๔ มีนาคม ๒๕๕๗
อาจเป็นเพราะผมเชื่อว่า “การเดินทาง” คือ กระบวนการเติบโตเพื่อการเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือจากการอยู่เพียงในห้องแคบๆที่เรียกกันว่า “ห้องประชุม” เพียงเท่านั้น แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ ๒ สัปดาห์แล้ว แต่ประสบการณ์จากทริปเวียดนามกับทีม นนส. หรือ “นักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ยังหวนอยู่ในความทรงจำกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ การออกแบบกิจกรรมที่มีมากกว่าเพียงการเดินทางและเที่ยวชมสถานที่สำคัญ ๆ จึงทำให้การเดินทางครั้งนี้มีความหมายยิ่งนัก
กว่า ๑ เดือนก่อนถึงวันเดินทาง ชาว นนส. ทุกคน ต้องอ่านหนังสือมาล่วงหน้า ๒ เล่ม คือ “บูรพาภิวัฒน์” ของ “อเนก เหล่าธรรมทัศน์” กับ “ยลญวน” ของ “พิษณุ จันทร์วิทัน” เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกันระหว่างนั่งอยู่บนรถบัสที่เดินทางจากมุกดาหาร ผ่านลาว และข้ามไปยังเวียดนาม
อีกทั้งก่อนถึงวันเดินทาง ๑ วัน ทางองค์กรผู้จัด คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังได้เชิญ “ดร.สิริวงษ์ หงส์สวรรค์” ที่เป็นผู้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม มาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆให้กับชาว นนส. รับฟังกว่า ๒ ชั่วโมง
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ กับการเดินทางวันแรกบนรถบัส ๒ คัน คันที่ ๑ มี “นพ.อำพล จินดาวัฒนะ” กับ “สุทธิพงษ์ วสุโสภาพงษ์” เป็นทีม สช. ที่คอยเอื้ออำนวย และสำหรับรถคันที่ ๒ มีผม และ “สุนีย์ สุขสว่าง” เป็นทีมเอื้ออำนวย
ต้องบอกว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ทีม นนส. บนรถคันที่ ๒ ได้มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันเองว่า ใครเป็นทีมวิชาการ ทีมสันทนาการ และทีมประสานงาน เมื่อรถเริ่มเคลื่อนตัวงานต่าง ๆ ก็เดินตามที่กลุ่มได้ออกแบบไว้อย่างลงตัว
"วิชัย นิลคง" จากจังหวัดน่าน ได้แจกจ่ายผังความคิด (mind map) สรุปย่อหนังสือ “บูรพาภิวัฒน์” เหลือเพียง ๑ หน้ากระดาษแก่ผู้ร่วมเดินทาง เช่นเดียวกับ “วันชัย ประชุมชน” สมาชิกจากรถคันที่ ๑ ก็ได้จัดทำและแจกจ่ายให้กับสมาชิกทั้ง ๒ กลุ่มได้เรียนรู้ร่วมกัน เอกสารทั้ง ๒ แผ่น ต่างสรุปรวบยอดเนื้อหาของหนังสือกว่า ๓๐๐ หน้า ได้อย่างชัดเจน และเป็นต้นทุนสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันบนรถที่กำลังเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้อย่างดียิ่ง
บนรถคันที่ ๒ หลังจากทีมสันทนาการได้สร้างสีสันจบแล้ว “วิชัย นิลคง” เจ้าของผังความคิด ก็ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ชักชวนสมาชิกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สมาชิกแต่ละคนต่างนำเสนอทัศนะที่หลากหลายและเพิ่มเติมเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ประสบมาอย่างสนุกสนานและเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระ
ยามเมื่อยล้าจากเวทีวิชาการและการเดินทาง ทีมสันทนาการและผู้ร่วมเดินทางก็สร้างบรรยากาศด้วยเสียงเพลงปากเปล่าโดยปราศจากดนตรีประกอบ ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ไกด์เจ้าถิ่นทั้งชาวลาวและเวียดนามได้ทำหน้าที่เติมเต็มข้อมูลสำคัญของแต่ละประเทศให้กับพวกเรา
ในแต่ละวันคณะของเราได้แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีไกด์คอยเติมเต็มข้อมูลที่มาที่ไปอย่างรอบด้าน ซึ่งผมได้เขียนเล่าเรื่องดังกล่าวผ่านจดหมายถึงลูกชายถึง ๕ ฉบับไปแล้ว
ในวันเดินทางกลับ กิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นบนรถที่ผมประทับใจมาก คือ การยอวาทีเรื่อง “ยลญวนว่าเร้าใจ ไทยเราลัลล้ากว่า” นับว่าได้สร้างสีสันและการมีส่วนร่วมให้กับสมาชิกกลุ่มที่ ๒ เป็นอย่างมาก โดยกลุ่มที่อยู่ที่ฝั่งซ้ายมือก็พยายามยกจุดเด่นของประเทศเวียดนามมานำเสนอ ในขณะที่สมาชิกที่อยู่ฝั่งขวามือ ก็หาเรื่องราวของประเทศไทยมาเสนอ เป็นกิจกรรมที่แฝงทั้งสาระทั้งความสนุกสนานเฮฮาในคราเดียวกัน
เหล่านี้คือกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วง ๕ วัน ที่ชาว นนส. ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้นแล้วว่า เพราะทริปนี้มีการออกแบบที่ผสานทั้งพลังเล่นและพลังวิชาการด้วยตัวของ นนส. เอง จึงทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลผลิตออกมาอย่างวิจิตรบรรจง ถือเป็นพื้นฐานสำหรับการต่อยอดยกระดับสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพในวาระและโอกาสข้างหน้าได้เป็นอย่างดีต่อไป
การใช้เวลาบนรถบัสผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกันตามประเด็นที่แต่ละคนค้นพบจากหนังสือ ๒ เล่ม อีกทั้งยังเปิดกว้างสำหรับแง่มุมอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสการเรียนรู้มุมมอง ทัศนคติของคนอื่น ๆ เป็นอย่างดี
เพราะเวลาบนรถยนต์เป็นเวลาที่ไม่มีใครสามารถยึดครองการเป็นผู้พูดไว้แต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งบรรยากาศสองข้างทางที่รถแล่นผ่าน ทั้งภูเขาที่เขียวขจี ต้นข้าวที่กำลังออกรวง บ้านเรือนที่ปลูกตามฐานะของคนอยู่ กลายเป็นครูโดยธรรมชาติบนเส้นทางที่โชเฟอร์ได้พาลัดเลาะไป เหล่านี้คือประสบการณ์ที่ได้รับมากกว่าการอยู่ในห้องประชุมเพียงเท่านั้น
เสียงไกด์ชาวลาวและเวียดนามที่ส่งเสียงภาษาไทยได้อย่างชัดเจนอธิบายแง่มุมความเป็นมาทั้งเชิงภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คู่ขนานไปกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ทางขวาและซ้ายของผู้ฟัง ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่เติมเต็มให้ได้เรียนรู้แบบเร่งด่วน โดยไม่ต้องไปค้นคว้าหาด้วยตนเอง มิหนำซ้ำยังได้อรรถรสจากการสอดแทรกมุขตลกที่เรียกเสียงเฮฮาได้บ่อยครั้ง
การได้แวะปั้มน้ำมันข้างทางบนดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ยังได้รู้ว่าการพัฒนาสภาพแวดล้อมตามนโยบายสุขาน่าใช้ (Healthy Toilet) ของประเทศไทยก้าวหน้าไปไกลกว่าหลายขุม แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้มากกว่านั้นก็คือ ราคาน้ำมันของประเทศเขายังต่ำกว่าของประเทศไทยเราอยู่ คำถามก็คือ อะไรคือต้นทุนที่ส่งผลทำให้น้ำมันจากจุดเดียวกันซึ่งน่าจะมีราคาใกล้เคียงกันกลับมีความแตกต่างกันเช่นนี้
อาหารในต่างแดน แม้จะมีรสชาติแตกต่างไปบ้างจากรสแบบไทย แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นความละม้ายคล้ายคลึงกัน ไม่ได้แตกต่างกันแบบที่เคยเห็นเมื่อไปเยือนประเทศทางตะวันตก ไข่เจียว ผัดผัก อาหารทะเล หมู ไก่ ปลา คือปัจจัยพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน
การได้อยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน นอนโรงแรมแห่งเดียวกัน ถ่ายรูปด้วยกัน ท่องเที่ยวไปด้วยกัน กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการสานความเป็นกันเองให้เกิดความสนิทสนม เรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “เครือข่าย” ข้ามพรมแดนจังหวัดได้เป็นอย่างดี
บทพิสูจน์หนึ่งที่ผมได้ยินกับตัวเองก็คือ “กิจกรรมนี้ดีมาก ๆ อยากให้มีอย่างต่อเนื่อง โดยยินดีออกค่าใช้จ่ายเอง”
กล่าวได้ว่าทริปนี้จึงสอดรับกับเป้าหมายของหลักสูตร นนส. ที่ต้องการสร้าง “เครือข่าย” การทำงาน นอกเหนือจากการเรียนรู้กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่วางไว้เพียงเท่านั้น
ในเชิงสาระการเรียนรู้ ผมได้กล่าวสรุปไว้ในตอนท้ายของกิจกรรมยอวาทีเรื่อง “ยลญวนว่าเร้าใจ ไทยเราลัลล้ากว่า” หลังจากที่เพื่อน ๆ ได้สะท้อนความคิดเห็นต่อการได้ไปเรียนรู้ประเทศเวียดนามในช่วง ๔ วัน กันจนครบถ้วนแล้วว่า
(๑) การได้มาเที่ยวชมประเทศเวียดนามเพียง ๔ วัน อาจจะมีการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ยังไม่ลึกซึ้งมากนัก ฉะนั้นต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงจะเปรียบเทียบทั้งสองประเทศได้อย่างตรงประเด็นและรอบด้าน
(๒) สิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งน่าจะนำไปเป็นตัวอย่างได้ คือ
(๒.๑) การจราจร : ประเทศเวียดนามมีการจำกัดความเร็วของรถยนต์ไว้ที่ ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากใครฝ่าฝืนจะถูกจับและปรับ ทำให้คนเวียดนามเป็นคนที่มีวินัย ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และนำไปสู่การมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่ความเสียหายขั้นรุนแรงน้อย แม้จะมีการใช้จักรยานร่วมกับมอเตอร์ไซด์และรถยนต์บนถนนเดียวกันก็ตาม
(๒.๒) โรคอ้วน : จากการท่องเที่ยวตลอด ๔ วัน ไม่พบเห็นคนมีรูปร่างอ้วนแม้แต่น้อย ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องมาจากคนเวียดนามนิยมเดินทางโดยการใช้จักรยานกันมาก ถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการรณรงค์การส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิตตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอยู่เช่นกัน
(๒.๓) การท่องเที่ยว : สถานที่ดูงานทั้งหมดจะเชื่อมโยงกับแหล่งประวัติศาสตร์ของประเทศซึ่งนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศ จึงคล้ายคลึงกับประเทศไทยทีหันมาให้ความสำคัญกับแหล่งประวัติศาสตร์อันสำคัญของประเทศ
(๒.๔) การเกษตรกรรม : ประเทศเวียดนามยังเป็นการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ใช้กำลังคนเป็นหลัก ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่หันมาใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วย ตั้งแต่การหว่านดำ การฉีดยา การเก็บเกี่ยวตลอดจนการไถพรวน
(๒.๕) ข้าว : แม้ประเทศเวียดนามจะเป็นคู่แข่งกับประเทศไทยในการส่งออก แต่ทราบจากไกด์ว่า คนเวียดนามยังยอมรับในรสชาติของข้าวไทย โดยบอกว่าข้าวไทยอร่อยกว่าข้าวเวียดนาม แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนเวียดนามจะใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์โดยการปลูกข้าวเต็มพื้นที่ว่างทุกพื้นที่
(๒.๖) ทิวทัศน์ : สองข้างทางที่รถวิ่งผ่าน ยังพบความเขียวขจีของป่าไม้ ภูเขา ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่เห็นภูเขาหัวโล้นเป็นส่วนใหญ่
(๒.๗) การศึกษา : ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่แน่ใจว่าคนไทยสนใจภาษาเวียดนามมากน้อยเพียงใด
(๓) มุมมองของผมต่อ หนังสือ “บูรพาภิวัฒน์” และ “ยลญวน” ที่ผมได้แสดงทัศนะไว้ตอนหนึ่งที่รถบัสกำลังเดินทางกลับสู่ประเทศไทย ไว้ ๖ ประการ
(๓.๑) เป็นบทเรียนที่ นนส. น่าจะยึดเป็นตัวอย่างในการทำงานด้านการใช้ “ข้อมูล” ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ประกอบเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำเสนอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของนักสานพลัง ที่ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามาร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่ง “ข้อมูล” เป็นเรื่องสำคัญของการพัฒนาตลอดวงจรของนโยบายสาธารณะ
(๓.๒) ได้เห็นแนวโน้มการพัฒนาในอนาคต ที่จะใช้มาตรการทางด้าน “การทูต” มากกว่า “สงคราม” การมองประเทศเพื่อนบ้านเป็น “พันธมิตร” มากกว่าเป็น “คู่แข่ง” ฉะนั้น บทบาทการ “สานพลัง” จึงมีความสำคัญมากขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างทักษะการทำงานด้านนี้ให้เพิ่มขึ้น
(๓.๓) ประเทศต่าง ๆ จะหันมาใช้ทุนทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ มาเชื่อมโยงกับการจัดหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมทั้งนำเสนอผ่านภาพยนตร์และละครมากขึ้น จึงนับเป็นข้อเตือนใจสำหรับ นนส. ที่ควรพัฒนาชุมชนที่ยึดโยงกับฐานทุนทางประวัติศาสตร์หรือ “รากเหง้า” ของชุมชนให้มากขึ้น
(๓.๔) ได้เห็นตัวอย่างการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ดี อาทิ ประเทตุรกีได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไว้ว่า “ไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน” หรือประเทศอินโดนีเซีย กำหนดไว้ว่า “เพื่อนมากมาย ศัตรูไม่มีเลย” ซึ่งเป็นตัวอย่างในการนำมาใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ที่ชัดเจน และถือเป็นกรอบในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงทิศทางการพัฒนาที่วางไว้อย่างเข้มงวด
(๓.๕) การสร้างความร่วมมือระดับประเทศสามารถกระทำได้หลายมิติ เช่น ใช้ความเป็นกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศยุโรป ใช้การตั้งอยู่บนคาบสมุทรเดียวกัน เช่น ประเทศที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรแปซิฟิค ที่จัดตั้งเป็นกลุ่ม G ๗ และจะขยายเป็นกลุ่ม G ๒๐ หรือใช้ขนาดของประเทศเป็นกรอบการสร้างความร่วมมือ เช่น กลุ่ม BRIC (ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ซึ่งสมาชิกเป็นประเทศที่พื้นที่และประชากรจำนวนมาก ซึ่งมิติต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นตัวอย่างที่ นนส. สามารถนำไปเป็นตัวอย่างการทำงานในการสานความร่วมมือกับพื้นที่ต่าง ๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมองพื้นที่ข้างเคียงเท่านั้น
(๓.๖) พลังของเรื่องเล่า อย่างเช่น เรื่องเล่าจาก “ยลญวน” นับว่ามีคุณค่า ทำให้ผู้อ่านได้เห็นที่มาที่ไปของเรื่องราวต่าง ๆ ได้เข้าใจศิลปะ วัฒนธรรม อาหารการกิน รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาต่าง ๆ ของผู้เขียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากและในหลากหลายมิติ จึงอยากให้ “นนส.” ได้ให้ความสำคัญกับการเขียนเรื่องเล่าในงานที่ตนเองทำไว้
แม้วันเวลาจากการเดินทางจะผ่านไปร่วม ๒ สัปดาห์แล้ว แต่ความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ เจือปนไปด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ความสนุกสนาน ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจและความทรงจำของผมอย่างยากจะลืมเลือนและจางหายไปกับการเดินทางของกาลเวลาที่เพิ่มขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น