๗ กันยายน ๒๕๕๗
เวลากว่า ๑ ชั่วโมงบนสายการบินน้องใหม่จากอินโดนีเซีย “ไทยไลอ้อนแอร์” ทำให้ผมมีโอกาสได้นั่งอ่าน “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” อย่างละเอียด ที่พึ่งจะผ่านการรับรองและประกาศใช้ในเวทีสมัชชาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ผมได้รับการเชื้อเชิญจาก “อาจารย์เทพรัตน์ จันทพันธ์” อาจารย์ประจำวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา) ให้มาร่วมวงพูดคุยกันถึงเรื่อง “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”
ภาพของการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาปรากฏแทรกขึ้นมาระหว่างตัวอักษรแต่ละบรรทัด โดยเฉพาะด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มลพิษที่มากขึ้น น้ำในทะเลสาบที่ตื้นเขินและไม่ไหลเวียน ภัยธรรมชาติ ป่าต้นน้ำลดลง ความขัดแย้งระหว่างคนใช้น้ำทำนาข้าวกับทำนากุ้ง การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน การใช้เครื่องมือผิดประเภทในการทำประมงมากขึ้นจนทำให้สัตว์น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว
แม้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในรัฐบาลทุกยุคสมัย โดยเฉพาะการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นมาที่คณะรัฐมนตรีรับรองแล้ว และมีแผนปฏิบัติการในระยะ ๑๐ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ พ.ศ.๒๕๖๐ แต่ก็ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
ทั้ง ๆ ที่ในพื้นที่มีรูปธรรมหลายประการในชุมชนที่ชาวบ้านมีการสร้างกติกาชุมชนขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมรอบลุ่มทะเลสาบสงขลา เช่น ธรรมนูญลุ่มน้ำคลองภูมี ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ เหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเกิดขึ้นมาของ “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”
เช้าวันเสาร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมอาศรมศิลปกรรมทักษิณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ มีการหารือถึงทิศทางการขับเคลื่อนให้ “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ได้รับการปฏิบัติจริงในพื้นที่ต่าง ๆ
จุดกำเนิดของการจัดทำ “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” มาจากการตระหนักร่วมกันว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางวิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้จัดทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้นมา ระยะเวลาดำเนินการ ๔ ปี ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ประการ คือ
(๑) เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
(๒) เพื่อศึกษาการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม ในการกำหนดทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
(๓) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานวิจัยชุมชนที่มีการพัฒนาจากประเด็นปัญหาในพื้นที่ และนำงานวิจัยชุมชนมาสนับสนุนกระบวนการชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
(๔) เพื่อศึกษากระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะของชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงเป็นการตอบวัตถุประสงค์ประการที่ ๔ นั่นเอง
โดยในช่วง ๒ ปีก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ใน ๒๕ อำเภอ ครอบคลุม ๓ จังหวัด คือ พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา
เมื่อมาพิจารณาสาระสำคัญของธรรมนูญฯ ประกอบด้วย ๒๕ ข้อ ใน ๑๗ หมวด ได้แก่
หมวดที่ ๑ บททั่วไป ที่ได้รวบรวมคำนิยามศัพท์ที่สำคัญ และวัตถุประสงค์ของการจัดทำธรรมนูญไว้
หมวดที่ ๒ วิสัยทัศน์และแนวคิดของธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๓ ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมวดที่ ๔ ความมั่นคงทางอาหาร
หมวดที่ ๕ สิทธิชุมชนและการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๖ สังคม วิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๗ การศึกษาและพัฒนาคนในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๘ การศึกษาและวิจัยและการจัดการความรู้
หมวดที่ ๙ การพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๐ การสื่อสารและสารสนเทศของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๑ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
หมวดที่ ๑๒ กองทุนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
หมวดที่ ๑๓ การบริหารจัดการ การบูรณาการแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๔ การบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๕ การบริหารจัดการธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน
หมวดที่ ๑๖ สมัชชาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
หมวดที่ ๑๗ การแก้ไขและบังคับใช้ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
“กำราบ พานทอง” คณะทำงานสำคัญที่ผลักดันให้เกิดธรรมนูญฉบับนี้เล่าให้ฟังว่า “เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพ โดยเฉพาะธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ โดยเจตนารมณ์สำคัญคือ ความเป็นข้อตกลงที่มาจากเป้าหมาย ความฝัน ศีล ข้อตกลง กฎ กติกา ที่คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอยากเห็น อยากเป็น อยากมีร่วมกัน อันนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน นำมาใช้เป็นระเบียบปฏิบัติที่ดีงาม รวมทั้งการใช้ในการจัดระเบียบชุมชนท้องถิ่นและสังคมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”
ผมอดไม่ได้ที่จะภูมิใจเล็ก ๆ เมื่อเครื่องมือที่พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ฉบับนี้ขึ้นมา
แน่นอนแม้วันนี้ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลายังเป็นเพียงตัวอักษรบนกระดาษ แต่ก็ถือเป็นความท้าทายสำคัญของคนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนธรรมนูญฉบับนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ ตามความมุ่งมั่นและความพยายามของคนในพื้นที่ที่ต่างก็ต้องการอนุรักษ์ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประเมินค่ามิได้ของโลกใบนี้ไว้ให้กับลูกหลานสืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น