วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

เขตสุขภาพเพื่อประชาชน : นวัตกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพไทย

๑๒ กันยายน ๒๕๕๗

ปลายเดือนสิงหาคม ผมได้เขียนเรื่อง “สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี : ตัวแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เพื่ออธิบายถึงรูปธรรมและความหมายของเรื่องนี้ไว้ว่าสามารถทำได้จริง และในหลายๆพื้นที่ก็ได้มีทำงานในเรื่องนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ให้จัดตั้ง "เขตสุขภาพเพื่อประชาชน" เพื่อเป็นกลไกชี้ทิศทางแบบมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน บูรณาการการทำงานในระบบสุขภาพของทุกหน่วยงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น ได้มีความพยายามของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

รูปธรรมหนึ่งที่สำคัญ คือ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมโรงแรมปรินซ์พาเลซ แขวงมหานาค กรุงเทพมหานคร มีเวทีประชุมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อกำหนดเป็นระเบียบสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗

ข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องหนึ่งในห้าเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ คือ "ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ : การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน" ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายนี้จะนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔–๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ต่อไป

ผมชอบคำพูดของ “นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา” ประธานคณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดตั้งเขตสุขภาพประชาชน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่า “เขตสุขภาพเพื่อประชาชนเปรียบ เสมือนดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงในตัวเอง เข้าใกล้แล้วจึงไม่เป็นอันตราย ดาวเคราะห์ดวงนี้ต้องอาศัยดาวฤกษ์ที่ส่องแสงมาให้ เพื่อส่องแสงสร้างความสว่างไสวต่อไปได้”

เพราะ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” เป็นกลไกที่ทำงานในลักษณะแนวราบแบบเพื่อน ไม่ได้มีอำนาจสั่งการใครได้ ทำให้ผมจึงอดคิดต่อไม่ได้ว่า

“แล้วทำอย่างไรดาวฤกษ์ทั้งหลาย จะส่งแสงมายังดาวเคราะห์ดวงนี้”
“ทำอย่างไรจะไม่มีเมฆหมอก มาบดบังแสงจากดาวฤกษ์เหล่านั้น”
“ทำอย่างไรแสงที่ส่งจากดาวเคราะห์ดวงนี้ จะสามารถส่องแสงไปยังประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไม่มีสิ่งใดมาปิดกั้น”
“ทำอย่างไรประชาชนในพื้นที่จะสามารถรับแสง ที่ส่งมาจากดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างเท่าเทียมกัน”

เวทีวันที่ ๑๒ กันยายน ที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นจากคณะอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ต้องการสร้างกระบวนการแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ๕ เรื่อง ประกอบด้วย

๑) นโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชนและครอบครัว
๒) ข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ : การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน
๓) การจัดการยาสเตียรอยด์ที่คุกคามสุขภาพคนไทย
๔) การพัฒนาระบบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ
๕) วาระแห่งชาติ : พยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดี

ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นการชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมแล้ว ได้มีการแบ่งกลุ่ม ๕ กลุ่มตามวาระข้างต้น ผมสนใจเรื่อง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ที่มี “นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา” และ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ในฐานะประธานและเลขานุการคณะทำงาน ทำหน้าที่นำกระบวนการประชุม

ร่างความคิด ๔ ประการ ถูกนำเสนอต่อผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑๐๐ คน ประกอบด้วย

หนึ่ง
หลักการสำคัญ มี ๓ ประการ คือ ๑) ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยทุกภาคส่วนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับสุขภาพ/สุขภาวะของคน ชุมชนและสังคม มีความเป็นเจ้าของ มีความผูกพันและร่วมรับผิดชอบ
๒) ยึด “หลักการ ทิศทางและแนวทางของการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นกรอบการดำเนินการ
๓) ใช้เขตพื้นที่ (กลุ่มจังหวัด) เป็นฐานการทำงานแบบมีส่วนร่วมตามภารกิจ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ การใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดคุณภาพในการทำงาน ไม่เพิ่มภาระการคลังในด้านการบริหารจัดการ และมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม

สอง
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน”
เพื่อเป็นกลไกชี้ทิศทางและบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในด้านสุขภาพทุกมิติ ทั้งทางกาย ใจ ปัญญาและสังคม

สาม
โครงสร้างและบทบาทหน้าที่ ประกอบด้วย
๑) โครงสร้าง : กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เป็นคณะกรรมการที่มีการอภิบาลแบบมีส่วนร่วม ที่ให้มีพันธะผูกพันสำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตาม มีองค์ประกอบและจำนวนตามความเหมาะสมและอาจยืดหยุ่นตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งอาจประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง ๓ ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคสังคมและภาควิชาการ

๒) บทบาทหน้าที่ :
๒.๑ ร่วมกันอำนวยการเพื่อให้เกิดทิศทางและบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของส่วนราชการ หน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การจัดการกับภัยคุกคามและปัจจัยที่กำหนดสุขภาพ การบริการสุขภาพ การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ การเงินการคลังและหลักประกันสุขภาพ และการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยอาจพิจารณาเรื่องเชิงประเด็น เช่น ประเด็นผู้สูงอายุ ประเด็นปัจจัยสังคมที่กระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น
๒.๒ สร้างพื้นที่บูรณาการการทำงานด้านสุขภาพของทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและคุณภาพในการทำงานด้านสุขภาพของทุกมิติ และลดความเหลื่อมล้ำ
๒.๓ ผลักดันและขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน เพื่อยกระดับสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ

สี่
แนวทางความร่วมมือ อยู่ในขอบเขต ๕ ร่วม คือ (๑) ร่วมประสานข้อมูล ภารกิจและการทำงานของแต่ละองค์กร (๒) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงานเสริมกัน (๓) ร่วมชี้ทิศทางการทำงานสู่เป้าหมายเดียวกัน (๔) ร่วมบูรณาการการทำงานในพื้นที่เดียวกัน และ (๕) ร่วมระดมสรรพกำลังทั้งคน วิชาการ งบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เป็นรูปธรรมตามภารกิจขององค์กร

ภายหลังจากการนำเสนอร่างความคิดทั้ง ๔ ประการข้างต้น ได้เปิดฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเวที ซึ่งต่างแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ผมนั่งจับสาระสำคัญได้ใน ๔ ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ ๑
เป้าหมายการทำงาน มีข้อเสนอให้
• มีการกำหนดเป้าหมายการทำงานที่ครอบคลุมสุขภาวะทั้ง ๔ มิติ
• คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชนทุกกลุ่ม อาทิ กลุ่มคนวัยแรงงาน กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย เช่น คนในเรือนจำ คนที่ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก เป็นต้น
• เป้าหมายการทำงานควรมุ่งไปที่ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม”

ประเด็นที่ ๒
กลไกการทำงาน มีข้อเสนอให้
• ต้องเป็นกลไกที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง มีองค์ประกอบครอบคลุมทุกกลุ่มเครือข่าย มีหลักคิดเป็นหลักยึดโยงการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน
• กลไกใหม่ที่เกิดขึ้นต้องมีการเชื่อมโยงกับผู้คนในกลไกเดิมโดยมีการวางบทบาทใหม่ อาทิ ต้องเชื่อมโยงกับเขตบริการสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่
• ควรมีกลไกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลในลักษณะกำกับดูแลกันเอง มีความยืดหยุ่นไปตามพื้นที่
• มีกลไกที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมติหรือข้อตกลงที่ออกมา
• มีกติกากำกับการทำงานของกลไกที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประชุมปรึกษาหารือกันอย่างเป็นประจำ เป็นต้น
• การออกแบบกลไกควรพิจารณาให้ครอบคลุมบทบาทหน้าที่ของการอภิบาลระบบที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ๖ ประการ คือ การกำหนดทิศทางนโยบาย การประสานความร่วมมือ การออกแบบระบบ การกำกับดูแล การสังเคราะห์ความรู้ และการร่วมรับผิดชอบ
• กลไกที่เกิดขึ้นควรมีการกำหนด “อำนาจ” อะไรบางอย่างเพื่อการบริหารจัดการในบางเรื่องได้

ประเด็นที่ ๓
กระบวนการทำงาน มีข้อเสนอให้
• สิ่งที่กำลังคิดกันนี้ควรให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
• กระบวนการที่ใช้ควรนำหลักการของ “สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ไปใช้ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่ในหลายจังหวัด
• กระบวนการทำงานต้องมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึง และรู้เท่าทัน เพื่อนำไปสู่การ “ยอมรับ” ของประชาชน
• การทำงานควรยึดหลัก “กระจายอำนาจ” และ “การอภิบาลแบบเครือข่าย”
• ควรมีการออกแบบกระบวนการทำงานที่สร้างการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง เพราะคนในสังคมไทยยังมีวิธีคิดแบบแนวดิ่งอยู่มาก
• มีการออกแบบกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจที่ตรงกัน

ประเด็นที่ ๔
เรื่องอื่น ๆ โดยมีข้อเสนอให้
• ในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องมีความพิถีพิถันในการแบ่งเขตสุขภาพ
• มีการออกแบบการทำงานร่วมกับเขตสุขภาพข้างเคียง

ผมนั่งฟังเงียบ ๆ อยู่หลังห้อง ซึมซับข้อเสนอที่เพื่อนภาคีสุขภาพจากทุกภาคส่วนได้แสดงทัศนะไว้ กล่าวได้ว่านี้คือ การเปิด “พื้นที่สาธารณะ” ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้ เป็นตัวอย่างของการทำงานที่ต้องการ “การมีส่วนร่วม” จากเจ้าของประเทศอีกวาระหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับประเด็นสาธารณะอื่นได้ เป็นแบบฝึกหัดสำคัญของกระบวนการ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่เป็นสิ่งพึงประสงค์ของคนทุกฝ่ายสังคมไทย

แน่นอนแม้การจัดตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน จะเป็นนวัตกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพไทยที่ท้าทายอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ย่อมเผชิญกับแรงเสียดทานมิใช่น้อยเช่นเดียวกัน เพราะนี้คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพในประเทศไทยอย่างมหาศาล ที่บนเส้นทางมุ่งสู่เป้าหมายย่อมมีสิ่งกีดขวางทางเสมอ

ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรที่เราจะก้าวข้ามสิ่งกีดขวางสู่ดาวเคราะห์ที่ชื่อ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้อย่างเป็นจริง ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น