วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูปประเทศไทยต้องปฏิรูปสังคม

๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

“การปฏิรูปประเทศไทยต้องเร่งปฏิรูปสังคม มุ่งสร้างชุมชนท้องถิ่นและพลังพลเมืองให้เข้มแข็ง”

คือบทสรุปที่ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันในเวทีกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ สัญจร เมื่อเช้าวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ลานกว้างของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งนับเป็นประโยคสำคัญที่ถือเป็นหัวใจที่บ่งชี้แนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

เวทีในวันนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสัมมาชีพ โดยมีผู้เข้าประชุมจากและขบวนองค์กรภาคประชาชนกว่า ๑๐ เครือข่าย กว่า ๕๐๐ คน เข้ามาร่วมกันค้นหา “คานงัดปฏิรูปประเทศไทย”

ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ต่างให้แนวคิดที่สำคัญไว้อย่างน่าสนใจ

นพ. ประเวศ วะสี ได้แสดงปาฐกถานำเปิดประเด็นไว้ให้คิดต่อว่า

• องค์ประกอบสำคัญยิ่งยวดในการปฏิรูปประเทศไทยที่ถือเป็นระเบียบวาระของชาติที่เป็นความตั้งใจครั้งใหญ่ที่สุดของชาติ
• หัวใจของการปฏิรูปประเทศไทยอยู่ที่ “ปฏิรูปสังคม ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลังพลเมืองเข้มแข็ง”
• วิธีการปฏิรูปต้องปฏิรูปความสัมพันธ์จากแนวดิ่งมาเป็นแนวราบ จัดให้มีการ “รวมกันคิดรวมกันทำในทุกพื้นที่ชุมชน ในทุกองค์กร และในทุกประเด็น”
• จำเป็นต้องปฏิรูปไปที่โครงสร้างอำนาจ โดยคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ในรูปของชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง โดยการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านจิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษาและประชาธิปไตย ซึ่งจะนำไปสู่สังคมศานติสุข
• รูปธรรมที่จะนำไปสู่สิ่งดังกล่าวได้ จะต้องมีกฎหมายปฏิรูปสังคม ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐในการสนับสนุน ปลดล็อคกฎหมาย กระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น กำหนดให้ระบบการศึกษาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น จัดให้มีธุรกิจเพื่อสังคม มีมูลนิธิทางสังคมเพื่อสังคม มีองค์กรสื่อสารภาคพลเมือง มีกองทุนสันติประชาธรรม และสร้างเครือข่ายพลเมืองปฏิรูปประเทศไทย หนุนสัมมาชีพชุมชนให้เกิดเต็มประเทศ”

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวในลำดับถัดมา โดยชี้ว่า

• การปฏิรูปประเทศไทยเป็นความคาดหวังของประชาชนทั้งแผ่นดิน ที่อยากเห็นการปฏิรูปนำชีวิตสู่ความสุขสมบูรณ์
• ที่ผ่านมามักจะมองเรื่องการปฏิรูปเป็นเรื่องรองจากการชนะการเลือกตั้ง ผู้นำไม่มีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง
• วันนี้ถือเป็นโอกาส เพราะรัฐบาลโดยผู้นำประกาศอย่างชัดเจนว่าจะปฏิรูป มีสภาปฏิรุปแห่งชาติ (สปช.) เป็นกลไกที่มีบทบาทชัดเจน
• สิ่งสำคัญคือการสร้าง “พลังพลเมืองที่เข้มแข็ง” ที่ในวันนี้พลังพลเมืองมีอยู่มากมายและหลากหลาย
• เรื่องเร่งด่วนคือ การสร้างการรวมตัวที่เหนียวแน่น มีการบริหารจัดการเครือข่ายอย่างเป็นระบบ สร้างข้อมูล ความรู้และการสื่อสารที่สร้างความใจให้ตรงกันโดยเฉพาะในประเด็นร่วมระดับชาติ และต้องมีความชัดเจนในประเด็นหรือกิจกรรมร่วมที่จะปฏิรูปให้ตรงกัน
• เครือข่ายพลเมืองนี้จะต้องพัฒนาให้เป็นกลไกที่มีหน้าที่จัดทำและผลักดันข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปที่สำคัญเพื่อการปฏิรูป ทำหน้าที่เฝ้าระวังการบริหารจัดการของภาครัฐ ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ การทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น ให้ได้

ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวไว้ชัดเจนว่า

• คำถามสำคัญของการปฏิรูประเทศไทยครั้งนี้ จะต้องนำไปสู่ประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความเหมาะสมกับประเทศไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
• องค์ประกอบสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวคือ “ การปฏิรูปสังคม”
• การปฏิรูปสังคมมีความสลับซับซ้อนมากมาย ทั้งในเรื่องความหมายและนัยที่แท้จริง ขอบข่ายความครอบคลุม ประเด็นที่เป็นปัญหาหรือจุดอ่อน และเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต
• จำเป็นต้องเลือกปฏิรูปสังคมในประเด็นที่มีผลกระทบอย่างสำคัญมากมาทำ
• สปช. จะทำอย่างเต็มที่ แต่การจะทำให้สำเร็จลงได้ต้องเชิญชวนให้ทุกท่านร่วมช่วยกันทำการปฏิรูปให้สำเร็จ ต้องเข้ามา “ร่วมคิด สร้างไทย ร่วมใจ สร้างอนาคต”

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ กล่าวย้ำว่า

• ความเห็นของขบวนองค์กรภาคประชาชนสอดคล้องกับ กมธ. เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งได้เสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นเป็น ๑ ใน ๘ ประเด็น ที่ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่
• ข้อเสนอที่ทาง กมธ. เสนอในเรื่อง “สิทธิชุมชน” คือ เสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่าชุมชน
(๑) จะต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง จัดการกันเอง
(๒) ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคลเพื่อจัดการกิจการสาธารณะ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์กันเองได้
(๓) มีการสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนที่เป็นจริง สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ทุนสัมมา”
(๔) รัฐต้องกระจายอำนาจสูชุมชน ให้อำนาจชุมชนจัดการกันเอง
(๕) รัฐต้องทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพให้ชุมชนเข้มแข็งได้จริง

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรเอกชน (พอช.) ได้ให้แง่คิดกับผมว่า

• เราต้องยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ฉะนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับพลังของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศในการกำหนดทิศทางการพัฒนา มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอำนาจของตนเอง
• ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงอยากเห็นทิศทางที่กำหนดให้รัฐบาลทุกสมัยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างพลังพลเมือง มีการกระจายอำนาจ และสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ชัดเจน ปรับบทบาทองค์กรภาครัฐให้ทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมกลไกต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายพลังพลเมืองและสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง

และจากการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเวทีที่มีตัวแทนจากขบวนองค์กรภาคประชาชนกว่า ๑๐ เครือข่าย อันประกอบด้วย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน เครือข่ายที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เครือข่ายการจัดการทรัพยากร เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายสัมมาชีพชุมชน เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมเพื่อการเมือง เครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เครือข่ายการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรุป เครือข่ายนักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะ และสภาประชาชนเพื่อการปฏิรุป (สชป.) ในภาคบ่าย โดยมีข้อเสนอที่สำคัญ ๖ ข้อ คือ

หนึ่ง ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนการบริหารและพัฒนาประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงอำนาจ โครงสร้างการปกครอง กระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ชุมชนท้องถิ่น มีระบบให้ได้ผู้เข้ามาบริหารชุมชนและบ้านเมืองที่ดีและมีคุณภาพ

สอง มีระบบและกลไกที่หนุนเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มีอำนาจในการกำหนดอนาคตกันเอง สามารถจัดการ อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงาม มีระบบสวัสดิการชุมชนที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน

สาม ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเสนอให้มีกลไกเพื่อการขับเคลื่อนใน ๓ ระดับ คือระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการและระดับพื้นที่โดยมีตัวแทนจากชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยรัฐต้องมีการสนับสนุนให้เกิดกองทุนการพัฒนาสัมมาชีพชุมชน ปรับระบบภาษีที่เอื้อต่อการสร้างเศรษฐกิจชุมชน และมีระบบที่ป้องกันการผูกขาดของอำนาจทางการเมืองและป้องกันอิทธิพลที่จะไปทำลายชุมชนด้วย

สี่ เสนอให้มีสภาพลเมืองในทุกระดับ เป็นกลไกของประชาชนที่ใช้อำนาจประชาธิปไตยทางตรง ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนและสังคม จัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสังคม เป็นกลไกในการเฝ้าระวังติดตามการทำงานอย่างเกาะติด

ห้า จัดตั้งกลไกภาคประชาชนทำหน้าที่คู่ขนานและเชื่อมโยงการทำงานกับ สปช. ติดตามข้อเสนอและขับเคลื่อนในส่วนที่เป็นหน้าที่ของภาคประชาชน

หก การปฏิรูปต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์และคนไร้รัฐที่ดำรงอยู่ในขณะนี้อย่างจริงจัง โดยควรมีการกำหนดเขตคุ้มครองวัฒนธรรมเฉพาะในแต่ละกลุ่มได้

ผมนั่งประมวลความคิดที่ได้ฟังจากผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับความคิดเห็นที่ได้จากการระดมความคิดเห็นจากผู้แทนขบวนองค์กรประชาชน เกือบ ๕๐๐ คน ของทุกท่าน ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า “หัวใจของการปฏิรูปประเทศไทย อยู่ที่การปฏิรูปสังคม ให้ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลังพลเมืองเข้มแข็ง”

เมื่อทุกคนทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องกันแบบนี้ คำถามที่ผมคิดว่าต้องหยิบนำมาพูดกันอย่างจริงจังก็คือเราจะวาง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานให้เกิดตามภาพฝันดังกล่าวอย่างไร”

“พลังพลเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย แต่ความจริงจังของพลังพลเมืองที่มีอยู่หลากหลายมีการเกาะเกี่ยวกันที่ขาดพลัง ขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลวิชาการ และขาดการสื่อสารทำความเข้าใจในประเด็นที่จะขับเคลื่อนที่ตรงกัน”

เป็นคำกล่าวของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในช่วงเช้าวันนั้น น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่และสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องนำมาขบคิดเพื่อวางยุทธศาสตร์ดังกล่าวกันอย่างจริงจัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น