วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

“เวิลด์คาเฟ่” เครื่องมือเสริมสร้างกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ”

๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๗

หากพลิกกลับไปดูคำนิยามของคำว่า “สมัชชาสุขภาพ” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้วจะพบว่าเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์” ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปถึงเจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องลึกของกระบวนการดังกล่าวคงหนีไม่พ้นที่ผู้ร่างกฎหมายได้ให้ความสำคัญกับ “พลังของการสนทนา” เป็นที่สุด

มีนักวิชาการที่ให้คุณค่ากับ “พลังของการสนทนา” ไว้อย่างหลากหลาย ซึ่งผมขอยกตัวอย่างมาสัก ๕ คน ดังนี้

"เฟรด คอฟมาน และปีเตอร์ เซงเก" กล่าวไว้ว่า “องค์กรที่เรียนรู้อย่างแท้จริงคือพื้นที่สำหรับการสนทนาที่สร้างสรรค์และการปฏิบัติที่ร่วมกัน ที่เกิดเป็นความตกลงร่วมอันมีพลังมหาศาลในการสร้างความเป็นจริงใหม่ ๆ ในการสนทนา และนำความจริงใหม่นี้มาปฏิบัติ”

"วิลเลี่ยม กรีเดอร์" ก็กล่าวไว้ว่า “ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในการสนทนาของมนุษย์ การลงทุนที่ง่ายที่สุดและน่ากลัวน้อยที่สุดที่พลเมืองสามารถทำได้ในการปรับเปลี่ยนประชาธิปไตยคือการเริ่มต้นพูดกับคนอื่น ถามคำถาม และรู้ว่าคำตอบนั้นสำคัญ”

"แกรี่ ฮามมัล" กล่าวไว้เช่นกันว่า “การวางแผนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีขึ้นอยู่กับการสร้างสายใยที่ซับซ้อนและรุ่มรวยของการสนทนาที่ตัดผ่านชุดความรู้ ซึ่งก่อนหน้านี้แยกจากกัน และสร้างการผสมผสานของญาณทัสนะใหม่ ๆ ที่ไม่คาดฝันมาก่อน”

"ลินดา ลอมเบิร์ต" กล่าวในแง่มุมทางการศึกษาไว้ว่า “ในระบบสังคม การสนทนาที่ดีสักครั้งหนึ่งอาจสามารถเปลี่ยนทิศทางของการเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล”

"ทอม แอตลี่" ได้กล่าวไว้ว่า “การสนทนาเป็นหัวใจของการเกิดปัญญาร่วม เราจะสร้างปัญญาระดับสูงในกลุ่มของเราได้ หากได้พูดคุยกันอย่างมีคุณภาพสูงเท่านั้น”

ฉะนั้น ผมจึงนึกชื่นชมเป็นยิ่งนักกับกิจกรรมในเวทีพัฒนาศักยภาพ “นักสานพลัง” ที่จัดขึ้นในช่วงเช้าของ “วันปิยะมหาราช” ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมของโรงแรมเรือโบราณหรือคุ้มหม่อมไฉไล ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ในเขตอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

เพราะ “พีธากร” หนุ่มร่างเล็กท่าทางทะมัดทะแมงหน้าตาคมสัน ทำหน้าที่ “กระบวนกร” และได้ใช้ “เวิลด์คาเฟ่” อันเป็นเทคนิคการประชุมที่ให้ความสำคัญกับ “การสนทนา” มาใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว

“พีธากร” ได้ทำหน้าที่ “กระบวนกร” อย่างมืออาชีพ ผ่านการนำเข้า ตั้งโจทย์ กระตุ้น ย้ำเตือน และสรุปที่กระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น และเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระ

“นักสานพลัง” เกือบ ๕๐ ชีวิตที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศของประเทศต่างแลกเปลี่ยนความคิด มุมมองกันอย่างมีชีวิตชีวา คึกคัก และได้ข้อสรุปที่ลึกซึ้งยิ่งนัก

“สมัชชาสุขภาพ คือ เครื่องมือสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม"

“สมัชชาสุขภาพ คือ ช่างเชื่อม ทั้งเชื่อมคน เชื่อมงาน เชื่อมพลังทางวัฒนธรรม"

“สมัชชาสุขภาพ เป็นการยกระดับจากการทำกิจกรรมมาเป็นเรื่องของนโยบาย ยกระดับจากการทำงานในหมู่พวกพ้องของตนมาเป็นการทำงานในเชิงสาธารณะ"

“สมัชชาสุขภาพ เปรียบเหมือนรถไฟที่แล่นไปตามราง ใครจะขึ้นใครจะลงก็ได้ แต่รถไฟคันนั้นก็จะแล่นไปถึงเป้าหมายในที่สุด"

“สมัชชาสุขภาพ เป็นการทำงานที่เน้น ความสัมพันธ์ จึงต้องมีความพิถีพิถันในการออกแบบ อย่าออกแบบตามประเพณี แต่ต้องออกแบบตลอดเวลา”

นี้คือเสียงบางส่วนที่แล่นเข้าไปในหัวใจของผม ในขณะที่นั่งฟังสมาชิกกลุ่มสนทนากันอย่างออกรส

ย้อนกลับไปในเช้าอรุณรุ่งวันหนึ่งของเดือนมกราคม ๑๙๙๕ ณ บริเวณบ้านหลังหนึ่งใน “มิล วาเล่ย์” รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นวันที่สองของการนัดหมายคนจำนวนสองโหลที่ล้วนเป็นผู้บริหารบริษัท นักวิจัยและที่ปรึกษาจาก ๗ ประเทศ จะมาพบและสนทนากันด้วยเรื่อง “ทุนทางปัญญา”

ผู้รับผิดชอบการประชุม คือ “เดวิด ไอแซคส์” และ “ฆวนนิต้า บราวน์” ค่อนข้างวิตก เพราะในเช้าวันนั้นเกิดฝนตก ทำให้ยังมีผู้ที่ยังเดินทางมาไม่ถึงที่ประชุม

พลันความคิดหนึ่งก็เกิดขึ้นว่า “น่าจะจัดโต๊ะในห้องนั่งเล่น แล้วให้แต่ละคนที่มาถึงดื่มกาแฟไปพลางก่อน” จึงรีบจัดแจงตามความคิดนั้น

ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งเสนอว่า “น่าจะเปลี่ยนผ้าปูโต๊ะ” จึงช่วยกันเอากระดาษขาวมาคลุมโต๊ะ ในขณะที่บางคนนำแจกันดอกไม้มาวางบนโต๊ะ ส่วนอีกคนหนึ่งนึกสนุกจึงเขียนป้ายกระดาษว่า “โฮมสเตคคาเฟ่” ไปติดไว้ที่หน้าร้าน

เมื่อทุกคนมาถึงต่างก็แปลกใจกับบรรยากาศที่จัดเตรียมไว้ ต่างเดินไปหยิบกาแฟแล้วเดินมานั่งตามโต๊ะ ๆ ละ ๔ – ๕ คน ช่วยกันขบคิดถึงคำถามที่ค้างมาจากเมื่อวาน บางคนเริ่มจดอะไรขยิกขยิกบนผ้าปูโต๊ะ ผู้จัดทั้งสองเมื่อเห็นภาพดังนั้น จึงช่วยกันกล่าวกระตุ้นให้ผู้ร่วมวงคิดต่อ

จนสี่สิบห้านาทีผ่านไป ผู้เข้าประชุมคนหนึ่งลุกขึ้นยืนพร้อมกับกล่าวว่า “ผมชอบจังที่ได้เห็นบรรยากาศแบบนี้ แต่อยากรู้จังว่ากลุ่มอื่นคิดอะไรกัน ทำไมเราไม่ปล่อยให้เราเอาเมล็ดพันธุ์ทางความคิดของกลุ่มเราไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นบ้างล่ะ”

ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นข้อเสนอที่ดี จึงดำเนินการตามข้อเสนอนั้น โดยมอบให้สมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่เจ้าบ้านคอยเล่าให้สมาชิกกลุ่มอื่นที่มาใหม่ฟัง

การสนทนารอบนี้ใช้เวลาไปอีกหนึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าทั่วทั้งห้องมีชีวิตชีวา ผู้คนตื่นเต้นและติดพันกับการสนทนาจนแทบไม่หายใจหายคอ จนมีคนหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า “ทำไมไม่ลองเปลี่ยนเจ้าบ้านเป็นคนใหม่ แล้วที่เหลือก็เดินไปแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มอื่นอีกสักรอบล่ะ”

การสนทนาดำเนินต่อไปท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา แต่ในห้องประชุมเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดกัน เกิดรูปภาพ แผนภูมิและตัวอักษรเต็มผ้าปูโต๊ะ จนถึงเวลาใกล้เที่ยง

ผู้จัดทั้งสองเสนอให้แต่ละกลุ่มนำผ้าปูโต๊ะไปวางรวมกันบริเวณพรมตรงกลางห้อง แล้วเชิญชวนให้ผู้เข้าประชุมเลียบเลาะชมสิ่งที่ปรากฏบนผืนผ้าปูโต๊ะนั้น

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาของผู้จัดทั้งสองและผู้เข้าประชุมทั้งห้องเป็นเสมือนมนตราที่ยากจะอธิบายได้ เพราะได้เกิดความคิดใหม่ ได้เห็นความเชื่อมโยงใหม่ ๆ เคล้าผสมเกสรของการหยั่งเห็นอันลึกล้ำที่หลากหลายกันไปมา

นี่คือจุดกำเนิดของเทคนิคการประชุมที่ให้ความสำคัญกับ “การสนทนา” ภายใต้ชื่อว่า “เวิลด์คาเฟ่”

นับตั้งแต่นั่นเป็นต้นมา “เวิลด์คาเฟ่” ก็ได้ถูกพัฒนากันมาตลอดเกือบ ๒๐ ปี มีการนำไปใช้สำหรับการประชุมในห้องโถงโรงแรมที่แน่นขนัด จุคนได้มากกว่าพันคน ไปจนถึงห้องนั่งเล่นที่เป็นกันเองมีผู้คนร่วมวงไม่ถึงสิบคนก็มี ทั้งในวงของนักธุรกิจ รัฐบาล สุขภาพอนามัย การศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน หรือในชุมชน อย่างกว้างขวาง

มีการสรุปเป็นหลักการสำคัญของ “เวิลด์คาเฟ่” ไว้ ๗ ประการ คือ

หนึ่ง : กำหนดบริบท การทำเป้าหมายให้กระจ่างชัด และปัจจัยหรือสถานการณ์กว้าง ๆ ที่ช่วยให้การสนทนาสามารถเกิดและพัฒนาขึ้นได้

สอง : สร้างพื้นที่แห่งมิตรไมตรี ต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมมีความเป็นมิตร ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัย และมีความนับถือซึ่งกันและกัน

สาม : สำรวจและพิเคราะห์คำถามอันสำคัญ มุ่งความสนใจร่วมกันไปที่คำถามที่มีพลังกระทบใจ และชักนำให้เกิดความผูกพันและมีพันธะร่วมกัน

สี่ : ช่วยกระตุ้นหนุนให้ทุกคนมีส่วนสมทบ กระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “ฉัน” กับ “เรา” โดยเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมอย่างเต็มตัวและเต็มใจ

ห้า : ผสมเกสรทางความคิดข้ามกลุ่ม เชื่อมโยงมุมมองที่หลากหลาย ใชัพลวัตของการอุบัติขึ้นของระบบชีวิตโดยการเพิ่มพูนความหลากหลายและความเข้มข้นในความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งจุดเน้นร่วมในปัญหาหลัก

หก : ร่วมกันฟังเพื่อหาแบบแผน ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและคำถามที่เจาะลงไป มุ่งความสนใจร่วมกันในลักษณะที่ก่อให้เกิดความประสานสอดคล้องกันของความคิด โดยความเห็นชอบของแต่ละคนไม่ได้สูญหายไป

เจ็ด : เก็บเกี่ยวและแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบร่วมกัน ทำให้ความรู้และปัญญาร่วมนี้ให้เป็นที่รู้เห็นและนำไปปฏิบัติได้

หลักการง่าย ๆ ทั้งเจ็ดประการนี้ หากได้นำไปผนวกใช้ด้วยกัน ก็จะให้แนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้แสวงหาวิธีการสร้างสรรค์อันเอื้อเฟื้อให้เกิดการสนทนาขนานแท้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการคิดร่วมกันและสร้างความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้

“เวิลด์คาเฟ่ มีจุดเน้นที่ “การสนทนาที่มีความสำคัญยิ่ง” เป็นสิ่งที่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับธรรมเนียมปฏิบัติของ “สภากาแฟ” ในภาคใต้ของประเทศไทย”

เป็นบทสรุปที่ “ฆวนนิต้า บราวน์ และเดวิด ไอแซคส์” กล่าวไว้ในบทนำ “จากผู้เขียน” ของหนังสือชื่อ “เดอะเวิลด์คาเฟ่” ที่ทั้งคู่ร่วมกันเขียนขึ้น

ขอบคุณ “พีธากร” ที่รังสรรค์การประชุมในเช้าวันหยุดที่ยิ่งใหญ่วันนั้นได้อย่างเยี่ยมยอด และทำให้ผมได้ข้อสรุปอีกประการหนึ่งว่า “เวิลด์คาเฟ่” ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างพื้นที่สนทนาเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสมานฉันท์อันเป็นกระบวนการสำคัญของ “สมัชชาสุขภาพ” ได้อย่างกลมกลืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น