วันเสาร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม : ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยที่ต้องคำนึง

๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๗

“ในการปฎิรูปด้านสังคมจะต้องมุ่งสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดสภาพ “ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม”

เป็นคำกล่าวที่ให้ภาพทิศทางที่ชัดเจนถึงทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยท่อนหนึ่งของ “นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน” ในนามสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่แสดงปาฐกถานำในเวที “สานพลังผู้สูงอายุในการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ อาคารรัฐสภา ๒

เวทีในครั้งนี้จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน ศตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เนื้อหาในปาฐกถาที่ "นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน" ได้แสดงไว้นั้น ล้วนอัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และน่าสนใจยิ่งนัก มีสาระที่สำคัญคือ

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ ๑๐ มาราวหนึ่งทศวรรษแล้ว ปัจจุบัน เรามีประชากรสูงอายุราวร้อยละ ๑๔ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประมาณร้อยละ ๑๙, ๒๖ และ ๓๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๓, ๒๕๗๓ และ ๒๕๘๓ ตามลำดับ

ประชากรวัยผู้สูงอายุนี้ หากนโยบายไม่ถูกต้องและบริหารผิดพลาด จะเป็นภาระแก่สังคมอย่างมากดังในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงที่สุดในโลก ถึงราวร้อยละ ๑๗.๙ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เป็นค่าใช้จ่ายในช่วงปีสุดท้ายของชีวิตถึงร้อยละ ๗๕ ประเทศไทยเปิดรับเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างเต็มที่และเดิมตามสหรัฐอเมริกามากว่า ๕ ทศวรรษ หากไม่ปฏิรูป เราจะเดินไปสู่หุบเหวหรือกับดักเช่นเช่นเดียวกัน

การตื่นตัวระดับสากล

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้รับรองเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๑ ได้กล่าวถึงการเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ บนพื้นฐานแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม ครอบคลุมผู้สูงอายุไว้ในข้อ ๒๕(๑) ดังนี้

“ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพ และความอยู่ดีของตนและของครอบครัวรวมทั้งอาหารเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์และบริการทางสังคมที่จำเป็นและมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน”

ทั้งนี้ สหประชาชาติได้มีการรับรอง “แผนปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุ” โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีผู้สูงอายุสากล และได้ประกาศ “หลักการในการเคารพสิทธิของผู้สูงอายุ” รวม ๑๘ ประการ

การดำเนินของประเทศไทย

น่ายินดีที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องผู้สูงอายุมาพร้อมกับการตื่นตัวของสากล ตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในการประชุมนานาชาติเรื่องผู้สูงอายุ ประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมโดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่ไปร่วมประชุมคือ “พลเอกสิทธิ จิรโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายสาธารณสุข คือ “นายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช” ซึ่งขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมการแพทย์

นายแพทย์บรรลุได้รับรู้ปัญหาและความสำคัญของผู้สูงอายุจากการประชุมครั้งนั้น และน่ายินดีที่ท่านได้จับงานนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า ๓๐ ปีแล้ว ข้อสำคัญประเทศไทยได้มีแผนพัฒนาผู้สูงอายุซึ่งเป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ขณะนี้อยู่ในระยะแผนที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๖๔) ซึ่งมีการประเมินกึ่งแผนไปแล้ว

ในปีเดียวกันกับที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปีผู้สูงอายุสากล ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ประเทศไทยได้ประกาศปฏิญญาผู้สูงอายุไทย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ไว้ ๙ ข้อ

ข้อ ๑ ผู้สูงอายุต้องได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี ได้รับการพิทักษ์และคุ้มครองให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง และละเมิดสิทธิโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้และผู้พิการที่สูงอายุ

ข้อ ๒ ผู้สูงอายุควรอยู่กับครอบครัวโดยได้รับความเคารพรัก ความเข้าใจ ความเอื้ออาทร การดูแลเอาใจใส่ การยอมรับ บทบาทของกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข

ข้อ ๓ ผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางสังคมอันเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมรอบด้าน เพื่อสามารถปรับบทบาทของตนให้สมวัย

ข้อ ๔ ผู้สูงอายุควรได้ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้สังคม มีโอกาสได้ทำงานที่เหมาะสมกับวัยและตามความสมัครใจ โดยได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและเห็นชีวิตมีคุณค่า

ข้อ ๕ ผู้สูงอายุควรได้เรียนรู้ในการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง ต้องมีหลักประกันและสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอนามัยอย่างครบวงจรโดยเท่าเทียมกัน รวมทั้งได้รับการดูแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบตามคตินิยม

ข้อ ๖ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่พึ่งพาตนเองได้ สามารถช่วยเหลือครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในสังคม เป็นแหล่งภูมิปัญญาของคนรุ่นหลัง มีการเข้าสังคม มีนันทนาการที่ดี และมีเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน

ข้อ ๗ รัฐโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน ประชาชน สถาบันสังคมต้องกำหนดนโยบายและแผนหลักด้านผู้สูงอายุ ส่งเสริมและประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้บรรลุผลตามเป้าหมาย

ข้อ ๘ รัฐโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน ประชาชน สถาบันสังคมต้องตรากฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ เพื่อเป็นหลักประกันและการบังคับใช้ในการพิทักษ์สิทธิ คุ้มครองสวัสดิภาพ และจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ

ข้อ ๙ รัฐโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน ประชาชน สถาบันสังคมต้องรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของผู้สูงอายุตามวัฒนธรรมไทยที่เน้นความกตัญญูกตเวทีและเอื้ออาทรต่อกัน

ในปีที่สหประชาชาติได้รับรองแผนปฏิบัติการนานาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ประเทศไทยก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในปีเดียวกัน และเมื่อสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ๒๕๔๒ เป็นปีผู้สูงอายุสากล สี่ปีต่อมาประเทศไทยก็ได้มี "พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖" กำหนดให้มีองค์กรผู้รับผิดชอบระดับชาติ มีกองทุนผู้สูงอายุ และมีการรับรองสิทธิของผู้สูงอายุ ไว้ ๑๓ ประการ

สิทธิทั้ง ๑๓ ประการนี้ นำสาระสำคัญส่วนหนึ่งจากหลักการเคารพสิทธิของผู้สูงอายุ ๑๘ ประการของสหประชาชาติมาบัญญัติไว้ในกฎหมายไทย หวังว่าในอนาคตจะได้มีการพัฒนาสิทธิเหล่านี้ให้เท่าเทียมกับสากลต่อไป

กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่มีคุณูปการอย่างยิ่งแก่ผู้สูงอายุและประชาชนคนไทยโดยรวม คือ "พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕" กฎหมายฉบับนี้ผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันคือ “นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ซึ่งทุ่มเททำงานเรื่องนี้มายาวนาน สามารถผลักดันจนเกิดกฎหมายและได้แปรเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นองค์กร และการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลอย่างดียิ่ง เป็นองค์กรที่สามารถพัฒนาจนบรรลุเจตนารมณ์ที่แท้จริงแห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างแท้จริง สามารถสร้างผลงานช่วยให้ประชาชนคนไทยกว่าค่อนประเทศมีหลักประกันที่แท้จริงด้านสุขภาพ บรรลุถึงหลักการแห่งความเท่าเทียม คุณภาพ และประสิทธิภาพ จนได้รับการยกย่องอย่างสูงในระดับนานาชาติ และในระดับชาติ องค์กรแห่งนี้ได้รับรางวัลองค์กรดีเด่นหลายประการ ข้อสำคัญประชาชนทั้งคนยากจนและคนชั้นกลางที่ล้มละลายเพราะการเจ็บป่วยร้ายแรงแทบจะหมดไปแล้ว

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นหนึ่งรูปธรรมของการปฎิรูปประเทศที่แท้จริง เพราะสามารถสร้างหลักประกันด้านสุขภาพอันเป็นสิ่งจำเป็น โดยค่าใช้จ่ายที่ประหยัดและมีประสิทธิสูงยิ่ง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพรวมเพียงร้อยละ ๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่านั้น เทียบกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีระบบประกันสุขภาพที่ดีเยี่ยม ใช้ไปร้อยละ ๙.๕ สหรัฐอเมริกาใช้สูงที่สุดในโลก ถึงร้อยละ ๑๗.๙ แต่ยังมีปัญหาทั้งเรื่องการควบคุม และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในระบบของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมประชากน ๔๗ – ๔๘ ล้านคนนี้ ใช้ค่าใช้จ่ายประหยัดที่สุด ส่วนที่สูงที่สุดคือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานของรัฐ ซึ่งสูงกว่า ๖ – ๗ เท่า

นี่คือเรื่องที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปต่อไป

กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ "พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔" กฎหมายฉบับนี้เริ่มต้นด้วยการศึกษาวิจัย ทั้งจากข้อมูลในต่างประเทศและในประเทศ ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นต้องสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้สูงอายุด้วยการออม จากนั้นได้มีการจัดประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติขึ้น มติชัดเจนให้สร้างระบบการออมขึ้น มติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขการคลังเป็นประธาน มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช” เป็นรองประธาน ได้จัดทำร่างกฎหมาย ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทูลเกล้าต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงลงปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ มีระยะเวลาให้เตรียมการหนึ่งปี แต่รัฐบาลไม่ยอมดำเนินการตามกฎหมาย

นับเป็นตัวอย่างของ “ประธาธิปไตยสามานย์” ที่ต้องมีการปฏิรูปต่อไป

แทนที่จะดำเนินการตามกฎหมายนี้ รัฐบาลสมัยนั้นกลับไปแก้ไขมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมเพื่อ “แข่ง” กับกฎหมายฉบับนี้ โดยมีการให้สิทธิซ้ำซ้อนแก่ผู้มีสิทธิอยู่แล้ว เช่น
ข้าราชการบำนาญ เป็นต้น เป็นทำลายหลักการ เพิ่มความไม่เท่าเทียม น่าเสียดายที่รัฐบาลภายใต้ คสช. ซึ่งประกาศ “คืนความสุขให้ประชาชน” กลับเห็นดีงามกับความไม่เทียมนี้ ซ้ำร้าย บ่ายเบี่ยง ซื้อเวลา ไม่ยอมเร่งรัดการบังคับใช้ พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติให้บังเกิดผลโดยเร็ว อ้างน้ำขุ่น ๆ ว่า เพราะ พรบ.นี้ ซ้ำซ้อนกับมาตรา ๔๐ ของ พรบ.ประกันสังคม ทั้ง ๆ ที่ พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติออกมาก่อน และเป็นหลักการที่ถูกต้อง

อันที่จริง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้นมีบทบัญญัติกำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างของรัฐต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายไว้อย่างอย่างชัดเจน เรื่องนี้มีหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ เสนอให้มีการดำเนินงานแล้วมากมาย เช่น กลุ่มแรงงานนอกระบบและคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น แต่ทั้งรัฐบาลและข้าราชการล้วน “ดื้อด้าน” ไม่ปฏิบัติตาม ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งนี้ จะต้องทบทวนว่า “จะต้องปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้ทั้งรัฐบาลและข้าราชการสามารถละเมิดรัฐธรรมนูญเหมือนที่ทำมาแล้วไม่ได้”
ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป

ในนามของสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จึงมีข้อเสนอโดยสรุป ดังนี้

ข้อ ๑ จะต้องมุ่งดำเนินการเรื่องผู้สูงอายุ โดยหลักการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุด และยาวนานที่สุด ให้ผู้สูงอายุเป็นพลังของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ มากกว่าจะเป็นภาระ สำหรัผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะต้องพึ่งพิง ต้องจัดระบบการดูแล ช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดย

• กำหนดเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อย่างน้อยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
• ส่งเสริมสิทธิของผู้สูงอายุตามหลักการของสหประชาชาติ
• บริหารจัดการให้กลไกต่าง ๆ ตามกฎหมาย เช่น พรบ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้บีลุผลตามเจตนารมณ์ รวมทั้งพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอ • เร่งรัดให้มีการดำเนินการตาม พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยเร็ว

ข้อ ๒ เพื่อให้บรรลุได้ตามข้อ ๑ จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เคยเผชิญปัญหาที่คับขันกว่าปัจจุบัน แต่สามารถฟันฝ่ามาได้ เช่น สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้วางรากฐานงานผู้สูงอายุเอาไว้ ได้นำประเทศฝ่าวิกฤตมาได้ โดยได้ดำเนินการสร้างความมั่นคงของประเทศ อย่างน้อย ๒ ด้านได้แก่

• สร้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยเฉพาคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ ได้สร้างความปรองดองในชาติอย่างได้ผล และสามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างน่าพอใจ • ด้านเศรษฐกิจ ได้เปลี่ยนอุตสาหกรรมของประเทศ จากเพื่อทดแทนการนำเข้า เป็นเพื่อการส่งออก ทำให้ลูกค้าเพิ่มจากหลัก ๕๐ – ๖๐ ล้านคนในประเทศไ เป็นหลักพันล้านคนทั่วโลก โดยการสร้างเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกและท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เป็นต้น มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ และสามารถควบคุมการทุจริตคอรัปชั่นได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ประเทศมั่งคั่งขึ้น จากเศรษฐกิจที่ติดลบ จนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงขึ้นระดับตัวเลขสองหลัก

ข้อ ๓ ในการปฎิรูปด้านสังคม จะต้องยึดหลัก ๒ ประการ คือ

• จะต้องมุ่งสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ลดสภาพ “ไหใหญ่ล้น ไหน้อยบ่เต็ม”
• จะต้องมุ่งสร้าง “สังคมที่คนไทยไม่ทิ้งกัน” ไม่แยกเพศ วัย ชาติพันธุ์ ศาสนา สร้างบ้านเมือง ชุมชนโดย “อารยสถาปัตย์” ให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยสะดวกตามสมควร

ข้อ ๔ จะต้องมุ่งแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปัจจุบัน นิยามผู้สูงอายุ คือ ผู้มีอายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไป นิยามดังกล่าวเหมาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเศรษฐกิจ สังคม ยังด้อยอยู่ ปัจจุบันประเทศไทยพัฒนาเลยขีดดังกล่าวมาแล้ว ควรปรับนิยามผู้สูงอายุใหม่ให้เหมือนสากล คือ อายุเกิน ๖๕ ปีขึ้นไป เพื่อขยายอายุการทำงาน และลดช่วงวัยพึ่งพิงลง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามข้อเสนอ ข้อ ๑

ข้อเสนอเรื่องนิยามใหม่ผู้สูงอายุ มีรายละเอียด ขั้นตอนการดำเนินการตามที่มีการเสนอแล้วจากผลการศึกษาวิจัยในการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ข้อ ๕ ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ จะต้องยึดหลักการสำคัญ คือ

• จะต้องมุ่งสร้างสวัสดิการสังคม ไม่มุ่งประชานิยม ข้อสำคัญคือ (ก) ต้องมุ่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีศักดิ์ศรี และสามารถพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ไม่มุ่งหาคะแนนนิยม และ (ข) ต้องระมัดระวังในเรื่องการเงินการคลัง หากจะมีค่าใช้จ่ายใด จะต้องเตรียมการเรื่องการหารายได้ที่มั่นคง ยืนยาว มาเป็นค่าใข้จ่าย
• การช่วยเหลือผ้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง ต้องมุ่งช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ในครอบครัวและชุมชนหลีกเลี่ยงการนำสังคมผู้สูงอายุ เข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักคนชรา ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังเป็นการแยกผู้สูงอายุจากครอบครัวและชุมชนด้วย

ข้อ ๖ ผู้สูงอายุกระจายอยู่ทั่วประเทศ การเตรียมการและแก้ปัญหาผู้สูงอายุต้องมีการกระจายอำนาจ โดยยึดแนวทาง ดังนี้

การกระจายอำนาจต้องกระจายให้ถึงประชาชนให้มากที่สุด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรุปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เสนอไว้ คือ “ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” สรุปสาระสำคัญ คือ ลดอำนาจส่วนกลาง ลดหรือเลิกอำนาจส่วนภูมิภาค เพิ่มอำนาจท้องถิ่น และเพิ่มอำนาจและความเข้มแข็งภาคประชาชนและประชาสังคม

การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งก้าวหน้ากว่ารัฐธรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ และต้องกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งกำหนดให้งบประมาณลงสู่ท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ ๓๕ ไม่หดเหลือราวร้อยละ ๒๖ – ๒๗ อย่างในปัจจุบัน

ข้อ ๗ การดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต แต่ก่อนคนไทยส่วนใหญ่จากโลกนี้ไปท่ามกลางการแวดล้อมของญาติมิตร ไม่จากไปอย่างโดดเดี่ยวพร้อมสายระโยงรยางค์ที่มุ่งยืดชีวิต ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการยืดความตาย สร้างภาระมากมายให้แก่ ทั้งลูกหลานคำ ญาติพี่น้อง และแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลรวมทั้งประเทศชาติ จนหลายครอบครัวต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เส้นทางนี้คือเส้นทางที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ดูแลระยะสุดท้ายในไอซียู คือ การดูแลแบบประคับประคอง ไม่ว่าจะที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อให้จากไปอย่างสง่า แทนที่จะจากไปอย่างอ้างว้างและทุกข์ทรมาน

นับเป็นปาฐกถาที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุราว ๑๔๐ คนในวันนั้น และที่สำคัญข้อเสนอทั้ง ๗ ข้อนี้ ถือเป็นการชี้ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยด้านสังคมไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหากดำเนินการได้สังคมไทยเราก็จะเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด สมกับที่ “นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน” ได้กล่าวปิดปาฐกถาไว้ว่า

“หวังว่าประเทศไทยจะมีการปฏิรูป เพื่อให้ผู้สูงอายุ และคนไทยทุกคนเป็นสังคมที่คนไทยไม่ทิ้งกันอย่างแท้จริง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น