๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๗
ตื่นเต้นกับการเฝ้ารอผลตอบรับจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อข้อเสนอ ๘ ประเด็นด้านสังคมที่เสนอโดย "คณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส" ที่มี "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ" เป็นประธาน
ผมได้มีโอกาสที่ดีมากที่ได้เข้าไปฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคมฯ ในวันที่มีการพิจารณาข้อเสนอด้านสังคมที่สมควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้มีโอกาสพูดคุยกับกรรมาธิการบางท่าน ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งเชิงกระบวนการและเชิงวิชาการ
จุดเริ่มต้นกระบวนการทำงาน เริ่มจากการทบทวนข้อมูลวิชาการจากแหล่งต่าง ๆ โดยเอกสารต่าง ๆ ที่ถูกหยิบมาใช้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญของไทยฉบับก่อนหน้า มติสมัชชาปฏิรูปของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และข้อเสนอขององค์กร เครือข่ายต่าง ๆ อีกมากมาย
ภาพฝัน "ภิวัฒน์ไทย" ที่เป็นผลสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้ง ๒๕๐ คน เมื่อวันที่ ๙ – ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่โรงแรมเซนทารา แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร กำหนดไว้ ๔ ประการ คือ
• หนึ่ง พลเมืองไทยมีคุณภาพ มีความรู้ มีคุณธรรม วินัย ภาคภูมิใจในความเป็นไทย รับผิดชอบเห็นแก่ส่วนร่วม สุขภาพดี
•สอง สังคมพหุวัฒนธรรม คนอยู่ร่วมกันได้บนความหลากหลาย เกื้อกูลแบ่งปัน
•สาม ชุมชนเข้มแข็ง ลดอำนาจรัฐส่วนบน ขยายอำนาจฐานการเมืองส่วนล่าง สร้างสมดุลระหว่างภาคการเมือง ราชการและประชาชน
•สี่ สังคมแห่งพลังปัญญา การใช้ข้อมูลความรู้เพื่อแก้ปัญหา สร้างมูลค่าและคุณค่า เป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
นับเป็นเป้าหมายสำคัญที่ถูกนำมาใช้เป็นกรอบความคิดในการยกร่างเป็นเอกสารตั้งต้น
ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้ช่วยกันเสนอให้เห็นสิ่งที่ "อยากเห็น อยากเป็น อยากมี" ในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ต่างช่วยกันเติมเต็มจนสมบูรณ์ ได้ภาพฝันในเป้าหมาย ๕ ระดับคือ
• หนึ่ง เป้าหมายระดับสังคมในภาพรวม : เป็นสังคมที่มีความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ สิทธิ เสรีภาพได้รับการคุ้มครอง มีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และเป็นสังคมคุณธรรม
• สอง เป้าหมายระดับพลเมืองในภาพรวม : บุคคลทุกคนได้รับการรับรองสถานะบุคคล ประชากรมีคุณภาพ มีความเกื้อกูลแบ่งปัน มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ตระหนักในหน้าที่พลเมือง มีสุขภาพเหมาะสมตามกลุ่มวัย และมีสวัสดิการสังคมที่ดีและครอบคลุม
• สาม เป้าหมายระดับชุมชน : ที่ต้องการเห็นชุมชนมีความเข้มแข็ง มีอำนาจกำหนดอนาคตตนเอง
• สี่ เป้าหมายระดับครอบครัว :ที่ต้องการเห็นครอบครัวมีความอบอุ่นและมีคุณภาพ
• ห้า เป้าหมายระดับกลุ่มคนต่าง ๆ : อันประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มบุรุษ กลุ่มแรงงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการหรือทุพพลภาพ บุคคลวิกลจริต บุคคลไร้ที่อยู่และไม่มีรายได้เพียงพอ บุคคลที่ไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีการกำหนดเป้าหมายที่อยากจะให้เกิดขึ้น เช่น มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากภาครัฐ ได้รับการคุ้มครองจากรัฐให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม โดยมีสภาพบังคับ และมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว เป็นต้น
เมื่อกรรมาธิการเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ต้องร่วมกันตัดสินใจก็คือ “ประเด็นสำคัญที่สมควรถูกนำไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ในที่สุดคณะกรรมาธิการฯ ได้เห็นชอบร่วมกันให้เสนอประเด็นสำคัญรวม ๘ ประเด็นต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง : ขอบเขตและความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ
• เสนอให้ให้เขียนความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญครอบคลุมในเรื่อง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล โดยมีขอบเขตครอบคลุมกลุ่มคนใน ๓ กลุ่ม คือ (๑) บุคคลทุกคนที่มีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย (๒) ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด สีผิว เพศ เพศสภาพ ภาษา ชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน และ (๓) คนสัญชาติไทยย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในหรือนอกประเทศไทย
ประเด็นที่สอง : สิทธิที่ควรได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ
• เสนอให้ขยายขอบเขตความคุ้มครองให้ครอบคลุมถึง “สิทธิการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์” และ“สิทธิได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย” เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ บัญญัติไว้เพียง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล” เท่านั้น
• โดยสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ สิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการและสภาพแวดล้อมอันเป็นสาธารณะ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนบริการอื่น รวมทั้งการช่วยเหลืออย่างสมเหตุสมผล อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
• และสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ ข้อมูลและข่าวสารสาธารณะในครอบครองของรัฐ โดยต้องอยู่ในรูปแบบ ช่องทางหรือวิธีการที่ทุกคนรวมถึงคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ด้วยตามมาตรฐานสากล”
ประเด็นที่สาม : ความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และการไม่เลือกปฏิบัติ
• เสนอให้เขียนว่า “ในการจัดสรรบุคคลลงตำแหน่งต่างๆ ในกลไกของรัฐทุกระดับ ต้องมีสัดส่วนเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า ๔ ใน ๑๐” เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
• และเสนอให้ขยายขอบเขตการไม่เลือกปฏิบัติให้กว้างขวางขึ้น โดยขยายการไม่เลือกปฏิบัติรวมไปถึง “เหตุมาจากความแตกต่างจากเพศสภาพ ชาติพันธุ์ สัญชาติ สีผิว พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด” เพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ที่กำหนดเหตุจาก “ถิ่นกำเนิด ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดทางการเมือง” เท่านั้น
ประเด็นที่สี่ : สิทธิชุมชน
• เสนอให้เขียนเรื่องสิทธิชุมชนให้ชัดเจนในการกำหนดอนาคตตนเอง จัดการกันเอง ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคล เพื่อจัดการกิจการสาธารณะ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์กันเองได้ มีการสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนที่เป็นจริง ให้สอดคล้องแนวคิด “ทุนสัมมา”
• และเพื่อให้ชุมชนมีสิทธิข้างต้น เสนอให้เขียนให้เห็น “การกระจายอำนาจรัฐไปสู่ชุมชน ให้อำนาจจัดการกันเอง โดยภาครัฐทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนากลไกสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งและสามารถกำหนดเป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์เฉพาะชุมชนได้ รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านจากนโยบาย แผนงาน โครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการในชุมชนนั้นแบบมีส่วนร่วม” ไว้ด้วย
ประเด็นที่ห้า : หน้าที่พลเมือง
• เสนอให้มีการกำหนดหน้าที่ของพลเมืองว่า “ทุกคนมีหน้าที่ในการร่วมพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงามของชุมชนและของชาติ มีหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของภาครัฐ และเสียภาษีตามความสามารถที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึง
• และเพื่อให้เกิดสิ่งดังกล่าว ได้เสนอเขียนให้ชัดเจนว่า “รัฐต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพการทำหน้าที่พลเมือง ตระหนักถึงคุณค่าหรือค่านิยมในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รักชาติ เสียสละ มีความเกื้อกูลแบ่งปันกัน เป็นสังคมแห่งพลังปัญญา สามารถ อยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม และสามารถรวมตัวกันเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หรือเครือข่ายพลังพลเมืองได้อย่างหลากหลาย โดยมีการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนที่พึ่งพาตนเองและทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม”
ประเด็นที่หก : การสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ร่มเย็นและเป็นสุข
• เสนอให้เขียนโดยกำหนดให้ “สถาบันครอบครัวมีหน้าที่พัฒนาสมาชิกในครอบครัวให้เป็นพลเมืองดี สร้างครอบครัวที่อบอุ่น พ่อและแม่มีสิทธิลาเพื่อดูแลบุตรในระยะเวลาที่เพียงพอ สร้างระบบและกลไกที่หนุนเสริมให้ครอบครัวมีบุตรที่มีคุณภาพ”
• และเพื่อให้เกิดสิ่งดังกล่าวได้จริง จึงเสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งร่มเย็นและเป็นสุข ให้สมาชิกมาอยู่รวมกัน มีระบบหนุนเสริมครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เด็กที่ถูกทอดทิ้งได้รับการส่งเสริมให้มีครอบครัวอุปถัมภ์หรือครอบครัวบุญธรรม มีการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูเยียวยาในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว”
ประเด็นที่เจ็ด : สังคมคุณธรรม
• เสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่าต้องมี “การจัดระบบและกลไกในการทำให้เกิดสังคมคุณธรรม มีความเกื้อกูลแบ่งปันกัน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของผู้อื่น และมีมาตรการและกลไกป้องกันและควบคุมการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกวงการอย่างจริงจัง”
ประเด็นที่แปด : การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม
ได้มีข้อเสนอที่สำคัญ รวม ๔ ประการ คือ
(๑) การปฏิรูปด้านสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ในเรื่องระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราและการเตรียมความพร้อมสู่วัยผู้สูงอายุที่เหมาะสมของประชาชน และปรับปรุงระบบการเกษียณอายุที่เหมาะสม และการนำทุนทางปัญญาของผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาประเทศชาติ รวมทั้งการมีระบบและกลไกให้เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ชมรม ที่เข้มแข็งของประชาชนวัยสูงอายุ
(๒) การปฎิรูประบบสวัสดิการที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้ ครอบคลุมทั้งด้านการบริการทางสังคม การประกันสังคม การช่วยเหลือทางสังคม และการสนับสนุนหุ้นส่วนทางสังคม
(๓) การเปิดช่องทางที่เปิดโอกาสให้แรงงานเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในกิจการที่ตนทำงานอยู่ได้
(๔) การกำหนดให้มีกลไกทำหน้าที่พัฒนาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และเสนอกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติเพื่อให้เกิดสุขภาวะในทุกมติ สังคมเป็นธรรมสูง ความเหลื่อมล้ำต่ำ โดยให้สามารถให้ดำเนินการให้ดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและต่อเนื่องในเวลา ๑๐ ปี
กำหนดการล่าสุดที่ทราบมาก็คือ ในวันที่ ๑๕ – ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ จะมีการเปิดประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้คณะกรรมาธิการฯ ชุดต่าง ๆ ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์และวิทยุตลอดการประชุม
ผมยังจำคำพูดของ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” ประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคมฯ ที่กล่าวไว้อย่างตอนท้ายของการประชุมได้ว่า
“หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บัญญัติสิ่งเหล่านี้ไว้ เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การภิวัฒน์ไทย ที่มีเป้าหมายในการสร้างสังคมแห่งพลังปัญญา เป็นสังคมคุณธรรม อยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีชุมชนที่เข้มแข็งเป็นรากฐานของประเทศ อันนำไปสู่ มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทําให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ อย่างแน่นอน”
นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ผมตื่นเต้นและเฝ้ารอผลการประชุมของ สปช. และเสียงตอบรับจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างใจจดใจจ่อตามไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น