วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

หมออุกฤษฎ์ : งาน ชีวิต และคุณค่าแห่งตน

๘ กันยายน ๒๕๕๗

ณ ปี ๒๕๒๒ ที่อำเภอปาย เมืองเล็กๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนๆ เล็กอันเงียบสงบที่ตั้งอยู่กลางหุบดอย การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกมีเพียง “โทรเลข” เท่านั้น ถนนสาย ๑๐๙๕ ที่เชื่อมระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่ ยังขรุขระและลำบากยิ่งนักสำหรับการสัญจรไปมา

เมืองปายในวันที่ไม่มีรีสอร์ทหรู ไม่มีที่นอนนุ่มให้หลับสบาย ไม่มีน้ำอุ่นให้อาบ ไม่มีน้ำแร่ร้อนให้นอนแช่ ไม่มีกาแฟกลิ่นหอมกรุ่นให้จิบ ไม่มีถนนคนเดินยามค่ำคืนที่คึกคักเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจากกรุงเทพ และไม่มีเสื้อยืดให้เลือกซื้อเลือกใส่เป็นที่ระลึก

แต่วันนั้นเด็กหนุ่มวัยใกล้เบญจเพสที่เพิ่งจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับตัดสินใจมุ่งหน้าเดินทางมาเริ่มต้นทำงานรับราชการครั้งแรกในชีวิต ณ เมืองแห่งนี้ ในตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลปาย

ตึกเล็กๆ เพียง ๑ หลัง กับเพื่อนร่วมงานเพียง ๖ คน และกระแสไฟฟ้าที่ใช้ได้เพียงตอนพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงยามพระอาทิตย์ตกตอน ๖ โมงเย็นเพียงเท่านั้น แต่ความยากลำบากเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เขาและเพื่อนร่วมงานลดละความพยายาม ต่างก็พยายามทำหน้าที่ในฐานะ “ผู้บรรเทาความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ให้ได้มากที่สุด” ในถิ่นทุรกันดารแห่งนี้

ชื่อของ “พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง ผู้ก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” “นายแพทย์อภิเชษฐ์ นาคเลขา หรือ หมอเมืองพร้าว” “อาจารย์องุ่น มาลิก แห่งภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” และ “นิสิต จิรโสภณ อดีตนักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ถูกจดจารในใจเขาเสมอมา

อาจเป็นเพราะในช่วงที่เขาศึกษาอยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์นั้น ตรงกับช่วงยุคประชาธิปไตยเบ่งบานพอดี ประกอบกับชีวิตในช่วงของวัย “หนุ่มนักแสวงหา” พื้นฐานที่ได้รับจากคุณพ่อที่ชอบพาเดินทางท่องเที่ยวยามที่ว่างเว้นจากการงาน ทำให้เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เขาจึงกลายเป็นผู้นำจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่างเว้น

ความเป็นตัวตนที่แท้จริงถูกปลุกเร้าขึ้นอีกครั้ง ยามเมื่อเขาได้มีโอกาสเรียนหนังสือกับ “อาจารย์องุ่น มาลิก”อาจารย์ที่สั่งสอน ดูแล และเพาะบ่ม “ความเป็นมนุษย์”

เหล่านี้ทำให้เขามุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายที่จะคอยช่วยเหลือ “เพื่อนมนุษย์” เสมอมา

แต่ละปีๆ เขาจะชักชวนเพื่อนๆให้ใช้เวลาว่างจากการร่ำเรียน ออกไปสัมผัสกับชีวิตของมนุษย์ในชนบท ไปกินนอนร่วมกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้วิถีมนุษย์ในชุมชนที่อยู่ในดินแดนของความแร้นแค้น

จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเบ้าหลอมสำคัญของชีวิตเมื่อเขาเรียนจบ และตัดสินใจเลือกทำงานชดใช้ทุนจากภาษีประชาชน ที่โรงพยาบาลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลที่เขาเลือกมาทำงานตั้งแต่สมัยเป็นแพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์อินเทิร์นมาก่อนหน้านั้น ๑ ปีแล้ว

๖ ปีเต็มๆ ที่เมืองแห่งนี้ ทั้งความสนุกที่ได้เป็นผู้บุกเบิก คุณค่าที่ได้ทำงานเพื่อประชาชนในถิ่นห่างไกล คอยช่วยเหลือคนเจ็บป่วยที่มารักษา และที่สำคัญได้รับความรักจากเพื่อนร่วมงานและประชาชนทั้งอำเภอ ทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เขาจึงเป็นคนแรกที่ได้รับ “รางวัลกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกสร” นี่คือความปลาบปลื้มยิ่งนักของชีวิตวัยหนุ่ม

กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นในมูลนิธิแพทย์ชนบท เพื่อมอบรางวัลให้กับแพทย์หนุ่มสาวที่ปฏิบัติงานในชนบทเสี่ยงภัยและทุรกันดารเฉกเช่นเดียวกับ “นายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกสร” ซึ่งเป็นแพทย์คนแรกที่ตัดสินใจไปทำงานในตำแหน่ง “ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จังหวัดสระแก้ว” อันเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยและมีการปะทะอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดนายแพทย์ท่านนี้ก็ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๗

วันนี้ในวัย ๖๐ ปี เมื่อเขานั่งหวนรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว ระหว่างนั่งเก็บของเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขนย้ายออกจากห้องทำงานแห่งนี้ โดยเฉพาะหนังสือจำนวนมากที่บางส่วนเขาตั้งใจแล้วว่าจะมอบให้กับห้องสมุดเพื่อการศึกษาของผู้สนใจต่อไป พลันรอยยิ้มก็ปรากฏบนใบหน้าเงียบๆ อาจเป็นเพราะด้วยอุปนิสัยส่วนตัวที่เชื่อว่า “ไม่จำเป็นต้องประกาศตัวว่าเราทำอะไร การทำงานต่างหากจะเป็นตัวบ่งบอกสิ่งที่กระทำ หากมีคนสนใจในงานที่เราทำ เขาก็คงจะเดินเข้ามาพูดคุยกับเราเอง จะมีคนรู้มีคนเห็นเอง”

๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ วันสุดท้ายของชีวิตราชการในตำแหน่ง “รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” และพนักงานของ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สช.”

จากชีวิต “เด็กชายอุกฤษฏ์ มิลินทางกูร” ที่เติบโตขึ้นมาเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ณ มุมหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ในครอบครัวอันอบอุ่น มีฐานะค่อนข้างดี คุณพ่อทำธุรกิจส่วนตัว คุณแม่ยึดอาชีพ “เรือจ้าง” รับราชการเป็นครู

นอกเหนือจากความรักที่ครอบครัวมอบให้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว “การศึกษา” นับเป็นสินทรัพย์สำคัญที่เขาได้รับ จากเด็กอนุบาลที่ “โรงเรียนวัดกิตติ” ศึกษามาจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย

กอปรกับเพื่อนๆรอบตัวเป็นเพื่อนที่ใฝ่เรียนรู้ สนใจอ่านหนังสือและศึกษาเล่าเรียนตลอดเวลา ทำให้เขาตัดสินใจศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสายวิทย์ และจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ พร้อมกับผลการเรียนระดับดีเยี่ยม พร้อมกับได้โควตาเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่กลับสละสิทธิ์เพราะอยากจะทดสอบความรู้ของตนเองโดยสมัครสอบเอ็นทรานซ์ ในที่สุดเขาก็สอบติดคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคณะเดิมที่สละสิทธิ์นั้นเอง

ปี พ.ศ.๒๕๒๘ เขาต้องยอมละทิ้งงานที่โรงพยาบาลปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยผู้บังคับบัญชาได้ย้ายให้ไปทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร” เป็นเวลาปีเศษ ก่อนที่จะถูกย้ายไปทำหน้าที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธรกว่า ๓ ปี ที่มี “นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ” เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว

นอกจากที่ได้ร่วมงานกับ “หมออำพล” สมัยที่อยู่ยโสธรด้วยกันแล้ว ช่วงที่ได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ประเทศเบลเยี่ยมร่วมกัน ทำให้ “เขา” และ “หมออำพล” ต่างรู้จักในวิธีคิดและอุปนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี

ชีวิตราชการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวันเวลาที่ผันผ่าน เขาถูกย้ายเข้ามาเป็น “ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองฝึกอบรม กระทรวงสาธารณสุข” ในระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุข” ที่จังหวัดพิษณุโลก และได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ “อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” ซึ่งเป็นทำงานอยู่ที่นั่น จนเกิดความคุ้นเคยกัน

ในปี ๒๕๓๗ เขาถูกย้ายไปเป็น “ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุข” ที่จังหวัดชลบุรี และทำงานอยู่ที่นั่นเพียง ๑ ปี ก่อนที่จะถูกชักชวนจาก “หมออำพล” ให้มาร่วมเป็นทีมใน “สถาบันพัฒนากำลังคนสาธารณสุข” ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่

เกือบ ๕ ปีเต็มที่เขาทำหน้าที่ในสถาบันด้านการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขแห่งนั้น ซึ่งต่อมาได้ถูกยกระดับเป็น “สถาบันพระบรมราชชนก” ในวันนี้

ปี ๒๕๔๕ นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อ “หมออำพล” ซึ่งย้ายไปทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สปรส.” ก่อนหน้า ได้มาชักชวนให้ไปร่วมในขบวนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย

เป้าหมายหลักของ “สปรส.” คือ การผลักดันให้มีการประกาศใช้ “กฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ด้วยยุทธศาสตร์ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” โดยได้ร่วมทำงานกับ “อาจารย์กรรณิการ์ บันเทิงจิตร” คนคุ้นเคยที่เคยทำงานอยู่ด้วยกันที่จังหวัดพิษณุโลก

งานสำคัญที่เขาได้รับมอบหมาย คือ “การประสานงานกับเครือข่าย” ทุกภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันเป็นเจ้าของกฎหมายฉบับนี้

กิจกรรมสำคัญที่ถูกจัดขึ้นนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ จนถึงปี ๒๕๕๐ จะต้องมีชื่อเขาเข้าร่วมเป็นทีมงานขับเคลื่อนทุกกิจกรรม งานที่เขาประทับใจเป็นที่สุด คือ “งานรณรงค์รวมพลังสร้างเสริมสุขภาพ ตามรอยยุคลบาท” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ – ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ หรือกว่า ๑๐ ปี ล่วงผ่านมาแล้ว

ในกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ครั้งนั้น ได้มีการจัด “ขบวนวิ่ง ปั่นจักรยาน” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยร่วมกันสร้างสุขภาพตามรอยยุคลบาท เป็นขบวนที่ใช้เวลา ๗ วัน จาก ๕ จังหวัด ๔ ภาค มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร สายใต้จากจังหวัดสงขลา สายตะวันออกเริ่มจากจังหวัดสระแก้ว สายเหนือเริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ และสายอีสานเริ่มจากจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดหนองคาย ระหว่างทางก็แวะชมสิ่งดี ๆในการสร้างสุขภาพ พร้อมไปกับการรวบรวมรายชื่อคนไทยที่สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งรวบรวมได้กว่า ๔ ล้านรายชื่อ ขบวนทั้ง ๕ สายมุ่งหน้าสู่ท้องสนามหลวงนำเอารายชื่อผู้สนับสนุนมอบต่อประธานรัฐสภา (นายอุทัย พิมพ์ใจชน) และต่อหน้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขณะนั้น

จนในที่สุดในปี ๒๕๕๐ ก็มีการประกาศใช้กฎหมายที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมขับเคลื่อนมากว่า ๗ ปี สร้างความสุขให้กับทุกคนที่เฝ้ารอมาอย่างยาวนาน

ภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้เกิด “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สช.” งานสำคัญที่เขาได้รับบทบาทให้ดูแลล้วนมีความสำคัญยิ่งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ทั้งการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายที่เป็นองค์กรและหน่วยงานในต่างประเทศ การสานพลังกับเครือข่ายในภาคเหนือ รวมถึงงานพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

ด้วยชีวิตวัยเด็กที่หล่อหลอมให้เขาสนใจอ่านหนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขายังรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือหลายๆ เล่ม ไม่ว่าจะเป็น “สาระพัฒน์ ๒” “เรียนรู้วิถีชุมชน” “สร้างคน สร้างปัญญา” “เรียนภาษาอังกฤษกับนักเรียนนอก” “ธรรมะที่ควรเติมลงในชีวิต” “ธรรมสัญจรสู่มูลนิธิพุทธฉือจี้” เป็นต้น นี้ไม่นับเขายังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน” ในช่วงเวลาหนึ่งด้วย

ภาพของหนังสือที่วางเป็นกองสุมอยู่ด้านหน้าระหว่างที่เขากำลังเลือกหยิบบางเล่มกลับบ้าน และมิใช่น้อยได้ตัดสินใจมอบให้ห้องสมุด โดยเฉพาะ “ห้องสมุด ๑๐๐ ปี เสม พริ้งพวงแก้ว” ที่ตั้งอยู่ที่ชั้น ๑ ของอาคารสุขภาพแห่งชาติ จนปัจจุบันเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือและสื่อที่เกี่ยวกับ “การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย” ไว้อย่างครบถ้วนมากที่สุดในประเทศไทย จนได้รับการประกาศเกียรติคุณ เป็น “ห้องสมุดเฉพาะดีเด่น” ของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

ทำให้เขาอดที่จะเหลียวมองโล่ที่ได้รับพระราชทานจาก “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ” ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมาไม่ได้ ในฐานะ “ผู้มีอุปการคุณต่อวงการห้องสมุดและการศึกษาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสนเทศศาสตร์” ที่จัดโดย “สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย”

ชีวิตหลังจากนี้เขาปวารณาตัวที่จะทำงานกับ “เพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นความทุกข์ยาก” ต่อไป ดุจดั่งปณิธานที่เขาตั้งมั่นมาแต่วัยหนุ่ม รวมถึงการนำวิถีปฏิบัติของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน มาน้อมนำชีวิต วิถีฉือจี้ คือ วิถีที่ดึงเอาความดีงามของมนุษย์มาใช้ เพื่อทำให้ทุกคนมีความสุขในการอยู่ร่วมกัน

หัวใจของความเป็นมนุษย์ของฉือจี้ มีหลักสำคัญ ๓ อย่าง คือ ศรัทธาในการทำความดีเพื่อคนอื่น รับเอาองค์ความรู้เทคโนโลยี มาปรับใช้เพื่อเข้าถึงคนทุกรุ่น และทำงานอย่างเป็นระบบเป็นมืออาชีพ

วิถีฉือจี้เป็นอีกแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสังคมต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เขารู้ดีว่า “โรคมะเร็ง” ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในวันนี้ ทำลายเขาได้เพียงกายเท่านั้น แต่ใจที่กล้าแกร่ง ทำให้เขาสามารถฝ่าโรคร้ายนี้ได้อย่างเข็มแข็ง ยามว่างเขาจะให้เวลากับการออกกำลังกายโดยใช้จักรยานคู่ใจพาเขาไปนับร้อยกิโลเมตร ปรับพฤติกรรมการกินการอยู่ทุกอย่างเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ให้เขายังสามารถทำงานเพื่อคนอื่นได้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

แม้ปฏิทินจะเดินผ่านวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ มาร่วมเดือนกว่าแล้ว และเขาก็ได้กลายเป็นอดีตบุคลากรของ สช. ไปแล้วก็ตาม

แต่ภาพของชายคนหนึ่งที่รักสุขภาพของตนเอง ผู้ก้าวล้ำทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ชอบถ่ายรูปในทุกกิจกรรม ผู้ให้ความรักและความเป็นเพื่อนกับทุกคนที่สัมผัส ผู้เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมบนเส้นทางสายปฏิรูปอย่างมุ่งมั่น ภาพเหล่านี้ยังอบอวลอยู่ในใจของครอบครัว สช. และเพื่อนภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมิมีวันรู้ลืม

เพราะมีเพียงตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่สามารถขีดแบ่งความสัมพันธ์ของ “คนในครอบครัวเดียวกัน” ให้แยกจากกันได้ ความศรัทธาในกันและกัน ความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีตนเอง การได้ทำงานที่มีคุณค่าเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต เหล่านี้คือความเชื่อมร้อยชีวิตที่ห่างเพียงกายให้ “ใจ” ได้ใกล้กันตลอดเวลา

ตะวันกำลังลับแล้ว และพรุ่งนี้ตะวันดวงเดิมก็กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง ผมยังจำภาพที่ “เขา” นั่งเก็บหนังสือทีละเล่มๆ และเรื่องราวที่บอกเล่าให้ “พวกเราคนรุ่นหลังฟังอย่างลึกซึ้ง” ทำให้ผมนึกถึงข้อความท่อนหนึ่งของ “ศรีบูรพา” นักเขียนไทยที่มีชื่อเสียง ที่กล่าวไว้ในนวนิยายอิงการเมืองเรื่อง “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ว่า “ฉันไม่คิดว่าการมีชีวิตอยู่เพียงแต่จะกินไปวันหนึ่ง และแสวงหาความสุขไปวันหนึ่ง แล้วก็รอวันเจ็บป่วยและตายนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าอะไร ตามความเห็นของฉัน ชีวิตเช่นนั้นเป็นของว่างเปล่าเท่ากับไม่ได้เกิดมาเลยในโลกนี้ ชีวิตเฉยๆ ไม่มีความหมายสำหรับฉัน ถ้าฉันอยู่ ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามนั้นต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสนุก แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงามย่อมมีอยู่ และถูกใช้ไปเป็นคุณประโยชน์แก่คนอื่น”

นายแพทย์อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนโลกทุกครั้งล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการมองเห็นคุณค่าในตนเอง และคนที่จะจุดประกายให้คนอื่นได้มองเห็นคุณค่าในตนเองก็จะต้องเป็นคนที่เต็มเปี่ยมทั้งความกล้าหาญและความรักนั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น