วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปประเทศไทย (ตอนที่ ๒): พัฒนาการปฏิรูประบบสุขภาพ

๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗

ถ้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ไม่ถูกเลื่อนออกไป วันนี้เราคงได้ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ที่จะนำเสนอในเวทีวันนี้แล้ว

หลายคนอาจถามว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้วการปฏิรูประบบสุขภาพประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะการมีรูปธรรมคือ การประกาศใช้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่เป็นเครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพโดยเน้นการมีส่วนร่วมอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่

ผมขอยกคำพูดของ “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มักย้ำบ่อยครั้งว่า “ต้องคืนสุขภาพไปให้ทุกคนและชุมชน สุขภาพดีจะเกิดได้ต้องให้ความสำคัญกับชุมชน ไม่ใช่ไปรอมติคณะรัฐมนตรี กฎหมายหรือกระทรวงต่างๆ เพราะชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการดำรงชีวิตที่ดี สุขภาพอยู่ที่เรา อยู่ที่วิถีชีวิต อะไรที่มาทำลายต้องมีกระบวนการทำให้รู้เท่าทันและพัฒนานโยบายสาธารณะแค่นั้นเอง

เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามักพบปัญหาว่า ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังติดกรอบคิดว่า “สุขภาพเป็นเรื่องของมดหมอหยูกยา” ถนนทุกสายจึงพุ่งตรงไปที่กระทรวงสาธารณสุข โดยฝากความหวังไว้กับการบริหารจัดการของที่นั่น

หากเราวิเคราะห์สถานการณ์ในวันนี้ จะพบว่ามีสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชนที่มีแนวโน้มซับซ้อน รุนแรง ควบคุมยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุ การเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น การเคลื่อนย้ายของประชากรข้ามชาติข้ามพรมแดน การเกิดโรคอุบัติใหม่ในพืชและสัตว์ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน รวมถึงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายการพัฒนาของรัฐ

ฉะนั้น คำว่า “สุขภาพ” จึงถูกขยายความหมายไปอย่างกว้างขวางว่าเป็น “ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล” ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับปัจจัยกำหนดสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

หากมองย้อนกลับไปในระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ในปี ๒๕๒๐ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งเมื่อประเทศไทยรับแนวคิด "การสาธารณสุขมูลฐาน" ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข มาดำเนินการและขยายผลสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ จากเดิมที่มีการทุ่มงบประมาณเพื่อมุ่งพัฒนาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นการที่มุ่งขยายโรงพยาบาลชุมชนและพัฒนาสถานีอนามัยแทน

พัฒนาการด้านปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยยังดำเนินการมาเป็นระยะ ถือเป็นการวางรากฐานระบบสุขภาพในปัจจุบัน

หลังเหตุการณ์การเมืองปี ๒๕๓๕ มีการออกกฎหมายจัดตั้ง "สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข" หรือ สวรส. เพื่อเป็นหน่วยงานสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบสาธารณสุข ซึ่งได้ผลิตงานชิ้นสำคัญๆ ที่เป็นประโยชน์กับการปฏิรูประบบสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทบทวนย้อนคิดถึงปัญหาของระบบสุขภาพที่ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญร่วมกัน

ปี ๒๕๔๐ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รับรองสิทธิของประชาชนและชุมชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในมิติต่างๆ จนทำให้ในปี ๒๕๔๓ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำรายงานระบบสุขภาพประชาชาติขึ้นมา โดยมีข้อเสนอสำคัญ คือ การปฏิรูประบบสุขภาพที่มีทิศทาง “สร้างนำซ่อม” เสนอแก่วุฒิสภา

และในปีเดียวกันนั้นเองก็มีการออก "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ" กำหนดให้ "คณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ" หรือ คปรส. ทำหน้าที่ผลักดันให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพและจัดทำร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดระบบโครงสร้าง กลไก กติกา และเงื่อนไขของระบบสุขภาพที่สมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน ๓ ปี ต่อมาขยายเป็นไม่เกิน ๕ ปี และขยายต่อจนกว่าการจัดทำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติจะแล้วเสร็จ โดยมี "สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ" หรือ สปรส. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

ปี ๒๕๔๔ มีการออกกฎหมายตั้ง "กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ" นับเป็นการเปิดศักราชการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพในมิติกาย ใจ สังคม และปัญญา ให้กว้างขวางขึ้น

ปี ๒๕๔๕ ออก "กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" จัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปรับระบบการเงินการคลังเพื่อการจัดบริการสาธารณสุขใหม่

ปี ๒๕๕๐ ออกกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ให้ความหมาย “สุขภาพ” ว่าหมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิต ปัญญาและสังคม และ “ระบบสุขภาพ” หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ กำหนดให้มี "คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ" หรือ คสช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบเน้นการมีส่วนร่วม ด้วยเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ เป็นต้น และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานต่าง ๆ

ปี ๒๕๕๑ กระทรวงสาธารณสุขทดลองถ่ายโอนสถานีอนามัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๘ แห่ง มีการออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ และออกกฎหมายสุขภาพจิตแห่งชาติ อีกทั้งยังมีการริเริ่มจัด “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

ปี ๒๕๕๒ เกิด “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐ และมีการขยายผลจัดทำเป็นธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ (อำเภอและตำบล) ทั่วประเทศประมาณ ๑๐๐ แห่ง

นอกจากนั้นแล้วยังมีการออกหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพใช้เป็นครั้งแรก และมีการสนับสนุนให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพทั้งระดับนโยบาย แผนพัฒนา โครงการ และระดับชุมชนไปแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ เรื่อง

ปี ๒๕๕๖ กระทรวงสาธารณสุขปรับบทบาทหน้าที่และโครงสร้างภายใน เน้นการสร้างเอกภาพการทำงานด้านนโยบายสาธารณสุขของประเทศ ในฐานะเป็นกลไกหลักของรัฐบาล และมีการจัดเขตบริการสาธารณสุข เน้นมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานพยาบาลต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่เดียวกัน

เหล่านี้คือกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ถือได้ว่าเป็นการขยายกรอบคิดเรื่องสุขภาพจากที่เน้นความเจ็บป่วยของแต่ละบุคคลไปสู่สุขภาวะ ที่กินความกว้างไปถึงมิติทางสังคม วัฒนธรรม และปัญญา จากความคิดที่เจ็บป่วยแล้วค่อยไปหาหมอรักษาไปสู่ความคิด “สร้างนำซ่อม” ที่ย้ายหัวใจของสุขภาพไปไว้ที่การสร้างเสริมสุขภาพและการดำเนินการต่างๆ ที่กว้างกว่าการดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุข

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า ๒๐ กว่าปีของการปฏิรูประบบสุขภาพก็ยังมีบางด้านที่ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นความท้าทายหนึ่งของการปฏิรูประบบสุขภาพวันนี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ “ชุมชนท้องถิ่น” สามารถจัดการตนเองในด้านสุขภาพได้มากขึ้น

โดยเฉพาะการนำกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วเข้ามาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งนี้ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล กองทุนสวัสดิการชุมชน ถือได้ว่าเป็นการลดบทบาทของรัฐในการจัดการด้านสุขภาพ และทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการตนเองอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

คงอีกไม่นานเกินรอที่วันเวลาและสถานที่การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ จะถูกกำหนดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อนั้นผองเพื่อนภาคีในระบบสุขภาพทุกภาคส่วนคงได้มาร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” กันอย่างสมานฉันท์ในระยะเวลาอันใกล้นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น