วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ซินจ่าวเวียดนาม ตอนที่ ๖ : มองอีกมุมจาก “ลุงอำพล จินดาวัฒนะ”

๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗

น้องวิน ลูกรัก

ลูกคงแปลกใจเมื่อได้รับจดหมายฉบับนี้และพ่อขึ้นหัวว่า “ซินจ่าวเวียดนาม” เพราะตอนที่พ่อกลับบ้านอาทิตย์ที่แล้ว ลูกยังถามเลยว่าไม่มีจดหมายจากเวียดนามให้อ่านอีกเหรอ “สนุกเหมือนกับลูกได้เดินทางเองเลย” และพ่อก็ตอบไปว่า มีเป็นเรื่องเล่าแบบสรุปยาวๆตลอดการเดินทางของทริปนี้ แต่ลูกอาจไม่สนุกกับการอ่านแบบนี้เท่าใดนัก

พ่อบอกลูกไม่ทันไร “ลุงอำพล จินดาวัฒนะ” ได้อ่านเรื่องเล่าที่พ่อบอกว่าเป็นบทสรุปของทริปนี้ กับชื่อยาวๆว่า “นนส.ทริป”: พลังเล่น พลังเรียน (รู้) สานพลังคนทำงาน ลุงอำพลเลยเขียนเล่ากลับมาบ้าง พ่ออ่านแล้วสนุกกว่าที่พ่อเขียนเองซะอีก ก็เลยอยากให้ลูกได้อ่านด้วยเช่นกัน มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าเรียนรู้และนำไปขบคิดต่อหลายประเด็นเลยครับลูก (เดิมทีลุงอำพลเขียนมาแทนตัวเองว่า “ผม” แต่พ่อเกรงว่าลูกจะงง เลยขอเปลี่ยนคำว่า “ผม” เป็น “ลุง” แทนนะครับ)

“ลองอ่านดูนะลูก”

ลุงไปเวียดนามมาแล้ว ๔ ครั้ง ครั้งแรกไปเมื่อ ๑๙ ปีก่อน ไปกับคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์) ไปเยี่ยมชมกิจการของโรงพยาบาลใหญ่และคณะแพทย์ที่โฮจิมินท์ ซิตี้ และไปที่ฮานอย ที่นั่นได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาลเล็กๆในชนบทด้วย สมัยนั้นเวียดนามเพิ่งผ่านพ้นสงครามหมาดๆ เพิ่งรวมเวียดนามเหนือ-ใต้เข้าด้วยกันมาได้ไม่นาน

ครั้งที่ ๒ ไปเมื่อ ๘ ปีก่อน ไปฮานอย ไปดูงานการศึกษา และการพัฒนาชุมชนกับศูนย์คุณธรรม ครั้งที่ ๓ ไป เมื่อ ๓ ปีก่อน ไปเวียดนามกลาง (เว้) เดินทางโดยทางรถยนต์จากมุกดาหารผ่านลาว ตรงไปตามถนนหมายเลข ๙ ระยะทาง ๓๐๐ กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับที่ไปครั้งนี้ (ครั้งที่ ๔)

มีคนแซวลุงว่า “ลุงคงลืมอะไรบางอย่างไว้บนเส้นทางสายนี้ จึงจัดไปซ้ำอีก” ลุงก็ตอบไม่ได้นะ แต่จะว่าไปแล้ว ลุงรักเวียดนามมากกว่ามั้ง?

หนึ่งเป็นเพราะประเทศเวียดนามมีภูมิประเทศยาว เหนือ-ใต้ กว่า ๓,๐๐๐ กม. มีพื้นที่แคบๆด้านหนึ่งติดทะเลจีนใต้ อีกด้านเป็นเทือกเขามีพื้นที่ราบน้อยมาก แต่ละปีมีมรสุมเข้าแยะ ทำให้มีน้ำมาก แม้มีที่ดินน้อย แต่เพาะปลูกได้ดี มรสุมทำให้คนของเขาทรหดกว่าเรา เพราะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติปีแล้วปีเล่า จนแข็งแกร่ง ไม่ย่อท้อต่อภัยธรรมชาติ (เรียกว่าชินจนแกร่ง)

ประกอบกับเวียดนามเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนยาวนานมาก ต่อมาฝรั่งเศสมายึดครองอีก แล้วยังมาเจอสงครามกับสหรัฐอเมริกา คนเวียดนามผ่านการต่อสู้อย่างทรหดครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อชาติบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของเขา

คนเวียดนามจึงเปี่ยมไปด้วยหัวใจรักชาติ และมีความทรหดอดทนอย่างสูง

สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้คนเวียดนามเป็นอย่างที่เราเห็น เรารู้จัก คือ มีความขยันขันแข็ง รักชาติ มุ่งมั่น มุมานะ ไม่ท้อถอยต่อปัญหาอุปสรรคอะไรง่ายๆ ลักษณะเช่นนี้หล่อหลอมมาเป็นร้อยๆปี

สอง คนเวียดนามมีประมาณ ๙๐ ล้านคน มากกว่าประเทศไทย แต่มีพื้นที่เล็กกว่า คือ ประมาณ ๒ ใน ๓ ของประเทศไทย จึงนับว่ามีประชากรหนาแน่น เขาจึงต้องใช้พื้นที่กันอย่างเต็มที่ ที่ไหนว่างเป็นต้องเพาะปลูก ริมทะเลยังปลูกข้าวอย่างที่เราเห็น

การศึกษาของเขาสอนให้คนเวียดนามรู้เรื่องของชาติบ้านเมืองที่ผ่านความยากลำบากมา สอนให้รู้เรื่องโลกภายนอก อิทธิพลจีนทำให้เขารับวัฒนธรรมกตัญญู

เขาไม่ได้สอนให้รู้แต่วิชาในตำรา คนเวียดนามที่จบชั้นเดียวกับนักเรียนไทย เขารู้เรื่องโลกภายนอกมากกว่าเรามากมาย เขาใส่ใจเรียนรู้เรื่องของเพื่อนบ้านและโลกภายนอก คนเวียดนามสนใจประเทศไทยมาก เขาตั้งความหวังว่าจะพัฒนาให้ทันและแซงไทยในอนาคต เพราะเขาเห็นเราพัฒนาไปได้ไกลกว่า

“แต่ละวันนักเรียนของเขาต้องทำการบ้านส่งครูเพื่อบอกว่า มีอะไรเกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง มีอะไรเกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม มีอะไรเกิดขึ้นในโลก เขาฝึกให้นักเรียนเรียนรู้สังคมและโลก”

ดร.เสรี พงศ์พิศ เคยเล่าให้ลุงฟัง ซึ่งสอดคล้องกับที่เพื่อนของลุง ดร.สิริวงษ์ หงส์สวรรค์ ที่เคยไปอยู่เวียดนามหลายปีก็บอกว่า ชาวเวียดนามเขาให้ความสำคัญเรื่องสังคมนำหน้าเรื่องบุคคล

ลุงเคยไปดูเด็กนักเรียนชั้นประถมที่ฮานอย เด็กเขียนหนังสือสวยมาก ครูก็เขียนตัวหนังสือสวย เขาบอกว่าการฝึกให้เขียนหนังสือสวย เป็นการฝึกให้มีวินัยขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่ทำอะไรลวกๆแบบสุกเอาเผากิน

เคยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขของเวียดนามมาเยี่ยมที่สำนักงานลุง เขาเขียนตัวหนังสือสวยอย่างที่ลุงเห็นเด็กนักเรียนชาวเวียดนามเขียน ยังไงยังงั้นเลย

ทุกวันนี้มีนักเรียนเวียดนามมาเรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัยราชภัฎจบไปแล้วเป็นหมื่นคน ลุงเคยรับนักศึกษาฝึกงานเป็นเด็กเวียดนาม เขาขยันมาก มีวินัย มีความมุ่งมั่น เรียนจบได้งานทันที เพราะเขาได้ทั้งภาษาเวียดนามและภาษาไทย ตอนนี้ไปเรียนต่อปริญญาเอกที่จีนแล้ว

ลุงเคยไปดูงานที่มหาวิทยาลัยที่ฮานอย มีแผนกภาษาไทย มีนักศึกษาสนใจเรียนจำนวนมาก นักศึกษาของเขานั่งอ่านหนังสือกันเต็มห้องสมุดเลย

นักศึกษาไทยที่สนใจเรียนภาษาเวียดนาม น่าจะนับหัวได้?

วันนี้ประเทศเวียดนามเพิ่งผ่านสงครามกับอเมริกามาได้ไม่นานนัก ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูชาติอีกหลายปี แต่เขาเติบโตเร็ว เพราะเขามี “คนเวียดนาม” เป็นทุนทางสังคมที่มีค่ามาก

ระบบโครงสร้างพื้นฐานเขาสู้บ้านเราไม่ได้ ของบ้านเราพัฒนาไปก่อนเขาหลายก้าว แต่เรื่องพวกนี้พัฒนาง่าย เมื่อใดที่เขามีเงินมากพอ เขาทำได้ไม่ยาก

ประเด็นที่น่าคิด คือ คนไทยเราเป็นทุนทางสังคมที่มีคุณภาพมากแค่ไหน เราสอน เราเรียนอะไรกัน เราสร้างคนโดยมีเป้าหมายอะไร ประเทศเรามีอุดมการณ์ของชาติ มีเป้าหมายของชาติร่วมกันไหม

ชาวเวียดนามวันนี้เขามี “ลุงโฮ” เป็นเหมือนเทพเจ้าประจำใจคนทุกคน ลุงโฮคือสัญลักษณ์ของความเป็นเวียดนาม คือเสียสละ กล้าหาญ อดทน และทำทุกอย่างเพื่อเวียดนาม

ไกด์ชาวเวียดนาม (ซึ่งเคยมาบวชอยู่เมืองไทย ๕-๖ ปี) ร้องเพลงให้ฟังบนรถหนึ่งเพลง ลุงฟังได้แต่คำว่า โฮจิมินท์ กับคำว่า เวียดนาม ถามเขาว่าเนื้อเพลงเป็นอย่างไร เขาบอกว่า เป็นเพลงที่สื่อสารว่าลุงโฮคือเวียดนาม เวียดนามคือลุงโฮ ดูเขาภูมิใจกับเพลงนี้มาก

สาม ประเทศไทยอยู่ติดกับลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และไม่ไกลกับเวียดนาม มุกดาหารอยู่ห่างทะเลแค่๓๐๐ กม. ถ้าไปที่เว้ แต่ห่างทะเลที่อ่าวไทยกว่า ๖๐๐ กม. เชียงใหม่ห่างทะเลที่พม่าแค่ไม่กี่ร้อยกม. แต่ห่างทะเลที่อ่าวไทยตั้ง ๗๐๐ กม.

ถ้าเอาเส้นแบ่งประเทศออก เราล้วนอยู่ใกล้ชิดกัน บางพื้นที่ใกล้ชิดประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าใกล้ชิดกรุงเทพเสียอีก

แต่การรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพ ได้สั่งสอนให้เราแยกขาดจากเพื่อนบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น ยังปลูกฝังทัศนคติดูแคลนเพื่อนบ้าน ให้เกลียดชังเพื่อนบ้าน บูชาฝรั่งทั้งๆที่ภูมิใจว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง ทัศนะเช่นนี้ทำให้เรามองเพื่อนบ้านด้อยกว่าไปทุกเรื่อง เป็นทัศนะที่คับแคบ สมัยรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น อาจถูกต้อง แต่ถึงวันนี้ ไม่น่าจะถูกแล้ว

ลุงคิดว่าเราต้องถอนทัศนคติที่ผิดนี้ออกโดยเร็ว เพราะปัจจุบันเป็นโลกาภิวัตน์ ประเทศเราเชื่อมโยงถึงกันไปหมดแล้ว ไม่ต้องรอ AEC ผู้คนก็ไปมาหาสู่ถึงกันได้โดยง่ายอยู่แล้ว เราต้องอยู่ด้วยกัน เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อพัฒนาก้าวหน้าไปด้วยกัน

บางเรื่องเราดีกว่า เก่งกว่า บางเรื่องเพื่อนบ้านดีกว่า เก่งกว่า เราต้องช่วยกัน เสริมกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ข่มกัน

เอเชียกำลังเติบใหญ่ เราก็ต้องเติบโตไปพร้อมๆกัน อย่ามองเพื่อนบ้านว่าเราจะไปเอาอะไรจากเขา แต่ควรมองว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะช่วยเสริมอะไรกันได้อย่างไร ที่ต้องแข่งขันกันก็ว่ากันไป แต่ที่ต้องช่วยเหลือกัน ก็ต้องทำคู่ไปด้วย ไม่ควรมองแบบจะเอาชนะกัน อวดเก่งใส่กัน เพราะเราต้องเติบโตไปด้วยกัน เราอยู่ด้วยกัน เราขาดกันและกันไม่ได้ นี่คือมุมมองใหม่ ที่คนไทยควรมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นไงครับลูก อ่านเพลินเลยล่ะซิ ลุงอำพลจบด้วยคำพูดที่ทำให้พ่อสามารถนำไปคิดต่อได้อีกหลายเรื่อง นี่ล่ะคือการมองมุมใหม่จากลุงอำพล ที่ชี้ให้เห็นแล้วว่าการเดินทางคือการย้อนรอยความทรงจำและทบทวนประสบการณ์ที่สั่งสมมา และกลายเป็นมุมมองใหม่ในวันนี้ ว่าไปแล้วนะลูกแค่การเดินทางสั้นๆแค่ ๔-๕ วัน ยังทำให้ลุงอำพลและพ่อมีเรื่องราวมาเขียนมากมาย ถ้าได้เดินทางมากกว่านี้ ตัวอักษรบนโลกนี้คงไม่เพียงพอที่จะบรรยายประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างแน่นอน

อือ! พ่อลืมบอกลูกไป ไม่ใช่แค่ลุงอำพลและพ่อที่เขียนเรื่องเล่าแบบนี้ออกมากัน ยังมีเพื่อนๆพ่อในนามของนักเรียนหลักสูตร นนส. ที่ร่วมเดินทางไปเวียดนามครั้งนี้ ต่างก็เขียนถ่ายทอดประสบการณ์ออกมากันทั้งนั้น แล้วยังไงพ่อจะทยอยส่งมาให้ลูกอ่านนะครับ

รักลูกมาก

“พ่อโต”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น