วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สานพลังเด็กและเยาวชนสู่อาเซียน

๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

ในปี ๒๕๕๘ สิบประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกันในนาม “ประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community” ภายใต้วิสัยทัศน์ “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม หรือ One Vision, One Identity, One Community” ตามปฏิญญาชะอำ หัวหิน ที่ผู้นำทั้ง ๑๐ ประเทศ ได้ตกลงกันไว้เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒ หรือ ๕ ปีมาแล้ว

วัตถุประสงค์สำคัญคือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาใน ๓ ด้าน คือ

๑) ความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง มุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในอาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ปราศจากภัยคุกคามด้านการทหาร และภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ๆ หรือที่เรียกว่า เสาประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community: APSC)

๒) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาประชาชนในอาเซียนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ หรือที่เรียกว่า เสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)

๓) ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การคุ้มครองและให้สวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนและการลดช่องว่างทางการพัฒนา หรือที่เรียกว่า เสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)

การพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นภารกิจที่จำเป็นและสำคัญยิ่งต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียนทั้ง ๓ เสาหลักในอนาคต เพราะการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จำเป็นต้องอาศัยคนของประชาคมอาเซียนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ มีความรู้ดี มีสติปัญญาดี มีทักษะการดำเนินชีวิต ทักษะในการประกอบอาชีพการงาน มีสุขภาพจิตดี สุขภาพกายดี มีทักษะทางสังคม สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่มีความแตกต่างจากตนได้อย่างดี ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

การพัฒนามนุษย์ จึงคือภารกิจร่วมกันของทุกประเทศที่จะต้องกระทำให้บรรลุผล เพื่อลดช่องว่างของคุณภาพคนในประชาคมอาเซียนให้เหลือน้อยที่สุด และที่สำคัญ คือ มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนของทุกประเทศในประชาคมอาเซียน เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของประชาคมอาเซียนต่อไป

คำถามสำคัญ “ประเทศได้เตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนดีแล้วหรือยัง ?”

จากคำถามดังกล่าวรัฐบาลไทยจึงได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวนี้ ทำให้กระทรวง พม. จึงได้มีการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติประจำปี ๒๕๕๗ ขึ้นมา ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๑(๔) ว่าจะต้องมีการจัดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะหยิบประเด็นสำคัญมาถกแถลงและพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะร่วมกัน มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕

โดยในปีนี้ได้หยิบประเด็นเรื่อง “การเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” มาเป็นประเด็กถกแถลงกัน ภายใต้กรอบความคิดหลัก “สานพลังเด็กและเยาวชนสู่อาเซียน”

ผมได้มีโอกาสเข้าไปร่วมเป็น ๑ ใน ๔๙ คน ในคณะกรรมการจัดสมัชชาฯดังกล่าว มี “นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์” หรือ “ครูหยุย” เป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ก่อนถึงวันจัดงานคณะกรรมการได้มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือนมาก่อนหน้าร่วม ๖ เดือน มีคณะทำงานวิชาการทำหน้าที่พัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายก่อนล่วงหน้าในหลายครั้ง

ไฮไลท์ที่สำคัญ คือ มีการนำร่างข้อเสนอเชิงนโยบายมาพิจารณาในที่ประชุมสมัชชา ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมแอมบาสซิเดอร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมา และที่สำคัญคือมีตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนจาก ๗๗ จังหวัด ร่วมกันพิจารณา

ที่ประชุมได้มีการถกแถลงแสดงเหตุผลกันอย่างกว้างขวาง จนในที่สุดได้มีฉันทมติต่อข้อเสนอเชิงนโยบายทั้ง ๒ เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ ๑ การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน : ด้านการศึกษาและภาษา มีมติที่สำคัญคือ

• เร่งรัดการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิตที่เหมาะสม โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับทุนทางสังคมและชุมชน รวมทั้งปรับโครงสร้างเวลาและกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการพัฒนาการศึกษาและภาษายิ่งขึ้น

• เร่งรัดการขับเคลื่อนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแผนงานการจัดตั้งประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๐๙ – ๒๐๑๕ (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๘) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาความ สามารถด้านภาษาอังกฤษ พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๕ เน้นทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เหมาะสมกับช่วงวัย เชื่อมโยงกับบริบทและประวัติศาสตร์ของชุมชน และให้ความสำคัญกับการรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อสมาชิกสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเป็นประจำทุกปี

• จัดให้มีครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนอาสาสมัครในพื้นที่ ที่มีความเชี่ยวชาญการใช้ภาษาอังกฤษ ทำหน้าที่สอนภาษาอังกฤษทั้งในและนอกสถานศึกษา ชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการจัดกิจกรรม และสร้างสื่อภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง

• ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในเรื่องการศึกษาและภาษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม โดยมีการบรรจุประเด็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนอยู่ในแผนพัฒนาในระดับจังหวัดและชุมชน ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ปกครองควบคู่ไปด้วย

• พัฒนากระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สังคมออนไลน์ ให้เกิดความคุ้มค่า

• สร้างความตระหนักแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ให้มีความใฝ่รู้ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ รวมทั้งภาษาของประเทศอาเซียน

เรื่องที่ ๒ ระบบการคุ้มครองสิทธิเด็กในบริบทอาเซียน มีมติที่สำคัญ คือ

• ให้มีการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้ายให้ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายแบบมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๕๘

• ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในประเด็นต่างๆ เช่น การจดทะเบียน การเกิด การรับรองสัญชาติ การให้บริการด้านสุขภาพและการควบคุมโรคตามบริเวณชายแดน การจัดการศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของประเทศต้นทาง และนายจ้างหรือบุคคลอื่นๆ ร่วมรับผิดชอบในการจัดหางบประมาณหรือบุคคลากรดำเนินการ

• จัดให้มีกลไกการคุ้มครองเด็กที่ครอบคลุมทั้งระบบ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของเด็กเคลื่อนย้าย

• ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีการจดทะเบียนการเกิด และมีระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานและผู้ติดตามที่เหมาะสม จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการให้บริการแก่เด็กและครอบครัว ในเรื่องการจดทะเบียนการเกิด การกำหนดสถานะบุคคล และการเดินทางออกนอกพื้นที่ จัดทำมาตรการให้นายจ้าง ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดบริการและสวัสดิการแก่แรงงานต่างด้าวและครอบครัว

• จัดทำฐานข้อมูลเด็กทุกคนรวมถึงเด็กเคลื่อนย้าย และส่งเสริมให้ชุมชน สถานประกอบการ มีมาตรฐานในการเฝ้าระวังที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน จัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครในการเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนย้ายของประชากรเข้ามาในพื้นที่

• ส่งเสริมให้เด็กเคลื่อนย้าย ได้รับการศึกษาและการพัฒนาทักษะชีวิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดให้มีระบบการดูแลติดตามการเข้าถึงการศึกษาของเด็กเคลื่อนย้าย มีการพัฒนาแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กเคลื่อนย้ายก่อนเข้าเรียนในหลักสูตรปกติ มีการสร้างความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติและส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนศูนย์การเรียนของบุคคล องค์กรชุมชน และองค์กรเอกชน

• ขยายกลุ่มเป้าหมายการประกันสุขภาพเพื่อการรักษาและควบคุมโรคตามปกติให้ครอบคลุมเด็กเคลื่อนย้าย จัดทำคู่มือเผยแพร่ความรู้ ควบคุมโรคร่วมกันบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

• จำแนกสถานภาพทางกฎหมายของเด็กให้ชัดเจน ดำเนินการทางกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ กรณีเมื่อพบเด็กที่กระทำผิดทางอาญาอื่นๆต้องดำเนินการตามหน้าที่ โดยไม่ผลักดันกลับ และให้มีกลไกติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานของตำรวจเกี่ยวกับเด็กเคลื่อนย้าย

• ติดตามตรวจสอบสถานประกอบกิจการไม่ให้มีการใช้แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยมีกลไกการตรวจสอบ สำหรับกรณีแรงงานต่างด้าวควรมีนโยบายเปิดแรงงานเสรี และเป็นแรงงานถูกกฎหมาย โดยได้รับค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการเหมือนคนไทย นายจ้าง/ประเทศต้นทาง ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

• จัดทำมาตรฐานการคุ้มครองเด็กเคลื่อนย้าย มีการจัดตั้งกลไกรองรับการปฏิบัติงาน สร้างระบบอาสาสมัคร ตั้งศูนย์อบรม จัดตั้งกองทุนหรือใช้ประโยชน์จากกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็กเคลื่อนย้ายและครอบครัว รวมทั้งมีระบบให้การคุ้มครองเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและภายหลังพ้นจากกระบวนการยุติธรรม

โดยทั้ง ๒ เรื่อง ได้มีมติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ จัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนและการติดตามการดำเนินงานตามข้อมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ โดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและการติดตามการดำเนินงาน และรายงานผลการดำเนินงานตามมติเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเป็นประจำทุกปี

ในฐานะที่ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสมัชชาครั้งนี้ นอกเหนือจากการได้เรียนรู้สาระของข้อเสนอเชิงนโยบายแล้ว ยังได้เห็นความพยายามยกระดับกระบวนการให้มีคุณภาพทั้งด้านวิชาการและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ได้เห็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างสร้างสรรค์และกว้างขวาง ภายใต้กฎกติกาที่ผ่อนปรนไม่เข้มงวด

หากทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนมติสมัชชาครั้งนี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราก็จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างมีความพร้อมประเทศหนึ่ง และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนต่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น