วันเสาร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สมัชชาเธียร์เตอร์ : ให้อะไรตั้งเยอะ

๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗

“ในวันแรก เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ผู้เข้าชมภาพยนตร์ทั้งหมดคงประมาณ ๒๐๐ คน และคาดหวังว่าแต่ละรอบมี ๕ – ๑๐ คน ก็จะฉาย จึงได้จัดเก้าอี้ไว้เพียง ๕๐ ที่นั่งเท่านั้น และตั้งกติกาไว้ว่าถ้าเก้าอี้เต็มแล้วหรือเมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นแล้วจะปิดประตูไม่รับคนเพิ่ม

เมื่อเริ่มฉายหนังรอบแรกผลปรากฏว่ามีผู้เข้าชม ๓๐ คน และมีผู้ขอเข้าชมเรื่อยๆ แม้หนังจะฉายผ่านไปได้แล้วครึ่งเรื่องก็ตาม ทำให้ทีมงานมีกำลังใจและตื่นเต้นกับจำนวนผู้เข้าชมที่เกินคาดหมายตั้งแต่รอบแรก

เนื่องจากเป็นการดูหนังในมติใหม่ที่ได้ทั้งความบันเทิง ความรู้และผู้เข้าชมยังสามารถสะท้อนความรู้สึกแสดงความคิดดีๆที่เกิดขึ้นหลังจากดูหนังจบ จากกระบวนการชวนคิด คุย แลกเปลี่ยน ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เป็นเสียงสะท้อนของ “น้อย” หรือ “อรวรรณ์ ดวงดี” หนึ่งในทีมงาน “สมัชชาเธียร์เตอร์” ที่ได้ระบายความรู้สึกของตนแสดงถึงความรู้สึกประทับใจในงานที่เธอรับผิดชอบ

“สมัชชาเธียร์เตอร์” คืออะไร ฉายที่ไหน เมื่อไร อย่างไร คงเป็นคำถามสำหรับคนที่เข้ามาอ่านพบ

“สมัชชาเธียร์เตอร์” คือกิจกรรมหนึ่งที่คณะอนุกรรมการเรียนรู้ ที่มี “รัตนา สมบูรณ์วิทย์” เป็นประธาน ได้เสนอต่อ “คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗” ขอจัดกิจกรรมนี้ในเวทีการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๗ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา

คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ผมและ “สุรพงษ์ พรมเท้า” รับผิดชอบในกิจกรรม ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

แนวคิดหลักที่เราเห็นพ้องต้องกันคือ “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านความบันเทิง” หรือ “Edutainment” ที่มาจากคำว่า “Education” และ “Entertainment” มาสมาสกัน

กระบวนการสำคัญที่นำไปสู่แนวคิดหลักนั้น คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะต่อประเด็นที่แฝงอยู่ในหนังสั้น โดยจัดให้มีกระบวนกรชวนคิดชวนคุยกันหลังจากฉายหนังจบลงในแต่ละเรื่อง

ทีมงานช่วยกันคัดเลือกหนังสั้นภาพยนตร์ จนได้ออกมาทั้งสิ้น ๑๒ เรื่อง เป็นหนังที่จัดทำโดย

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวม ๓ เรื่อง คือ เรื่อง “พูดไม่ออก บอกไม่ได้” “สวรรค์บนดิน” และ “ตามรอยเขาเงินล้าน”

เป็นหนังเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “ราชประชานุเคราะห์” และ “จากดินสู่ฟ้า”

เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับการ “โกง” ๔ เรื่อง คือ เรื่อง “มิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล” “OPANAYIGO” “กล้วยแขก” และ “ความดีใต้โต๊ะ”

เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับ “ความเหลื่อมล้ำ” ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “สี่แยก” และ “ภิกษุณี”

เป็นหนังสั้นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทย ๑ เรื่อง คือ เรื่อง “ฝันประเทศไทย”

ทีมงานที่มาจากคนละที่กัน นอกจากผมกับ “สุรพงษ์ พรมเท้า” แล้ว ยังมี “อิสเรศณุชิตภ์ จันทร์ศรี” จากจังหวัดอุดรธานี “วาสนา ทองใบ” “อรวรรณ์ ดวงดี” และ “ธีรภัทร์ ปัดชา” จากจังหวัดเพชรบูรณ์

ได้น้องอาสาสมัครที่กำลังศึกษาด้านการละคร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ “น้องปูติน” และ “น้องนินา” มาเสริมกำลังทำให้งานเดินหน้าไปได้อย่างลงตัว

นอกจากเครื่องฉาย ระบบเสียงที่ดีแล้ว สิ่งที่แตกต่างจากโรงหนังโดยทั่วไปก็คือ กระดาษฟริบชาร์ต และ กระดานสำหรับแปะกระดาษโน๊ตรับความคิดเห็น ตั้งรายล้อมเก้าอี้ของผู้เข้าชม

และนี้คือผลที่ออกมา

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
เวลา ๑๑.๒๐ – ๑๒.๒๐ น. ฉายเรื่อง “พูดไม่ออก บอกไม่ได้” มีผู้เข้าชม ๓๑ คน
เวลา ๑๒.๒๐ – ๑๓.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ราชประชานุเคราะห์” มีผู้เข้าชม ๕๕ คน
เวลา ๑๓.๒๐ – ๑๔.๒๐ น. ฉายเรื่อง “มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล” มีผู้เข้าชม ๓๒ คน
เวลา ๑๕.๒๐ – ๑๖.๒๐ น. ฉายเรื่อง “กล้วยแขก” มีผู้เข้าชม ๔๒ คน
เวลา ๑๖.๒๐ – ๑๗.๒๐ น. ฉายเรื่อง “สวรรค์บนดิน” มีผู้เข้าชม ๑๖ คน

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗
เวลา ๑๑.๒๐ – ๑๒.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ฝันประเทศไทย” มีผู้เข้าชม ๘๐ คน
เวลา ๑๒.๒๐ – ๑๓.๒๐ น. ฉายเรื่อง “จากดินสู่ฟ้า” มีผู้เข้าชม ๗๖ คน
เวลา ๑๓.๒๐ – ๑๔.๒๐ น. ฉายเรื่อง “สี่แยก” มีผู้เข้าชม ๖๔ คน
เวลา ๑๔.๒๐ – ๑๕.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ความดีใต้โต๊ะ” มีผู้เข้าชม ๖๒ คน (โดยมีเด็ก ๆ จากเพื่อนบ้านกัมพูชามาร่วมชมด้วย ๑๙ คน)
เวลา ๑๕.๒๐ – ๑๖.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ภิกษุณี” มีผู้เข้าชม ๕๔ คน (โดยมีพระสงฆ์มาร่วมชมด้วย ๖ รูป)
เวลา ๑๖.๒๐ – ๑๗.๒๐ น. ฉายเรื่อง “ตามรอยเขาเงินล้าน” มีผู้เข้าชม ๒๘ คน

รวมจำนวนผู้เข้าชมทั้งสิ้น ๕๔๐ คน ซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้เกือบ ๓ เท่า

ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดูหนังสั้นเรื่อง “ฝันประเทศไทย” ในเช้าวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับจินตนาการของเด็ก เยาวชน ที่อยากเห็นอนาคตประเทศไทยในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าว่าเป็นอย่างไร และเขาต้องการมีบทบาทต่ออนาคตนั้นอย่างไรบ้าง ใช้เวลาที่ฉาย ๒๐ นาที หลังจากหนังจบลงได้มีข้อคิดเห็นจากผู้เข้าชมที่น่าสนใจ

สิ่งที่ผู้ชมมองเห็น คือ

• พ่อ-แม่ อยากให้ลูกทำตามความต้องการของตนเอง กลัวว่าลูกๆ (เด็ก เยาวชน) ไม่สามารถปกป้องตนเองจากสังคมได้ เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อ-แม่คิดถูกต้อง ดีเหมาะสมจึงต้องคอยจึงตีกรอบสร้างข้อจำกัดทางความคิด ตัดสินใจให้บังคับให้ทำตาม เมื่อความต้องการของพ่อ-แม่-ลูก ไม่ตรงกันจึงทำให้เกิดการต่อต้านทางความคิดและพฤติกรรมก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว

• เด็ก เยาวชน มีความคิดอิสระเป็นของตนเอง ต้องการตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบทำให้เกิดความสุขในการทำงาน เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างอาชีพและดำเนินชีวิตด้วยความสุขไปพร้อมๆ กันได้

• สังคมรับค่านิยมจากตะวันตก ทำให้มีความเชื่อว่าความเจริญทางด้านวัตถุคือสิ่งที่ดีและจำเป็นจึงให้ความสำคัญมากกว่าความเจริญทางด้านจิตใจ เกิดค่านิยมมีเงินแล้วจะมีทุกอย่างทำให้เกิดการแข่งขันมากกว่าแบ่งปัน เห็นชัดเจนตั้งแต่ ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ รายได้ ฐานะ

• การพัฒนากับโลกาภิวัตน์ไม่ทันกัน เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีค่านิยมฝากความหวังไว้ที่ผู้นำและส่วนกลางจึงเข้าใจว่าตนเองไม่ใช่คนทีต้องคิดเป็นเพียงคนปฏิบัติ

• รังเกียจอาชีพที่ต้องใช้แรงงาน หรือทำงานหนักได้เงินน้อย เช่น อาชีพทำนา สร้างค่านิยมทำงานน้อยแต่ได้เงินมาก

• การศึกษาเป็นแบบการศึกษาเชิงธุรกิจ มุ่งเน้นการแข่งขัน เอาชนะผลิตนักเรียนนักศึกษาที่เก่งด้านทักษะ/ความสามารถเฉพาะตัว แต่ไม่สอนให้มีค่านิยมในการทำงานร่วมกับคนอื่นให้ประสิทธิภาพสูงสุด

โดยผู้เข้าชมได้มีข้อเสนอแนะให้

• มีการรื้อฟื้นประเพณี/วัฒนธรรมเก่าๆ เพื่อให้รู้จักรากเหง้า สืบสานวิธีคิด ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์

• สนับสนุนให้คนในพื้นที่เรียนจบแล้วกลับบ้าน นำความรู้ความสามารถที่เรียนมากลับไปใช้พัฒนาในชุมชนพื้นที่ของตนเองเพราะจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนผู้คนในชุมชนและมีความเป็นเจ้าของ • สร้างความตระหนักให้คนไทยหันกลับมาพึ่งตนเองได้และร่วมมือกันรับมือกับประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น

• มีการปรับทัศนคติด้านการศึกษา ให้มีความภาคภูมิใจกับอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอาชีทำนาและไม่เปรียบเทียบอาชีพว่าดีกว่าหรือแย่กว่าเพราะทุกอาชีพมีความสำคัญต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
• กำหนดแนวทางพัฒนาที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ ปลูกฝังให้เป็นกรอบวิธีคิดจนเกิดเป็นค่านิยมของคนไทย

• ยึดหลักธรรมเนียมปฏิบัติทางด้านอาหารให้เน้นการบริโภคที่ส่งเสริมสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้นจะประทับใจกับความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นใน ๒ วัน กับหนังสั้น ๑๑ เรื่อง ที่ได้นำเสนอและสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทีมงานก็มีข้อเสนอแนะเพื่อต่อยอดกิจกรรมนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

• ควรใช้ประโยชน์จากเครือข่ายออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น โปรแกรมยูทูป เป็นต้น เผยแพร่หนังสั้นเหล่านี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเกิดเป็นเครือข่ายการทำงานได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น

• ควรเปิดโอกาสให้บุคคล องค์กร เครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจกรรมนี้ โดยควรจัดให้มีการประกวดหนังสั้นในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม หรือ “สมัชชาฮอตช๊อตฟิล์ม” แล้วนำมาเปิดฉายในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปี

• สร้างบรรยากาศภายในโรงหนังให้เป็นโรงหนังกลางแปลงจริง ๆ เช่น มีเสื่อปูในบางมุมสลับกับเก้าอี้ การออกแบบโรงหนังให้ดูคล้ายโรงหนัง เป็นต้น

• มีรอบการฉายที่ไม่แน่นจนเกินไป และมีการเพิ่มทีมคนทำงานให้เหมาะสมกับรอบการฉายนั้น

• ควรมีการเชิญตัวละครที่ปรากฏในหนังมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะสามารถสร้างสีสันและดึงดูดผู้ชมให้มากขึ้นได้

“ขอชื่นชมจริง ๆ สำหรับสมัชชาเธียร์เตอร์ โดยเฉพาะเรื่อง “สวรรค์บนดิน” ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ป้ามากเลย”

เป็นเสียงที่ดังมาจากปลายสายของเจ้าป้า “กาญจนา ประชาพิพัฒ” จากจังหวัดลำปาง เมื่อตอน ๒๒.๐๐ น. ของคืนวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ก่อนที่ผมจะนอน

1 ความคิดเห็น:

  1. ดีใจที่ผมเองได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม.."สมัชชาเธียเตอร์"

    ตอบลบ