๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗
ทุกๆ เดือนผมต้องไปพบหมอประจำตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อรักษาโรคไซนัสเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง (ผลจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วัยหนุ่ม) เดือนที่แล้วหมอได้แนะนำให้ลดการดื่มเบียร์เพื่อให้ลดอาการจมูกบวมให้น้อยลง พอมาเดือนนี้ระหว่างตรวจรักษา อาการจมูกบวมยังปรากฏเช่นเดิมและดูราวจะมากขึ้น ทำให้ผมจึงโดนหมอดุไปตามระเบียบ
พอนึกถึงอาการของตนเอง เลยเข้าใจได้ดีเลยว่าทำไมจึงจำเป็นต้องรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิด “นักดื่มหน้าใหม่” เพราะเมื่อเด็กหรือเยาวชนสักคนลองดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งแรกโดยเฉพาะยิ่งอายุน้อยเท่าใด โอกาสที่จะติดอย่างต่อเนื่องมายังวัยผู้ใหญ่ก็จะมีสัดส่วนที่สูงทีเดียว
ถ้ายังจำกันได้เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว มีข่าวครึกโครมกรณี “ทายาทกระทิงแดงเมาแล้วขับจนชนตำรวจ สน.ทองหล่อ จนเสียชีวิต” ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับเกินกว่า ๖๔ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเกินกว่ากฎหมายของการขับขี่รถยนต์ได้กำหนดไว้
ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” สามารถสร้างให้เกิดปัญหาสังคมที่ร้ายแรงยิ่งนัก ก่อให้เกิดโรคภัยกว่า ๖๐ ชนิด จนคร่าชีวิตประชากรโลกปีละกว่า ๓.๓ ล้านคน นอกจากส่งผลต่อปัญหาสุขภาพแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ส่งผลถึงศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาของสังคมโดยรวมอีกด้วย
มีข้อมูลในระดับประเทศไทยที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ดังนี้
• มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดมูลค่าสูงถึง ๑.๕๑ คิดเป็นร้อยละ ๑.๙๗ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
• ปริมาณการบริโภค เพิ่มขึ้นจาก ๓๗ ลิตรเครื่องแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปี ในปี ๒๕๔๐ เป็น ๕๒ ลิตรเครื่องแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปี ในปี ๒๕๕๔ หรือคิดเป็น ๗.๑ ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่อคนต่อปี ซึ่งเทียบได้กับการดื่มเบียร์ประมาณ ๒๒๖ ขวดใหญ่ต่อปี หรือ ๑๙ ขวดต่อเดือน หรือเทียบได้กับการดื่มสุราสีประมาณ ๒๕ ขวดกลมต่อปี หรือประมาณ ๒ ขวดกลมต่อเดือน
• คนไทยที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ ๑๗ ล้านคน หรือร้อยละ ๓๑.๕ ของคนวัยนี้ทั้งหมด
• อายุเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มดื่มสุราอยู่ที่ ๒๐.๓ ปี โดยผู้ชายเริ่มดื่มอายุเฉลี่ย ๑๙.๔ ปี และผู้หญิง อายุเฉลี่ย ๒๔.๖ ปี โดยผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิงประมาณ ๕ เท่า
• สังคมไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณปีละ ๒.๕ แสนคน สัดส่วนนักดื่มในกลุ่มประชากรที่เคยมีความชุกของผู้บริโภคในระดับต่ำ อย่างเช่น ประชากรเพศหญิง กลุ่มเยาวชน และ ประชากรอายุน้อย ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ เพิ่มขึ้นชัดเจน ในขณะที่ความชุกของผู้บริโภคในประชากรสูงอายุมีแนวโน้มลดลง
• การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น สัดส่วนนักดื่มที่บริโภคเป็นประจำ โดยเฉพาะที่บริโภคทุกวันเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันสัดส่วนผู้บริโภคประเภทนานๆ ครั้งกลับลดลง สัดส่วนของผู้บริโภคเป็นประจำเพิ่มจากร้อยละ ๓๗.๑ ในปี ๒๕๓๙ เป็น ร้อยละ ๔๔.๒ ในปี ๒๕๕๔
• ในการดื่มแต่ละครั้ง นักดื่มไทยมีรูปแบบการบริโภคที่มีความเสี่ยงสูง โดยเพศชายบริโภคแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ๘๕.๗๒ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่ม และ ๕๑.๙๙ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่มในเพศหญิง ในขณะที่นักดื่มเยาวชน (อายุ ๑๒ – ๑๙ ปี) เพศชายมีปริมาณการบริโภคสูงถึง ๑๑๘.๓๕ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่ม และ ๖๑.๙๕ กรัมต่อหนึ่งครั้งการดื่มในเพศหญิง ซึ่งล้วนจัดเป็นการดื่มแบบอันตรายและการดื่มจนมึนเมา
• มีคนไทยเฉลี่ยตาย ๑ คนในทุก ๒๐ นาที
จากสถานการณ์ที่รุนแรงข้างต้น ทำให้ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๕๒ จึงได้มีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง และได้มีฉันทมติว่าด้วยเรื่อง “ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ” และในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบ “แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ” ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ในเวลาต่อมา
ข้อเรียกร้องประการหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือ ต้องการเห็นทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้เห็นความสำคัญในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
เพราะพบว่า
• มีความชุกของการดื่ม ร้อยละ ๒๓.๕ ซึ่งมีความชุกของการดื่มน้อยกว่าภาพรวมของประเทศ
• มีสัดส่วนการดื่มประจำ ร้อยละ ๔๘.๗ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของประเทศ
• มีกลุ่มผู้ที่ดื่มเบียร์ทุกวันสูงที่สุดในประเทศ ในอัตราร้อยละ ๑๕.๑
• มีสัดส่วนของผู้ที่ดื่มหนักหรือการดื่มหัวราน้ำเป็นประจำ ร้อยละ ๑๒.๔ ซึ่งเป็นการดื่มจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม
ทั้งนี้การจัดการปัญหาดังกล่าวนี้ไม่สามารถจะดำเนินการได้โดยส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งได้เพียงลำพัง ทำให้จึงมีการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๗ – ๒๕๕๙” ขึ้นมา โดยมีสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งเห็นความตั้งใจและมุ่งมั่นของผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคีที่ได้แสดงออกมาในเวทีทั้ง ๓ ครั้ง
กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการมีส่วนร่วม” จึงได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคีที่ทำงานด้านนี้มาประชุมร่วมกัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ณ โรงแรมปริ๊นตัน พาเลช กรุงเทพมหานคร
ผู้เข้าประชุมเกือบ ๑๐๐ คน ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระยะ ๓ ปี และระดมสมองวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็นโอกาสและภัยคุกคามทั้งทางด้านการเมือง สังคม สภาพแวดล้อม และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ปัจจัยภายในทั้งที่เป็นจุดแข็ง จุดอ่อนต่อการดำเนินงาน รวมทั้งการออกแบบกำหนดมาตรการสำคัญเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน
การจัดเวทีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่โรงแรมปริ๊นตัน พาเลช กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ยกร่างจากข้อมูลที่ได้จากเวทีครั้งแรก
และล่าสุดเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ โดยขยายวงเชิญหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายภาคี กว่า ๑๒๐ คน ซึ่งผู้เข้าประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า
(๑) เป้าหมายที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ภายใน ๓ ปี คือ “กรุงเทพเป็นมหานครแห่งความสุข ทุกฝ่ายร่วมใจขจัดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
(๒) เป้าหมายเพื่อมุ่งสู่สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี มี ๔ เป้าหมาย คือ
เป้าหมายที่ ๑ : ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของสังคม
เป้าหมายที่ ๒ : ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมความชุกของผู้บริโภค
เป้าหมายที่ ๓ : ลดความเสี่ยงของการบริโภค ทั้งในมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบของการบริโภค และพฤติกรรมหลังการบริโภค
เป้าหมายที่ ๔ : จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค
๓) แผนงานและมาตรการสำคัญ มี ๕ แผนงาน คือ
แผนงานที่ ๑ : ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของสังคม โดยมีมาตรการที่สำคัญ คือ
o มีการจัดชุดตรวจปฏิบัติการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการบังคับใช้และลงโทษอย่างจริงจัง
o สร้างแกนนำในชุมชน สถานประกอบการ สถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังและเป็นเครือข่ายควบคุมป้องกันปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
o เปิดช่องทางการรับแจ้งเหตุการณ์กระทำผิดกฎหมายและประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับแจ้งเหตุ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์เรื่องรางวัลสินบนนำจับให้กับผู้แจ้งเหตุการณ์ เพื่อจูงใจให้เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง
o ศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้ กทม. ออกใบอนุญาตและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นได้เอง
o ศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดความเหมาะสมของความหนาแน่นของจุดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านประเภทขายส่ง ให้งดขายในช่วงเวลาห้ามขายเช่นเดียวกับร้านค้าประเภทอื่น ๆ
แผนงานที่ 2: แผนงานป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และควบคุมความชุกของผู้บริโภค มีมาตรการที่สำคัญ คือ
o พัฒนาระบบเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาและสื่อการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีส่วนร่วม
o ป้องกัน แก้ไข และบังคับใช้กฎหมายด้านการโฆษณาและสื่อการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย เช่น ป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายบิลบอร์ดอิเลคทรอนิคส์ ป้ายไฟหน้าสถานประกอบการ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตป้ายโฆษณาในครั้งต่อไป
สร้างและพัฒนาต้นแบบทั้งระดับองค์กรและระดับบุคคล เช่น เยาวชน แกนนำชุมชน ผู้บริหารและประชาชนทั่วไป เป็นต้น
o มีการจัดกิจกรรมค่ายอาสาหน้าใหม่ไร้แอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง
o ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานใน กทม. ให้งดเว้นการรับการสนับสนุนการโฆษณาประชา สัมพันธ์ทั้งโดยตรงและแฝงในรูปแบบต่างๆ จากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
o ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดพื้นที่โซนนิ่งขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน กทม. เช่น ห่างจากสถานศึกษา ๓๐๐เมตร หรือจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามวันเวลาที่กำหนด
แผนงานที่ 3: แผนงานลดความเสี่ยงของการบริโภค มีมาตรการที่สำคัญ คือ
o ส่งเสริม สนับสนุนการการมีส่วนร่วมของชุมชนในเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมาย ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขอความร่วมมือในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในพื้นที่
o จัดทำฐานข้อมูลการที่เกี่ยวกับการดำเนินงานควบคุมแอลกอฮอล์ทั้งในระดับเขต และระดับ กทม. เช่น การดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
o บูรณาการความร่วมมือเพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงเทศกาลสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
o จัดชุดตรวจแบบบูรณาการในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทั้ง ๕๐ เขต ทั้งในช่วงปกติและในช่วงเทศกาล
o สนับสนุนการสร้างชุมชนต้นแบบไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเติมจากวันที่กฎหมายได้กำหนดไว้ เช่น ทุกวันพระ วันสำคัญทางศาสนาร่วมไปกับการสร้างแกนนำชุมชนต่อต้านแอลกอฮอล์
o ผลักดันให้มีสถานประกอบการปลอดแอลกอฮอล์ โดยขอความร่วมมือให้สถานประกอบการปลอดแอลกอฮอล์ เช่น กำหนดเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการต่อใบอนุญาตสถานประกอบการ ยกเว้นสถานประกอบ การที่ผลิต จำหน่าย นำเข้าแอลกอฮอล์ ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
แผนงานที่ 4: แผนงานจำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค มีมาตรการที่สำคัญ คือ
o สนับสนุนให้มีชุมชนลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตัวอย่างกระจายไปทั่วทุกเขต
o พัฒนาระบบสำรวจและคัดกรอง และส่งต่อบุคคลเพื่อเข้ารับการบำบัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางการเข้ารับบริการ และพัฒนาระบบและกลไกในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ที่เคยประสบปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านการบำบัดรักษา เพื่อป้องกันการกลับมาติดซ้ำ
o ช่วยเหลือและดูแลรักษาผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
o สร้างความร่วมมือในการดำเนินงานและปฏิบัติตามกฎหมายกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ โดยมีการนำมาตรการทางสังคมมาร่วมกับการบังคับใช้ทางกฎหมายด้วยช่องทางและวิธีการต่าง ๆ ที่หลากหลาย
o เพิ่มพื้นที่และองค์กรสีขาวในแต่ละเขต
o ส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัวด้วยค่ายครอบครัวอบอุ่น
แผนงานที่ 5 แผนงานสื่อสารสาธารณะและบริหารจัดการ มีมาตรการสำคัญ คือ
o รณรงค์ และประชาสัมพันธ์ อย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย เกี่ยวกับ ความรู้ด้านพิษภัย โทษและผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
o พัฒนาระบบติดตามประเมินผลแบบบูรณาการ
o จัดให้มีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคที่เกี่ยวข้องอย่างประจำและต่อเนื่อง
o จัดให้มีกลไกระดับคณะทำงานระดับเขตแบบบูรณาการ
o พัฒนาระบบสารสนเทศในการติดตามผลการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน กทม.
นอกจากนั้นยังมีการกำหนดค่าเป้าหมายของแต่ละมาตรการและกิจกรรม รวมทั้งหน่วยงาน องค์กรหลักและสนับสนุนไว้อย่างชัดเจน
จากแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ผมเชื่อว่าหาก “พวกเรา” มีความร่วมมือกันอย่างจริงจัง มีการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมครั้งนี้ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตกรุงเทพมหานครก็จะค่อยๆน้อยลงตามลำดับ และกรุงเทพมหานครก็จะเป็น “มหานครแห่งความสุข” ตามที่ทุกคนตั้งเป้าหมายไว้ในที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น