วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

การอภิบาลระบบสุขภาพ : มองผ่านเรื่อง “การส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”

๓๐ กันยายน ๒๕๕๗

แม้ว่าทุกคนจะทราบถึงคุณประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มากล้นด้วยคุณค่านานัปการ แต่ทุกวันนี้ได้มีปัจจัยหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้องและบั่นทอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มิใช่น้อย หนึ่งในนั้น คือ การตลาดในธุรกิจนมผงที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ดังนั้นจึงทำให้ในวันสิ้นสุดปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมสานพลัง ชั้น ๖ ของอาคารสุขภาพแห่งชาติ มีผู้แทนจากสามภาคส่วน ทั้งภาครัฐและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาชนและเอกชน มานั่งปรึกษาหารือกันเพื่อ “ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”

แม้ว่าเรื่องการควบคุมกลยุทธ์การตลาดในเรื่องดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นมากว่า ๓๐ ปี แล้วก็ตาม นับตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ ๓๔ ที่ทุกประเทศต่างเห็นด้วยต่อหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ และได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามพันธะของหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้มีการนำมติสมัชชาอนามัยโลกครั้งนั้นมาปฏิบัติ โดยประกาศเป็นระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขในปีเดียวกัน และมีการปรับปรุงแก้ไขอีก ๓ ครั้ง คือในปี ๒๕๒๗ ปี ๒๕๓๘ และล่าสุดในปี ๒๕๕๑

จวบจนในปี ๒๕๕๓ สมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ ๖๓ ได้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง และได้เรียกร้องให้ทุกประเทศปรับปรุงหลักเกณฑ์จาก “ระเบียบกระทรวง” ที่มีผลบังคับใช้ต่อบุคลากรภาครัฐในวงการสาธารณสุข เป็น “กฎหมาย” เพื่อการบังคับใช้ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน

ซึ่งประเทศไทยเห็นก็เร่งดำเนินการกับแนวทางดังกล่าว โดยได้นำเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๓ และได้มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ว่าด้วย “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ

สาระประการหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวคือการเรียกร้องให้เร่งผลักดันการตรากฎหมายควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กโดยเร็ว

ความพยายามในการผลักดันให้เกิดกฎหมายเพื่อการควบคุมการตลาดในธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็กได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอด แต่ด้วยความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมยังเห็นไม่ตรงกันประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เอื้อ จึงทำให้ในวันนี้ยังไม่สามารถจะตรากฎหมายตามมติสมัชชาอนามัยโลก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้

แต่ ณ วันนี้ สังคมเริ่มมีความหวัง เพราะเรื่องดังกล่าวได้ปรากฎไว้ในคำประกาศนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์) ข้อ ๓.๑ (๑) ที่มุ่งจัดการกับปัจจัยเสี่ยงหลักทางสุขภาพ ในกลุ่มวัยทารกและเด็กเล็ก ว่า

“เน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพของศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ การจัดทำชุดนโยบายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การออก พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และการจัดการภาวการณ์ขาดสารอาหารเฉพาะอย่าง โดยเฉพาะธาตุเหล็กและไอโอดีน” นับเป็นนโยบายที่มีความชัดเจนและสอดคล้องกับทิศทางที่กล่าวไว้ข้างต้น

ผู้เข้าร่วมประชุมในเวทีวันนี้ต่างสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ในธุรกิจอาหารทารกและเด็กเล็กที่หลากหลายรูปแบบ อาทิ
• การลงทุนด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสารสาธารณะทุกรูปแบบ
• การแจกตัวอย่างสินค้าให้กับบุคลากรสาธารณสุข แม่ ผู้ปกครอง ด้วยยุทธวิธีที่แยบยล
• การให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณค่าของน้ำนมแม่
• การนำเสนอข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์และเกินความเป็นจริง
• การใช้ฉลากของผลิตภัณฑ์ด้วยรูปภาพหรือข้อความที่ชักจูงให้ใช้สินค้า
• การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง
• การสร้างแรงจูงใจโดยการให้ทุนสนับสนุนการเดินทางไปต่างประเทศของบุคลากรสาธารณสุข

ระหว่างที่ผมนั่งฟังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมอย่างคึกคัก ผมคิดไปถึงคำ ๆ หนึ่ง ที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่ คือ คำว่า “Governance” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “การอภิบาล” ซึ่งมีความหมายดั้งเดิมว่า “การนำหรือกำกับทิศทางโดยอาศัยการกำหนดกติกา” แต่ในปัจจุบันได้ขยายความหมายไปถึง “ปฏิสัมพันธ์กันของภาครัฐ องค์กรสาธารณะต่าง ๆ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆในสังคมและสร้างสรรค์โอกาสใหม่ ๆ”

“การอภิบาล” มี ๓ รูปแบบ คือ การอภิบาลโดยตลาด การอภิบาลโดยรัฐ และการอภิบาลโดยเครือข่าย

จากกรณี “การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ซึ่งเป็นประเด็นปรึกษาหารือในครั้งนี้ จะพบว่ามีผู้เล่นที่หลากหลายที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และผู้เล่นแต่ละฝ่ายต่างก็แสดงบทบาทที่แตกต่างกันไป

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้เล่นที่หลากหลายใน “การอภิบาลในระบบสุขภาพ” ว่าต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ๖ ประการ คือ (๑) การกำหนดนโยบาย (๒) การสังเคราะห์และใช้ความรู้และการดูภาพรวม (๓) การประสานงานและสร้างความร่วมมือ (๔) การกำกับดูแล (๕) การออกแบบระบบ และ (๖) การมีความรับผิดชอบ

ผมรู้สึกยินดีเป็นยิ่งนักที่ได้ยินคำกล่าวและเห็นบทสัมภาษณ์ที่นำเสนอผ่านทางสังคมออนไลน์จาก “นพ.ประพัฒน์ โสภณาทรณ์” ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก อันเป็นองค์กรภาคธุรกิจ ที่มีสาระสำคัญ ๓ ประการ คือ

หนึ่ง สนับสนุนนโยบายขององค์การอนามัยโลกและกรมอนามัยว่าด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกของทารก

สอง ยึดมั่นไว้ซึ่งการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานและจรรยาบรรณระดับสูงสุดเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ และนโยบายขององค์การอนามัยโลกและกรมอนามัย จึงได้จัดทำระบบการกำกับดูแลตนเองเกี่ยวกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของบริษัทสมาชิกด้วยความสมัครใจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดด้านโภชนาการสำหรับทารกและเด็กเล็กอย่างถูกต้องและเหมาะสม และไม่เข้าไปกระทบหรือขัดขวางการปกป้องและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

สาม เห็นด้วยและขอสนับสนุนในหลักการของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการตลาดสำหรับอาหารทารกและผลิตภัณฑ์ในประเด็นที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับทารกในประเทศไทย โดยขอเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนการประชาพิจารณ์ก่อนส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เจตนารมณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ นับเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ในการอภิบาลระบบสุขภาพที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ทั้ง ๖ ประการ

อีกไม่ช้าประเทศไทยเราคงมีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับมติสมัชชาอนามัยโลก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติคณะรัฐมนตรี และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายใต้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เพราะผู้เล่นทุกฝ่ายต่างร่วมแสดงบทบาทในการอภิบาลระบบสุขภาพอย่างสอดคล้องกันนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น