วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญสุขภาพ : เครื่องมือสร้างความสมานฉันท์ในชุมชน

๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๗

“ชาวบ้าน ๑๑ หมู่บ้าน ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ชุมนุมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

เป็นตัวอย่างข่าวพาดหัว ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสาธารณะ แสดงให้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่ตำบลเขาไม้แก้วในช่วงที่ผ่านมานานนับกว่า ๔ ปี

แต่วันนี้เหตุการณ์เหล่านี้ เริ่มคลี่คลายไปในทางบวก ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยกัน ปล่อยวางปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามกระบวนทางกฎหมาย และหันมานั่งล้อมวงคุยกัน

“อนาคตของคนตำบลเขาไม้แก้วจะเป็นอย่างไร” คือหัวข้อที่ถูกหยิบมาคุยกัน

เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ ทีม “นสส.” ที่ย่อมาจาก “นักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและสังคมสุขภาวะ” หรือเรียกแบบย่อ ๆ ว่า “นักสานพลัง” ประจำปี ๒๕๕๗ กว่า ๕๐ ชีวิต ได้มารวมตัวกันที่ลานกว้างภายในศาลาไม้ผสมคอนกรีตเสริมเหล็กของสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งที่ตั้งตะหง่านอยู่บนเนินเขากลางตำบลเขาไม้แก้ว

เดินโดยรอบตัวศาลา จะสัมผัสกับความเย็นสบายโปร่งโล่งด้วยสายลมที่โชยพลิ้วมา ท่ามกลางร่มธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นสูงแผ่กิ่งก้านใบปกคลุมสร้างความร่มเย็นไปทั่วลานกว้าง

แผนที่ทำมือบนผืนผ้าดิบสีขาวขนาดใหญ่ที่เกิดจากฝีมือของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนในตำบลที่ช่วยกันบรรจงแต่งแต้มขีดเขียนและระบายสี แสดงขอบเขต ถนน แม่น้ำลำคลอง วัด โรงเรียน และสถานที่สำคัญ จำแนกรายหมู่บ้าน ถูกยึดโยงด้วยเส้นเชือกจากยอดไม้กางเด่นให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาและเห็นภาพโดยรวมของตำบลเขาไม้แก้วได้เข้าใจและรับรู้ถึงสภาพบริบทและองค์ประกอบเชิงกายภาพอย่างชัดเจน

ละครสะท้อนทุนวัฒนธรรมประเพณีที่บ่งบอกต้นทุนทางสังคมและรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่น้องนักเรียนหญิงชายราวยี่สิบคนได้แสดงผ่านลีลาท่าทางอันคล่องแคล่ว ประกอบบทพูดที่กล่าวเปล่งด้วยภาษาพื้นบ้านอย่างชัดถ้อยชัดคำในบทที่แต่ละคนสวมอยู่ บ่งบอกว่าผ่านการฝึกปรือมาอย่างหนัก

“การกวนกระยาสารท” ได้สะท้อนภาพความรักสามัคคีของคนเขาไม้แก้วที่เป็นต้นทุนสำคัญที่ตกทอดจากอดีตมาถึงปัจจุบัน บ้างคั่วข้าวตอก บ้างคั่วงา บ้างคั่วถั่ว บ้างกวน บ้างอัดตัดแบ่ง ถูกแสดงผ่านบทละครและนำเสนอผ่านนักแสดงวัยเยาว์ชี้ให้ผู้ชมเห็นถึงผลของการสานมือสานใจกันว่ากว่าจะได้ขนมคู่บ้านสักชิ้นต้องเกิดจากการทำงานร่วมมือกันอย่างไร

ช่วงท้ายของละครบทนั้น น้อง ๆ เยาวชนต่างแปลงบทแสดงให้เห็นถึงการรุกคืบเข้ามาของ “ธุรกิจขนาดใหญ่” โดยใช้ “เงิน” เป็นเครื่องนำทาง ก่อเกิดโรงงานกลางชุมชนสร้างสรรค์รายได้ ยกระดับฐานะเศรษฐกิจและความเจริญให้กับหมู่บ้าน ถนนคอนกรีต ไฟฟ้า ขยายทั่วตำบล สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในตำบลที่วิถีชีวิตปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมยุคใหม่

แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับมีชาวบ้านที่อยู่รอบโรงงานได้รับผลกระทบจากมลพิษที่โรงงานเหล่านั้นเป็นต้นเหตุ นำไปสู่การร้องเรียนและต่อต้าน

แม้นไม่มีบทสรุปของละครที่น้อง ๆ ได้แสดงออกมา แต่ได้ทิ้งประเด็นร่วมให้คนดูได้คิดต่อ ว่า “คนเขาไม้แก้ว” จะเดินหน้าต่อไปทางไหนดี

แกนนำคนสำคัญคนหนึ่งได้ฉายภาพผ่านจอแอลซีดี บอกเล่าความเป็นมาตั้งแต่การก่อตั้งชุมชนเมื่อครั้งปี ๒๔๘๔ ที่พื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ จวบจนค่อย ๆ มีชาวบ้านกลุ่มลาวเวียงอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่จากเพียงไม่กี่ครอบครัวจนปัจจุบันมีมากกว่า ๑,๘๐๐ หลังคาเรือน

จวบจนปี ๒๕๒๔ ที่แยกตัวออกมาจากตำบลกบินทร์บุรีมาตั้งเป็น “ตำบลเขาไม้แก้ว”

จุดผลิกผันครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี ๒๕๔๔ ที่มีบริษัททุนขนาดใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดินและบุกรุกที่ดินสาธารณะเพื่อปลูกป่ายูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานกระดาษ จนเกิดการรวมตัวของชาวบ้านเรียกร้องขอคืนพื้นที่สาธารณะคืนจากนายทุน

ในปีถัด ๆ มา “ฟาร์มเลี้ยงหมู” ก็เกิดขึ้น จนต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกัน เกิดการต่อต้านการประกอบกิจการโรงงานเผาหลอมขยะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จนต้องยุติกิจการไป

และในปี ๒๕๕๓ มีกลุ่มนายทุนเข้ามาขออนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีเป้าหมายใช้มันสำปะหลังดิบที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักในตำบลเป็นวัตถุดิบ จนเกิดการต่อต้านจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในตำบล เรื่องราวที่แกนนำคนนั้นนำเสนอให้กับ “นนส.” ได้รับฟังได้ซ้ำเสริมบทละครที่น้องนักเรียนชายหญิงได้แสดงให้เห็นเมื่อครู่

ทุกเครื่องมือที่มีอยู่ในสังคม ถูกคิดถูกนำมาใช้ ทั้งการเดินรณรงค์ การประท้วง การปิดล้อม การร้องเรียน การฟ้องศาล มาใช้

มีความพยายามที่จะนำเครื่องมือที่เรียกว่า “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพชุมชน” หรือ “ซีเอชไอเอ” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้หลังจากเห็นตัวอย่างจากพื้นที่อื่นที่ดำเนินการมาก่อน

ถึงขนาดมีการรวบรวมเงินจากทุนส่วนตัวเดินทางไปดูงานถึงจังหวัดร้อยเอ็ดและสุรินทร์

ควบคู่กับการขับเคลื่อนสังคมด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ที่พึ่งสุดท้ายที่ชาวบ้านหวังพึ่ง นั่นก็คือ “อำนาจศาล”

“ชาวเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เดินทางไปร้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ เนื่องจากยังไม่ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่”

เป็นข่าวพาดหัวข่าวสังคมภูมิภาคที่ปรากฏอยู่บนเว็ปไซด์ของโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

แต่สิ่งเหล่านี้คืออดีต ที่นำมาซึ่งความร้าวฉานของคนเขาไม้แก้ว

จวบจนวันหนึ่ง แกนนำของตำบลได้มีโอกาสรู้จัก “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” จากเพื่อนเครือข่ายลุ่มน้ำพระปงจากเวทีสาธารณะแห่งหนึ่ง จึงเกิดปิ๊งแวบเห็นทางออกสายใหม่ที่แตกต่างทางออกที่ร้อนแรงในอดีต นั่นก็คือ "ทางออกบนเส้นทางสมานฉันท์"

ประกอบกับการได้รับการหนุนเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ต้องการขยายผลการทำงานเชิงบูรณาการในพื้นที่เขตภาคตะวันออกร่วมกัน

จึงเกิดการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างแกนนำที่สำคัญในตำบลเขาไม้แก้ว และเห็นชอบร่วมกันว่า “เส้นทางเดิมนั้นปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางศาลไป เราจะมาเริ่มเส้นทางใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม โดยใช้ ธรรมนูญสุขภาพ” เป็นเครื่องมือ”

“ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลเขาไม้แก้ว” ลุกขึ้นอธิบายให้กับ นนส. ฟังอย่างฉาดฉานประกอบกับเพาเวอร์พ้อยต์ที่ฉายภาพไปสู่จอที่ตั้งอยู่กลางพื้นศาลาหลังนั้น

“เป้าหมายสำคัญของการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว คือ เราจะมากำหนดอนาคตตัวเอง และกำจัดปัญหาที่เคยมีมาในอดีตให้หมดไป”

เป็นวรรคทองอันสำคัญที่ถูกถ่ายทอดมาจากปากของผู้นำเสนอบ่งบอกนัยยะสำคัญว่าเป้าหมายสำคัญของเครื่องมือชิ้นนั้นกำลังทำงานในหน้าที่ใด

ร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว ที่ผ่านเวทีรับฟังความเห็นจากชาวบ้านใน ๑๑ หมู่บ้าน รอจัดเวทีรวมในระดับตำบลในวันที่ ๓๑ สิงหาคมนี้ และจะมีพิธีประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้ ปรากฏอยู่บนกระดาษเอสี่รวมสี่หน้า ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น ๗ หมวด ทั้งหมด ๕๐ ข้อ จำแนกเป็น หมวดสุขภาพ ๗ ข้อ หมวดสิ่งแวดล้อม ๑๑ ข้อ หมวดการศึกษา เด็กและเยาวชน ๘ ข้อ หมวดสังคม ๘ ข้อ หมวดเศรษฐกิจ ๙ ข้อ หมวดศาสนาและวัฒนธรรม ๕ ข้อ และหมวดภูมิปัญญาท้องถิ่น ๒ ข้อ

“ส่งเสริมให้ชุมชนมีพฤติกรรมการกินที่ถูกต้อง โดยการให้ความรู้และรณรงค์ไม่ให้กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ”

“หลีกเลี่ยงการจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่”

“ผู้ปกครองไม่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นการพนัน”

“ส่งเสริมให้มีการแต่งกายที่เหมาะสมต่อสถานที่และถูกกาลเทศะ”

“ลดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ส่งเสริมการทำเกษตรพอเพียง”

“บุคคลที่จะบวชควรที่จะมีการตรวจคัดกรองสารเสพติด”

“ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูปพืชสมุนไพรและเรียนรู้การใช้อย่างถูกต้อง”

เหล่านี้คือตัวอย่างของสาระของ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว” ซึ่งล้วนเขียนด้วยภาษาง่าย ๆ และใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนยิ่งนัก

ข้อความหนึ่งที่เมื่ออ่านไล่เลียงไป จะสะดุดสะกิดให้คิดตามนั่นก็คือ “สาระในข้อที่ ๔ หมวดสิ่งแวดล้อม” ทีเขียนไว้ว่า

“ทุกโครงการที่จะมาดำเนินการในตำบลต้องจัดให้มีเวทีประชาคมเพื่อให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและจะดำเนินการได้ต้องผ่านมติของคนในตำบลและความต้องการของคนในชุมชน”

ผมอ่านทวนข้อความข้อนี้สองสามรอบ ในสมองคิดย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่ได้รับฟังผ่านการนำเสนอของแกนนำคนสำคัญและบทละครของเยาวชนคนรุ่นใหม่ คิดถึงคำพูดของ ผอ.รพ.สต. ที่กล่าวถึงเป้าหมายการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” ไว้เมื่อครู่

พลันความคิดรวบยอดก็บังเกิดขึ้นในสมอง พร้อมกับคำรำพึงที่พูดกับตัวเองว่า “นับเป็นความชาญฉลาดจริงๆ”

ฐานทุนเดิมที่ผมเคยได้อธิบายความหมายของ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชน” ว่าหมายถึง “กฎร่วม กติการ่วม ข้อตกลงร่วม เป้าหมายร่วม หรือศีลร่วมของคนในชุมชน อันจะนำมาซึ่งความมีสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชนนั้น”

แต่มาถึงวันนี้ ที่ “ตำบลเขาไม้แก้ว” ได้บอกกับผมว่า

“ธรรมนูญสุขภาพชุมชนคือเครื่องมือสร้างสมานฉันท์ในชุมชนด้วยอีกความหมายหนึ่ง”

มันช่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนักกับเครื่องมือที่เรียกว่า “ธรรมนูญสุขภาพชุมชน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น