วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

๔๑ ปี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ : มองผ่านธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง

๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๗

“ความหวังยังไป่สิ้น สูญสลาย
ตราบเท่าแสงสูรย์พราย พร่างฟ้า
คนจักยืนหยัดหมาย มือมั่นเสมอฮา
จักเสกความหวังจ้า แจ่มให้ เป็นจริง”

วันนี้เป็น “วันประชาธิปไตย” ของประเทศไทย วันที่ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ “วันมหาวิปโยค” ของคนไทย ซึ่งนับล่วงมาถึง ๔๑ ปีบริบูรณ์

หากย้อนกลับไปในเหตุการณ์วันนั้น ผมเพิ่งจะผ่านวัย ๑๒ ปีมาเพียงไม่กี่เดือน แต่มาวันนี้ ผมมีอายุล่วงมาถึงวัย ๕๐ กว่า อดรู้สึกไม่ได้ว่าวันที่ ๑๔ ตุลาคม เมื่อ ๔๑ ปีก่อน เป็นวันที่สำคัญยิ่งนักกับประเทศชาติ

เป็นวันที่ถือเป็นสัญญะของความต้องการของชนในชาติ ว่าประเทศไทยต้องการการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย”

วันที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนับแสนคน เดินขบวนเรียกต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลคณาธิปไตย

มีการเคลื่อนไหวขับไล่กลุ่มเผด็จการทรราชออกจากอำนาจที่ยึดครองมาหลายสมัย รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปลดปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง ๑๓ คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหากระทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

รัฐบาลได้ออกปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ โดยทหารและตำรวจได้ใช้อาวุธ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามใหญ่โต เมื่อประชาชนที่โกรธแค้นต่างร่วมมือกันต่อสู้ และบางส่วนได้เผาทำลายอาคารสถานที่และยานพาหนะของทางราชการ แต่ด้วยพระบารมีขององค์ในหลวงของปวงชนชาวไทยทรงเข้ามาแก้ปัญหา เหตุการณ์จึงสงบ

ในที่สุดนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศ

มีการโปรดเกล้าฯ ให้ "นายสัญญา ธรรมศักดิ์" องคมนตรีในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูระเบียบของบ้านเมือง เพื่อประสานสามัคคีให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และมีการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมในการปกครองประเทศ และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม ๒๕๑๗

กล่าวได้ว่า ๑๔ ตุลาคม จึงนับเป็นวันสำคัญทางการเมือง ที่ทำให้ประชาชน คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเส้นทางการเมืองในอดีตของประเทศไทยที่กว่าจะมาถึงในวันนี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยได้ถากถางเส้นทางมาอย่างยากลำบากและทุรกันดารเพียงใด

๔๑ ปีผ่านไป บางคนบอกว่าประเทศไทยเดินหน้าไปไม่กี่ก้าว ประชาธิปไตยมีอาการสะดุดและล้มลุกคลุกคลานอยู่บ่อยครั้ง

รัฐธรรมนูญที่บอกว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุดถูกฉีกทิ้งมานับไม่ถ้วน “ฉีกแล้วสร้าง” และ “สร้างแล้วฉีก” วนเวียนกันมาแบบนี้จนเสมือนเป็นวัฎจักรปกติของคนไทยไปแล้ว

ไม่ต่างจากเมื่อ ๔ เดือนก่อน ที่ก็เพิ่งมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีประชามติเห็นชอบให้ประกาศใช้เมื่อปี ๒๕๕๐ และเมื่อฉีกไปแล้วก็กำลังมีการสร้างกลไกและกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาประกาศใช้ในอนาคตอีกครั้ง โดยหวังว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา ซึ่งผมก็อดคิดไม่ได้ว่าความคิดนี้คงจะเหมือนเมื่อครั้งยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกฉีกทิ้งไปหรือไม่ อย่างไร

พลันผมก็นึกถึงบรรยากาศเมื่อวานนี้ (๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๗) ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปที่เทศบาลตำบลริมปิง จังหวัดลำพูน เพื่อไปเรียนรู้เรื่องราวของการพัฒนา “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ผ่าน “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ที่มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓

คนในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า กว่าจะออกมาเป็น “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ที่มีเพียง ๑๒ หมวด ๕๗ ข้อ ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่บ้านในตำบลเข้ามามีส่วนปรับแก้ ต่อเติมเสริมแต่งจนคนริมปิงเห็นชอบร่วมกัน เกิดความเป็นเจ้าของธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ แล้วจึงมีการประกาศใช้

สาระสำคัญข้อหนึ่งที่บัญญัติไว้และผมเห็นว่าน่าสนใจยิ่งนัก คือ “โดยมาตรฐานทั่วไปของคนตำบลริมปิง ควรรักษาศีล ๕ ให้เป็นปกติหรือตามหลักคำสอนของศาสนาที่ตนเองนับถือ”

ความคิดแวบหนึ่งฉายชัดขึ้นมาทันทีว่า “ศีล ๕” นี้เองที่จะสามารถนำพาชุมชนและสังคมไทยให้มีความสุขคืนมาได้ ดังจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการ “หมู่บ้านศีล ๕” ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

แต่นั้นเองข้อความที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ๆ แบบนี้คงจะไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สปช. และ สนช. กำลังดำเนินการอยู่ ภาษารัฐธรรมนูญกลายเป็นภาษาที่ต้องปีนบันไดอ่านและคนตัวเล็กตัวน้อยก็หยิบมาอ่านแบบไม่มีโอกาสเข้าใจและได้ซักถามให้เกิดความกระจ่างเหมือน “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ฉบับนี้

อย่างไรก็ตามในวาระที่วันนี้คือ “วันประชาธิปไตย” วันที่ประเทศไทยได้เดินผ่านเหตุการณ์วันนั้นมา ๔๑ ปีแล้ว ประจวบเหมาะกับที่ประเทศไทยเรากำลังมีการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ขึ้นมาใช้

ผมคงทำได้แค่เพียงส่งเสียงเล็กๆให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ พึงขอให้ยึดหลักการ “ประชาธิปไตย” ไว้เป็นพื้นฐานของสาระบัญญัติทุกข้อที่จะถูกขีดเขียนไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่นี้

และแอบหวังอีกว่าอยากเห็น “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่นี้มีกระบวนการสร้าง “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่เปิดกว้างให้คนบนผืนแผ่นดินไทยเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ เฉกเช่นตัวอย่างที่ “คนตำบลริมปิง” ทำ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลริมปิง” ขึ้นมาและทุกคนก็รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น