วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ผู้หญิงเปลี่ยน "โรค" ให้ "โลก" เปลี่ยน

๘ กันยายน ๒๕๕๗

โลก ณ วันนี้ หมดสมัยแล้วที่จะถามว่า “ผู้หญิงทำอะไรได้”

คำถามเดียวที่ยังคงอยู่ “มีอะไรอีกบ้างที่เธอยังไม่ได้ทำ”

เมื่อใดที่ “ผู้หญิงคนหนึ่ง” เกิดแรงบันดาลใจ เมื่อนั้น “เธอ” จักมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น

ผู้หญิงบางคนเปลี่ยน “โลก” ได้ ไม่ใช่แค่เพียงเพราะความสามารถหรือมนุษยธรรมเท่านั้น

แต่เพราะ “เธอ” มีความ “ดื้อรั้น” เกินคนธรรมดา

“ความเปลี่ยนแปลง” บนโลกทุกวันนี้ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากคนส่วนน้อยที่กล้าเดินสวนกระแส

ความ “ดื้อรั้น” จึงเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของคนที่จักสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก

ยามคิมหันตฤดูมาเยือนครั้งใด สีเหลืองอร่ามของดอกลมแล้งหรือดอกคูนหรือในชื่อทางการว่า “ต้นราชพฤกษ์” พลิ้วสะบัดไหวบานสะพรั่งชวนมอง ดุจดั่งความเบิกบานของ “สายลมประชาธิปไตย” ที่แผ่ขยายท่ามกลางพื้นดินร้อนระอุ ทุรกันดาร และแห้งแล้วในฤดูร้อนดังกล่าว

“๔๐ ปีแล้วซินะ” กับ “ชีวิต” แบบนี้ที่เลือกแล้ว

เธออดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงการตัดสินใจครั้งแรกของตนเองที่มุ่งหน้าสู่ชนบท พื้นที่ที่ถูกเรียกขานว่า “แผ่นดินสีแดง” แต่นั้นเองเป็นเพราะท่อนฮุกของเพลง “วันสีเหลือง” ที่ชาวสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร้องจนขึ้นใจว่า “มุ่งออกไป ณ ถิ่นแดนไกล ทุรกันดาร ป้องกันทุกข์ เพราะโรคภัยชุก เรารุกมิวาง บำรุงเสริมความสุข เพิ่มพูน ในทุกๆทาง มีใจรักกว้างขวางในหมู่ประชาชาวไทย”

ไม่ต่างจากชีวิตชาวสาธารณสุขที่ต้องรุกเข้าไปในถิ่นแดนไกล ถิ่นทุรกันดารทั่วทุกหัวระแหงของประเทศ เพื่อปฏิบัติภารกิจสาธารณสุขตามรอยพระบาท “พระบิดาแห่งการสาธารณสุขไทย” ที่ตรัสไว้ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”

ไม่ต่างจากดอกลมแล้งที่มาเยือนเฉพาะยามหน้าร้อนและกระจายสร้างความสดชื่นให้ทุกหมู่เหล่า

ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๔๙๗ เด็กหญิงตัวน้อยๆ คนหนึ่งได้ลืมตาขึ้นมองโลกใบนี้ในร้านขายของชำเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในมุมหนึ่งของเมืองปัตตานี เธอเป็นน้องคนเล็กคนที่ ๙ ของพ่อแม่ที่มีเชื้อสายชาวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากจีนโพ้นทะเล

พ่อและแม่ต่างช่วยกันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบจนสามารถตั้งร้านค้าขึ้นมาได้ และกลายเป็นแหล่งเลี้ยงดูลูกทั้ง ๙ คน จนเติบใหญ่ มีเพียงทรัพย์ “การศึกษา” เท่านั้นที่พ่อแม่จักมอบให้เป็นมรดกติดตัวไปตลอดชีวิต ลูกทั้ง ๙ คน จึงได้รับการส่งเสียให้ได้เล่าเรียนทุกคน จนมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งทุกคน บางคนเป็นเภสัชกร บางคนเป็นพยาบาล บางคนเป็นนักธุรกิจ เป็นต้น

สำหรับ “กรรณิการ์” หรือ “เด็กหญิงเพ็กเอง แซ่อั้ง” ก็เฉกเช่นเดียวกับพี่ ๆ ที่ได้รับการส่งเสียให้เข้าเรียนที่โรงเรียนจ้องฮั้ว ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีนควบคู่ไปกับภาษาไทย เมื่อเธออายุครบ ๘ ขวบแล้ว ซึ่งเหมือนจะล่าช้ากว่าเพื่อนร่วมห้อง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเรียน จนจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ โดยสิ่งที่ได้ติดตัวมาด้วยนอกจากใบประกาศนียบัตร คือ “ความสามารถในการพูดภาษาจีน”

เธอย้ายมาเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ที่โรงเรียนเมืองปัตตานี จนจบมัธยมศึกษาตอนต้น และด้วยที่พี่ชายได้เข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร เธอจึงได้เดินทางมาศึกษาต่อที่โรงเรียนบดินทรเดชา แถวถนนลาดพร้าว และเมื่อจบมัธยมศึกษาตอนปลาย เธอจึงเลือกที่จะเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุขศาสตร์

แนวคิด “การสัมผัสกับชุมชน” ถูกหล่อหลอมอย่างเข้มข้นจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้ อาจเป็นเพราะในช่วงนั้นเป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบานภายหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จึงทำให้เธอและเพื่อน ๆสนใจต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ได้สร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ มากมายที่มีเป้าหมายให้ถึงคนทุกข์ยากเหล่านั้น

ที่แห่งนี้เองที่ได้หล่อหลอมให้เธอเกิดความคิดว่า ต้องทำเพื่อชุมชนและประชาชนที่เป็นรากเหง้าของแผ่นดิน เพราะคนเหล่านี้ยังมีความทุกข์สะสมอยู่มากมาย เธอจึงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างมิขาดจนเพื่อน ๆ ขนานนามว่า “นักกิจกรรมตัวยง” ผสานกับท่อนฮุกของบทเพลงวันสีเหลืองที่ทำให้เธอ “อินมาก” และตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นว่า “เมื่อเรียนจบแล้วต้องออกไปชนบททันที” แม้ว่าขณะนั้น “ตอนจบ เธอรอดมาด้วยเกรด ๒ กว่า ๆ และเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันสามารถผ่านพ้นมาได้เพียง ๑๘ คน จาก ๔๐ คน” ก็ตามที

งานแรกที่เธอตัดสินใจไปทำ ตามคำแนะนำและชักชวนของรุ่นพี่หลายๆคน คือ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการ UNFPA โดยต้องไปปฏิบัติงานที่วิทยาลัยการสาธารณสุข (วสส.) จังหวัดพิษณุโลก เธอทำงานในโครงการได้เพียงไม่ถึง ๒ ปี ก็ผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ของ วสส. ในตำแหน่ง “วิทยาจารย์ ๓” โดยตั้งความหวังที่จะถ่ายทอดอุดมการณ์และความรู้ให้แก่หมออนามัย ซึ่งจะเป็นผู้ที่ออกไปทำงานดูแลสุขภาพในชุมชน

ด้วยจิตสำนึกรักประชาชนเป็นฐานสำคัญอยู่แล้ว เธอจึงได้นำมาปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนกับศิษย์ โดยกำหนดให้มีช่วงหนึ่งของการเรียนการสอนที่นักศึกษาทุกคนต้องลงไปอยู่กับชุมชน เพื่อให้สัมผัสกับความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคน นอกเหนือจากทฤษฎีที่มาจากตำรับตำรา

แม้เวลาผ่านไปอุดมการณ์ในเรื่องดังกล่าวก็มิได้แปรเปลี่ยนไป แต่ตรงกันข้ามกลับเข้มข้นขึ้นหลายเท่าทวีคูณ เพราะเมื่อเธอได้เดินทางไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขที่จังหวัดตรัง ในอีก ๑๗ ปีถัดมา เธอได้แบกประสบการณ์และเจตจำนงอันแน่วแน่ที่ “ไม่ทิ้งประชาชน” ไปด้วย

เธอได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนนักศึกษาใน ๓ สาขา ทั้งสาขาสาธารณสุขชุมชน ทันตสาธารณสุข และเทคนิคเภสัชกรรม ให้มาเรียนรวมกันกลายเป็นหลักสูตร “ทรีอินวัน” หรือ “๓ ใน ๑” บทฐานคิดแบบองค์รวม โดยกำหนดให้นักศึกษาทั้ง ๓ หลักสูตร ได้เรียนวิชาพื้นฐานบางวิชาร่วมกัน ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติภาคสนามร่วมกัน ทำโครงการในพื้นที่ร่วมกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแบบ “สหวิชาชีพ” ก่อนที่นักศึกษาจะจบและออกไปทำงานจริงในพื้นที่

นอกเหนือจากการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ข้ามสาขาแล้ว ยังก่อให้เกิดการบูรณาการเนื้อหาและการประสานความร่วมมือทั้งในตัวนักศึกษาและคณะอาจารย์ผู้สอนด้วย เกิดความรู้ซึ้งเคารพและเข้าใจงานของผู้อื่น ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีและเชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่ายภายหลังจากจบการศึกษาแล้วอีกด้วย

ราว ๓ ปีเศษ นอกจากการก่อร่างสร้างฐานให้กับ วสส.ตรัง ในฐานะผู้อำนวยการคนแรก เธอได้ทุ่มเทในการวางระบบการบริหารจัดการ การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากนั้นเธอยังได้ทำหน้าที่สานเชื่อมกับบุคคล องค์กร หน่วยงาน และภาคีเครือข่ายในจังหวัดตรัง จนกลายเป็นที่รักของคนทั้งในและนอกรั้ววิทยาลัย

วสส. กลายเป็นภาคีสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนในจังหวัดตรังอย่างกว้างขวาง เกิดความร่วมมือระหว่าง วสส. กับองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ สมาคมหยาดฝน ชมรมประมงพื้นบ้าน เป็นต้น

“จริงใจ จริงจัง ไม่ทิ้งประชาชน” จึงกลายเป็นคำที่คุ้นหูจากคนที่คุ้นเคยกับสุภาพสตรีร่างเล็กหัวใจใหญ่คนนี้ ที่มักจะได้ยินคำพูดนี้ออกจากปากเธออยู่บ่อย ๆ เพราะคำนี้เอง คือ จิตวิญญาณที่แท้ของเธอที่หล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งของเธอมาตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ในชั้นอุดมศึกษา

จากผลงานการทำงานที่ให้ความสำคัญกับ “ฐานราก” ในช่วงปลายปี ๒๕๔๓ เธอจึงได้รับการทาบทามจาก “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปรส. ให้เข้ามาช่วยงานขับเคลื่อนงานปฏิรูประบบสุขภาพในระดับชาติ ในบทบาทของ “นักสานพลัง”

แม้จะยังเป็นนักสานพลังมือใหม่หัดขับ แต่ด้วยรากฐานทางความคิดที่ผ่านมาตั้งแต่วัยเรียนและทำงานในรั้วของ วสส. มาเกือบ ๒๐ ปี ประกอบกับการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำให้ในช่วงระยะประมาณ ๗ ปี ที่ทำงานอยู่ที่ สปรส. เธอจึงกลายเป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน ๆ ภาคีในทุกระดับวงการ และมีคนรู้จักไปทั่วประเทศ

งานในระยะแรกของการขับเคลื่อนงานปฏิรูประบบสุขภาพ นั่นก็คือ การสานพลังคนไทยให้เข้ามาร่วมกันปฏิรูประบบสุขภาพ บนฐานแนวคิด “Health for All, All for Health” และเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ก็คือ “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” ซึ่งในวันนั้นยังเป็นเครื่องมือที่คนไทยยังรู้จักอยู่ในวงจำกัด

“ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือ กรอบการสานพลัง และในที่สุด “สมัชชาสุขภาพในระดับพื้นที่” ก็ค่อย ๆ เกิดขึ้นและขยายไปทั่วประเทศในที่สุด”

“ในช่วงปีแรกเป็นช่วงของการยกร่างกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการจัดทำกรอบความคิดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของคนไทย แล้วนำไปรับฟังความคิดเห็นผ่านเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ จำได้ว่าเราจัดเวทีในระดับพื้นที่ รวม ๖๙ จังหวัด รวม ๕๒๖ เวที และมีเวทีระดับอนุภาคอีก ๖ เวที เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งแรกในปี ๒๕๔๔”

บนเส้นทางมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในช่วงปี ๒๕๔๖ ฝ่ายการเมืองในขณะนั้นไม่ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายจากภาคประชาชนเลย จึงเกิดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนภาคประชาชน โดยการรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนร่างกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ กว่า ๔.๗ ล้านชื่อ เสนอต่อประธานรัฐสภาในขณะนั้น

แต่ก็ยังไม่เกิดผลใด ๆ จนต้องมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า ๑ แสนคน เสนอร่างกฎหมายสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชนอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีการรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาล และสามารถคลอดกฎหมายที่มาจากเจตจำนงของประชาชนได้ในปี ๒๕๕๐

จากจุดเริ่มต้นของขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติมาจนมีกฎหมายสุขภาพแห่งชาติในปี ๒๕๕๐ ให้การรับรองว่า “สุขภาพ” คือ “ความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ”

กว่า ๗ ปีนั้นมีนามของ “กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” ร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อนงานคนสำคัญอยู่ด้วยคนหนึ่ง

ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ สปรส. ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็น “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ สช. เธอได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพ” ดูแลงานสำคัญคือ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” อันเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามา “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผล” ในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

เธอเป็นกำลังสำคัญในการจัดการให้เกิด “การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” รวม ๖ ครั้ง จนสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มาจากทุกภาคส่วนตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ได้ร่วมกันให้ฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย รวม ๕๙ มติ

นอกจากนั้นในช่วงปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖ เธอยังเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านปฏิรูปประเทศไทยอีกภารกิจหนึ่ง มีการสนับสนุนให้เกิดกลไกและกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างคึกคักไปทั่วประเทศ และเป็นผู้เบื้องหลังของ "สมัชชาปฏิรูประดับประเทศ” รวม ๓ ครั้ง ก่อให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดจากการสานพลังของทุกส่วน รวม ๒๐ มติ

“ต้องทำงานด้วยใจ ด้วย ๕ วิธีการ ๕ หลักคิด” นี้คือคำสั้นๆที่เธอใช้สานพลังในการทำงานกับภาคีเครือข่ายมาตลอด

หนึ่ง ต้องสร้างให้เครือข่ายยอมรับ เมื่อรับปากอะไร ต้องตั้งใจทำให้ได้มากที่สุด พยายามอย่างแรงก่อน ไม่เหลาะแหละ “ปากกับใจต้องตรงกัน” และต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

สอง ต้องคิดพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้เก่งขึ้น รอบรู้ มีศักยภาพในการทำงานร่วมกับเรานั้นให้สำเร็จ

สาม ต้องเป็นเหยี่ยว ต้องเป็นนักสังเกตว่าใครเป็นใคร ใครเป็น ๕ ตัวจี๊ด ใครเป็นแกนนำเครือข่ายระดับไหน ดูจากการเตรียมการ การจัดฉาก และสอบถาม เบื้องหลังจาการนำเสนอ ความโปร่งใสในการทำงาน ต้องหาข้อมูลรอบด้าน ไม่ฟังหรือเชื่อใครเพียงคนเดียว จดจำชื่อ ลักษณะเด่นของเครือข่ายให้มากที่สุด เมื่อพบกันครั้งต่อไป ทักทายเขาก่อน

สี่ ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพเรียบร้อย ท่วงทำนองและท่าทีเราต้องอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ ควรเป็นผู้ไหว้ก่อน เพราะการไหว้คือการทักทาย

ห้า ต้องพูดแบบสุนทรียะ ไม่โอ้อวด ไม่ดูแคลนหรือข่มคนอื่น เวลาพูดต้องสบสายตา เพื่อแสดงถึงความจริงใจ

อีกทั้งต้อง “เห็นคุณค่าของทุกคน ต้องทำตัวให้เล็กทำใจให้ใหญ่ งานเราสำเร็จเพราะด้วยเครือข่าย ต้องคิดงานตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง และกอปรไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต” นี้คือหลักคิดที่เธอยึดมาตลอดช่วงการทำงาน

จากวันนั้นวันที่เธอเป็นเด็กน้อย ค่อยๆเติบโตทั้งด้านกายภาพ และด้านความคิดอุดมการณ์ มาจนถึงวันที่ “๗ สิงหาคม ๒๕๕๗” วันที่อายุเธอครบ ๖๐ ปี บริบูรณ์ วันที่ขีดเส้นให้เธอต้องออกไปยืนในอีกฐานะหนึ่งขององค์กรที่ชื่อ สช.

เป็นวันที่ครอบครัว สช. รวมทั้งเพื่อนภาคีเครือข่ายรู้สึกเสียดายยิ่งที่เธอต้องเดินออกไปตามวิถีของราชการที่กำหนดไว้

พวกเราในฐานะน้อง ๆ ขอตั้งปณิธานว่า พวกเราจะธำรงอุดมการณ์ของพี่ ที่ได้เพาะปลูกต้นไม้สุขภาวะนี้ไว้ในแผ่นดินด้วยอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น ให้เจริญเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า ให้ต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ที่แข็งแกร่ง แผ่กิ่งก้านสาขา ออกดอกออกผลให้ผู้คนให้เก็บเกี่ยวและอุดมสมบูรณ์มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย ใจ ปัญญาและสังคม สืบต่อไป

พวกเราขอขอบคุณเธอ ผู้ที่ “จริงใจ จริงจัง ไม่ทิ้งประชาชน” อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราและของทุกคน สำหรับเธอผู้มีนาม “กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” ตลอดไป

สุภาพสตรีร่างเล็กแต่หัวใจแกร่งดั่งเพชร ผู้เปลี่ยนความหมายของ “โรค” ให้คนใน “โลก” เปลี่ยนแปลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น