๒๒ มีนาคม ๒๕๕๗
เกือบสองปีแล้วที่ต้นล่ำซำค่อยๆ เติบโตทีละนิดๆ นับตั้งแต่วันแรกที่ผมและลูกไปซื้อมาปลูกไว้ที่บ้านหลังนี้เพื่อทำให้ลานหน้าบ้านได้ร่มเงา ทุกๆ ครั้งที่ผมกลับบ้านครั้งใดก็อดไม่ได้ที่จะนั่งชื่นชมไม้ต้นนี้ที่กำลังแผ่กิ่งก้านใหญ่โตตามที่ตั้งใจ เป็นความรื่นรมย์ระหว่างทางที่เป็นผลมาจากหยาดเหงื่อแรงกายที่เราเฝ้ารดน้ำพรวนดิน ทะนุถนอมใส่ใจ ประคมประหงม และใส่ปุ๋ยความรักลงไปจนไม้เติบใหญ่ในปัจจุบัน
ไม่ต่างจากต้นไม้ที่ชื่อ “สมัชชาพิจารณ์” ต้นไม้ชื่อยากๆ ที่ผมรู้จักครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๔ คราที่ได้รับการชักชวนจากเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดเลย ให้ไปช่วยพัฒนาเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ดีขึ้น เพื่อนำเข้าเวทีสมัชชาพิจารณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๘ อุดรธานี
“สมัชชาพิจารณ์” เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะยกระดับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕ ที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๘ (๑๓) ว่า ให้มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้แต่ละเครือข่ายจะใช้เครื่องมือใดๆในการรับฟังความคิดเห็นก็ได้ แต่ขอให้คงไว้ซึ่งหลักการของ "สมัชชาสุขภาพ" เป็นสำคัญ
ณ ที่แห่งนี้ จังหวัดเลยได้นำเครื่องมือ “สมัชชาสุขภาพ” มาปรับเป็น “สมัชชาพิจารณ์” ที่มีกระบวนการเริ่มต้นนับตั้งแต่การเปิดรับประเด็นเชิงนโยบาย การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย การรับฟังความคิดเห็นที่ลงไปถึงเวทีระดับตำบล ตลอดจนการจัดกลุ่มเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผลจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว "เลยโมเดล” “สมัชชาพิจารณ์" จึงได้ถูกขยายออกไปจนครบทุกจังหวัดในเขตความรับผิดชอบของ สปสช.เขต ๘ อุดรธานี และเครื่องมือดังกล่าวถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
มติ "สมัชชาพิจารณ์" ที่ออกมา ถูกนำเสนอต่อกลไกของ สปสช. ที่มีอยู่ทั้งระดับชาติ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับตำบล กล่าวได้ว่านี้เป็นจุดแข็งที่สำคัญเพราะมีกลไกรองรับมติที่ออกมาอยู่ทุกระดับในการที่จะนำไปปฏิบัติต่อไป
กว่า ๓ ปีแล้วครับ ที่ไม้ต้นนี้หยั่งรากลงในสังคมไทย แผ่กิ่งก้านสาขาไปในวงกว้าง คนเริ่มต้นปลูกจึงนั่งแย้มยิ้มและคอยเฝ้าดูห่างๆอย่างภาคภูมิใจ ยามต้นไม้ผลิดอกออกผลชูช่อไสวและยังประโยชน์แก่คนรอบข้าง
จากจุดเริ่มต้นที่จังหวัดเลย ต้นไม้ที่ชื่อ “สมัชชาพิจารณ์” ถูกนำไปปลูกในอีก ๖ จังหวัดในภาคอีสานตอนบน ตั้งแต่อุดรธานี นครพนม สกลนคร หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ ภายใต้ความรับผิดชอบในการรดน้ำพรวนดินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต ๘ อุดรธานี
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมได้มีโอกาสมาอยู่ในเวที “สมัชชาพิจารณ์” ประจำปี ๒๕๕๗ ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี
ผมนั่งอ่านเอกสาร “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” อย่างละเอียด ซึ่งอัดแน่นไปด้วยสาระของข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นผลมาจากการประมวลเนื้อหาที่ลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดทั้งในระดับอำเภอและระดับจังหวัด ใน ๗ เรื่อง ได้แก่
๑) ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต
๒) มาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ
๓) การบริหารจัดการสำนักงาน
๔) การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
๕) การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่
๖) การพัฒนาระบบการมีส่วนร่วมของประชาชน
๗) การคุ้มครองสิทธิผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
นอกจากนั้นแล้วความน่าสนใจยิ่งนักของเวทีในปีนี้ คือ พัฒนาการของต้นไม้ “สมัชชาพิจารณ์” ที่ปีก่อนๆ ยังมิปรากฏ ในอีก ๒ เรื่องสำคัญ
ประการแรก การให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาร่วมที่ทุกเขตของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศต้องการรับรู้เพียงเท่านั้น ทั้งนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเด็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่ อีก ๔ เรื่อง คือ
๑) มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับที่มีสาเหตุจากพยาธิใบไม้ในตับ
๒) คนไร้รัฐ : คนไทยที่ไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ
๓) เด็กและเยาวชน
๔) อุบัติเหตุถนนลื่นจากน้ำยายางพาราและปัญหาผลกระทบจากการประกอบอาชีพเกษตร เช่น อ้อย เป็นต้น
การดำเนินการเช่นนี้นับเป็นตัวอย่างของทิศทาง “การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” จากการเริ่มต้นที่ระดับพื้นที่ ด้วยพลังความร่วมมือและมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อหวังผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่นั่นเอง เป็นการดำเนินการตามแนวคิด “พื้นที่จัดการตนเอง” หรือ “พื้นที่จัดการกันเอง” จึงนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งนัก
ประการที่สอง ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ออกมา มีการปรับทิศทางไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด จากในอดีตเมื่อเริ่มต้นข้อเสนอส่วนใหญ่จะเรียกร้องให้หน่วยงาน องค์กรอื่น ซึ่งรวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานส่วนกลาง “ทำโน่นทำนี่” แต่ข้อเสนอที่ออกมาในปีนี้ เป็นข้อเสนอต่อองค์กร หน่วยงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
ทิศทางเหล่านี้นับเป็นพัฒนาการของกระบวนการพัฒนา “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ที่ยึดหลักการสำคัญว่า “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน และร่วมรับประโยชน์” นั่นเอง
นับเป็นความโชคดีที่ผมได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “ร่วมปฎิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อสุขภาวะคนอีสานตอนบน” ในช่วงสายของวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ร่วมกับผู้ร่วมเสวนา อีก ๖ ท่าน ประกอบด้วย (๑) พระมหานิรันดร์ พระคุณเจ้าจากวัดโพธิ์ชัยศรี จังหวัดบึงกาฬ (๒) นายพีธากร ศรีบุตรวงศ์ ผู้แทนเยาวชนจากจังหวัดอุดรธานี (๓) นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (๔) นายมานพ เชื้อบัณฑิต จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู (๕) นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้อำนวยการเขตบริการสุขภาพเขต ๘ และ (๖) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๘ อุดรธานี
สิ่งที่ผู้ร่วมเวทีเสวนาได้ร่วมแสดงทัศนะ ผมได้ประมวลสรุปต่อที่ประชุมไว้ ๗ ประการ คือ
๑) ทิศทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในภาพรวม อยากเห็นใน ๔ เรื่อง คือ (๑) การพัฒนาเขตบริการสุขภาพ (๒) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหนึ่งเดียว (๓) การใช้ระบบ ICT และ (๔) การจัดให้มีแพทย์ประจำครอบครัว
๒) ทำอย่างไรระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมุ่งเน้นการ “สร้างนำซ่อม” มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการ “รวมพลัง” ของทุกภาคส่วน และยึด “ชุมชนท้องถิ่น” เป็นฐานการพัฒนา มีระบบการสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้มีสุขภาพดี
๓) การสร้างความสำนึกใน “หน้าที่ทางสุขภาพ” ควบคู่ไปกับ “สิทธิทางสุขภาพ” ไม่ใช่เป็นผู้ที่เรียกร้องสิทธิเพียงประการเดียว จำเป็นต้องมีหน้าที่ในการเข้ามาร่วมในการพัฒนางานด้านสุขภาพควบคู่ไปด้วย
๔) เร่งรัดการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้คน ให้เข้าใจในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาให้ขยายวงให้มากขึ้น
๕) การเพิ่มช่องทางการเข้ามาส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นของผู้รับบริการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
๖) การยกระดับเรื่องราวดี ๆ ในพื้นที่ ทั้งกระบวนการ “สมัชชาพิจารณ์” “ธรรมนูญสุขภาพ” และ “หลักสูตรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่มีแล้วในเขต ๘ อุดรธานี ให้มีคุณภาพและขยายครอบคลุมพื้นที่ในเขต ๘ อุดรธานี ต่อไปโดยเร็ว
๗) พัฒนากองทุนทางสุขภาพที่มีอยู่หลากหลายในพื้นที่เป็นระบบที่เชื่อมโยงกัน และมีการทำงานที่บูรณาการยึดความมีสุขภาวะของประชาชนเป็นเป้าหมาย
นอกเหนือจากสาระ ๗ ประการที่ผู้ร่วมเสวนาได้เสนอมุมมองไว้ต่อเวทีแล้ว ผมยังได้สรุปทิ้งท้ายไว้อีก ๓ ประการคือ
ประการแรก สุขภาพเป็นของทุกคน ไม่จำกัดอยู่ที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง ดังสโลแกนที่ว่า “All for Health, Health for All”
ประการที่สอง “การมีส่วนร่วม” เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ประการที่สาม “อย่าปล่อยให้มติลอยนวล” ทุกฝ่ายต้องนำมติที่ออกมาไปปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่อย่างจริงจัง
เมื่อทำหน้าที่ดำเนินการเสวนาเสร็จ ผมมีภารกิจที่จังหวัดขอนแก่นต่อ จึงไม่ได้อยู่ร่วมชื่นชมยินดี เมื่อต้นไม้ “สมัชชาพิจารณ์” ได้ผลิดอกออกผลกลายเป็น “ข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต ๘ อุดรธานี กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขต ๘ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบล พัฒนาตำบลจัดการสุขภาพต้นแบบ” ในตำบลที่มีการพัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ที่เข้มแข็ง ซึ่งกระจายอยู่ในจังหวัดของเขต ๘ อุดรธานี ดังนี้
จังหวัดเลย จำนวน ๑๔ ตำบล จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๒๐ ตำบล จังหวัดนครพนม จำนวน ๑๒ ตำบล จังหวัดสกลนคร จำนวน๔๐ ตำบล จังหวัดหนองบัวลำภู จำนวน ๖ ตำบล จังหวัดหนองคาย จำนวน ๙ ตำบล และจังหวัดบึงกาฬ จำนวน ๘ ตำบล รวมทั้งหมด ๑๐๙ ตำบล
อีกไม่นานครับ “ธรรมนูญสุขภาพ” ของ ๑๐๙ ตำบล จะสำเร็จตามเจตนารมณ์ ซึ่งนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นการบูรณาการงานที่ยึดพื้นที่เป็นฐาน โดยเฉพาะงานกองทุน สปสช. กับงานธรรมนูญสุขภาพ และการพัฒนาสุขภาวะของคนตามบทบาทหน้าที่ของ อปท. แต่ละแห่ง
สอดคล้องกับที่ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวชื่นชมคนปลูกต้นไม้ “สมัชชาพิจารณ์” ที่ร่วมพลังกันรดน้ำพรวนดินจนไม้ต้นนี้เติบใหญ่และขยายหน่ออ่อนไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ต่างจากความรู้สึกชื่นชมในใจผมเช่นเดียวกัน
เหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ ดอกผลของต้นไม้ที่ชื่อ “สมัชชาพิจารณ์” ที่ได้เบ่งบานไปทั่วพื้นที่ของ ๗ จังหวัดของภาคอีสานตอนบน ที่พร้อมจะผลิดอกออกผลในทุกฤดูกาลให้คนในพื้นที่ได้เก็บกินและนำมาซึ่งความอยู่ดีมีแฮงของคนในพื้นที่ต่อไป
ขอบพระคุณครับ ได้เตรียมความพร้อมเข้ารับกระบวนการสมัชชาพิจารณ พรุ่งนี้
ตอบลบ