๓ ตุลาคม ๒๕๕๗
“ตัวอักษร ลิขิต ในกระดาษ
ขอจงช่วย แต่งเติมวาด ให้เกิดผล
พลังใจ พลังรัก พลังชุมชน
ชาวตำบล เขาไม้แก้ว ให้สัญญา”
พลันกลอนบทนี้ก็ปรากฏขึ้นมาระหว่างที่ผมนั่งอ่าน “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” ที่ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ ๗ หมวด ได้แก่ หมวดสุขภาพ หมวดสิ่งแวดล้อม หมวดการศึกษา หมวดเด็กและเยาวชน หมวดเศรษฐกิจ หมวดศาสนาและวัฒนธรรม หมวดภูมิปัญญาท้องถิ่น รวม ๕๔ ข้อ ล้วนบอกเป้าหมายที่คนในตำบลเขาไม้แก้วอยากเห็น อยากเป็น อยากมี
ณ กลางลานวัดบรรพตรัตนาราม (เขาไม้แก้ว) เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ เต็มไปด้วยผู้คนที่ต่างหลั่งไหลมาร่วมพิธีประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว”
เวทีไม้ถูกยกระดับขึ้นสูง ตกแต่งด้วยลำไม้ไผ่นับร้อยเป็นฉากหลัง ประดับประดาด้วยดอกไม้ ฟางข้าวและผลิตผลทางการเกษตร และฉากผ้ายึดติดด้านขวาของเวทีด้วยข้อความที่ว่า “พิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว : ก่อร่าง สร้างฝัน อนาคตตนเอง” คู่กับฉากผ้าแสดงผังชุมชนฝีมือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจาก “โรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว” ขึงเด่นบนเวที
ด้านหน้าเวทีมีโต๊ะไม้ตัวสูงตั้งตรง กึ่งกลางเวทีมีองค์พระพุทธรูปสูงราวศอกตั้งเด่นบนฐาน ประดับประดารายรอบไปด้วยเอกสารที่หน้าปกปรากฏข้อความว่า “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” นับร้อยเล่ม ห่อหุ้มด้วยฟางข้าว พร้อมมีสายสิญจน์ผูกโยงไปยังประรำพิธีที่จัดเตรียมไว้สำหรับพระสงฆ์ที่จะมาร่วมสวดชยันโต
รอบลานโพธิ์มีเต็นท์วางเรียงรายโดยรอบ มีป้ายเขียนด้วยลายมือแสนสวยบอกชื่อหมู่บ้านทั้ง ๑๐ หมู่ เคียงคู่กับชื่อรายการอาหารที่แต่ละหมู่บ้านนำมาเลี้ยงผู้คนที่มาร่วมงาน ทั้งไก่อบโอ่ง แกงยอดหวาย อ่อมปูนา แกงคั่วกบ แกงส้มสายบัว ส้มตำปลาร้า แกงหน่อไม้ใส่ปลาแขยง ป่นปลาดุก ขนมจีนน้ำยาไก่ แกงเปอะหน่อไม้ ซุปบักมี้ (ซุปขนุน) และแกงน้ำพริก ๒ สูตร ทุกเมนูชวนน้ำลายสอให้กับผู้มาร่วมงาน
อีกฝั่งหนึ่งมีเต็นท์นิทรรศการจากหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนนำเสนอความรู้ต่าง ๆ ทั้งเรื่อง ประกันสังคม เกษตรอินทรีย์ ถัดไปเห็นแม่เฒ่ากำลังนั่งปั่นไยไหม บ่งบอกถึงความอุตสาหะกว่าจะได้ผ้าสักผืน
เสียงปี่ ฉาบ ฉิ่ง ตีรับเข้าจังหวะกลองยาว “มงเทิ่งมง” ที่คุ้นชินมาตั้งแต่สมัยเด็ก
“การดำเนินงานของตำบลเขาไม้แก้วนับเป็นตัวอย่างที่ดี ที่ได้มีการสร้างกติกาของชุมชนขึ้นมาด้วยพลังของคนในชุมชน ซึ่งผมได้อ่านสาระแล้วมีขอบเขตไปไกลกว่าเรื่องสุขภาพ มีเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพโดยตรง ผมขอเป็นกำลังใจในการขับเคลื่อนงานนี้ด้วยความจริงใจ และจะใช้เป็นต้นแบบในการเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่น ๆ ทั้งจังหวัดต่อไป ผมขอประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว ณ บัดนี้”
เป็นคำกล่าวของ “นายวีระวุฒิ บุตรเสนีย์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ต่อหน้าผู้บริหารหน่วยงานในจังหวัด อาทิ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ผู้บริหารองค์กรรัฐ ผู้นำองค์กร ประชาชนและเยาวชนในตำบลเขาไม้แก้ว กว่า ๖๐๐ คน
ซึ่งบ่งบอกความหมายของคำว่า “สุขภาพ” แนวใหม่ได้เป็นอย่างดี เสมือนเป็นความท้าทายต่อคนตำบลเขาไม้แก้วในการนำภาพฝันที่บรรจุไว้ในบนแผ่นกระดาษมาขับเคลื่อนให้มีชีวิตอีกด้วย
ผมนั่งอ่านไปทีละข้อ เห็นการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อครั้งมาดูงานกับทีม “นักสานพลัง” เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ไปเล็กน้อย แต่ยังคงเป้าหมายใน ๔ ระดับไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น
หนึ่ง ระดับปัจเจกบุคคล เป็นสิ่งที่กำหนดให้คนในตำบลยึดเป็นแนวปฏิบัติ อาทิ
ข้อ ๔ งดใช้สารเคมีทางการเกษตรในชุมชนที่หนาแน่น
ข้อ ๑๕ ห้ามช็อตปลาและเบื่อปลา
ข้อ ๒๑ ห้ามตัดหรือขุดล้อมพันธุ์ไม้ในที่หรือทางสาธารณะ หากจำเป็นที่ต้องดำเนินการใด ๆ ต้องทำประชาคมหมู่บ้านก่อน
ข้อ ๕๐ พระสงฆ์ต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับการเป็นพระ
ข้อ ๕๑ งดดื่มสุราและเล่นการพนันในเขตบริเวณวัด
สอง ระดับชุมชน ที่กำหนดให้คนในตำบลต้องร่วมมือกันถือปฏิบัติ อาทิ
ข้อ ๖ ชุมชนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงและสัตว์นำโรค
ข้อ ๒๒ ชุมชนต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับเยาวชนในเรื่องการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมในวัยรุ่น
ข้อ ๓๐ ชาวตำบลเขาไม้แก้วต้องเป็นผู้ที่เลื่อมใสต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อ ๔๘ ทุกคนในชุมชนต้องปฏิบัติตนตามฮีต ๑๒ ครอง ๑๔
สาม ระดับหน่วยงานหรือองค์กร ที่กำหนดเป็นแนวในการทำงานไว้ อาทิ
ข้อ ๕ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ออกให้บริการเยี่ยมบ้าน พร้อมทั้งประเมินสุขภาวะของคนในชุมชน
ข้อ ๑๓ จัดให้มีคณะกรรมการเพื่อการมีส่วนร่วมในกรณีฟาร์มปศุสัตว์หรือกิจการใด ๆ ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชน
ข้อ ๒๓ จัดให้มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือการศึกษาทางเลือก
ข้อ ๓๙ จัดให้มีศูนย์ประสานแรงงานทั้งสำหรับผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน
ข้อ ๕๔ ส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุก ๆ ด้าน
สี่ ระดับหลักการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันชุมชน อาทิ
ข้อ ๑๒ ทุกโครงการที่จะมาดำเนินการในชุมชนต้องผ่านมติของคนในชุมชนและตรงกับความต้องการของคนในชุมชน โดยจัดให้มีเวทีประชาคมเพื่อให้ข้อมูลการดำเนินการอย่างเหมาะสม
ข้อ ๒๐ รถเร่ที่จำหน่ายสินค้าในชุมชนต้องไม่ทิ้งขยะในที่หรือทางสาธารณะ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินการ ว่ากล่าวตักเตือนและประชาสัมพันธ์ไม่ซื้อสินค้า
ท้ายเล่มของเอกสารได้ปรากฏรายชื่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” โดยมี “นายสานิตย์ เจนสัญญายุทธ” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่มาจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว ผู้ใหญ่บ้าน ประธานประชาคมและประธาน อสม. ทั้ง ๑๑ หมู่บ้าน โดยมี “นายยุทธชัย แสวงสุทธิ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลเขาไม้แก้ว เป็นกรรมการและเลขานุการ ทีมเลขานุการประกอบด้วย ประธานชมรมรักษ์เขาไม้แก้ว และอาจารย์จากโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว อีก ๓ คน
วันนั้นชาว “ตำบลเขาไม้แก้ว” กำลังช่วยกันสานฝันสร้างสังคมสุขภาวะ ด้วยการใช้พลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งในและนอกตำบล อันเป็นกระบวนการพัฒนาโดยชุมชน เพื่อชุมชน และชุมชนเป็นเจ้าของ
“ฐานคิดสำคัญ” ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ และได้ข้อสรุปเป็นคำตอบให้กับตนเองอย่างน้อย ๔ ประการ
หนึ่ง มุมมองต่อเรื่องสุขภาพได้เปลี่ยนไปมากจากเดิมที่เป็นเรื่องของบุคลากรสาธารณสุข แต่วันนี้กลายมาเป็นเรื่องของทุกคน ทุกองค์กร ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาที่ปรากฏในธรรมนูญสุขภาพของตำบลเขาไม้แก้ว
สอง อนาคตของตำบลสามารถกำหนดได้ เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ที่สามารถกำหนดเป้าหมายในชีวิตได้
สาม ตำบลใดที่สามารถขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพให้เกิดผลได้เป็นรูปธรรม เป็นเครื่องบ่งบอกหรือเป็นเครื่องหมายว่าคนในชุมชนมีความรักสามัคคีกันเป็นพื้นฐาน
สี่ กระบวนการธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือหนึ่งในการหล่อหลอมความเป็น “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่เปิดกว้างให้กับทุกคน ทุกองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งการจัดทำ การประกาศใช้และการขับเคลื่อน
“ใต้ร่มโพธิ์ ลานธรรม คือลานรัก
ทุกฝ่ายร่วม ทอถัก อย่างสร้างสรรค์
รวมดวงจิต รวมแรง มาร่วมกัน
ประกาศฝัน ธรรมนูญ ของตนเอง
เขาไม้แก้ว คือแก้ว อันสวยสด
เป้าหมายลด ความทุกข์ คอยข่มเหง
สร้างความสุข ความดี ความครื้นเครง
พึ่งตนเอง บรรเลงดัง ทั้งตำบล”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น