วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

จดหมายถึงเพื่อน (ฉบับที่ ๗)

๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗

บุญส่ง เพื่อนรัก

สี่เดือนกว่าแล้วสินะที่เราไม่ได้เขียนจดหมายมาบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยให้กับนายรับรู้ คงเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมา เรามัวยุ่งกับงานที่ต้องรับผิดชอบนะ

จดหมายฉบับท้ายสุด เราเขียนมาบอกให้นายรู้ว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ภายใต้การนำของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ทำการควบคุมอำนาจการปกครอง ในช่วงเย็นของวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องสิ้นสุดอำนาจลง

หลังจากนั้นประเทศไทยก็อยู่ภายใต้การบริหารของ คสช. โดยได้มีการประกาศ “กฎอัยการศึก” ออกมาควบคุมสถานการณ์ จัดระเบียบการบ้านการเมือง และรักษาความสงบเรียบร้อยของชาติ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่

มีการประกาศโรดแมปการทำงาน ว่าจะดำเนินการใน ๓ ระยะ คือ

ระยะที่ ๑ เป็นช่วงแรกของการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ งานสำคัญคือการดำเนินการในเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ ให้เร็วที่สุด มีการจัดตั้งศูนย์การปรองดองสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปทั้งในส่วนกลาง เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวนา การคลี่คลายเหตุด่วนเหตุร้ายต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมการเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจนการประกาศให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทดแทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ คสช. ประกาศยกเลิกไป

ระยะที่ ๒ เป็นช่วงที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สรรหานายกรัฐมนตรี ตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อบริหารราชการ ร่าง/จัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อปฏิรูปแก้ไขในทุกเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องการ และเป็นที่ยอมรับ โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ ๑ ปี

ระยะที่ ๓ เป็นช่วงที่จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่ทุกคนทุกพวกทุกฝ่ายพอใจ ด้วยกฎหมายที่ทันสมัยในทุกด้าน รวมทั้งกฎระเบียบ กติกาต่างๆ ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ได้คนดี สุจริต มีคุณธรรม มาปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมาภิบาล

จนถึงวันนี้

ประเทศไทยเรามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ เรียบร้อยแล้ว

มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มี “พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี

มีการจัดตั้ง สนช. ได้ “ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย” มานั่งเป็นประธาน มีสมาชิกจำนวน ๒๐๐ คน มาจากการคัดเลือกโดย คสช.

มีการจัดตั้ง สปช. ที่มีสมาชิก จาก ๑๑ สาขา รวม ๒๕๐ คน มาจากการเลือกโดย คสช. จากผู้สมัครจากทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่งประกาศรายชื่อผู้ที่เป็น สปช. ไปเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา เราอยากจะเล่าเรื่องสำคัญให้นายฟังสัก ๒ เรื่อง

เรื่องแรก คือเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถาวรฉบับใหม่ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสมาชิก ๓๕ คน โดย ๒๐ คนมาจาก สปช. ๕ คน มาจาก สนช. ๕ คน มาจากคณะรัฐมนตรี และอีก ๕ คนมาจาก คสช. ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะไปทำการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ ภายใน ๑๒๐ วัน แล้วนำมาเสนอต่อ สปช. ให้ความเห็นชอบก่อนทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ สปช. ที่จะต้องทำการศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ รวม ๑๑ ด้าน คือ (๑) การเมือง (๒) การบริหารราชการแผ่นดิน (๓) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (๔) การปกครองท้องถิ่น (๕) การศึกษา (๖) เศรษฐกิจ (๗) พลังงาน (๘) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (๙) สื่อสารมวลชน (๑๐) สังคม และ (๑๑) อื่น ๆ”

เราเข้าใจว่าคงมีการตั้งกรรมาธิการใน สปช. ตามประเด็นปฏิรูปทั้ง ๑๑ เรื่องดังกล่าว เพื่อทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเสนอต่อ สนช.ต่อไป

เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยนี้ ต้องบอกตรง ๆ ว่า ทำกันมานาน อย่างเช่นในช่วงปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๕ ในสมัยรัฐบาลของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูปเป็นการเฉพาะ มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ขึ้นมาเป็นกลไกจัดทำข้อเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ

เราเองก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัด “สมัชชาปฏิรูป” ที่มีการจัดไป ๓ ครั้ง มีข้อเสนอที่มุ่งเป้าไปที่ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม” หลายเรื่อง ทั้งเรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการภาครัฐ การเมืองการปกครอง การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น การแก้ไขปัญหาสังคมทั้งเรื่องแรงงาน ผู้สูงอายุ การสื่อสารสาธารณะ การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปพลังงาน เป็นต้น

ซึ่งหาก สปช. ที่เกิดขึ้นนำข้อมูลจากสมัชชาปฏิรูปทั้ง ๓ ครั้ง ไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปครั้งใหม่นี้ก็จะเป็นประโยชน์ คุ้มค่ากับการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาได้

ในความคิดของเรานั้น ต้องบอกว่าฐานคิดสำคัญที่เรายังคงยึดมั่นมาโดยตลอด นั่นก็คือ การปกครองใน “ระบอบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เฉกเช่นเดิม แต่ก็ยอมรับกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอยู่ในขณะนี้ เพราะเหตุมาจากบ้านเมืองเราเหมือนเจอทางตัน ไม่รู้จะเดินไปทางไหน

จึงคิดว่า ช่วงของการเว้นวรรคในระยะปีกว่า ๆ นี้ ทั้ง คสช. รัฐบาล สนช. และ สปช. จะรีบเร่งจัดการแก้ไขชำระสะสางปัญหาที่หมักหมมเป็นตะกอนกัดกินผืนแผ่นดินไทย และช่วยกันกำหนดกรอบกติกา และพิมพ์เขียวประเทศไทยที่ตั้งมั่นบนฐานคิด “ประชาธิปไตย” ที่แท้จริงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

เพื่อเราจะก้าวเดินไปตามโรดแมประยะที่ ๓ ตามที่ คสช. ได้กำหนดไว้ด้วยกันบนกติกาใหม่ที่นำไปสู่ความสุขของคนในชาติร่วมกัน

เราก็คงขอให้นายช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่เราคิดเป็นจริงด้วยนะเพื่อน

คิดถึงเพื่อนเสมอ

เราเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น