วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

หลวงตาแชร์ : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย (ตอนที่ ๑)

๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗

เมื่อเอ่ยคำว่า “หลวงตา” ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน คงจะนึกถึง “หลวงตา” จากละครทีวีที่กำลังเผยแพร่ประจำวันหยุดอยู่ในขณะนี้ แต่บางคนคงคิดถึงหนังสือนิยายธรรมะสอนใจของ “แพร เยื่อไม้” อันเป็นนามปากกาของ “พระครูพิศาลธรรมโกศล (สุพจน์ กญจนิโก)” อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดประยุรวงศาวาส ที่โด่งดังมากกว่า ๔๐ ปี

แต่ “หลวงตา” ในปี ๒๕๕๗ ที่ผมกำลังกล่าวถึงนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ไม่ได้เป็นหลวงตาที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมหรือสื่อบันเทิงที่ผู้คนมากมายรู้จัก แต่เป็นหลวงตารูปหนึ่งที่พำนักอยู่ในอาศรมเล็ก ๆ เขตชนบท เป็นเพียงพระภิกษุบ้านนอกที่มุ่งมั่นปฏิบัติตนตามธรรมะวินัยรูปหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อเอ่ยชื่อออกมาน้อยคนนักที่จะรู้จัก

“หลวงตาแชร์พเนจรพัฒนา” ซึ่งศิษยานุศิษย์มักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “หลวงตาแชร์” ผู้อยู่เบื้องหลังงานพัฒนาตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ภาคและระดับชาติ ที่หลากหลาย คือ “หลวงตา” ที่ผมกำลังกล่าวถึง

งานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ถือเป็นแม่เหล็กดึงให้ผมและทีมงานต้องเดินทางไปยัง “อาศรมธรรมทายาท” ซึ่งตั้งอยู่ติดอ่างซับประดู่ ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา นั่นก็คือ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ประจำปี ๒๕๕๕ ว่าด้วยเรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ซึ่ง “หลวงตา” คือหัวขบวนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตั้งแต่เริ่มต้น

อะไร ทำไม อย่างไร คือคำถามที่คาใจผมและทีมงาน และถูกหยิบขึ้นมาสนทนาปรึกษาหารือกันถึงวิธีการค้นหาคำตอบระหว่างนั่งรถตู้ปรับอากาศเดินทางไปยังเป้าหมาย สร้างความหนักใจให้กับผู้ทำหน้าที่ขุด แคะ แกะ เกลา ไม่น้อย

พลันก้าวลงจากรถตู้ที่หน้าอาศรม ภาพที่ปรากฏยิ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผมและทีมงานมากขึ้น เพราะบนบริเวณลานธรรมอันโล่งกว้างใต้ร่มธรรมชาติอันเกิดจากกิ่งก้านไม้ที่ยื่นออกมาจากลำต้นนับสิบต้นรอบลานคลาคล่ำไปด้วยฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์ที่นั่งล้อมบนเก้าอี้พลาสติกสีแดงกระจายไปทั่วลาน เกือบ ๓๐ ชีวิต

ความเครียดความกังวลของทีมงานหายไปอย่างปิดทิ้ง เมื่อเวลาหลังจาก “หลวงตา” คนต้นเรื่องได้เปิดประเด็นกล่าวถึงที่ไปที่มาของเวที แต่ละคนยกมือขอพูดขอเล่าเพื่อบอกกล่าวให้เห็นถึงความคิดของตนที่มีต่อคนต้นเรื่อง สร้างความสนุกที่คลุกเคล้าด้วยสาระที่อัดแน่น ชี้เจาะกะเทาะแนวคิด ความมุ่งมั่นของเรื่องได้อย่างเข้มข้น ลึก จนผู้เป็นเจ้าของเรื่องเองยังอดกระซิบกับทีมงานว่า “ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย”

สายธารชีวิตของหลวงตาแชร์

หากกล่าวถึงปี ๒๔๙๕ ขึ้นมาลอย ๆ คนที่ได้ยินก็คงไม่คิดอะไรมากไปกว่าการเป็นปีหนึ่งเมื่อ ๖๒ ปีที่ผ่านมา แต่หากบอกว่าในปีนั้น เป็นปีเกิดของบุคคลสำคัญระดับโลกอย่าง “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีแห่งประเทศรัสเซีย “โยชิทากะ อามาโนะ” ศิลปินชาวญี่ปุ่น “ชารอน ออสบอร์น” นักแสดงและภรรยาของนักร้องดัง “ออสซี่ ออสบอร์น” เป็นปีเกิดของคนไทยที่มีชื่อเสียอย่าง “วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “กฤษณา ไกรสินธุ์” ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ “โภคิน พลกุล” นักกฎหมายชาวไทยและอดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่ง

ในปีเดียวกันนั้นครอบครัวทหาร “ทับเพ็ชร” ที่ตั้งรกรากอยู่ในมุมหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีคุณพ่อนาม “พันโทเพิ่ม” และคุณแม่ “มาลัย” ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ที่วันนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าทารกน้อยคนนั้นจะได้เติบโตมาเป็น “หลวงตา : พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย” บุคคลที่นั่งอยู่ตรงหน้าทีมงานเราอยู่ในขณะนี้

เด็กน้อยค่อย ๆ เติบโตขึ้นด้วยการเลี้ยงดูด้วยความรักและความเอ็นดูจากครอบครัวอย่างทะนุถนอม เมื่อย่างเข้าสู่วัยเรียนพ่อแม่ก็ส่งเข้าเรียนชั้น ป. ๑ ถึง ป.๗ ที่โรงเรียนสุขานารี จนจบแล้วไปต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

ปี ๒๕๑๑ เบนหน้าเข้าเรียนทางสายอาชีพ ที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา) และในช่วงนี้นี้เองที่ทำให้เขาที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นหันมาสนใจธรรมะเข้าเรียนพุทธศาสนาในทุกวันอาทิตย์

เหตุการณ์ที่เป็นจุดผลิกผันของชีวิตเกิดขึ้นในปี ๒๕๑๕ เมื่อชายหนุ่มวัย ๑๙ ขวบปีเต็มเกิดป่วยหนักในขณะที่เพิ่งเริ่มเข้าเรียนชั้นปีที่ ๕ ได้เพียง ๒๐ วัน ป่วยจนเรียนไม่ได้ จึงตัดสินใจไปเข้าเรียนวิปัสสนากรรมฐาน อยู่กับ “แม่ศิริ กรินชัย” เกิดศรัทธาในร่มพระพุทธศาสนา จึงขอไปปฏิบัติธรรมต่อที่แดนสงบ โดยฝึกปฏิบัติกับ “พระครูภาวนาวิศิษย์” ในที่สุดตัดสินใจบวชเป็นสามเณร และเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ก้าวเข้าสู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ บวชเป็นพระภิกษุศิษย์ของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มตัวในปลายปี ๒๕๑๙ นั้น

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็เริ่มแสวงหา จึงเดินทางไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของ “ท่านพุทธทาส” ที่วัดสวนโมกข์ จำพรรษาอยู่ ๒ ปี โดยในปี ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นปีแรกที่ไปจำพรรษาอยู่ที่นั่นก็สามารถสอบผ่านนักธรรมตรี และในปีถัดมาก็สอบผ่านนักธรรมโท และผ่านนักธรรมเอกในปี ๒๕๒๒ ในที่สุด

ปี ๒๕๒๕ ได้เข้าร่วมโครงการธรรมทายาทที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี และนำไปเปิดเป็นโครงการแรกที่ “อาศรม” ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี ๒๕๒๖ โดยร่วมกับพระลูกศิษย์ที่มีอยู่เพียง ๒ รูป ก่อนที่จะเดินทางไปดูงานแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองที่จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เป็นวิทยากรกระบวนการ หมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ทำงานทั้งในเขตจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดในเขตภาคอีสานทั่วทั้งภาค โดยทำงานอยู่ที่นั่นจนถึงปี ๒๕๓๓

ในช่วงปี ๒๕๓๔ หลวงตาแชร์กลับมานั่งคิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ก็คิดได้ว่า การที่วิ่งไปวิ่งมาแบบนั้นก็คงไม่เจริญเติบโต เลยล่ำลาเพื่อนพระสงฆ์และผู้ร่วมงานกลับมาปักหลักที่อาศรม ที่ปล่อยให้ลูกศิษย์อยู่เพียงลำพัง และเริ่มต้นโครงการ “แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง” ตามประสบการณ์ที่พบมากว่า ๗ ปี ในเขตอำเภอสีคิ้ว โดยคัดเลือกหมู่บ้านเป็นพื้นที่ปฏิบัติการได้ ๘ หมู่บ้าน แต่บางเวลาก็เดินทางไปร่วมขยายโครงการในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ควบคู่กับการพัฒนางานในเขตจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น

ในช่วงปี ๒๕๔๐ ซึ่งเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ ได้เกิดกองทุนหนึ่งที่เรียกว่า “กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม” หรือ “SIF : Social Investment Fund” เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มีผู้คนตกงานกลับคืนถิ่นสู่ชนบทกว่า ๒ ล้านคน รัฐบาลในขณะนั้นจึงตัดสินใจกู้เงินจากธนาคารโลกมาตั้ง “กองทุนชุมชน” อันเป็นกองทุนที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ต้องการแสวงหาทางออกใหม่ให้แก่สังคม ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน สร้างทุนทางสังคม มุ่งช่วยเหลือกลุ่มคนว่างงาน กลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส เสริมสร้างการพึ่งตนเองและความเข้มแข็งแก่ชุมชน และหวังผลให้เกิดประชาคมและธรรมาภิบาล ซึ่งหลวงตาแชร์เป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้าไปรับแนวคิดในเรื่องการขับเคลื่อน “กองทุน SIF” นี้

ในปี ๒๕๔๑ ได้ร่วมผลักดันโครงการอาสาสมัครประจำวัด (อสว.) กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการซึมซับงานด้านสุขภาพ จึงเริ่มพัฒนาโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน SIF และต่อมาในปี ๒๕๔๒ ได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้าเครือข่ายรับงบจากกองทุน SIF สูงถึง ๑๔.๒๖ ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน

ในการทำงานก็ใช้ทุนเดิมที่มีอยู่ ทำการประสานเครือข่ายที่รู้จักและเคยทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็น “เครือข่ายสังฆะพัฒนาโคราช” มีสมาชิกในเครือข่าย ๓๖ เครือข่ายย่อย เป้าหมายสำคัญของงานจะมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในจังหวัดนครราชสีมา

ปี ๒๕๔๔ เริ่มขยายเครือข่ายออกไปครอบคลุมในจังหวัดข้างเคียงในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น ๔๓ เครือข่ายย่อย ซึ่งเป้าหมายก็ยังคงขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าไม้เช่นเดิม ในการขับเคลื่อนได้รับงบประมาณจากกองทุน SIF จำนวน ๗.๙ ล้านบาท ในปีเดียวกันนี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง นำบทเรียนจากตำบลไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราชมาเป็นต้นแบบ ขยายผลในเขตจังหวัดนครราชสีมา รวม ๓๓ ตำบล

ปี ๒๕๔๕ จัดตั้งหน่วยสังฆะพัฒนาโคราช เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งในปีนั้นสามารถขยายเครือข่ายไปได้ครอบคลุมทั้ง ๓๒ อำเภอ และที่สำคัญก็คือได้รวมงาน อสว. เข้าไปในหลักสูตรไปด้วย

ในปี ๒๕๔๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลสีคิ้ว ในด้านการทำงานพัฒนาชุมชนก็เริ่มขยับงานงดเหล้าเข้าพรรษาที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ใน ๑๐๐ วัด ควบคู่ไปกับงานแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยสนับสนุน งานนี้ทำให้ได้รู้จักบุคคลสำคัญในเครือข่ายทั้ง ๔ ภาค

ในปี ๒๕๔๗ หลวงตาแชร์สำเร็จการศึกษาระดับพุทธศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากมหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มจร.) และได้รับการเลื่อนเป็น “พระครูใบฎีกา” ในงานพัฒนาก็ให้ความสำคัญกับโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา จนในทั้งสุดได้รับการหนุนเงินทำโครงการเป็นระยะ ๓ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๐ ครอบคลุมวัดทุกแห่งในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๒,๕๖๔ วัด

ในปี ๒๕๔๘ ได้เข้าร่วมโครงการกับศูนย์คุณธรรม โดยได้ปรับปรุงอาศรมเป็นศูนย์เรียนรู้ ทำการอบรมโรงเรียนผู้นำ และสร้างและขยายเครือข่ายจิตอาสา และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปริยัติธรรมและธรรมศึกษาประจำตำบลสีคิ้ว

ในปี ๒๕๕๐ เข้าร่วมขบวนสังฆะเพื่อสังคม ๔ ภาค ที่จัดขึ้นที่พุทธมณฑล เกิดเป็นเครือข่ายพุทธยันตรี ๔ ภาค สังฆะเพื่อสังคม

ปี ๒๕๕๑ รวมทั้งริเริ่มงานสวัสดิการเพื่อพระสงฆ์ ตามโครงการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการจัดสวัสดิการพระสงฆ์ครบทั้ง ๓๒ อำเภอ ซึ่งโครงการนี้ทำให้ได้เห็นข้อมูลพระสงฆ์ในภาพรวมทั้งจังหวัด และเป็นจุดกำเนิดของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพพระสงฆ์ในระดับประเทศ และในปีเดียวกันนี้เองที่ได้ร่วมกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จัดทำโครงการ “เติมหัวใจให้สังคม” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สนับสนุน

ในปีเดียวกันนี้ ได้รับการเลื่อนฐานะทางสงฆ์เป็น “พระครูอมรชัยคุณ”

ในปี ๒๕๕๒ ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการพุทธสมาคมอำเภอสีคิ้ว และประธานุเคราะห์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสีคิ้ว งานทางด้านพัฒนาก็ขับเคลื่อนงานสวัสดิการพระสงฆ์ต่อเนื่อง มีการถอดบทเรียนใน ๕ วัด

ปี ๒๕๕๓ จากประสบการณ์ในการทำงานด้านสวัสดิการพระสงฆ์มากว่า ๒ ปี ทำให้เห็นปัญหาสำคัญของพระสงฆ์ด้านสุขภาพอย่างมาก จึงมีดำริที่จะยกระดับการทำงานในพื้นที่ให้เป็นนโยบายสาธารณะระดับชาติ จึงเสนอเป็นประเด็นเชิงนโยบายเรื่อง “สุขภาวะพระสงฆ์” ตามกระบวนการของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประจวบเหมาะที่กรมอนามัยก็เสนอประเด็นเชิงนโยบายเรื่อง “วัดส่งเสริมสุขภาพ” เข้าไป ทำให้เกิดการบูรณาการเข้าด้วยกัน

ปี ๒๕๕๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการใน "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)" ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทำให้มีโอกาสทำงานกับเครือข่ายพระสงฆ์และกรมอนามัยในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้เพิ่มขึ้น ในที่สุดได้รับคัดเลือกให้เป็นประเด็นประชุมวิชาการในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔

ปี ๒๕๕๕ ด้วยความมุ่งมั่นของหลวงตาแชร์จึงจับมือกับทางกรมอนามัยพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายตลอดปี ๒๕๕๔ และในที่สุดก็ได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ และสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติเป็นมติ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”

ในปีเดียวกันนี้ ได้เข้าไปร่วมก่อตั้ง “มหาวิชชาลัยชุมชนย่าโม (มวย.)” และร่วมเป็นกรรมการและเป็นศิลปจารย์ใน มวย. ด้วย นอกจากนั้นยังได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น “วัดส่งเสริมสุขภาพ” จากกรมอนามัย

นอกจากนั้น ในปีนี้หลวงตายังได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประจำปี ๒๕๕๕ ประเภทสงเคราะห์ประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สาขาสงเคราะห์ประชาชนและชุมชน และได้เข้ารับพระราชทาน “เสาเสมาธรรมจักร” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี ๒๕๕๕ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

ปี ๒๕๕๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์เสมานครและนครจันทึก ซึ่งเป็นศูนย์ของ มวย. ทำการสอนนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี ในขณะที่ทาง มจร. ก็สนับสนุนงานสังฆะพัฒนา ๔ ภาค เกิดเป็นเครือข่ายสังฆะพัฒนาแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง

ปี ๒๕๕๗ ผลักดันงานการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ให้เป็นเป้าหมายหนึ่งในงานของเครือข่ายสังฆะพัฒนา และประสานงานกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๙ จัดทำโครงการขับเคลื่อนงานในเขตจังหวัดนครราชสีมา ประจวบเหมาะกับการเป็นแกนนำขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านศีล ๕ ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควบคู่ไปด้วยกัน

จะเห็นว่าตลอดสายธารชีวิตของหลวงตาแชร์ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ได้อุทิศชีวิตทั้งชีวิตให้กับงานทั้งการเผยแพร่พระศาสนา การอบรมจิตใจ และงานพัฒนาในหลากหลายสาขา โดยหลักการสำคัญที่ได้เห็นจากการศึกษาจะพบว่าจุดที่หลวงตาแชร์ให้ความสำคัญก็คือ “การสร้างเครือข่าย” ซึ่งจะเห็นว่าทุกงานหลวงตาแชร์ได้ใช้เครือข่ายเข้ามาหนุนการทำงานจนสำเร็จก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีทุกครั้ง

อย่าลืมติดตามต่อในตอนที่ ๒ นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น