วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ศีลชุมชนคนบ้านคลองอาราง : ธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านแห่งแรกในไทย

๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

๑๓ มกราคม ๒๕๕๗ หรือกว่า ๘ เดือนมาแล้ว วันนั้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยกำลังจัดกิจกรรม “ปิดกรุงเทพฯ” กัน โดยมีการตั้งเวทีชุมนุมในพื้นที่สำคัญต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลว

แต่ ณ ที่แห่งนี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ชาวบ้านได้มาชุมนุมร่วมกันเพื่อเป็นสักขีพยานในการประกาศใช้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลบ้านแก้ง” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เข้าร่วมด้วย ซึ่งภายหลังจากที่มีการประกาศใช้แล้ว ทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้งได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพให้แก่ทุกหมู่บ้าน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดขึ้นมาของธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลแห่งนี้นั้น มาจากจุดกำเนิดเล็กๆที่ชื่อว่า “ธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านคลองอาราง” ต้นแบบสำคัญที่นายก อบต.บ้านแก้งได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้เป็นต้นแบบในการยกระดับ

๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ คณะ นนส. หรือทีม “นักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและสังคมสุขภาวะ” หรือที่เรียกสั้นๆชาว “นักสานพลัง” ซึ่งมาจากทีมงานเลขานุการกิจของคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดจากทุกภาคของประเทศไทย กว่า ๓๐ คน ได้เดินทางมาถึงที่บ้านคลองอาราง หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับหมู่บ้านขึ้นมา

“พัฒนา พรมเผ่า” ผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองอาราง ฉายภาพเริ่มต้นให้เห็นถึงที่มาที่ไปอย่างชัดเจนว่า

“ช่วงต้นปี ๒๕๕๕ สังเกตเห็นลูกบ้านเกิดล้มเจ็บและตายกันมาก จึงนั่งคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา พอดีได้มีโอกาสรับรู้จากเวทีสาธารณะในตอนที่ไปประชุมกับทาง สสจ. ว่ามีหลายตำบลมีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพชุมชนกัน เลยไปหาวีซีดีมานั่งดู จึงเกิดแนวคิดอยากทำธรรมนูญสุขภาพระดับหมู่บ้านบ้าง

จึงปรึกษากับทางแกนนำในหมู่บ้าน ทุกฝ่ายเห็นด้วย จึงเริ่มดำเนินการ

มีการลงไปจัดเวทีในหมู่บ้าน รวม ๖ ครั้ง แต่ละครั้งจะใช้เวลาช่วงค่ำ ๆ หลังชาวบ้านเสร็จภารกิจจากงานประจำแล้ว ในแต่ละเวทีจะสอบถามชาวบ้านว่า ต้องการอะไรบ้าง แล้วนำกลับมาจัดกลุ่มแบ่งหมวดหมู่

ในช่วงแรกก็ไม่ค่อยมีงบประมาณ ก็ตัดต้นยูคาลิปตัสขาย ได้เงินมาเป็นค่าน้ำ ค่าน้ำมัน บางเวทีชาวบ้านก็จัดหาน้ำ หุงข้าวมาสมทบ

มีชาวบ้านคนหนึ่งลุกขึ้นถามว่าเอาจริงหรือ ทำให้ผมเดินหน้าแบบตั้งใจว่าต้องทำให้สำเร็จ”

จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๕ “ธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านคลองอาราง” จึงได้ถูกประกาศใช้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเดินทางมาร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดนี้ด้วย

ในเวทีวันนั้นลูกบ้านจากทุกหลังคาเรือนต่างได้กล่าวสัจจะวาจาร่วมกันว่า “จะร่วมมือกันปฏิบัติตามธรรมนูญสุขภาพหมู่บ้านฉบับนี้อย่างเต็มกำลัง”

ผมเปิดเอกสารปกสีเขียวเล่มเล็กที่ได้รับมอบจากเจ้าของพื้นที่ มีข้อความปรากฏอยู่บนปกว่า “ธรรมนูญสุขภาพบ้านคลองอาราง หมู่บ้านน่าอยู่ด้วยกระบวนการและการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน (ฉบับที่ ๑) พ.ศ. ๒๕๕๕”

สาระสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ มีทั้งหมด ๑๒ หมวด รวม ๑๑๓ ข้อ จำแนกเป็น

หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปรัชญาแนวคิด
หมวดที่ ๒ ว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดี
หมวดที่ ๓ ว่าด้วยสังคมดี
หมวดที่ ๔ ว่าด้วยการป้องกันควบคุมและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
หมวดที่ ๕ ว่าด้วยการศึกษาดี คนในหมู่บ้านมีการศึกษา/การเรียนรู้ที่เหมาะสม
หมวดที่ ๖ ว่าด้วยเศรษฐกิจดี คนในหมู่บ้านมีงานทำ มีรายได้ มีเงินออม
หมวดที่ ๗ ว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น
หมวดที่ ๘ ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและสิทธิต่าง ๆ
หมวดที่ ๙ ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนเข้มแข็ง
หมวดที่ ๑๐ ว่าด้วยสุขภาพดี อนามัยดี
หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยการจัดการระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ต่อสุขภาพชาวบ้านคลองอาราง
หมวดที่ ๑๒ ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพบ้านคลองอาราง

“ผู้ใหญ่พัฒนา” เล่าให้คณะที่มาดูงานฟังต่อว่า ทั้ง ๑๒ หมวด จะมีการแต่งตั้งให้มีคนรับผิดชอบในการขับเคลื่อน ติดตามและรายงานให้ที่ประชุมกรรมการหมู่บ้านฟังทุกเดือน

“ไม่น่าเชื่อว่า ภายหลังจากการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพไป ปรากฏว่าหวยหุ้นที่เคยเล่นกันเกือบทุกบ้านทุกวัน หายไปจากหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านกลัวจะผิดสัญญาที่ตนเองให้สัญญาไว้”

“มีวันหนึ่งที่มีชาวบ้านคนหนึ่งไปซื้อโต๊ะสนุกเกอร์มาจากในเมือง จะเอามาติดตั้งในหมู่บ้าน แต่พอรถมาส่งเพื่อนบ้านเห็นเข้าเลยมาทักท้วงว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับธรรมนูญสุขภาพ ชาวบ้านคนนั้นเลยต้องขนโต๊ะสนุกเกอร์ออกจากหมู่บ้านไป”


“ตอนแรก ๆ ก็จะมีชาวบ้านเข้าร่วมไม่มาก เราใช้วิธีประกาศรายชื่อคนที่เข้าร่วมในที่ต่าง ๆ คนที่ไม่เข้าร่วมมาเห็นเข้าก็เกิดความละอายจะทยอยมาเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางหมู่บ้านจัดเพิ่มขึ้น ๆ”

ไม่ต่างจากที่ “สุริยา อร่ามเรือง” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าถึงรูปธรรมชัดเจนที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า

“วันนั้นผมกลับไปถึงบ้าน ลูกชายมาขอร้องให้เลิกสูบบุหรี่ นึกไปถึงว่าได้ให้คำสัญญาว่าจะปฏิบัติตามธรรมนูญสุขภาพในวันประกาศใช้ จึงตอบตกลง ลูกขอเอาด้ายขาวมาผูกข้อมือ แม่และเมียนั่งอยู่ข้าง ๆ เห็นเข้า เลยขอผูกด้ายที่มือด้วย

คืนนั้นเข้านอน นึกอยากบุหรี่ขึ้นมา เลยมุดออกมาจากมุ้ง เปิดไฟตั้งใจจะหยิบบุหรี่ที่ติดกระเป๋ามาสูบ หันไปเห็นด้ายที่ข้อมือ จึงคิดถึงคำสัญญาที่ให้ไว้กับลูก แม่และเมีย เลยปิดไฟแล้วมุดมุ้งเข้าไปนอนต่อ ตั้งแต่นั้นมา ผมเลิกบุหรี่เด็ดขาด ตอนนี้ผมอ้วนขึ้น หล่อขึ้น”

ผมลองไล่เรียงสาระไปทีละข้อจนครบทั้ง ๑๑๓ ข้อ สามารถจำแนกได้เป็น ๔ ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ ๑ เป็นหลักการสำคัญ ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อที่ ๕ ที่ระบุว่า ชาวบ้านคลองอาราง ร่วมสร้างความสุขทางกาย จิต สังคม ปัญญาและสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงตนเอง ครอบครัว ชุมชนเพื่อมุ่งสู่หมู่บ้านแห่งสุขภาวะที่น่าอยู่แบบมีส่วนร่วมจากความเข้าใจ ความสามัคคีด้วยวิถีประชาธิปไตย จรรโลงเอกลักษณ์มรดกทางวัฒนธรรม รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ลักษณะที่ ๒ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ชาวบ้านคลองอารางถือปฏิบัติ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของธรรมนูญฉบับนี้ อาทิ
ข้อ ๑๑ ชาวบ้านคลองอารางควรใช้คำพูดที่มีความสุภาพเรียบร้อย มีสัมมาคารวะ ถนอมน้ำใจซึ่งกันและกัน
ข้อ ๒๑ ชาวบ้านคลองอารางทุกคน ร่วมโครงการลด ละ เลิกการพนัน เหล้า บุหรี่และอบายมุขทุกชนิด
ข้อ ๔๐ ชาวบ้านคลองอารางมีหน้าที่ลดการใช้สารเคมีในการดำรงชีวิต

ลักษณะที่ ๓ เป็นกรอบการทำงานของหมู่บ้านหรือองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ
ข้อ ๑๗ ส่งเสริมสนับสนุนร่วมกันสร้างร่วมกันพัฒนาอาสาสมัครในการดูแลเด็ก คนพิการ คนชราและผู้ด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้ และสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
ข้อ ๒๓ หมู่บ้านต้องมีมาตรการทางสังคมในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหมู่บ้าน
ข้อ ๙๑ ให้กองทุนสุขภาพและกองทุนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล ท้องถิ่นใช้ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้เป็นแผนแม่บทในการดำเนินกิจกรรมหมู่บ้าน

ลักษณะที่ ๔
เป็นกรอบกำหนดกระบวนการทำงานของชาวบ้านและองค์กรต่างๆในพื้นที่ อาทิ
ข้อ ๔๕ จัดให้มีสมัชชาสุขภาพอย่างน้อยปีละ ๑ – ๒ ครั้ง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณ
ข้อ ๙๘ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมัชชาสุขภาพร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนติดตามและนำมติสมัชชาสุขภาพสู่การปฏิบัติในพื้นที่ของตน
ข้อ ๑๐๑ จัดให้มีประชาเสวนาในหมู่บ้าน ๓ เดือนครั้ง

“ธรรมนูญสุขภาพจึงคือธรรมนูญชีวิต เป็นเสมือนศีลที่คนบ้านคลองอารางถือปฏิบัติ” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสุริยา ปิดท้ายสรุปด้วยการให้ความหมายธรรมนูญสุขภาพที่ลึกซึ้งยิ่งนัก

ก่อนเดินทางกลับ ผมอดไม่ได้ที่จะเหลือบสายตาไปมองโล่และถ้วยเกียรติยศที่วางเรียงซ้อนเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ กะขนาดด้วยสายตาไม่น้อยกว่า ๒๐ ชิ้น บ่งบอกถึงผลงานการพัฒนาด้านต่างๆจนเป็นที่ยอมรับจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆได้เป็นอย่างดี เครื่องการันตรีสำคัญ คือ แทบทุกสัปดาห์จะมีรถบัสขนาดใหญ่พาคณะดูงานจากพื้นที่ต่างๆเข้าออกหมู่บ้านไม่ขาดสาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น