วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ซี (วิค)....ที่รัก

๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

ผมมอง “เธอ” ด้วยสายตาละห้อยและยากจะบรรยายวินาทีนั้นเป็นคำพูดออกมาได้ ยามที่ “เขา” ได้พา “เธอ” ผู้อยู่กับผมมากว่า ๕ ปี ๘ เดือน จรจากไปเสียแล้ว

กระโปรงเธอลับตาพอๆกับน้ำปริ่มตาผม แต่นั่นล่ะสายตาของเขาที่มองเธอ มันคือสายตาแห่งความปิติยินดีที่ได้ครอบครองเธอเหมือนกับที่ผมเคยมองมาก่อนแล้ว และนั้นทำให้ผมเชื่อว่า เขาจะดูแลเธอได้อย่างดีมากไม่ต่างจากที่ผมได้ดูแลเธอเป็นอย่างดีมาตลอดเช่นกัน

พุทธภาษิตที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนมาครั้งพุทธกาลกว่า ๒,๖๐๐ ปี ว่า “ปิยานัง อะทะสะนัง ทุกขัง การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์” ยังคงเป็นหลักธรรมที่เที่ยงแท้ยิ่งนัก ยามต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก สิ่งที่คุ้นเคย สิ่งที่เคยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

ในบ่ายวันอาทิตย์หนึ่งของเดือนแห่งความรักปี ๒๕๕๒ ผมจำได้ดีว่าพบเธอเข้าโดยบังเอิญที่สถานที่สาธารณะแห่งหนึ่งเยื้องโรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ความสวยของเธอช่างถูกใจผมตั้งแต่ยามแรกพบ

เสียงอันแสนไพเราะ กลิ่นหอมจากโคโลญชั้นดี ประกอบกับท่วงท่าอันสง่างาม ทำให้ในอีกไม่ถึงชั่วโมงถัดมา ผมจึงได้ตัดสินใจชวนเธอมาอยู่ด้วยกัน

ทุกเช้าหากผมไม่เดินทางไปต่างจังหวัด เธอก็จะเดินทางเป็นเพื่อนกับผม และจะรอคอยผมเพื่อกลับบ้านพร้อมกัน

ในบางวันที่ผมต้องเดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด เธอก็จะเฝ้ารอผมอยู่บ้านหรือที่ทำงาน รอคอยผมกลับมาหา เมื่อเธอเห็นผมเหนื่อย เธอก็จะพัดวีผมให้คลายร้อน แถมยังร้องเพลงอันแสนไพเราะที่ผมชอบให้ฟัง

ยามใดที่ผมมีธุระที่ต้องเดินทางไกลไปต่างจังหวัด เธอไม่เคยปฏิเสธผมสักครั้งเดียว ทุกเส้นทางมีเธอร่วมเดินทางไปกับผมอย่างมีความสุขเสมอมา

ผมจำได้ว่าในวันที่เธอร้องขอรางวัลจากผม ว่าอยากได้แว่นตาอันใหม่แทนของเดิมที่ดูเป็นวัยรุ่นมากไป ผมก็พาเธอไปเปลี่ยนแว่นตาให้เหมาะสมกับวัยของเธอ เธอบอกกับผมว่าอยากได้เครื่องเสียงที่เสียงดีขึ้น เล่นได้ทั้งแผ่นดีวีดี วีซีดี เอ็มพีสาม ต่อเชื่อมกับยูเอสบี (USB) และบลูทูธได้ ผมก็รีบไปหาสิ่งนั้นมาให้เธออย่างเต็มใจ

๕ ปีกว่าแล้วสินะ ที่ผมกับเธอต้องเดินทางไปกลับระหว่างนนทบุรีอันเป็นที่ตั้งของที่ทำงานของผมกับนครสวรรค์ซึ่งเป็นจังหวัดที่ภรรยาและลูกของผมอาศัยอยู่ ทุกวันศุกร์เราจะเดินทางไปนครสวรรค์ด้วยกัน เย็นวันอาทิตย์หรือเช้าวันจันทร์ก่อนแสงพระอาทิตย์ขึ้น เราก็จะเป็นเพื่อนเดินทางกลับมาทำงานที่นนทบุรี

เธอคงสงสารผมที่ผมต้องจ่ายเงินทีละมากๆไปกับค่าน้ำมัน ก็แนะนำให้ผมเปลี่ยนไปใช้แก๊สแอลพีจี (LPG) เมื่อผมนำเรื่องนี้มาคิดย้อนหลัง พบว่าประหยัดเงินไปได้กว่าแสนบาททีเดียว แล้วจะไม่ให้ผมหลงเธอและคิดถึงเธอได้มากขนาดนี้ได้อย่างไร

วันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ว่าจะเป็นวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ หรือช่วงที่มีวันหยุดยาวๆเธอจะพาผมและครอบครัวไปกราบพ่อและพบปะกับญาติพี่น้องที่บ้านเกิด ผมเห็นรอยยิ้มที่ร่าเริงและแสนสนุกของเธอ เมื่อได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆที่ประดาญาติของผมพามาด้วย

อย่างน้อยปีละครั้ง ที่เราจะพากันไปเที่ยวต่างจังหวัดไกล ๆ ในคราหนึ่งไปเชียงคานด้วยกัน เราใช้เส้นทางที่ผ่านเขาและเส้นทางคดเคี้ยวมาก ผมรู้สึกเมากับการเหวี่ยงซ้ายเหวี่ยงขวา แต่เธอก็คอยดูแลผมและครอบครัวไปจนถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

เธอมักชอบอาสานำทางพาเพื่อนๆ ญาติๆของผมเดินทางไปยังเป้าหมายต่างๆแม้นเธอไม่เคยไป แต่เธอก็ไม่เคยบิดพริ้วหรือเกี่ยงงอน

น้อยครั้งมากเลยที่เธอจะงอแงกับผม มีไม่ถึง ๕ ครั้งที่เธองอนใส่ผม ปฏิเสธเมื่อผมชวนร่วมเดินทางไปด้วยกัน “เธอคงเหนื่อย อยากพักผ่อน และคงอยากให้ผมดูแลมากกว่าเดิม”

มีวันหนึ่งเธอคงไม่สบายมาก จึงบอกผมให้หยุดพักแถว ๆพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ในช่วงก่อนรุ่งของเช้าวันจันทร์ ผมพยายามโทรศัพท์หาหมอให้มาดูแลเธอ แต่สุดท้ายกว่าสี่ชั่วโมงหมอถึงจะเดินทางมา และในที่สุดก็ช่วยปฐมพยาบาลเธอจนดีขึ้น และสามารถเดินทางต่อมาทำงานได้

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผมยังจำไม่ลืมจนถึงทุกวันนี้ ในเย็นวันนั้นผมมีไข้สูงและปวดหัวมาก จึงตัดสินใจกินยาแก้ไข้เข้าไป ๒ เม็ด และพยายามประคองตัวเองแบบสลึมสลือกลับจากที่ทำงาน

เมื่อมาถึงหน้าบ้าน คงเป็นเพราะอาการของผมที่แทบจะหลับเพราะฤทธิ์ยา จึงทำให้ก้นของเธอไปชนเข้ากับตอไม้ที่ใช้เป็นสิ่งประดับให้บ้านสวยงามเข้าอย่างจัง ผมเห็นรอยถลอกมีเลือดไหลซิบ จึงรู้สึกผิดมากที่ทำให้เธอเจ็บตัวในวันนั้น

คงเป็นเพราะเธอคงเดินทางกับผมบ่อยมากเกินไปกระมัง กาลเวลาผ่านไปผมอาจดูแลเธอน้อยลง ผิวหนังของเธอจึงดูแห้ง แตกลายงา มีสะเก็ดตามเนื้อตัวจนดูไม่สวย ผมพยายามหาครีมมาทาให้แต่ก็ไม่หายเสียที

ว่าไปแล้วกว่า ๑ สัปดาห์แล้วสินะที่ผมตัดใจเดินจากเธอมา ระยะทางกว่า ๑๓๐,๐๐๐ กิโลเมตร ที่ผมกับเธอเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างปลอดภัย เสียงเพลงอันแสนไพเราะ ความเย็นที่เธอส่งให้ เบาะอันอ่อนนุ่ม เครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงดีไม่ตกจากเธอ ได้สร้างความสุขให้กับผมตลอดเวลากว่า ๕ ปี นับเป็นความทรงจำที่ผมมิมีวันลืม

ด้วยความระลึกถึงด้วยความรักที่มีต่อ “น้องซี” หรือ “น้องซีวิค” รุ่นไดแมนชั่น ปี ๒๐๐๔ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๕๒ และในบ่ายวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ผมได้ยินยอมให้เธอเดินทางไปอยู่กับเพื่อนคนใหม่ย่านรังสิต ปทุมธานี ที่ผมปรารถนาว่าเขาจะดูแลเธอได้เป็นอย่างดีเฉกเช่นที่ผมดูแลมาอย่างไม่เสื่อมคลาย

วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ใจไม่สิ้นรัก

๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

มีคนเคยแนะนำผมมานานแล้วว่า หากเครียด ควรหาอะไรมาทำ ปล่อยวาง อย่าพยายามหวนไปคิดถึงเรื่องที่ก่อให้เกิดความเครียดนั้น

วิธีการหนึ่งที่ผมชอบใช้เพื่อแก้ความเครียดนั่นก็คือ “อ่านหนังสือ” วันนี้ผมเลยหยิบหนังสือนิยายที่อ่านค้างไว้มาอ่านต่อจนจบ ใจผมล่องลอยคล้อยตามไปกับตัวอักษรที่โลดแล่นไปตามบรรทัด สัมผัสและรับรสจากวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์และผู้แปลเป็นภาคภาษาไทยได้สรรสร้างและถ่ายทอดออกมาอย่างดูดดื่ม

“ใจไม่สิ้นรัก” ได้ผูกโยงเรื่องราวให้ใจสองดวงที่ต่างหลงทาง อ้างว้างมาหลายชั่วแรมปีโคจรมาพบรักของกันและกันอีกครั้ง “ความรักกับความหลัง” ได้เติมเต็มและเยียวยาความบอบช้ำของเขาและเธอให้อ่อนหวานดังเดิม และเมื่อท้ายที่สุดแล้ว ความรักย่อมมีความหมายมากมายที่หาคำอธิบายได้มิรู้จบ

ความรักของ “อะแมนด้า” กับ “ดอว์สัน” ที่ครั้งหนึ่งเมื่อกว่า ๒๐ ปี เธอและเขาคือคู่รักที่ทุกคนต่างอิจฉา แต่ต้องแยกเส้นทางรักสายนั้นด้วยเหตุผลที่ต่างคนต่างมี ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง พลันดอกไม้ความรักนั้นก็เบ่งบานชูช่อ แต่ด้วย “ศีลธรรม” จึงทำให้ดอกรักดอกนั้นปักอยู่เฉพาะภายในห้องหัวใจเท่านั้น

“อะแมนด้า” คุณแม่สาวสวยวัย ๔๐ ขวบปี ได้แต่งงานกับ “แฟรงค์” ชายที่แม่เลือกให้มากว่า ๒๐ ปี มีลูกสาวและลูกชายอันเป็นที่รักของเธอ รวม ๔ คน ได้แก่ “จาเร็ด” พี่ชายคนโต “ลีนน์” น้องสาวคนรอง “เบอา” น้องชายคนที่สาม และ “แอนเนตต์” ลูกคนเล็ก

ชีวิตคู่ของเธอเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อ “เบอา” มาเสียไปตอนวัยเด็ก “แฟรงค์” เริ่มหันมาดื่มเหล้าเมายา พูดอ้อแอ้เมื่อกลับถึงบ้าน สร้างความเบื่อหน่ายวันละเล็กละน้อยให้กับเธอ

วันนั้นเธอได้รับโทรศัพท์จาก “มอร์แกน แทนเนอร์” ทนายความของ “ทัค” เพื่อนสนิทที่รู้จักกันมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เป็นเพื่อนที่เข้าใจชีวิตของเธอเป็นที่สุด ซึ่งรวมถึงเข้าใจถึงความรักระหว่างเธอกับ “ดอว์สัน” ที่มีต่อกันเมื่อกว่า ๒๐ ปีที่ผ่านมา

ทนายความแจ้งให้เธอทราบว่า “ทัค” ได้เสียชีวิตลง และต้องการให้เธอทำอะไรให้กับเขาสักอย่างหนึ่ง เธอจึงเอ่ยปากลาผู้เป็นแม่และลูก ๆ ของเธอ เพื่อเดินทางไปยัง "เมืองโอเรียนทัล” ตามที่ทนายความแจ้งข่าวมา

ภาพที่ปรากฎอยู่เบื้องหน้าเธอคือบ้านของ “ทัค” หลังนั้นที่ตั้งโดดเด่นอยู่กลางสนามหญ้า ถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงาม เหมือนเมื่ออดีตที่เธอกับ “ดอว์สัน” เคยใช้เป็นสถานที่บอกรักกัน เธอหวนคำนึงถึงอดีต คิดถึงความรักที่เธอมีต่อชายคนที่เธอรัก

เธอต้องตื่นจากพะวังเมื่อมีรถยนต์คันหนึ่งแล่นเข้ามาจอดบนลานหน้าบ้าน เธอค่อย ๆ เพ่งมองชายคนนั้นที่กำลังก้าวลงจากรถและค่อย ๆ เดินย่างก้าวตรงมาหาเธอ ในที่สุดเธอดีใจสุดขีดเมื่อชายคนนั้นก็คือ “ดอว์สัน” คนที่เธอรักและไม่ได้เจอหน้ามากว่า ๒๐ ปี

ทั้งคู่วิ่งเข้าหากัน ต่างโอบกอดกันอย่างดูดดื่มเพื่อทดแทนเวลาที่ห่างหายไป เมื่อตั้งสติได้แล้วทั้งคู่ต่างก็บอกเล่าวิถีชีวิตของตนเองให้กับคู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งฟัง

“ดอว์สัน” เล่าให้กับ “อะแมนด้า” ฟังว่า หลังจากที่ “อะแมนด้า” กลับไปแต่งงานแล้ว เขาเองรู้สึกเศร้าใจยิ่งนัก ก็มีเพียง “ทัค” เท่านั้นที่คอยปลอบใจให้ทุเลาลง และวันหนึ่งเขาเกิดขับรถไปชน “หมอบอนเนอร์” เสียชีวิตลง เขาถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา ๔ ปี และเมื่อออกจากคุกเขาสมัครไปทำงานที่แท่นเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งในอ่าวเวอร์มิลเลี่ยน รัฐหลุยเซียนา โดยไม่สนใจสาวคนใดเลย และเมื่อมีรายได้ก็จัดแบ่งส่งมาให้ “มาริลีน” ผู้เป็นภรรยาของ “หมอบอนเนอร์” เพื่อช่วยประทังความเดือดร้อน และชดเชยความผิดที่ตัวเองก่อไว้

เย็นวันนั้น ทั้งคู่พยายามใช้เวลาที่มีอยู่ภายในบ้านของ “ทัค” หลังนั้น กินอาหารด้วยกัน เล่าเรื่องต่าง ๆ ที่แต่ละคนผ่านมาให้อีกคนหนึ่งฟัง ก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน และนัดหมายไปพบทนายความในวันรุ่งขึ้น

“มอร์แกน แทนเนอร์” ทนายความ ได้บอกเล่าเจตนาของ “ทัค” ที่มีต่อทั้งคู่ให้ช่วยนำอัฐิไปโปรยที่กระท่อมที่เมือง “แวนเดอเมียร์” พร้อมทั้งมอบจดหมาย ๓ ฉบับให้กับเขาและเธอไป ฉบับหนึ่ง จ่าหน้าซองถึง “ดอว์สัน” อีกฉบับหนึ่ง จ่าถึง “อะแมนด้า” และฉบับที่สาม ไม่ได้จ่าถึงใคร โดยทนายความได้เน้นย้ำว่า ให้ทั้งคู่อ่านจดหมายที่ไม่ได้จ่าหน้าซองก่อนเริ่มพิธีโปรยอัฐิ

ทั้งคู่ตัดสินใจเช่ารถยนต์คันหนึ่งขับมุ่งหน้าไปยังกระท่อมตามที่เพื่อนรักของเขาร้องขอ และเมื่อเดินทางไปถึงทั้งคู่ก็เริ่มพิธี โดยหยิบจดหมายฉบับนั้นมาอ่าน

เนื้อความของจดหมายมีความยาวกว่า ๕ หน้ากระดาษ บรรยายถึงความรักและความเศร้าโศกที่ “ทัค” มีต่อ “คลาร่า” แฟนสาวของเธอที่ตายไปก่อนหน้านี้ “ทัค” ได้ขอร้องให้ทั้งคู่ โปรยเถ้าอัฐิบนสวนดอกไม้รอบบ้าน ซ้ำไปบนเถ้าอัฐิของ “คลาร่า” ที่ “ทัค” โปรยไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เขาและ “คลาร่า” ได้อยู่ด้วยกัน

ทั้งคู่ช่วยกันโปรยเถ้าอัฐิไปบนร่องสวนที่เต็มไปด้วยดอกไม้ตามคำขอของ “ทัค” ในเนื้อความจดหมาย

หลังจากเสร็จภารกิจ ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะค้างคืนที่บ้านหลังนั้น เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่ “ทัค” มีต่อเขาและเธอ ภายในบ้านหลังนั้น ได้ถูกจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดีทั้งเรื่องอาหาร เครื่องดื่มและที่นอน สะอาดเหมือนมีคนมาจัดเตรียมไว้

ทั้งคู่ใช้เวลาในค่ำคืนนั้น พลอดรักกันและตะกองกอดกันจนรุ่งเช้า

ทั้งคู่บ่ายหน้ามุ่งสู่บ้านของ “ทัค” ที่ “เมืองโอเรียนทัล” และเมื่อมาถึง ภาพที่ปรากฏตรงหน้าของทั้งคู่คือแม่ของเธอ ที่กำลังนั่งรออยู่ เมื่อ “ดอว์สัน” ปลีกตัวไปอีกทางหนึ่ง แม่ของเธอจึงเข้ามาคุยด้วย และบอกกับเธอว่า “อย่าโกหกต่อไปอีกเลย” และกล่าวทิ้งท้ายกับเธอว่า “ไม่ว่าลูกจะทำยังไงกับมัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับลูก” ก่อนที่แม่จะเดินจากเธอไป

เธอกล่าวร่ำลา “ดอว์สัน” หลังจากที่ทั้งคู่ปลอบโยนและให้กำลังใจกันอย่างยาวนาน

ก่อนเดินทางกลับ “ดอว์สัน” ได้หยิบจดหมายที่ “ทัค” เขียนถึงมาอ่าน ก่อนขับรถแวะไปยังหลุมฝังศพของ “หมอบอนเนอร์” เพื่อกราบสักการะก่อนเดินทางกลับบ้าน ซึ่งก็ได้พบ “มาริลีน” ภรรยาของ “หมอบอนเนอร์” เมื่อทั้งคู่เจอกัน “มาริลีน” ได้ขอร้องให้ “ดอว์สัน” อย่าลงโทษตัวเองมากมายขนาดนั้น

ทางฝ่าย “อะแมนด้า” เมื่อขับรถผ่านสุสานแห่งนั้น หันไปเห็น “ดอว์สัน” กำลังยืนอยู่หน้าหลุมศพ หัวใจเธอเรียกร้องอยากพบเขาอีกสักครั้ง เธอคิดอยู่นานว่าจะลงไปหาเขาดีไหม แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจขับรถมุ่งหน้ากลับบ้าน เมื่อเธอเหนื่อยเธอจอดรถพัก แล้วก็หยิบจดหมายที่ “ทัค” เขียนถึงมาอ่าน เนื้อหาในจดหมายบ่งบอกถึงความรักที่เขามีต่อเธอและให้กำลังใจในการตัดสินใจอย่างมีสติ

ระหว่างที่เธอขับรถกลับด้วยดวงใจที่เหม่อลอย พลันเธอต้องสะดุ้ง เมื่อมีสายเรียกเข้ามายังมือถือเธอ ข้อความปลายสายบอกกับเธอว่า “จาเร็ดและแฟรงค์เกิดอุบัติเหตุ ตอนนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล” เธอตกใจสุดขีด รีบบึ่งรถยนต์ไปยังโรงพยาบาลทันที

ทางฝ่าย “ดอว์สัน” หลังจากล่ำลา “มาริลีน” แล้ว ก็มุ่งหน้าขับรถกลับบ้าน สมองก็คิดถึงเรื่องราวของหัวใจของเขาที่มีต่อ “อะแมนด้า” พลันความคิดแวบหนึ่งก็มาแทรกความคิดให้หยุดลง “เขาลืมจดหมายทิ้งไว้ที่บ้านของทัค” เขาตัดสินใจเลี้ยวรถกลับทันที

เขาค่อย ๆ ขับรถมาตามถนน จนถึงหัวโค้งแห่งนั้น เป็นหัวโค้งที่เขาขับรถชน “หมอบอนเนอร์” สายตาเขาเห็นชายคนหนึ่งยินอยู่ เมื่อเขาขับรถไปใกล้ ๆ เขารู้สึกคุ้น ๆ กับชายคนนั้น เขารีบเดินลงไปหาร่างของชายคนนั้น แต่เมื่อเขาเดินเข้าไปใกล้ร่างนั้นก็ถอยหนี เขาออกวิ่งร่างนั้นก็วิ่งทิ้งระยะห่าง เขาแปลกใจเขาพยายามวิ่งให้เร็วขึ้น ร่างนั้นก็วิ่งเร็วขึ้น ทั้งคู่วิ่งตามกันไป จนในที่สุดก็มาถึง บาร์แห่งหนึ่ง

เขาได้ยินเสียงอึกทึกภายในบาร์ตามติดด้วยเสียงปืน เขารีบก้าวเท้าเข้าไปในบาร์แห่งนั้น ภาพที่ปรากฏต่อสายตาเขาคือภาพของ “เท็ค” กับ “เอบี้” อันธพาล กำลังทำร้าย “อลัน”

“ดอว์สัน” จำได้ว่า “อลัน” คือลูกชายของ “หมอบอนเนอร์” เขารีบเข้าไปช่วยจัดการกับอันธพาลทั้งคู่ จนหมอบราบคาบไป และพา “อลัน” ออกมาจากบาร์ได้ แต่ก่อนที่เขาจะก้าวพ้นประตูของบาร์แห่งนั้น เขาต้องล้มลงเมื่อสิ้นเสียงปืนที่ “เท็ค” คว้าขึ้นมาจากพื้นและเล็งส่องไปยังเขา

ทางฝ่าย “อะแมนด้า” เมื่อมายืนอยู่หน้าห้องไอซียู เดินไปเดินมา ใจก็เฝ้ารอคำตอบจากพยาบาลหรือแพทย์ที่ช่วยชีวิตลูกชายและสามีของเธออย่างใจจดใจจ่อ จนกระทั่งพยาบาลรายหนึ่งเดินออกมา จึงรู้ว่าสามีของเธอปลอดภัย และลูกชายเธออาการหนักมาก

หัวใจเธอแทบสลายเมื่อ “หมอมิลล์” แพทย์ผู้รักษาลูกชายเธอออกมาจากห้องแล้วบอกกับเธอว่า “อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้หัวใจของลูกชายของเธอรั่ว คาดว่าลิ้นหัวใจไตรคัสปิดอาจถูกทำลาย และต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ”

เธอแทบล้มทั้งยืน ในใจนึกเกลียดสามีของเธอมากขึ้น อีกความรู้สึกหนึ่งก็สับสนไม่รู้จะทำอะไรดี เธอเซ็นชื่อในใบยินยอมไปโดยไม่รู้ตัว

หลายชั่วโมงผ่านไป จนเวลาเที่ยงคืนยี่สิบนาทีของวันที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของเธอ แพทย์คนเดิมก็เดินมาพบกับเธอ พร้อมกับเอ่ยขึ้นว่า

“ลูกคุณ หัวใจจะล้มเหลว ถ้าไม่มีการแทรกแซง ไม่แน่ใจว่าเขาจะอยู่ได้อีกนานมั้ย”

เธอเหมือนโดนกำปั้นต่อยท้อง ก่อนจะที่ตะโกนอ้อนวอนขอให้หมอชีวิตลูกของเธออย่างเต็มกำลัง

“หมอมิลล์” เอ่ยปากกับเธอว่า คงจะต้องเรียกประชุมกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งที่ผ่านมากรณีแบบนี้น้อยมากจะได้รับการอนุมัติ

แต่นับว่าเธอยังโชคดีที่เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง “หมอมิลล์” ก็เดินมาบอกกับเธอว่าคณะกรรมการยินยอมให้เปลี่ยนหัวใจได้ คำตอบที่ได้รับทำให้เธอกระโดดสุดตัวด้วยความดีใจ แต่เมื่อหมอบอกให้เธอรอว่าจะมีหัวใจที่เปลี่ยนและเข้ากับลูกชายเธอ ทำให้เธอกลับมาอยู่ในอาการสับสนดังเดิม

นานนับสิบชั่วโมง “หมอมิลล์” ก็เดินเข้ามาบอกกับเธอว่า “เจอหัวใจที่เข้ากัยนได้แล้ว นับเป็นโอกาสหนึ่งในล้านซึ่งผ่านเข้ามา”

อะแมนด้ารูสึกว่าอะดรีนาลีนฉีดพล่านไปทั่วกาย ทุกเส้นประสาทตื่นตัว เมื่อสิ้นเสียง “หมอมิลล์” ที่พูดว่า

“หัวใจจากผู้บริจาค ตอนนี้กำลังถูกส่งมาที่โรงพยาบาล และมีกำหนดเวลาผ่าตัดกันแล้ว”

สองปีผ่านไปหลังจากเหตุการณ์วันนั้น “จาเร็ด” เข้ามาคุยกับแม่ของเขา พร้อมกับเอ่ยปากบอกแม่ของเขาว่า “อยากจะส่งจดหมายไปให้ครอบครัวของผู้บริจาคหัวใจให้เขา”

“อะแมนด้า” หลุบตาต่ำลง เอ่ยปากตอบลูกชายเขาไปว่า “เป็นกระบวนการที่ต้องสงวนชื่อผู้บริจาคไว้” ก่อนที่จะเอ่ยกับลูกชายของเธอว่า “ขอแม่กอดหน่อยสิลูก”

“จาเร็ด” โผเข้าสู่อ้อมกอดแม่เธอ “ผมรักแม่ฮะ” เขาพึมพำกอดเธอแน่น

“อะแมนด้า” หลับตาลง รู้สึกถึงจังหวะของหัวใจที่สม่ำเสมอในอกของลูกชาย ความคิดหวนคิดไปถึงคำพูดของ “มอร์แกน แทนเนอร์” ที่โทรมาบอกว่า “ดอว์สัน” คือเจ้าของหัวใจที่ช่วยเหลือลูกชายเธอไว้ ก่อนจะเอ่ยปากว่า “แม่ก็รักลูกจ๊ะ”

ขอบคุณ “วรางคณา เหมศุกล” ผู้แปลนิยายรักโรแมนติกแสนเศร้านาม “ใจไม่สิ้นรัก” และ “นิโคลัส สปาร์ค” ผู้ประพันธ์จากต้นฉบับเรื่อง “The Best of Me” ไว้อย่างซาบซึ้ง จนผมบรรจงอ่านจนจบในค่ำคืนนี้ และได้สลายความเครียดที่ประเดประดังเข้ามาได้จนเกือบหมดสิ้น

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป : ข้อเรียกร้องบนหลักการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

นับเป็นปรากฎการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นบนหลักการสำคัญของการปกครอง “ตามระบอบประชาธิปไตย” เมื่อประชาชน ภาคองค์กรชุมชน ประชาสังคม นักวิชาการ นักธุรกิจ เกษตรกร กว่า ๓๐ เครือข่ายทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป เครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง เครือข่ายจัดการที่ดินแนวใหม่แห่งชาติ เป็นต้น กว่า ๒๐๐ คน มารวมตัวกัน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน “เวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ผ่านมา

ในวันนั้น “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป หรือ สชป.” มาประชุมปรึกษาหารือกันถึงช่องทางการเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ที่กำลังเกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช ๒๕๕๗ อยู่ในขณะนี้

ที่ประชุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า
• ในสถานการณ์เช่นนี้นับเป็นโอกาสที่ดี ที่มี “กลไกแม่น้ำ ๕ สาย” อันประกอบด้วย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำพิมพ์เขียวเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

• การปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ ควรมีการสร้างสะพานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะจะทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาในแต่ละด้านต้องนำมาสู่การ “ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” เพื่อนำพาประเทศชาติประชาชนไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน

• ในปัจจุบัน มีพลังมวลชนที่หลากหลายที่ขับเคลื่อนงานเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีข้อมูล มีประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปครั้งนี้

• ควรจัดตั้ง “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป หรือ สชป.” เป็น “แม่น้ำสายที่ ๖” เป็นช่องทางร่วมมือกับ “กลไกแม่น้ำ ๕ สาย” เพื่อเชื่อมโยงกับพลังมวลชนที่กระจายอยู่นอกสภา ทำงานแบบเสริมพลังกันและกัน และร่วมกันเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศครั้งนี้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่

และที่ประชุมยังได้รับรู้ถึงกำหนดการเปิดตัว “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป หรือ สชป.” ที่จะจัดขึ้น ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันประกาศความร่วมมือจัดตั้ง สชป. แสดงจุดยืนเป็นองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน พลเมืองในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย พร้อมเสนอ ๖ ข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน” ประกอบด้วย

ข้อ ๑ สชป. ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงองค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อระดมความความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำรัฐธรรมฉบับใหม่อย่างเป็นอิสระ

ข้อ ๒ สชป. เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องกำหนดกรอบทิศทางไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายอำนาจไปสู่การเพิ่มอำนาจประชาชน ทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค นโยบายพื้นฐานแห่งชาติ การใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ด้วยการกำหนดให้มี “สภาพลเมือง” เป็นอำนาจที่สี่ การกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น สิทธิในการกำหนดอนาคตเพื่อการพัฒนาในแต่ละท้องถิ่น การขจัดความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนการรักษาไว้ซึ่งหลักการสำคัญที่ว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพยากรร่วมของคนไทย การนำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ ต้องเป็นไปตามความเห็นร่วมของสังคม

ข้อ ๓ สชป. เห็นว่าในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีของการปฏิรูประเทศ รัฐบาลต้อง เสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนไทยทุกคน ตระหนักและเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้อย่างหลากหลายช่องทาง ตลอดจน ไม่ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป จนกว่าข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปในแต่ละด้านจะเป็นที่ยุติ และเห็นพ้องต้องกันของสังคม อาทิเช่น การชะลอการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ หรือยุติความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ก่อน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปด้านพลังงาน เป็นต้น

ข้อ ๔ สชป. ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่มาจากการระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน แต่ด้วยระยะเวลาจำกัดเพียงหนึ่งปี จึงทำได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นต้องมีการวางพื้นฐาน กลไกหรือกฎหมายและมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการดำเนินงานต่อเนื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ

ข้อ ๕ ในสถานการณ์เร่งด่วน สชป. เห็นว่า คำสั่งของ คสช. บางคำสั่ง ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น คำสั่งที่ ๖๔/๒๕๕๗ และ ๖๖/๒๕๕๗ ซึ่งระบุว่า การปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และ ผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการรื้อถอน ทำลายพืชผล จับกุมเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ยากไร้ และได้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่นั้น รวมทั้งอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาตามนโยบายคนอยู่ร่วมกับป่าของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการกำกับ ดูแล และสั่งการให้หน่วยปฏิบัติของราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยุติการกระทำดังกล่าว และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยมีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืน

ข้อ ๖ เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง ๕ ประการข้างต้น สชป. จะดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยสนับสนุนการขับเคลื่อน สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปทั้งในระดับพื้นที่และประเด็นปัญหา สร้างช่องทางการประสานงานที่ภาคประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการสร้างระบบการสื่อสารสู่สาธารณะให้เกิดการรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การติดตามหนุนเสริมและวางแผนการทำงานในระยะยาวต่อไป

ในการประชุมวันนั้น ทาง สชป. ได้เรียนเชิญ “สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.” กว่า ๑๐ คน มาร่วมรับฟังและให้มุมมองต่อการขับเคลื่อนครั้งนี้

สมาชิก สปช. ทุกคนต่างแสดงทัศนะที่ชื่นชมและสนับสนุนแนวทางของขบวนของ สชป. อาทิ

“นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “สปช.เป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยพลังพลเมืองที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของสังคมในการร่วมผลักดัน และเรื่องการปฏิรูปไม่ใช่งานแค่หนึ่งปี”

“นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” กล่าวย้ำเตือนว่า “ปัจจุบันความคิดเห็นยังมีความแตกต่างกัน การทำให้เกิดพลังจะต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายเชิงประเด็นที่หลากหลาย เราต้องตกลงกันให้ดี นี้คือหลักการที่สำคัญ”

“นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า “การปฎิรูปครั้งนี้ต้องเป็นกระบวนการที่มีวุฒิภาวะ เป็นกระบวนการที่หวังผล ต้องมาจัดองค์ประกอบใหม่ โครงสร้างดังกล่าวจะต้องมาร่วมคิด เพื่อให้เกิดทางเลือกแนวใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และมีกติกาในเชิงความคิด”

“นางฑิฆัมพร กองสอน” กล่าวสนับสนุนว่า “เรามีเป้าหมายร่วมกันในการปฏิรูป คือ ต้องให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หากการมีส่วนร่วมครั้งนี้ มีกลไกตั้งแต่ระดับตำบล มีการเปิดเวทีเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในพื้นที่ เพราะเราอยู่ในพื้นที่เราจะรู้ว่าพื้นที่เรามีปัญหาอะไรบ้าง แต่ก็จะคาดหวังจาก สปช. ทั้งหมดไม่ได้ ไม่อยากให้เรื่องการปฏิรูปเป็นเพียงตัวหนังสือ อยากเห็นการปฏิรูปครั้งนี้ นำมาสู่การปฏิบัติ”

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ผมอดคิดไปถึงสิ่งที่ “เอมี่ กัทแมน” และ “เดนนิส ทอมป์สัน” (Amy Gutmann & Dennis Thompson) นักปรัชญาการเมือง ได้เรียกร้องไว้ในช่วงต้นศตวรรตที่ ๒๑ ให้ยกระดับประชาธิปไตยไปสู่ “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” หรือ “Deliberative Democracy”

ที่หมายถึง “การที่คนในสังคมทุกฝ่ายมีโอกาสมาร่วมสนทนาทางการเมือง ร่วมอภิปรายสาธารณะ หรือแลกเปลี่ยนความเห็นสาธารณะอย่างเท่าเทียมกันและอย่างมีอิสระในฐานะที่เป็นพลเมืองของสังคมหรือชุมชน เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือกระบวนการในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เพื่อแสวงหาและก่อให้เกิดมติร่วมหรือเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันที่จำเป็นสำหรับนำไปใช้ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือเป็นกรอบสำหรับการพัฒนาเพื่ออนาคตของชุมชนและสังคม”

เพราะสิ่งที่กำลังขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือกระบวนการ “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ” ซึ่งถือเป็นการยกระดับ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” ไปอีกขั้นหนึ่ง

วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แกะรอยสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี

๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

“อินทิรา คานธี” อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอินเดีย ได้เคยกล่าวไว้ว่า “หากมีเหรียญคนละเหรียญนำมาแลกกัน ก็จะได้กลับไปคนละเหรียญ หากความรู้นำมาแลกกัน ก็จะได้กลับไปคนละสองความรู้”

คำกล่าวนี้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวเปิดในเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานต่อคณะอนุกรรมการรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดย “รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก” ผู้อำนวยการสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนา จังหวัดลพบุรี ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ในช่วงสายของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ เพื่อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นบอกเล่าให้ที่ประชุมได้เข้าใจถึงพัฒนาการของขบวน “สมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” ที่มีมาอย่างยาวนาน

จากกระแสการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติที่ขับเคลื่อนโดยสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.) ในช่วงปี ๒๕๔๔ ที่ภาคประชาสังคมในจังหวัดลพบุรีก็ได้มาอยู่ในขบวนสายธารนี้ มีการจัดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันให้ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ และส่งต่อความเห็นนั้นไปร่วมกับพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศไทย

จากการทำงานครั้งนั้นกลายเป็นจุดสำคัญในการเปิดพื้นที่สาธารณะ เชื้อเชิญผู้คนในจังหวัดได้มาเข้าร่วมกำหนดอนาคตคนลพบุรี มีเวทีสาธารณะระดับจังหวัดเกิดขึ้นทุกปี โดยแต่ละปีมีการหยิบยกประเด็นสำคัญมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น

ปี ๒๕๔๕ “สร้างสุขภาพดี ลพบุรีน่าอยู่” เพื่อหล่อหลอมอุดมการณ์ “สร้างนำซ่อม”

ปี ๒๕๔๖ “ชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่”

ปี ๒๕๔๗ “แม่น้ำลพบุรี” และ “เกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพ”

ปี ๒๕๔๘ “วิทยุชุมชน สร้างคน สร้างสุขภาพ”

ปี ๒๕๔๙ “สุขภาพ ความดีงามและความพอเพียง”

ปี ๒๕๕๐ “การสร้างสังคมรู้รักสามัคคี”

หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ จังหวัดลพบุรีก็ยังคงเดินหน้ายกระดับกระบวนการ “สมัชชาสุขภาพ” มาใช้ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง

ปี ๒๕๕๑ ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับตำบล ภายใต้หัวข้อ “ตำบลต้นแบบแห่งสุขภาวะ” โดยใช้พื้นที่ตำบลชอนสมบูรณ์ อำเภอหนองม่วง เป็นฐานปฏิบัติการ มี “พระครูใบฎีกาทรงพล ชยนันโท” เป็นแกนนำ จับประเด็นเรื่อง “การแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น” ขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก ซึ่งในที่สุดเกิด “ยุทธศาสตร์ไข่แดง” ที่กำหนดให้ “วัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายคือไข่แดง” ที่ไข่ขาว คือ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ต้องจับมือกันดูแลไข่แดงเป็นเป้าหมายร่วมกัน

แม้จะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ แต่ก็สามารถสร้างความสั่นสะเทือนและเป็นบทเรียนไปในวงกว้างไว้ เปรียบดัง “เด็ดดอกไม้ดอกเดียว กระเทือนถึงดวงดาว” ปัญหา “ท้องไม่พร้อมในตำบลชอนสมบูรณ์มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และกลายเป็นต้นแบบสู่การขยายผลไปยังพื้นที่อื่นทั้งระดับอำเภอและจังหวัด

ปี ๒๕๕๒ ได้ขยายประเด็นของสมัชชาสุขภาพระดับตำบลให้กว้างขึ้น โดยหยิบยกประเด็น “สุขภาวะวัยเจริญพันธุ์ : เด็กดีสร้างสุข” มาปรึกษาหารือกัน และเกิดประเด็นร่วมต่อยอดไปในอีก ๓ ประเด็นคือ (๑) การลดละเลิกเหล้าสร้างสุขพอเพียง (๒) อาหารปลอดพิษชีวิตปลอดภัยสู่นโยบายทางอาหาร และ (๓) ชุมชนเป็นสุข สร้างสุขพอเพียง

ปี ๒๕๕๓ มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับอำเภอ ในประเด็น “สุขภาวะวัยเจริญพันธุ์ : เด็กดีสร้างสุข” โดยการถอดบทเรียนการดำเนินงานแก้ไขปัญหา “ท้องไม่พร้อม” ของตำบลชอนสมบูรณ์ มาขยายผลสู่ตำบลอื่น ๆ ของอำเภอหนองม่วง

ปี ๒๕๕๔ มีการจัดสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด ในประเด็น “ชาวลพบุรีฟื้นฟูภัยพิบัติจัดการสุขภาวะ” และมีการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงาน “ท้องไม่พร้อม” ของอำเภอหนองม่วง โดยมีการพัฒนาศักยภาพแกนนำถอดบทเรียนและบันทึกเรื่องราวการทำงานที่ผ่านมา

ปี ๒๕๕๕ จัดสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด ในประเด็น “การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมของจังหวัดลพบุรี” มาปรึกษาหารือกันจนในที่สุดเกิดมติระดับจังหวัด

ในการขับเคลื่อนงานตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปี ๒๕๕๕ กลไกที่ทำหน้าที่ในการประสานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เข้ามาทำงานร่วมกันคือ “สถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนา”

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นับเป็นวันสำคัญของการยกระดับกระบวนการสมัชชาสุขภาพ โดย “นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวลพบุรี และได้ชวนคุย ชวนลองทำ “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” เต็มรูปแบบ เกิดแรงบันดาลใจและพลังใจกับทีมงานอย่างเต็มเปี่ยม จนนำไปสู่การเริ่มต้นการทบทวนจังหวะก้าวการทำงานในอดีต เกิดการสานพลังกัลยาณมิตรทั้งเพื่อนเก่าและใหม่ ภายใต้แนวคิด “รักษาเพื่อนเก่า แสวงหาเพื่อนใหม่เพิ่ม”

นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เป็นต้นมา จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยเพิ่ม “สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี” เข้ามาร่วมเป็นกลไกฝ่ายเลขานุการ

ในปีดังกล่าวเกิด “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” หรือ “คจ.สจ.ลพบุรี” ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นประธาน มีที่ปรึกษา รวม ๑๑ คน กรรมการ ๔๖ คน โดยมีสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนาจังหวัดลพบุรี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ร่วมกันเป็นเลขานุการ

ในปีนี้ได้มีการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรีเต็มรูปแบบไปเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ โดยมี ๓ ระเบียบวาระ คือ (๑) อาหารปลอดภัย (๒) การตั้งครรภ์ไม่พร้อม และ (๓) เด็กติดเกม

ภายหลังจากที่มีมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรีออกมาแล้ว ได้มีการตั้ง “คณะทำงานประสานงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” หรือ “คป.สช.ลบ.” เป็นกลไกในการขับเคลื่อนมติสู่การปฏิบัติ มีกลไกย่อย ๕ ทีม ประกอบด้วย (๑) ผู้ทรงคุณวุฒิ (๒) คณะทำงานฝ่ายอำนวยการ (๓) คณะทำงานฝ่ายวิชาการ (๔) คณะทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สื่อเพื่อสังคม (๕) คณะทำงานฝ่ายประเมินผล และ (๖) คณะทำงานฝ่ายเลขานุการ โดย คป.สช.ลบ. จะมีการประชุมปรึกษาหารือกันทุก ๒ เดือน

สำหรับในปี ๒๕๕๗ ก็ได้มีการเตรียมจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี เป็นครั้งที่ ๒ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ นี้ โดยมีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นระเบียบวาระการประชุมรวม ๕ เรื่อง คือ (๑) พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ (๒) การพัฒนาระบบการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง (๓) การคุ้มครองผู้บริโภค : การจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (๔) การจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด และ (๕) สิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิต

ผมอดคิดไม่ได้ว่ากระบวนการทำงานของสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรีกว่าสิบปี ได้สร้างให้เกิดคุณค่าถึง ๖ ประการ ที่เปรียบประดุจ “เพชรหกเหลี่ยม” ทอแสงสู่สายตาของผู้คนที่ได้เข้ามาเรียนรู้

หนึ่ง ทำให้ได้เห็นคุณค่าและความงดงามที่หลากหลายอยู่ในพื้นที่

สอง เป็นกระบวนการที่ทำให้ได้ทบทวนจังหวะก้าวของการทำงานในพื้นที่

าม เป็นการเติมเต็ม เสริมพลังใจ เติมฝัน เติมไฟ เติมใจให้กับทีมงานซึ่งกันและกัน

สี่ ทำให้ได้เจอคนหัวใจเดียวกัน และได้เรียนรู้จากกันและกัน

ห้า ได้มุมมองที่กว้างและหลากหลาย พบคนทำงานตัวจริง เสียงจริง

หก ได้โอกาสเรียนรู้ และสร้างพลังจากทุนทางสังคม

และคุณค่าที่เกิดขึ้นนี้เอง ได้ถากถางเส้นทางวันนี้ของ “สมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี” จนกลายเป็นจังหวัดตัวแทนของภาคกลาง ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัล “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๗” ที่จะมีการนำเสนอผลงานในเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒๔ – ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ นี้

ขอสะกิดบอก “รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก” ในตอนท้ายนี้ว่า “ในวันนั้น ผมเดินทางออกจากจังหวัดลพบุรี ผมได้ซึมซับประสบการณ์ใหม่ มุมมองใหม่และความรู้ใหม่ ที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนางาน “สมัชชาสุขภาพ” ในอนาคตยิ่งนัก ซึ่งมีค่ามากกว่าสองความรู้ตามที่ “อินทิรา คานธี” ได้กล่าวไว้