๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๗
ธนาคารบุญ หลวงตาแชร์สงเคราะห์
จากลานธรรมที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจใฝ่ธรรม ได้มาฟังธรรมะของพระพุทธองค์ผ่านการเทศนาของหลวงตาแชร์ที่เรียบง่าย ใช้ภาษาที่ฟังเข้าใจ ปลุกจิตให้คิดถึงสัจธรรมในชีวิต บางบทกลายเป็นคำสอนในการดำรงชีวิตอยู่บนโลกอย่างมีสติ จากวงสมาชิกเล็ก ๆ เริ่มขยายวงกลายเป็นลานธรรมที่คึกคักตามกาลเวลาที่ผ่านไป
เมื่อการบรรยายธรรมสิ้นสุดลง ผู้มาร่วมกิจกรรมต่างใช้เวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ต่างเล่าให้คู่สนทนาได้รับฟังเรื่องราวทั้งสุขและทุกข์ของแต่ละคน กลายเป็นกลุ่มคนที่เป็น “เนื้อนาบุญเดียวกัน”
“เนื้อนาบุญ หมายถึง ผู้คนที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันที่อาศรมธรรมทายาท เกิดการจับกลุ่มกัน เกิดความเข้มแข็งรักใคร่กัน มีความซื่อสัตย์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงถือเป็นเนื้อนาบุญของหลวงตา” ลุงโกวิทฯ บอกเล่าให้กับทีมงานได้รับฟัง
จากการเริ่มต้นจากคนเพียง ๑๐ ถึง ๒๐ คน ค่อย ๆ ขยายเป็นวงกว้างขึ้น คนที่มาเมื่อเกิดศรัทธาในตัวของหลวงตาแชร์ เมื่อกลับไปก็ชักชวนดึงญาติพี่น้องมาร่วมวงในลานธรรมแห่งนั้น จนกลายเป็นลานธรรมที่มีสมาชิกเกือบ ๑๐๐ ชีวิต
“เมื่อเรามาอยู่เป็นกลุ่มเนื้อนาบุญเดียวกันแล้ว ญาติโยมก็ได้มาคุยกันว่าเรามาอยู่ที่นี่เราไม่มีหลักอะไรที่มันชัดเจนที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงตกลงให้มีการตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ผ่อนเดือนละ ๑๐๐ บาท ถ้าใครมีความเดือดร้อนก็ยืมไปใช้ได้ มีคณะกรรมการเก็บออมทรัพย์ ไปหาระเบียบและก็ดูโครงการที่อื่นเขามา แล้วมาจัดเป็นระเบียบในการออมทรัพย์เป็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ โดยมีหลวงตาเป็นผู้แนะนะ พวกเราจึงกราบนิมนต์หลวงตาให้เป็นประธานเสียเลย” ลุงโกวิทย์ หรือ "พ.ต.โกวิทย์ กลิ่นศรีสุข" อดีตข้าราชการทหารที่อาสามาทำหน้าที่เลขานุการธนาคารบุญภายหลังจากเกษียณอายุ เล่าให้ฟังย้อนกลับให้เราเห็นความเป็นมาเมื่อครั้งอดีต
“ต่อมาเราได้ตั้งชื่อเป็น “ธนาคารบุญ หลวงตาแชร์สงเคราะห์” ช่วงนี้มีเงินประมาณ ๓ แสนกว่าเกือบจะ ๔ แสน หมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืม การกู้ยืมนั้นก็ส่งตามสัจจะที่ได้กำหนดไว้ อย่างเช่นว่ายืมไป ๑๐,๐๐๐ บาท ส่งคืนเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ตอนแรกเราคิดว่าควรจะมีการเสียค่าบำรุงด้วย แต่ก็เห็นว่าเป็นเงินของพวกเราเอง เลยตกลงกันว่าไม่ต้องเสียค่าบำรุง ถือว่าตามศรัทธา ใครจะทำบุญก็ทำได้ เงินที่เหลือ ก็จะนำไปช่วยเหลือทุนทางสังคมต่าง ๆ”
ยังไม่ทันที่ลุงโกวิทย์จะพูดจบ พลันสายตาของผมก็หันไปเห็นยายคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ยกมือขอพูด และสิ่งที่พรั่งพรูออกจากปากของยายก็เล่นเอาผมและทีมงานอึ้งไปโดยพลัน
“ดิฉันชื่อตา อยากเล่าว่า ยามเกิดความเดือดร้อน เรื่องที่ดินกับบ้าน ถึงเวลาแล้วเขานัดสามเดือน มีเงินอยู่ไม่พอ ไม่รู้จะไปพึ่งใคร จึงคุกเข่าเข้ามาหาหลวงตา หลวงตาก็ให้ไปเรียกลูกหลานมาและให้ไปช่วยกันหามาผสมกันก่อน พอถึงวันกำหนดกลับมาเล่าให้หลวงตาฟังว่ายังไม่พอ หลวงตาก็ให้โทรให้ลุงโกวิทมาหา และบอกให้เอาเงินกองทุนช่วยยายซื้อบ้านที่อยู่แปดหมื่นบาท ครู่เดียวก็ตีเช็คออกมาให้เลยได้ไปวางเงิน นี้คือกองทุนบุญ พอเดือนหนึ่งลูกสาวคนเล็กมีก็เอามาคืนทุนให้หลวงตา ไม่ต้องเอาไปนาน”
ในขณะที่ยายตา ผู้โชคดีคนนั้นกำลังเล่าเรื่องที่ประสบกับตนเองให้ฟังนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นอย่างชัดเจน นั่นก็คือ ก้อนน้ำเล็ก ๆ ค่อย ๆ ซึมไหลออกจากดวงตาของยายทั้งสองข้าง ยายพยายามสะกดกั้น เอามือข้างหนึ่งปาดไม่ให้ใครเห็น น้ำเสียงสั่นเครือ บ่งบอกถึงความสำนึกถึงคุณค่าที่อยู่ในก้นบึ้งของหัวใจที่ได้รับจากหลวงตาแชร์ จนผมอดรู้สึกอยากจะร้องไห้ตามยายไปอีกคน
ลุงโกวิทย์กล่าวขึ้นหลังจากยายตากล่าวจบว่า “เกิดจากกลุ่มเนื้อนาบุญด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลที่ได้ก็ได้ไปช่วยสังคมด้วย ได้ช่วยเหลือคนที่มีความเดือดร้อน ทั้งคนที่มีภาระเรื่องเรียนหนังสือ หรือว่าจะไปซ่อมรถซ่อมเรือก็สามารถยืมได้ถ้ามีความจำเป็น และโดยเฉพาะที่ช่วยเหลือสังคมใหญ่ ๆ จะนำไปช่วยเราจัดงานอะไรต่างๆ เงินยังไม่พอเราก็มาหมุนไปใช้ก่อนได้ ที่แล้วซื้อที่ดินมันขาดเหลืออยู่เราก็เอาเงินตัวนี้ที่มีอยู่ไปช่วย ที่ดินวัดที่เราขยายนี่ครับก็มีส่วนไปช่วยเป็นแสนแล้ว อีกอย่างที่วัดดำรงอยู่ได้ แก้ปัญหาได้หลายอย่างครับ”
ผลพวงจากโครงการที่มาจากหลวงตา
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าในช่วงปี ๒๕๔๒ ได้เกิดกองทุน SIF ขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และหลวงตาแชร์เป็นบุคคลหนึ่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการขับเคลื่อนงานตามกองทุนชุมชนนี้ คุณค่าที่เกิดมากว่า ๑๕ ปี ได้บอกเล่าให้เห็นถึงคุณค่าที่ยังคงฝังตรึงอยู่ในจิตใจของบุคคลที่ได้รับอานิสงส์จากโครงการนี้และจากการหนุนเสริมจากหลวงตาแชร์ ได้อย่างชัดเจน
พ่อประสาสน์ หรือ "ประสาสน์ ทวีศรี" ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่บ้านศรีษะกระบือ อำเภอสีคิ้ว เป็นคนหนึ่งที่บอกเล่าให้กับทีมงานฟังว่า เมื่อปี ๒๕๔๒ ได้เดินทางมากับเจ้าอาวาสวัดในหมู่บ้าน มาเรียนรู้กระบวนการทำงานของหลวงตาแชร์ ได้เห็นสิ่งที่หลวงตาแชร์ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศชาติ จึงอาสาเข้าร่วมโครงการ SIF ได้เงินมาก้อนหนึ่ง จึงนำไปสร้างกิจกรรมและจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เกิดร้านค้าชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มทำอิฐทรายแดง กลุ่มน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มจักรสาน พวกเยาวชนก็จะให้รวมตัวกันทำหน้าที่ดูแลป่า น้ำ และแหล่งธรรมชาติ โดยก่อนที่จะทำอะไรหลวงตาแชร์จะเดินทางไปดูทุนและทรัพยากรในหมู่บ้านก่อนว่ามีอะไร ก่อนที่จะให้มุมมองให้คิดปรับให้เหมาะกับชาวบ้าน
ลุงอู๋เป็นอีกคนหนึ่งที่เล่าให้กับทีมงานเราฟังว่า เขาได้เดินทางตามเจ้าอาวาสวัดบ้านโป่งมากราบนมัสการหลวงตาแชร์ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๓ ในช่วงนั้นทำหน้าที่สอนดนตรีไทยบนศาลาวัด แต่ไม่มีเครื่องดนตรีไว้สอน มีเพียงระนาดผืนเดียว วันหนึ่งเกิดเหตุเห็นเด็กตกน้ำตายที่วัด ก็เลยคุยกับเจ้าอาวาสวัด และเสนอว่าถ้าเอาเด็กพวกนี้มาเรียนดนตรีไทยกันรับประกันได้ว่าจะไม่มีเด็กตกน้ำอีก คุยกันเล่น ๆ เจ้าอาวาสวัดเลยพามารู้จักกับหลวงตาแชร์ แล้วเข้าร่วมโครงการ SIF ได้แรงบันดาลใจและคำแนะนำจากหลวงตาแชร์ว่า “เออต้องทำอย่างนั้นนะ อย่างนี้นะ” ก็ทำกันมาเรื่อยมาจนมีคนรู้จักทั่วไป จนเครื่องดนตรีที่ได้มาสามารถช่วยสร้างโบสถ์ได้ นอกจากนั้น จากจุดเริ่มต้นนั้นก็ทำงานเรื่อยมา จนปัจจุบันได้ก่อตั้งกับหลวงตาที่วัดบ้านโป่งเป็น “วิชชาลัยชุมชนบ้านแก้ว” ก็คือรวบรวมผู้คนที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ มารวมกัน
ในขณะที่ผมฟังลุงอู๋เล่าเรื่องราว “ดนตรีไทยสร้างโบสถ์” ไป ผมหันไปมองหน้าทีมงานที่เดินทางไปด้วยกัน ผมคาดเดาในใจแบหนึ่งว่าทุกคนคงเหมือนตกอยู่ในพะวังก์ ถูกสะกดจิตด้วยมนต์ขลังของเรื่องเล่าที่ได้ยินเฉกเช่นเดียวกับผมอย่างแน่นอน
ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น : นวดไทยวิธีพุทธ
ในตอนหนึ่งของการสนทนากลางลานธรรม ป้าแสงจันทร์ หรือ “แสงจันทร์ จันทร์ผ่องจินดา” ได้บอกเล่าคุณค่าการนวดไทยวิธีพุทธ ที่เกิดขึ้นที่อาศรมธรรมทายาทให้กับทีมงานเราฟังด้วยความสนุก
“ก่อนนี้ได้ใช้นวดแผนไทยวิถีพุทธ กับสามีที่เคยรับราชการทหารแล้วประสบอุบัติเหตุเลือดคั่งสมองเป็นอัมพฤกษ์ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ นวดมาเรื่อย จนปี ๒๕๔๗ ได้มารู้จักหลวงตาแชร์ ท่านก็ถามว่าเอาโยมผู้ชายไปนวดที่ไหน ก็บอกว่าไปที่อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี เกือบ ๔ ปี เมื่อปีกลายไปที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ หลวงตาท่านเลยชวนให้เข้าโครงการนวดแผนไทยที่เปิดขึ้นที่อาศรม เลยเปลี่ยนมานวดที่นี้แทน”
“ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ดิฉันเจอกับตัวเองนะคะ สามีดิฉันเดินได้ทุกวันนี้เพราะนวดแผนไทย แข็งแรงขึ้น อยากจะบอกว่าโครงการนวดแผนไทยของหลวงตาแชร์ เป็นการสืบทอดมาจากโบราณ”
สิ้นเสียงป้าแสงจันทร์ที่บอกเล่าอย่างมีความสุขถึงผลที่ได้รับจากการนำสามีของเธอมานวดแผนไทยที่อาศรมธรรมทายาท จนสามีมีอาการดีขึ้น ตัวละครหนึ่งที่ป้าแสงจันทร์กล่าวถึง คือ “ยายตา” ว่าคือหมอนวดแผนไทยคนนั้นคนที่ช่วยให้สามีเธอมีร่างกายฟื้นคืนกลับมา ผมหันไปเห็นสตรีร่างผอมเล็ก แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มยกมือขึ้นขอพูดบ้าง ทุกคนในวงสนทนาต่างกล่าวขึ้นพร้อม ๆ กันว่า “นี่แหละคือยายตา” ในใจผมคาดไม่ถึง เพราะไม่เชื่อว่าสตรีร่างผอมเกร็งคนนี้จะมีแรงนวดได้จนมีผู้คนติดอกติดใจ
“สวัสดีค่ะขอเป็นภาษาอีสานนะ ขอโทษหลาย ๆ แล้ว เป็นคนยากคนจนอีหลี ในปี ๒๕๔๒ ขึ้นมาหาหลวงตา ขนหินขนทรายแม่เป็นคนเฮ็ด ปูนแม่เป็นคนผสมปี ต่อมาปี ๒๕๔๗ ห้าปีผ่านไป เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ลูกก็ตั้ง ๘ คน หลานอีก ๑๕ คน บัดนี้แม่ก็มาอยู่กับหลวงตาแชร์ พบแต่ความสุขความเจริญทุกอย่างได้สำเร็จ ทุกประการ”
“ในปี ๒๕๔๗ มาเรียนนวดแผนไทย ที่หลวงตาแชร์ไปหาครูมาสอนมีจำนวน ๓๕ คน แต่ว่าเขาก็ขยายออกไปข้างนอกได้ก็สำเร็จทุกคนนั่นแหละ เวลามีงานกฐินเขาก็มาช่วย แม่ภูมิใจในตัวแม่เองก็คือว่า หนึ่งได้เป็นหมอมีแพทย์ทางเลือกของตำบลมิตรภาพก่อนพ.ศ.๒๕๕๓ แม่ไม่ได้ไปสอบอะไรแต่ว่ามีหมอเขาเข้ามาสอบแม่ว่าทำอย่างไรถึงรักษาคนมีคาถาวิชาอะไร เขาก็เข้ามาถามแม่ก็บอกว่ามีวิชาหยังดอกมือสิบนิ้ว ได้มือสิบนิ้วนี่แหละ คนแปดคนเอาพลังมาจากไหนเขาถาม พลังก็มีจากจิตเมตตา อย่างเดียว เงินล่ะชั่วโมงละเท่าไหร่ แม่บอกไม่มีชั่วโมง ค่าครู ๑๒ บาท แล้วแต่ศรัทธาที่มีต่อแม่ ถ้าไม่มีมือ ๑๐ นิ้วแม่ก็เอาขอให้คนหายแม่ก็ดีใจ”
นี่คือเรื่องเล่าของป้าแสงจันทร์ กับยายตา ที่บอกเล่าให้เห็นว่าหลวงตาแชร์ได้ให้การสนับสนุนงานนวดแผนไทยอย่างไร ซึ่งถ้าถอดรหัสจากการบอกเล่าจากสุภาพสตรีทั้งสองคน จะพบว่าได้ช่วยเหลือทั้งด้านสุขภาพ ด้านการหารายได้ เป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้คน และที่สำคัญได้ช่วยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงามไว้ให้อนุชนรุ่นหลังอีกด้วย
หลวงตาแชร์ได้มอบเอกสารกับทีมงานมาหนึ่งเล่ม ในเอกสารเล่มนั้นได้มีการบันทึก “วิสัยทัศน์ของหลวงตาแชร์กับ การนวดแผนไทยวิถีพุทธ” ไว้ โดยชี้ให้เห็นว่า การนวดแผนไทยวิถีพุทธ ต้องประกอบด้วย
หนึ่ง การนวดแผนไทย เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ มุ่งสร้างพลังทางสุขภาวะของสังคม
สอง จิตวิญญาณของผู้นวด ประกอบด้วยความมีจิต เมตตา กรุณา คือ มีความปรารถนาให้ผู้อื่น พ้นจากความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ
สาม ผู้นวด เป็นผู้มีศีล สมาธิ เพื่อแผ่พลังออกมาทางมือที่กำลังทำงานอยู่ สมาธิจะทำให้เกิดพลังแห่งการเรียนรู้ โดยอาศัยกระแสแห่งความสัมผัสที่เรียบง่ายแต่ล้ำลึกและมีอำนาจทรงพลังทีเดียว
สี่ พลังแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งสามารถที่จะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสติปัญญา จากจุดหนึ่งสู่จุดหนึ่ง ไม่สามารถที่จะให้ใคร ลอกเลียนแบบได้ ด้วยกระแสแห่งสายโลหิตแห่งชาติพันธุ์ไทยแท้แต่สมัยพุทธกาล มีปูชนียบุคคล คือหมอชีวกโกมารภัจจ์ของเรานั้นเอง
ห้า สุขภาวะทางครอบครัวอบอุ่น จึงเป็นเป้าหมายสูงสุดเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมในยุคปัจจุบัน และมิใช่เพียงเพื่อระบบธุรกิจอันกว้างขวางใหญ่โต ความสุขที่ประกอบด้วย พลังแห่งพรหมวิหารธรรมจึงเป็นสิ่งประเสริฐและมีค่ายิ่งในทุกยุคสมัยนั่นเอง
หลวงตาแชร์ตบท้ายท้ายเอกสารไว้อย่างลึกซึ้งว่า “การนวดแผนไทยเป็นการช่วยเหลือให้มีการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้พ้นจากอำนาจกิเลส โลภ โกรธ หลง เพราะจิตใจของผู้นวดปรารถนาให้ผู้ป่วยหายจากโรค นี่คือ ความหวังของผู้ป่วยและหมอนวดนั่นเอง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น