วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ลานโพธิ์ : ลานธรรม ลานความรู้นอกกรอบ

๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗

แม้คำว่า “บ้าน-วัด-โรงเรียน” ดูจะกลายเป็นคำเชยๆสำหรับคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ที่วันนี้โลกโซเชียลเน็ตเวิร์คได้เข้ามาทำหน้าที่พื้นที่สำหรับสื่อสาร พบปะ และสนทนาแทน แต่ที่แห่งนี้ชาวบ้านยังคงใช้พื้นที่ของวัดเป็น “พื้นที่เรียนรู้” สำหรับคนหลายกลุ่มหลายช่วงวัยอยู่

ชาวบ้านตำบลชอนสมบูรณ์ อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี เรียกที่นี่กันว่า “มหาวิทยาลัยนอกคอก”

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมมายืนอยู่กลางลานโพธิ์ ลานปูนกว้างราวๆ ๓๐ – ๔๐ ตารางเมตร มีต้นโพธิ์สูงเด่นแผ่กิ่งก้านปกคลุมลานกว้าง จนทำให้บริเวณนั้นดูร่มเย็น มีแสงแดดสาดส่องลงมากระทบลานปูนบ้างตามมุมที่ดวงอาทิตย์ที่คล้อยเคลื่อนไป

ผมได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยนอกคอกในขณะที่มีโอกาสได้ร่วมวงถอดบทเรียนเรื่อง “บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ร่วมกับพระครูใบฎีกาทรงพล ชยนันโท เจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม และแกนนำขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ทั้งนายก อบต. กำนัน ครูใหญ่ นักวิจัย นักวิชาการสาธารณสุข ผอ.รพ.สต. และแกนนำภาคประชาชน ราว ๑๕ ชีวิต

ได้ยินครั้งแรก อดคิดไม่ได้ว่า “เข้าใจตั้งชื่อดีจัง” และยิ่งได้ฟังคนที่มานั่งล้อมวงพูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้เข้าใจกับชื่อที่ตั้งขึ้นมานี้มากยิ่งขึ้น

“เราใช้ลานโพธิ์แห่งนี้ในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในหมู่บ้าน หรือมีโครงการอะไรลงมาในหมู่บ้าน เราก็จะชักชวนผู้คนมานั่งปรึกษาหารือกัน แม้แต่หากมีคณะมาดูงานในหมู่บ้าน เราก็จะใช้ที่ตรงนี้นำเสนอผลงานให้กับผู้คนที่มาดูงาน” พี่เสนอ แกนนำคนสำคัญบอกกล่าว

เช่นเดียวกับที่มาของโครงการ “การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่น” ที่ดำเนินมากว่า ๓ ปีแล้ว ก็เริ่มต้นที่นี่ “พระครูใบฎีกาทรงพล ชยนันโท” ได้เล่าให้ฟังว่า

วันหนึ่งขณะที่กำลังทำหน้าที่วิทยากรอบรมเยาวชนชายอยู่ มีนักวิชาการผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาพบ แล้วเอ่ยถามว่า “พระอาจารย์ไม่คิดจะช่วยเหลือเยาวชนที่เป็นผู้หญิงบ้างหรือ”

จากคำถามนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นได้คุยกัน และทราบว่าขณะนั้นมีนักเรียนที่เป็นลูกหลานของชาวชอนสมบูรณ์มีการตั้งครรภ์ในวัยเรียนปีละเกือบ ๒๐ ราย อีกทั้งเป็นจังหวะดีที่ได้พบกับทีมงานจากสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนา จังหวัดลพบุรี จึงได้ปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ เพื่อลงมาหนุนเสริมการทำงานโดยนำหลักการ “สมัชชาสุขภาพ” มาใช้

มีการชักชวนแกนนำในหมู่บ้านมาตั้งวงปรึกษาหารือกันที่ “ลานโพธิ์” แห่งนี้ จนในที่สุดเกิด “ยุทธศาสตร์ไข่แดง” ที่ทุกคนต่างให้ความสำคัญกับลูกหลานที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย โดยเปรียบเหมือน “ไข่แดง” ที่จะต้องมี “ไข่ขาว” คอยปกป้องคุ้มกันภัย

มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายไว้ในยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน

ผลจากการทำงานทำให้ปัญหาที่เกิดปีละมากกว่า ๑๐ ราย กลับลดลงเหลือเพียงปีละ ๒ – ๓ รายเท่านั้น

ระหว่างเล่าเรื่องนี้ แววตาแต่ละคนต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ใบหน้ายิ้มแย้ม และต่างหยอกเย้ากระเซ้าแหย่กันสร้างความครื้นเครงและเป็นกันเองอย่างดียิ่ง จนผมอดปลาบปลื้มไปด้วยไม่ได้

จากการที่หมู่บ้านแห่งนี้มีผลการดำเนินงานโครงการ “ท้องไม่พร้อม” ในระดับที่ดี ส่งผลให้มีการนำตัวแบบนี้ไปกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะในระดับอำเภอและจังหวัดในเวลาต่อมา ทำให้มีคณะทำงานจากพื้นที่อื่นมาศึกษาดูงานกระบวนการทำงานไม่ขาดสาย และ “ลานโพธิ์” แห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ต้อนรับคณะดูงานที่เข้ามาดูงานทุกคณะ

นอกจากโครงการนี้แล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีผลการดำเนินงานในโครงการอื่น ๆ ที่ประสบผลสำเร็จ เช่น โครงการคุมประพฤติ การลดละเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปราบปรามยาเสพติด และล่าสุดคือโครงการ “หมู่บ้านศีล ๕” ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้หมู่บ้านชุมชนร่วมกับองค์กรศาสนาร่วมกันสร้างหมู่บ้านศีล ๕ โดยใช้หลักเบญจศีลเบญจธรรมมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต หมู่บ้านแห่งนี้ก็เป็น ๑ ใน ๑๑ หมู่บ้านนำร่องของจังหวัดลพบุรี และทุกโครงการล้วนผ่านเวที “ลานโพธิ์” แห่งนี้ทั้งสิ้น

ก่อนจบเวที ผมได้สรุปให้กับผู้ร่วมวงสนทนาภายใต้ “ร่มโพธิ์” บน "ลานโพธิ์" แห่งนั้นในช่วงท้ายว่า

(๑) ได้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า “พระสงฆ์” ได้เข้ามาบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ว่าด้วยเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” เมื่อปี ๒๕๕๕ ซึ่งจากบทเรียนที่ได้รับครั้งนี้จะนำไปประมวลและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานในภาพกว้างต่อไป

(๒) เป็นการยืนยันแนวคิด “พื้นที่จัดการตนเอง” หรือ “พื้นที่จัดการกันเอง” ได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้าน คนในชุมชนหมู่บ้านสามารถที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหากันเองได้ จึงถือเป็นทิศทางสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยที่ควรให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจและส่งเสริมให้เกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” ให้เกิดขึ้นกระจายทั่วประเทศ

(๓) หากให้วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จต่อโครงการ “ท้องไม่พร้อม” พบว่ามาจากปัจจัย ๕ ประการ คือ

o มีพระสงฆ์ที่เป็นที่รักของคนในหมู่บ้านรับเป็นธุระในการขับเคลื่อนงานอย่างมีศิลปะ

o แกนนำในหมู่บ้านทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ท้องทุ่งและหน่วยงานต่าง ๆ มีความรักสามัคคีไม่แบ่งแยกกัน

o มีการวางยุทธศาสตร์ที่มาจากการมีส่วนร่วม และที่สำคัญมีการนำยุทธศาสตร์นั้นไปปฏิบัติตามบทบาทของแต่ละคนแต่ละฝ่าย

o มีการหนุนเสริมและเชื่อมโยงกับทุนความรู้ ทุนวิชาการและทุนงบประมาณจากองค์กรนอกพื้นที่ที่ดี

o มีการนำกระบวนการปรึกษาหารือมาใช้อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์

ขอบคุณ “ลานโพธิ์” หรือ “มหาวิทยาลัยนอกคอก” ของชาวบ้านชอนสมบูรณ์ที่ได้ประสิทธิ์ประศาสน์วิชา “กระบวนการชุมชน” ที่เป็นรูปธรรมให้กับผมไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

เป็นอีกวันที่ผมเดินทางออกมาจากตำบลชอนสมบูรณ์ด้วยความสุข ด้วยความรู้สึกเหมือนตัวเองเพิ่งผ่านหลักสูตรที่มีพระสงฆ์ นายก อบต. กำนัน ผอ.รพ.สต. ร่วมกันเป็นอาจารย์ผู้สอนมาหยก ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น