วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชุมชนเป็นนิติบุคคล : เป็นไปได้หรือ

๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗

“ชุมชนต้องมีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง จัดการกันเอง ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคล เพื่อจัดการกิจการสาธารณะ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์กันเองได้ มีการสนับสนุนสัมมาชีพชุมชนที่เป็นจริง ให้สอดคล้องแนวคิด “ทุนสัมมา”

โดยต้องมีการกระจายอำนาจรัฐไปสู่ชุมชน ให้อำนาจจัดการกันเอง โดยภาครัฐทำหน้าที่หนุนเสริมการพัฒนากลไกสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งและสามารถกำหนดเป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์เฉพาะชุมชนได้ รวมทั้งมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านจากนโยบาย แผนงาน โครงการและกิจกรรมที่จะดำเนินการในชุมชนนั้นแบบมีส่วนร่วม”

เป็นข้อความที่ปรากฎอยู่ในข้อเสนอของ "คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส" (กมธ.ด้านสังคมฯ) ที่เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยเรา

แนวคิดนี้นับเป็นกระแสที่มีการหยิบมาพูดกันในวงกว้าง และได้เกิดคำถามมากมายว่า การที่จะให้ชุมชนเป็นนิติบุคคลนั้น จะทำงานอย่างไรกับโครงสร้างและกลไกที่มีอยู่เดิมอย่างไร โดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่เป็นองค์กรนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายจัดตั้งกำหนดแทบจะเรียกว่ารอบด้านอยู่แล้ว

ผมพยายามคิดใคร่ครวญหาคำตอบอยู่นาน จนได้มาพบหนังสือ “ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” ที่จัดทำโดย "คณะกรรมการปฏิรูป" ที่มีการเผยแพร่มาตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๕๔ ได้ให้คำตอบในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

สาระสำคัญที่ผมจับได้ สรุปได้ว่า

ชุมชนนั้นเกิดมานานแล้ว และมีอำนาจที่มีมาแต่เดิมในการบริหารจัดการตนเองภายในชุมชนและท้องถิ่น มาก่อนที่จะมีการถ่ายโอนอำนาจไปยัง อปท.

แนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างภายในชุมชน จึงเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างอำนาจของ อปท. ที่มีอำนาจตามกฎหมายกับการรับรองบทบาทและอำนาจที่มีโดยธรรมชาติของชุมชน ที่เน้นการแสวงหาข้อตกลงร่วมกัน โดยกระบวนการในแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างหลากหลายไปตามระบบนิเวศวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนหรือกลุ่มชาติพันธุ์

หลักการพื้นฐานสำคัญที่ต้องนำมาใช้ คือ “การกระจายอำนาจแนวราบ” ที่ยอมรับในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของอำนาจตามกฎหมายและอำนาจตามธรรมชาติที่มีอยู่

การสนับสนุนบทบาทของชุมชน สามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง เช่น

• การยอมรับในบทบาทการจัดการของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น การให้บริการสาธารณะ และการวางแผนการพัฒนาท้องถิ่น โดยจะต้องยอมรับความจำเพาะและความแตกต่างหลากหลายทางระบบนิเวศน์วัฒนธรรมของแต่ละชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นด้วย

• การเอื้ออำนวยความสะดวกในการจดแจ้งองค์กรชุมชน/องค์กรภาคประชาสังคม ให้สามารถมีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะทำให้องค์กรชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการในท้องถิ่นได้สะดวกขึ้น และมีการใช้สิทธิในด้านต่าง ๆ ในระบบการบริหารราชการ รวมถึงการใช้สิทธิความเป็นนิติบุคคลในระบบกฎหมายและในกระบวนการยุติธรรมด้วย

• การสนับสนุนให้องค์กรชุม/องค์กรภาคประชาสังคม เป็นหน่วยบริการที่สามารถบริหารจัดการตนเองในรูปแบบต่าง ๆ ได้ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยตรงจากท้องถิ่นและจากรัฐบาล ภายใต้มาตรฐานที่กำหนดอย่างเหมาะสม

• การถ่ายโอนงบประมาณควรจัดสรรลงไปสู่ประชาชน ในลักษณะของการให้งบประมาณตามตัวผู้ใช้ จะช่วยให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการตัดสินใจใช้งบประมาณหรือเลือกผู้ให้บริการด้วยตนเอง ซึ่งผลหน่วยบริการส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นองค์กรชุมชนเอง

บางคนอาจจะถามว่า แล้วองค์กรชุมชนที่เกิดขึ้นนี้จะทำงานกับ อปท. อย่างไร

คำตอบก็คือ ให้นำหลักการ “ประชาธิปไตยทางตรง” มาใช้ควบคู่ไปกับหลักการ “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” โดยผู้บริหารและสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทำหน้าที่ตัดสินใจต่อเรื่องที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตและทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่น

แล้วให้มีการตั้ง “คณะกรรมการประชาสังคม” เป็นกลไกเชื่อมโยงประชาชนและชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการบริหารจัดการท้องถิ่น

องค์ประกอบของคณะกรรมการประชาสังคม จำแนกเป็น ๒ ส่วน คือ
• ส่วนที่ ๑ เป็นกรรมการประจำที่มีวาระการดำรงตำแหน่งที่แน่นอน ไม่เกิน ๑ ใน ๓ มาจากการคัดเลือกจากผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กร อาชีพ ศาสนา และองค์กรประชาสังคมอื่น ๆ และ
• ส่วนที่ ๒ เป็นกรรมการเฉพาะกิจที่หมุนเวียนเข้ามาทำหน้าที่ในภารกิจแต่ละด้าน เป็นผู้ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมด้วย

คณะกรรมการประชาสังคม จะทำหน้าที่ถ่วงดุลการตัดสินใจของ อปท. โดยมีอำนาจในการแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเห็นและแนวทางเลือกต่าง ๆ ในการตัดสินใจจากชุมชน จากประชาชน และจากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง

การตัดสินใจที่สำคัญของ อปท. ที่อาจกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในท้องถิ่น จะต้องผ่านคณะกรรมการประชาสังคม โดยคณะกรรมการประชาสังคมก็จะต้องจัดและเอื้อให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ปรึกษาหารือ และแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยเฉพาะจากสมาชิกในชุมชนและในท้องถิ่น

แต่คณะกรรมการประชาสังคมไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการยับยั้งการตัดสินใจ หรือถอดถอนผู้บริหารและสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นกลไกในการนำการตัดสินใจคืนให้กับประชาชน ผ่านการลงประชามติ หรือการลงลายมือชื่อรับรองหรือยับยั้งการดำเนินงานของท้องถิ่น

สรุปก็คือคณะกรรมการประชาสังคม จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างการใช้ประชาธิปไตยทางตรงกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผ่านการปรึกษาหารือและการต่อรองระหว่างประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น ในหนังสือเล่มเดิม ยังได้ชี้ให้เห็นการเติบโตของชุมชนและภาคประชาคมและมีข้อเสนอที่น่าสนใจอีกว่า

การก่อตัวและการเติบโตควรเป็นไปตามธรรมชาติ มิใช่การบังคับกะเกณฑ์ให้เกิดขึ้นจากกลไกรัฐ จึงต้องยอมรับว่า การเกิดขึ้นและความเข้มแข็งของความเป็นชุมชนและความเป็นประชาสังคมอาจแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น

ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้น ภาครัฐและองค์กรภายนอกต้องทำหน้าที่หนุนเสริม โดยไม่ไปทำลายจุดแข็งและความอิสระของชุมชน/ประชาสังคม ซึ่งการส่งเสริมสนับสนุนที่ดีที่สุ คือ การกระตุ้นและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนในเครือข่ายและการเรียนรู้จากความผิดพลาดและความสำเร็จขององค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมด้วยกัน

และเพื่อให้มีการทำงานได้ จึงเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนในระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม โดยใช้กลไกเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเป็นผู้บริหารจัดการ

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดกลไกเรียนรู้และต่อรองในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศและการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งระหว่าง ส่วนกลาง อปท. และชุมชน โดยไม่ใช่อำนาจที่กดทับลงมาจากส่วนกลาง หรือจากราชการส่วนท้องถิ่นเช่นที่ผ่านมา

ผมอ่านมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมเห็นความสอดคล้องกันระหว่างเอกสารที่ผมหยิบมาศึกษากับข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ และได้พบคำตอบในคำถามที่มีหลากหลายอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งเรื่อง บทบาทหน้าที่ขององค์กรชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่าง อปท. กับองค์กรชุมชน และแหล่งทุนดำเนินการ

ข้อมูลเหล่านี้นับว่ามีประโยชน์มากและถือเป็นข้อมูลตั้งต้นในการนำไปคุยกันต่อได้เป็นอย่างดี

คำบางคำอาจจะปรับเปลี่ยนได้ เช่น คำว่า “คณะกรรมการประชาสังคม” อาจแปรเปลี่ยนไปเป็น “สภาพลเมือง” ที่เป็นคำอีกคำหนึ่งที่ถูกหยิบมาพูดคุยกันอยู่ในขณะนี้อย่างหนาหู

ซึ่งสิ่งเหล่านั้น ถือเป็นรายละเอียดในการจัดทำต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การยอมรับในอำนาจของชุมชน ที่เชื่อว่า ชุมชนนั้นมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลและจัดการสิ่งต่าง ๆ มาตั้งแต่อดีต ก่อนที่จะมีองค์กรใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาภายหลังอย่าง กระทรวง กรม จังหวัดและ อปท. ระดับต่าง ๆ

ฉะนั้น จึงอยากเรียกร้องไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิชุมชนที่มีสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ ข้างต้นอย่างจริงจังด้วย

เรามาร่วมกันเดินหน้าเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทยกันเถอะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น