลึกซึ้งและเป็นประโยชน์ยิ่ง

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่า ความสำคัญของการ “ตั้งคำถาม” หรือ “โจทย์เวที” ในการประชุม อย่างพิถีพิถันและเปิดโอกาสให้มีการครุ่นคิดอย่างรอบด้าน จะสามารถสร้างประสิทธิภาพของการจัดประชุมให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างดียิ่ง

1 ความคิดเห็น: