วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี : ตัวแบบเขตสุขภาพเพื่อประชาชน

๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗

“เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ถือเป็นกลไกใหม่ที่เสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้ประชาชนในทุกระดับ สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงการทำงานแบบกลุ่มจังหวัด และมีกลไกอภิบาลแบบมีส่วนร่วม อำนวยการให้เกิดทิศทางและบูรณาการความร่วมมือ ในงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ระดับภูมิภาค ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรภาคประชาชน ชุมชนและตัวแทนวิชาชีพ ถือเป็นโครงสร้างการทำงานแบบแนวราบ ที่ทุกฝ่ายรับผิดชอบในภาระหน้าที่ของตนเองและไม่เน้นการใช้อำนาจสั่งการในรูปแบบเดิม”

คำอธิบายของ "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ" เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นสิงหาคม ๒๕๕๗ คือความหมายของคำว่า “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” อย่างชัดเจน

และนำมาสู่มติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ให้จัดตั้ง "เขตสุขภาพเพื่อประชาชน" เพื่อเป็นกลไกชี้ทิศทางแบบมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน บูรณาการการทำงานในระบบสุขภาพของทุกหน่วยงานโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

มีตัวอย่างรูปธรรมที่เห็นได้ชัดจากการทำงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยเมื่อวันที่ ๒๘ – ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ เพื่อสานพลัง “การทำงานขับเคลื่อนนโยบาย เคลื่อนไหวสังคม” ร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการบริหาร (คบ.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

กระบวนการขับเคลื่อนงานปฏิรูประบบสุขภาพของจังหวัดอุบลราชธานีเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ โดยความริเริ่มของ “นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” ที่ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับกรรมการมูลนิธิประชาสังคม และที่ประชุมต่างเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนร่วมกับกลไกระดับชาติ ให้เกิดกฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ

ใน ๒ ปีแรก มีการจัดเวทีรวม ๒๗ เวทีในทุกอำเภอ ครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ มุ่งเน้นไปที่เครือข่ายภาคประชาชน และมีการรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ส่งไปยังสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) เพื่อประมวลร่วมกับเวทีจากจังหวัดอื่น ๆ

สำหรับการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ มีการทดลองปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเพื่อแสวงหาทางออกในรูปแบบของเวที “โสเหล่สาธารณะ”

ตัวอย่างเช่น เวทีตลาดน้อยจะผ่านวันนี้ไปได้อย่างไร, เวทีคนปลูกอยู่ได้ ผู้ซื้อปลอดภัย ทำได้หรือไม่, เวทีโต้รุ่งในฝันของคนอุบล เป็นต้น เหล่านี้เป็นการจัดเวทีกลางแจ้งในพื้นที่ที่มีปัญหา ทำให้มีคนมาเข้าร่วมเวทีกันอย่างคึกคัก และเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างไร ก็มีกลไกการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จนทำให้ทีมงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

กระบวนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง มี “มูลนิธิประชาสังคม” เป็นกองเลขานุการสำคัญที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานผู้คนให้เข้ามาร่วมกระบวนการ

จวบจนมีการประกาศใช้กฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ในปี ๒๕๕๐ จึงมีการปรับกระบวนการสมัชชาสุขภาพของจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนางานเชิงวิชาการ

ในช่วงปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๕ ได้มีการคัดเลือกประเด็นนโยบายสาธารณะในพื้นที่ที่สำคัญมาขับเคลื่อน อาทิ การพัฒนาพื้นที่ชุมชนริมมูล การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ตำบลปทุม การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้รัฐไร้สัญชาติ การพัฒนาเด็กและเยาวชนบ้านผับแล้ง อำเภอสำโรง และการสร้างการมีส่วนร่วมศูนย์แพทย์ชุมชนวัดใต้ เป็นต้น

ในปี ๒๕๕๖ นับเป็นยุคแห่งการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ มุ่งเน้นมาเป็นการขับเคลื่อนในภาพรวมระดับจังหวัด มีการจัดตั้งกลไกอย่างเป็นทางการ ที่มีตัวแทนจาก ๓ ภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน และปรับเปลี่ยนกลไกฝ่ายเลขานุการมาเป็นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีแทน

มีการนำกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะมาใช้อย่างเป็นระบบ โดยเปิดรับประเด็นนโยบายสาธารณะ อย่างกว้างขวาง มีการตั้งคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และนำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีสมาชิกจากทุกภาคส่วนกว่า ๒,๐๐๐ คน เข้าร่วมและให้ฉันทมติร่วมกัน ภายใต้แนวคิดหลักที่ว่า “อุบลราชธานีจัดการตนเอง สู่สังคมสุขภาวะ”

มีข้อเสนอเชิงนโยบาย รวม ๕ เรื่อง ที่นำเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ ๒๑-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คือ เกษตรอินทรีย์ การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูล การพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว การจัดการแม่น้ำมูล และการจัดการศึกษา

“กาญจนา ทองทั่ว” นักวิชาการผู้มีบทบาทสำคัญและกำลังหลักของคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวสรุปให้เห็นกระบวนการ “ขับเคลื่อนนโยบาย และเคลื่อนไหวสังคม” ในจังหวัดอุบลราชธานี ว่าสามารถจำแนกออกเป็น ๓ รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ ๑ คือการนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพไปขับเคลื่อนงานในประเด็นเชิงนโยบายในองค์กรในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานีขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๑๐ จัด “สมัชชาพิจารณ์” เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

รูปแบบที่ ๒ มีการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญมาขับเคลื่อนงานในพื้นที่ อาทิ มติว่าด้วยเรื่อง การจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ และการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น เป็นต้น

รูปแบบที่ ๓ มีการใช้งาน “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” มาเสริมกระบวนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ อาทิ มติว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง และมาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ

ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในภาพรวมที่จัดขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว คณะดูงานได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานในพื้นที่ รวม ๓ เรื่อง คือ

เรื่องที่ ๑ การแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชน งานศพ งานบุญปลอดเหล้า ที่เทศบาลตำบลปทุม อำเภอเมือง
เรื่องที่ ๒ การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ
เรื่องที่ ๓ การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ที่เทศบาลตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ

ภายหลังจากการดูงานได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และพบว่าปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี” มีอย่างน้อย ๖ ประการ คือ

หนึ่ง มีกลไกบริหารจัดการแบบพหุภาคี โดยเห็นความหลากหลายของผู้ที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ทั้งส่วนที่เป็นผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยเฉพาะในภาควิชาการที่มีผู้แทนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่เข้ามาร่วมอย่างครบครัน

สอง มีกองเลขานุการที่มีศักยภาพ เก่งทั้งด้านการประสานงาน มียุทธวิธีในการทำงาน มีบารมีที่ทุกคนรักและศรัทธา

สาม มีการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ โดยการเชิญชวนผู้ที่เป็นเจ้าของปัญหาหรือเจ้าของพื้นที่เข้ามาใช้กระบวนการอย่างเปิดกว้าง

สี่ ให้ความสำคัญกับข้อมูลความรู้ มีการนำเอากระบวนการ “วิจัยเพื่อท้องถิ่น” เข้ามาเสริมกระบวนการ ให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน

ห้า มีกระบวนการสื่อสารสาธารณะที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้ทุกช่องทาง ทั้งทีวี วิทยุชุมชน สื่อสังคมออนไลน์

หก มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยมีการวางแผนการทำงาน การวางระบบติดตามประเมินผล การรายงานผลอย่างเป็นระบบ มีการประสานกับแหล่งทุนทั้งภายในและภายนอกพื้นที่

บทสรุปดังกล่าวถือเป็น “องค์ความรู้” สำคัญยิ่งที่เกิดจากการทำงานจริงของคนในพื้นที่ ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคำพูดของ “ผศ.เกษม บุญรมย์” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ได้กล่าวไว้ในช่วงสายของวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ว่า “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ คือทางออกของประเทศไทย”

และเมื่อคิดถึงมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ร่วมด้วย ก็ทำให้เห็นตัวแบบ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ลาง ๆ ขึ้นมาในทันใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น