๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๗
อสว. : นวัตกรรมด้านสุขภาพ
บนลานธรรมวันนั้น “นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก” หรือ “หมอแหยง” บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการสาธารณสุข ได้เข้ามาร่วมบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่เคยทำงานในการพัฒนาแกนนำประจำวัดที่เรียกว่าอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด ที่หลวงตาแชร์เป็นบุคคลผู้ร่วมขับเคลื่อนมาตั้งแต่ต้น
“ในส่วนที่ผมได้เกี่ยวพันกับหลวงตาตั้งแต่เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ตอนนั้นคิดว่าการพัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ต้องพัฒนาสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาให้สำเร็จนอกเหนือจากหมอ พยาบาล ครู แล้ววัดก็มีความสำคัญมาก คือ “บวร” หรือบ้าน วัด โรงเรียน มีส่วนเกี่ยวพันกัน
ในส่วนของบ้านก็ไปทำอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ตัวย่อว่า “อสม.” ในโรงเรียนนอกจากครูต้องมีแกนนำเรียกว่า “อสร.” หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงเรียน ในส่วนของวัดเนื่องจากพระสงฆ์เป็นที่เคารพในหมู่บ้านอยู่แล้วท่านจึงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่การจะให้ไปพูดกับพระสงฆ์ทุกรูปคงยาก ก็จำเป็นต้องมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับบ้าน และโรงเรียนจึงสร้าง “อสว.” ขึ้นมา
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือหลวงตาแชร์ เพระว่ามาหาท่านบอกว่าผมอยากทำตรงนี้ พระถ้าไปพูดทุกรูปคงยาก ถ้าเรามี “อสว.” ก็จะทำได้ หลวงตานี่แหล่ะขอเป็นอาสาสมัครแนวหน้า เป็นผู้มีบทบาทสร้างนำเป็นตัวอย่างการนำของวัด ท่านทำที่นี่ แล้วท่านก็ช่วยสอน ช่วยขยาย จนกระทั่ง อสว. ซึ่งนอกจากจังหวัดเรา จังหวัดอื่นก็นำไปเป็นตัวอย่าง”
จากปัญหาในพื้นที่สู่นโยบายระดับชาติ
จากการที่ทำงานสวัสดิการสังคมให้กับพระสงฆ์และการขับเคลื่อนงาน อสว. ในจังหวัดนครราชสีมามานานหลายปี ได้เห็นปัญหาที่กำลังถาโถมให้วงการพระพุทธศาสนาสั่นคลอน เหตุเพราะปัญหาสุขภาพของตัวพระสงฆ์เอง ทำให้หลวงตาค้นคิดหาทางแก้ไขปัญหานี้ในเชิงระบบครอบคลุมพระภิกษุสงฆ์ที่มีราว ๓ แสนห้าหมื่นรูป กระจายอยู่ในวัดและสำนักสงฆ์เกือบ ๔ หมื่นแห่ง
จากข้อมูลที่พบเจอ พบว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์กำลังมีแนวโน้มสุ.ขึ้นเป็นลำดับ ในจำนวนพระ ๓ รูป จะมี ๑ รูป ที่มีภาวะเจ็บป่วย และโรคนิยมที่เป็นกันในลำดับต้น ๆ ก็คล้ายคลึงกับฆราวาส นั่นก็คือ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคปอด และโรคหัวใจและหลอดเลือด
จากข้อมูลโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่สำหรับพระภิกษุ สามเณรในพระราชูปถัมภ์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมูลนิธิโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ ในปี ๒๕๕๔ ทำการตรวจคัดกรองสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ จำนวน ๙๔,๙๒๘ รูป จาก ๗๗ จังหวัด พบว่าพระภิกษุสงฆ์มีค่าน้ำตาลในเลือดสูง ร้อยละ ๑๗.๖ มีประวัติเป็นเบาหวานร้อยละ ๕.๒๓ ความดันโลหิตสูงร้อยละ ๔.๐๑
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำการสัมภาษณ์พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๒๔๖ รูป ใน ๑๑ จังหวัด พบพระภิกษุสงฆ์ประมาณครึ่งหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพกาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาโภชนาการ เช่น โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
และจากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงศ์เชาวลิตกุล ในเขตจังหวัดนครราชสีมาพบว่า พระภิกษุสงฆ์สูบบุหรี่ประมาณ ๒ ใน ๕ โดยเฉลี่ยสูบบุหรี่ ๘ มวนต่อวัน บุหรี่ที่สูงมาจากการซื้อเองเกือบร้อยละ ๙๐
ปัญหาสำคัญนอกจากการสูบบุหรี่แล้ว ยังมีอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การบริโภคอาหาร ซึ่งอาหารที่พระสงฆ์นำมาฉันนั้นส่วนใหญ่มาจากอาหารที่ใส่บาตรทำบุญของประชาชน ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลเสียต่อการเจ็บป่วยของพระภิกษุสงฆ์ เช่น แกงกะทิ อาหารที่มีไขมันสูง ขนมหวานต่าง ๆ
จุดสำคัญอีกประการหนึ่งที่พบก็คือ การส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์มีข้อจำกัด โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ยังไม่มีข้อแนะนำกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทำให้พระสงฆ์ทำได้เพียงการเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม การเก็บกวาดลานวัด โบสถ์ วิหาร และการตัดหญ้า เก็บกวาดใบไม้ เท่านั้น
จากการวิเคราะห์ข้อมูลวิชาการเห็นตรงกันว่า การพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านสุขภาพสำหรับพระภิกษุสงฆ์ที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ ยังเป็นการแยกส่วนกันทำ จึงทำให้ขาดการพัฒนาศักยภาพพระภิกษุสงฆ์ การรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนถวายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เป็นโทษต่อสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ และหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ที่จะก่อให้เกิดโรคเรื้อรังยังเป็นเรื่องยากลำบากที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ
นอกจากนั้น ยังขาดการส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาทุกระดับ จัดหลักสูตรการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย และการสร้างนวัตกรรมการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์อย่างต่อเนื่อง
จุดสำคัญเชิงกลไก นั่นก็คือ การขาดเจ้าภาพหลักในการดำเนินงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งขาดการบูรณาการการดำเนินงานทั้งภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของพระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน
แม้นจะอกหักจากการถูกปฏิเสธจากกลไกที่ทำหน้าที่จัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ที่เสนอให้จัดประชุมทางวิชาการเพื่อพัฒนาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายให้เข้มแข็งก่อน ก็ไม่ได้ทำให้หลวงตาอ่อนล้าและล่าถอยไป กลับตรงกันข้ามเดินหน้าชักชวนกรมอนามัยให้เข้าร่วมพัฒนาเอกสารให้มีคุณภาพ เพื่อรอเวลาวงจรสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีใหม่จะเริ่มขึ้น
เมื่อใบเชิญชวนจากกลไกจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ มาถึง หลวงตาก็รีบประสานงานกับเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายพระสงฆ์พัฒนาภาคอิสาน เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ประสานงานวัดอาศรมธรรมยาท มูลนิธิชีวิตพัฒนา เครือข่ายพุทธชยันตี สังฆะเพื่อสังคม และกลุ่มเสขิยธรรม จัดทำเอกสารตามแบบที่กำหนดจัดส่งไปให้พิจารณาในอันดับต้น ๆ
และคำตอบตอนปลายเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๕ ก็ทำให้หลวงตารู้สึกปิติ เมื่อทราบว่า ประเด็นเชิงนโยบายที่หลวงตาออกแรงมานานนั้นได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕
หลวงตาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น โดยมีทีมงานจากหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นทีมทำงาน ช่วยกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย จนสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ ได้อย่างมีคุณภาพ
สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ราว ๒ พันคน ต่างเห็นพ้องต่อข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”
และในคราวการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ หลวงตาแสนดีใจเป็นอย่างมาก เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบและมอบหมายให้มีการแจ้งมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่หลวงตาลงทุนลงแรงมาอย่างยาวนานให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบให้มีการนำไปพิจารณาแสวงหาวิธีการผลักดันและขับเคลื่อนมตินี้ให้บรรลุผลต่อไป
นับจากนั้นเป็นต้นมา หลวงตาก็กลายเป็นหัวขบวนรถไฟสายพระสงฆ์ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่หลวงตารู้สึกรักและเป็นเจ้าของอย่างเต็มกำลัง
แปลงนโยบายระดับชาติสู่รูปธรรมในพื้นที่
ด้วยความคิดที่ว่า ต้องสร้างรูปธรรมการทำงานให้เห็นก่อนการขยายผล หลวงตาจึงเดินหน้าแปลงนโยบายจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสู่แผนการทำงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
ยุทธศาสตร์ “เครือข่าย” ถูกนำมาใช้ โดยหลวงตาประสานงานกับคณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๙ นครราชสีมา องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา พัฒนา “โครงการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์อย่างยั่งยืน ปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐” ขึ้น มี “สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา” เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน
เป้าหมายสำคัญคือ ความต้องการให้พระสงฆ์ได้รับการส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่ยังไม่ป่วย มีการคัดกรองตรวจสุขภาพพระสงฆ์ประจำปีอย่างต่อเนื่อง มีระบบการรักษาพระสงฆ์เมื่อเจ็บป่วยได้อย่างทันท่วงที และมีความสะดวกคล่องตัวเต็มทั้งพื้นที่จังหวัด
วิธีทำงาน ได้ใช้การประสานองค์กรพระสงฆ์และสร้างเครือข่ายพระสงฆ์ให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ทันที จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด (อสว.) เป็นผู้ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ และที่สำคัญก็คือจะเชื่อมโยงกับผู้นำประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อทำให้พระสงฆ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และยังเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติให้เข้มแข็ง มีการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และทุก ๆ ด้านต่อไป
โดยคาดหวังว่าเมื่อสิ้นสุดปี ๒๕๕๗ จะเกิดคณะกรรมการและมีการจัดทำแผนปฏิบัติ มีการอบรม อสว. วัดละ ๑ รูป อย่างน้อย ร้อยละ ๕๐ ของวัดทั้งหมด มีการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ได้ร้อยละ ๕๐ ของพระสงฆ์ทั้งหมดในจังหวัด
และในปี ๒๕๕๘ ตั้งใจจะจัดอบรม อสว. ให้ครบวัดที่เหลือ ตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ให้ครบทุกรูป มีการพัฒนาระบบส่งต่อ รักษาสุขภาพพระสงฆ์อย่างเป็นระบบทุกขั้นตอน
บทสรุปที่ยากจะสรุป
ผมและทีมงานกรายนมัสการลาหลวงตาแชร์และผู้ร่วมวงบนลานธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เดินทางกลับด้วยใจเป็นสุข พวกเราคุยกันว่า จากความเครียดความกังวลในตอนเช้าระหว่างเดินทางไปได้มลายหายสิ้นไป ในทางกลับกันกลับถูกทดแทนด้วยความสุข ความสนุกที่ได้รับจากบรรยากาศและเรื่องราวที่ได้ยิน ได้เห็น ตลอดเวลาของการสนทนา
ผมลองถามทีมงานไปว่า “หลวงตาแชร์คืออะไร ?” คำถามนี้เล่นเอาทีมงานร่วมเดินทางเงียบไปโดยพลัน ผมได้ยินเสียงลมหายใจที่ผ่อนสั้นยาวของแต่ละคน บ่งบอกให้รู้ว่าแต่ละคนคงกำลังหาคำตอบอยู่ สุดท้ายทีมงานผมคนหนึ่งก็กล่าวว่า “สรุปยากจริงๆ”
คำตอบนี้ช่างตรงกับคำตอบที่กำลังผุดขึ้นในสมองของผมอย่างตรงเผง เพราะ “ยากที่จะสรุปจริง ๆ” พลันความจำของผมก็อดคิดถึงคำพูดของผู้ร่วมวงก่อนหน้านี้ ๓ ราย ที่กล่าวไว้อย่างกินใจ
“หมอแหยง” หรือ “นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก” ได้กล่าวเปรียบหลวงตาแชร์ว่า “ท่านเป็นผู้ปฏิบัติงานพัฒนาทุกด้าน ท่านเองเป็นผู้ปฏิบัติและนักปฏิบัติ นักบริหารในการที่จะทำงานให้สำเร็จ ท่านเป็นทั้งจิตปัญญาศึกษาผู้นำทางพุทธ ท่านไม่เอาคัมภีร์มาสอน ท่านปฏิบัติจริง นักศึกษาของเราต้องเรียนธรรมะ ๕ เท่า เราต้องใช้สถานที่เข้าค่ายหลังจากนั้นก็จะเป็นผู้นำกับผู้ที่มาสอนและท่านก็จะเป็นผู้สรุปบทเรียน นำบทเรียนนี้กลับมาสู่สังคมชีวิตได้อย่างไร ท่านเป็นภาคประชาชนธรรมดา ในฐานะที่ท่านเป็นพระพ่อ พระเพื่อน พระพี่น้องของทุกคน นำความรู้สึกในด้านจิตใจของมนุษย์ เป็นบุคคลธรรมดา ท่านเป็นผู้ที่อดทนในการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่ย่อท้อต่อสู้ ในการที่จะทำงานต่าง ๆ เหล่านี้ มีในตัวท่าน ที่เราจะยกย่องในตัวท่านต่อไป”
“ลุงโกวิทย์” หรือ “พ.ต.โกวิทย์ กลิ่นศรีสุข” ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “สิ่งที่เห็นในตัวท่านคือความกตัญญู แกดูแลมารดา ซึ่งทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งได้บุญ คือต้องอยู่ใกล้ ๆ เวลาป่วยต้องดูแลตลอดเวลา ถึงแม้ว่าแม่จะเป็นคนบ่นมากไปนิดหนึ่ง แต่ท่านก็เป็นคนดูแลตลอดเวลา อย่างอื่นก็มี ท่านเน้นเรื่องศาสนา ที่ชัด ๆ ก็คือ มีธรรมะสัญจร การปฏิบัติธรรมร่วมกันที่มีมา ๕ – ๖ ปี แล้วรู้สึกว่าจะได้ผลดีตลอดมา มีการปฏิบัติ และก็ขยายผลต่อไป”
และ “ป้าสุครีพ” หรือ “สุครีพ ภมรมาลีรัตน์” เป็นอีกคนหนึ่งที่กล่าวถึงหลวงตาแชร์ว่า “จะพูดว่าท่านเป็นเหมือนเทพเจ้า เทวดา ที่สอนให้เรารู้มีสติ มีปัญญา เวลาเราเขลาปัญญา ท่านก็บอกว่าเหตุเกิดที่ไหนปัญญาเกิดที่นั้นคิดดู แล้วท่านก็บอกว่าสักวันหนึ่งดอกไม้จะบานสะพรั่ง สักวันหนึ่งคนจริงจังหลากหลาย ดิฉันก็ไปพูดให้ลูกฟังว่า หลวงตาท่านสอนอย่างนี้นะ”
คำกล่าวของบุคคลทั้ง ๓ รายข้างต้นนี้ เป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า “หลวงตาแชร์คืออะไร” ได้เป็นอย่างดี สำหรับผมแล้ว ผมขอสรุปเพียงสั้น ๆ ว่า
“หลวงตาแชร์ คือ พระนักพัฒนาหัวใจเกินร้อย” ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น