๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗
เพราะผมเชื่อว่า “ตัวอักษรมีชีวิต” แต่ละตัวอักษรที่ถักทอขึ้นมาเป็นคำ จึงมีแรงบันดาลใจอยู่เบื้องหลังมากมาย เมื่อคนเราอ่านหนังสือมากๆ เขียนหนังสือมากๆ ทักษะในการเขียนจะเป็นเงาตามตัวจนเราไม่รู้ตัว สำนวนต่าง ๆถูกบรรเลงขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในการเป็นนักเขียนที่ดี คือ การสังเกตสิ่งรอบตัว เพราะเมื่อใดที่เรามองสิ่งต่างๆรอบตัว เราจะสามารถหยิบสิ่งใดก็ได้บนโลกใบนี้มาแต่งเติมปรุงรสชาติใหม่แล้วเสริฟให้คนอ่านได้ลิ้มลอง เช่นเดียวกับผลที่เกิดขึ้นจากเวที We Can Do เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เหล่านี้คือผลผลิตสำคัญที่มาจากแรงบันดาลใจเล็กๆในวันนั้นครับ
เรื่องที่ ๑ : ชีวิต การงาน และความสุข โดย “กชพร นิลปักษ์”
เมื่อทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มาจนถึงวันนี้ ฉันกลับพบว่าชีวิตการทำงานที่นี่มีทั้งความสนุก ท้าทาย หลากหลาย อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับคนเก่งๆ ที่มีความสามารถมากมาย อดไม่ได้ที่จะรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแห่งนี้ ซึ่งต่างจากความรู้สึกแรกลิบลับตอนเข้ามาใหม่ๆ ที่อยากลาออกก็ตาม
อาจเป็นเพราะการทำงานเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและยังสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต แน่นอนบางครั้งก็ทุกข์ ยุ่งยาก แต่ในความทุกข์ ฉันก็เห็นความสัมพันธ์และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ชีวิตทุกวันนี้จึงทุ่มเทให้กับการทำงานมากกว่าอยู่กับครอบครัว
การทำงานกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานของชีวิตและครอบครัว ทำให้รู้จักเก็บออม รู้จักใช้จ่าย เพื่อความอยู่รอดทั้งในปัจจุบันจนถึงอนาคต และระหว่างการทำงานก็หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น จะได้ไม่ทำให้คนเบื้องหลังหรือคนที่มีชีวิตอยู่ลำบากเพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยของฉัน
ทุกวันนี้อายุก็มากแล้วจะไปสมัครงานที่ไหน ก็คงไม่มีใครรับ เลยปวารณาตนเองไว้ว่าจะขอทำงานที่นี่ไปจนกว่าเกษียณอายุ
เรื่องที่ ๒ : ความสุขยกระดับ โดย “นวินดา จัดหงษา”
“ความสุขที่มีอย่างพอเพียง และเพียงพอจากพ่อแม่ที่สร้างมาให้ กับหนึ่งชีวิตที่ลิขิตมาให้เจอกัน ใครเลยจะรู้ว่า มันจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม”
สุขยกที่หนึ่ง
เป็นความสุขที่ได้รับจากการสร้างรากฐานที่ดีให้กับลูก ด้วยความรักที่พ่อแม่มีให้มา ไม่ว่าคนเป็นพ่อแม่จะเหนื่อยเพียงใด ขอให้ลูกได้มีอนาคตที่ดี
ชีวิตของ “ฉัน” ไม่ค่อยมีสีสันมากมาย เพราะเป็นชีวิตที่เรียบง่าย เวลาส่วนใหญ่จะอยู่กับครอบครัว ที่มีกัน ๔ คน คือ พ่อ แม่ พี่สาวที่ตอนนี้เป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลเอกชน และตัวฉันที่ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สช.
จำได้ว่าอาจารย์แนะแนว เคยบอกว่า ความสุขในวัยเรียนที่มีความสุขที่สุด คือ ช่วงวัยมัธยม เพราะจะได้เจอเพื่อนถึง ๖ ปี ความรักความผูกพันระหว่างเพื่อนมีให้กันมาตลอด จนถึงตอนนี้ก็ยังติดต่อกันเหมือนเดิม
หลังจบปริญญาตรี “ฉัน” ได้ทำงานของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ในตำแหน่งเลขานุการ และได้ทำงานกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง สิ่งที่สังเกตได้ คือ เขาชอบร้องเพลงในเวลาทำงาน ชอบเขียนบทความลงนิตยสาร เรื่องส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องท่องเที่ยว ทำให้ฉันได้รับความรู้ไปด้วย
สิ่งที่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการทำงาน คือ วันที่ฉันทำกระเป๋าเงินหาย และได้รับความมีน้ำใจจากเจ้านาย ให้เงินแทนจำนวนที่หายไป และวันที่ฉันนำไปคืนเขา แต่เขากลับไม่รับเงินคืน เขาบอกว่า ผมให้คุณแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจต่อตัวเขามาก เพราะในวันที่เลวร้าย อย่างน้อยฉันก็ยังเจอคนมีน้ำใจ
สุขยกที่สอง
ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเริ่มจากการเปลี่ยนงาน เมื่อได้มาทำงานใน “มูลนิธิแพทย์ชนบท”
ได้รู้จักคำว่า “รพช.” ที่หมายถึง “โรงพยาบาลชุมชน” ได้รู้จักกับหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขระดับภูมิภาคมากขึ้นกว่าเดิม ได้เรียนรู้ว่าความจน ความลำบากของคนในชนบท มีมากเท่าไหร่ คนที่เขาไม่มีข้าวจะกินเป็นอย่างไร ได้รู้ว่าหมอในโรงพยาบาลชุมชน เป็นคนน่ารักทุกคน ติดดิน ไม่เรื่องมาก
ได้รับรู้ประสบการณ์ความลำบากจากคนไข้ในชนบทที่กว่าเขาจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล มันลำบากอย่างไร ได้รับรู้ความเสียสละของแพทย์ ที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เปิดคลินิก เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเสียสละเพื่อประชาชน ในการยอมทำงานในชนบท โดยไม่หนีไปอยู่ โรงพยาบาลเอกชน ได้เห็นความมีน้ำใจของคนไข้ที่มีต่อคุณหมอ เปรียบเสมือนหนึ่งคุณหมอคือเทวดาของเขา
“เวลาที่ฉันรู้สึกท้อใจ มีปัญหาเข้ามาในชีวิต คนที่เขาลำบากกว่ายังมีอีกตั้งมากมาย ชีวิตฉันสบายกว่าเขาตั้งหลายเท่า ความสุข และความทุกข์คงไม่ได้อยู่ติดตัวฉันตลอดไป ยังไงก็ต้องผ่านมันไปให้ได้”
สุขยกที่สาม สุขยกระดับอย่างแท้จริง
ความสุขนี้เป็นความสุขที่ยิ้มได้ทุกครั้ง เป็น “สุขบริสุทธิ์” จากการได้เป็นแม่ ถึงแม้ว่าฉันจะไม่ได้ตั้งครรภ์เองก็ตาม
ใครเลยจะรู้ว่า ชีวิตฉันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย เมื่อได้เจอกับหนึ่งชีวิตน้อย ๆชีวิตหนึ่ง โดยที่ไม่ได้ตั้งตัวเลย
ย้อนชีวิตไปประมาณ ๘ ปี ฉันได้เจอกับเด็กน้อยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหลานของเพื่อนพ่อ เด็กคนนี้เกิดมาในความไม่พร้อมของพ่อแม่ที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่
“ฉัน” เจอกับเด็กคนนี้ครั้งแรก นึกว่าเป็นเด็กผู้ชาย เพราะผมสั้นมาก จนวันที่พ่อของเด็กนี้ มาบอกว่าเป็นผู้หญิง ชื่อ “รวงข้าว”
ตอนนั้น “รวงข้าว” เพิ่งอายุ ๘ เดือนเอง ยังคลานอยู่เลย หน้าตาน่ารัก แก้มแดงมาก ผิวขาว ก็เลยถูกชะตา และ “ฉัน” รับเอามาเลี้ยงไว้
คืนแรกที่มาอยู่ด้วยกัน ไม่อยากจะบอกเลยว่า ประสบการณ์การเลี้ยงเด็กไม่มีเลย ชงนมยังไงก็ไม่รู้ แม่ก็ไม่อยู่
คืนนั้นน้อง “รวงข้าว” ต้องกินนมร้อน ๆ เพราะว่าไม่รู้ว่า วิธีการชงนมให้เด็กนั้น ต้องเอาน้ำร้อนผสมกับน้ำเปล่า จึงจะได้นมสำหรับเด็กอ่อน
พอ “รวงข้าว” ฉี่ ก็เอาไปอาบน้ำทุกครั้งที่ฉี่ออกมา จนน้องยืนมองหน้า โชคดีที่ว่า ช่วงเวลาที่เลี้ยง “รวงข้าว” นั้น มีความสุขที่สุด “รวงข้าว” เป็นเด็กเลี้ยงง่าย จะมีปัญหาที่ว่า เป็นเด็กที่ถ่ายออกยาก ก็ต้องคอยโทรถาม “คุณหมอสุวัฒน์” และ “คุณหมอสุภัทร” ที่เคยทำงานมาด้วยกัน จึงสนิทกันจนถึงทุกวันนี้
การเลี้ยงน้อง “รวงข้าว” ทำให้มีประสบการณ์ความเป็นแม่ เพราะเลี้ยงเขามาตั้งแต่ ๘ เดือนจนจะถึง ๘ ขวบแล้วในวันนี้ ด้วยความรัก ความผูกพัน ที่ให้กับเด็กคนนี้อย่างมากมาย
“ฉัน” ไม่เคยคิดหวัง ว่าเขาจะให้อะไรตอบแทนฉันในยามที่ฉันแก่ลงไป แต่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง สุขที่จะให้อีกหนึ่งชีวิต มีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ สุขที่ฉันได้เลี้ยงเขามา
“รวงข้าว” ทำให้ “ฉัน” เข้าใจเลยว่า ความรักที่แม่มีให้ลูกเป็นยังไง เมื่อก่อนไม่ค่อยเข้าใจความรักความห่วงใยของพ่อแม่ที่มีให้ลูก เป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเองมาก จนวันหนึ่งที่ได้มาเจอกับตัวเอง มีความรักให้กับ “รวงข้าว” จึงเข้าใจความรักที่แม่มีให้ต่อลูกอย่างลึกซึ้งขึ้น
“ความสุขที่มีอย่างพอเพียง และเพียงพอจากพ่อแม่ที่สร้างมาให้ กับหนึ่งชีวิตที่ลิขิตมาให้เจอกัน ใครเลยจะรู้ว่า มันจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม”
และคงจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม ในวันที่ “รวงข้าว” ประสบความสำเร็จในชีวิต เรียนจบ มีงานทำ เป็นคนดีของสังคม แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
เรื่องที่ ๓ : The Reader โดย “สุนันทา ปินพทาโน”
เมื่อประมาณ ๒๕ ปีก่อน เคยได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตที่จังหวัดมหาสารคามประมาณ ๒ – ๓ ปี ซึ่งเป็นบ้านปู่กับย่า
ตอนไปครั้งแรกร้องไห้กลับสุพรรณบุรีทุกวันเลย เพราะคิดถึงพ่อกับแม่ อาหารก็กินไม่ได้ มีแต่น้ำพริกกับผักต้ม
ใช้ชีวิตอยู่กับปู่กับย่าตั้งแต่ ๖ ขวบ จนถึงอายุ ๘ ขวบ พ่อกับแม่ก็ไปรับกลับมาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี
เรื่องแรกที่พ่อกับแม่ต้องทำ คือ ต้องหาโรงเรียนให้เข้าเรียน สุดท้ายก็ได้เข้าโรงเรียนใกล้บ้าน คือ “โรงเรียนเทศบาล ๔ วัดโพธิ์อ้น” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ มีนักเรียนประมาณ ๑๐๐ คน
ถึงวันมอบตัวเข้าโรงเรียนแม่ก็พามาพบครูใหญ่ ชื่อ “คุณครูมาลี พละเลิศ” เบื้องต้นครูก็สอบถามแม่ว่า “ด.ญ. สุนันทา อายุเท่าไหร่ เคยเข้าเรียนระดับใดมาก่อนบ้าง” ซึ่งทางแม่ก็ตอบคุณครูว่า “เคยเข้าเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่ต่างจังหวัดมาก่อน” ทั้งที่ความจริง ด.ญ.สุนันทา เคยสมัครเรียนที่โรงเรียนในต่างจังหวัดจริงแต่ไม่เคยได้เข้าเรียนเลย
“คุณครูมาลี” จึงให้ “ด.ญ.สุนันทา” เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ ๒
ในวันเปิดเทอมของโรงเรียน ทุกคนในห้องต่างนั่งตามที่คุณครูได้จัดเอาไว้ และครูประจำชั้นก็เข้ามาแนะนำกับนักเรียนทุกคน จากนั้นก็ให้นักเรียนทุกคนแนะนำตัวให้เพื่อนๆ ได้รู้จัก
มาถึงตอนเข้าสู่บทเรียนแรกของการเปิดเทอม คือ วิชาภาษาไทย โดยคุณครูจะให้ทุกคนอ่านบทเรียนคนละ ๕ บรรทัด จนกว่าจะจบบทเรียนนั้นๆ
นักเรียนต่างอ่านหนังสือไล่จนมาถึง “ด.ญ.สุนันทา” เธอยืนขึ้นพร้อมหนังสือในมือแต่ไม่ได้อ่านอะไรออกมา สร้างความงุนงงให้คุณครูและเพื่อนร่วมชั้นเป็นอย่างมาก
คุณครูก็จึงเปล่งเสียงถาม ด.ญ.สุนันทาว่า “ด.ญ.สุนันทาอ่านหนังสือไม่ออกใช่ไหมคะ”
ด.ญ.สุนันทาก็ตอบว่า “ใช่ค่ะ”
เหตุการณ์นี้ทำให้มีการประชุมระหว่างครูประจำชั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้ปกครองของ “ด.ญ.สุนันทา” เพื่อหารือกันว่าจะทำอย่างไรดีกับ “ด.ญ.สุนันทา”
ผลสรุปของที่ประชุมคือได้เรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ ๒ ต่อ โดยมีเงื่อนไขว่าในตอนเย็นเวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. จะต้องเรียนพิเศษ การเขียน การอ่าน การผสมคำ
“ด.ญ.สุนันทา” เรียนพิเศษอยู่ประมาณ ๒ ปี พร้อมการสอบเลื่อนขั้นไปด้วย
จนกระทั่ง “ด.ญ.สุนันทา” จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ได้ในที่สุด
เป็นอย่างไรบ้างครับกับลีลาการเขียนแบบที่เป็นเรื่อง “ใกล้ตัว” เกี่ยวกับชีวิตตนเองที่ประสบมาในแต่ละช่วงวัย ที่แต่ละคนก็มีความสามารถเชิงช่างในการเขียนที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เริ่มวางพล็อต เขียนบทสนทนา จนถึงเขียนให้อ่านเข้าใจรู้เรื่อง เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำเรื่อยๆ เพราะงานเขียนไม่มีทางลัดง่ายๆสำหรับผู้ไม่ฝึกฝนลงมือเขียนอย่างแน่นอนครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น