วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

“หมอแสงเดือน” เพื่อนแท้ของคนยากจากลุ่มน้ำจัน

๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗

แม้เข็มตกพื้น ณ เวลานี้ ทุกคนในห้องประชุมที่มาอยู่รวมกันก็จักได้ยิน ความเงียบมาพร้อมกับข่าวสารที่เดินมาถึงยามตะวันใกล้ตกดินอย่างกะทันหัน และสร้างความตกใจมิใช่น้อย เนื่องจากอีก ๒ วันเท่านั้นก็จะถึงวันจัดงานแล้ว

"ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๗ สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) จึงจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน สำหรับวันเวลาและสถานที่จัดจะแจ้งให้ทราบภายหลัง”

คำถามที่ปราศจากคำตอบดังก้องในใจ “เหตุใดทาง UNCC จึงไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ และบอกยกเลิกจัดงานกระชั้นชิดเช่นนี้”

ข่าวคราวเดินทางมาถึงพร้อม ๆ กับที่องค์ปาฐกถาพิเศษท่านหนึ่งก็เดินทางมาถึงตัวอำเภอแม่สอดแล้ว กับการเดินทางกว่า ๒๕๔ กิโลเมตร ร่วม ๖ ชั่วโมงกว่า ๆ จากหมู่บ้านหม่องกั๊วะ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ว่ากันว่าเป็นเสมือนเมืองหลวงของหมู่บ้านกะเหรี่ยงในแถบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฟากตะวันออก

พวกเรามองหน้ากันและใครสักคนในที่นี้ก็ต้องทำหน้าที่แจ้งข่าวนี้ให้ “หมอแสงเดือน” หรือ “พะโฉะ สิรินิพนธ์” ทราบ เพราะในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗ จะเป็นครั้งแรกที่ “หมอแสงเดือน” จะต้องขึ้นปาฐกถาต่อหน้าสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกว่า ๒,๐๐๐ คน ในช่วงหนึ่งของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ นี้

๑๒ ชั่วโมงกับการเดินทางไป - กลับของเธอที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงกะทันหันเช่นนี้ ทำให้ผมอดคิดต่อไม่ได้ว่า แล้วคนไข้ที่เจ็บป่วยและจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ก็ยังอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปกว่า ๘๖ กิโลเมตร นั้นแปลได้ว่า “บ่อยครั้งกว่าที่ผู้ป่วยจะถึงมือหมอ ก็อาจสายเกินแก้เสียแล้ว”

อีกไม่นานวสันตฤดูจะเดินทางมาถึง บางปีกินเวลานานกว่า ๖ เดือน สายฝนที่ตกมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทำให้เส้นทางสายหลักที่เข้าสู่หมู่บ้านซึ่งแสนทุรกันดารอยู่แล้ว ก็จะยิ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น และนั่นย่อมหมายถึงการเดินทางไปรักษาตัวในโรงพยาบาลประจำอำเภอก็จะใช้เวลาทบทวีคูณ

นี้เองคือที่มาของ “หมอแสงเดือน” ผู้หญิงกะเหรี่ยงวัยกลางคน ผู้ทำหน้าที่ปิดทองหลังพระต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย

ผมนั่งอ่านปาฐกถาของ “พะโฉะ สิรินิพนธ์” หรือ “หมอแสงเดือน” ที่ทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เรียบเรียงจากการถ่ายทอดโดยตรงจากปากของ “หมอแสงเดือน” ขึ้นมาในวันที่เดินทางไปพบเธอที่หมู่บ้านและเชื้อเชิญมาเป็นองค์ปาฐกในครั้งนี้ น้ำตาก็พลันซึมไม่รู้ตัวและพระราชดำรัสของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ก็แทรกมากลางหว่างใจที่ว่า “ถ้าหากมีแต่คนปิดทองหน้าพระ องค์พระก็จะไม่งดงามสมบูรณ์ จึงต้องมีคนที่ปิดทองหลังพระ เพื่อให้องค์พระนั้นมีความสมบูรณ์สวยงาม เปรียบเช่นการทำความดี ถ้าหากมีแต่คนทำดีเพื่อเอาหน้า ไม่มีใครทำดีเพื่อความดีอย่างแท้จริง ประเทศชาติสังคมก็จะไปไม่รอด”

และนี่คือปาฐกถาอันทรงคุณค่าฉบับนั้น ฉบับที่ไม่รู้ว่าจะถูกอ่านขึ้น ณ เวลาใด

“ปัจจุบันดิฉันอายุ ๕๕ ปี มาจากชุมชนบ้านมอทะ หมู่ ๗ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก แต่ชาวบ้านจะเรียก “หมอแสงเดือน” จากชื่อที่ได้ใช้สมัยอยู่กับคณะปฏิวัติ

ในครอบครัวมีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน ครอบครัวเป็นคนปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง พอจำความได้ว่าอาศัยอยู่ในบ้านกระท่อมไม้ไผ่ นอนด้วยกันพี่น้อง ๔ คน นอนใกล้ชิดกันยิ่งอบอุ่น กลางวันตามพ่อแม่ไปไร่ ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ การทำมาหากิน มีความสุขดี

พออายุได้ ๑๒ ปี พ่อบอกว่าต้องย้ายบ้าน เพราะหมู่บ้านเราจะมีทหารมายิงถล่มแล้ว พี่น้องทุกคนเตรียมตัวหนี แต่ตัวเองไม่อยากไป กลางคืนยังอยากนอนกับพี่น้อง แต่ทุกคนอพยพในคืนนั้น ตัวเองก้าวลงบันไดเป็นคนสุดท้าย มองกลับมาที่บ้านตัวเอง นึกในใจ ทำไมเราต้องหนี และเราจะได้กลับมาอยู่บ้านของเราอีกหรือเปล่า มองไปอีกที เขาไปกันไกลแล้ว ก็เลยต้องทิ้งบ้าน เข้าไปอยู่ในป่าลึกร่วมกับคณะปฏิวัติ ซึ่งปลอดภัยกว่า

การใช้ชีวิตอยู่กับคณะปฏิวัติ เขาสอนให้เราช่วยเหลือกัน ไม่เอาเปรียบกัน ไม่เห็นแก่ตัว ต้องช่วยเหลือประชาชนตลอด พออายุได้ ๑๕ ปี ก็เริ่มเห็นคนเจ็บคนป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ เลยขอไปฝึกเรื่องการรักษาคนกับคณะปฏิวัติ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ ได้เรียนรู้เรื่องการฉีดน้ำเกลือ การทำแผล การนวด การฝังเข็ม ได้ฝึก ได้ทำจริงทำให้คล่องเหมือนหมอ

ต่อมาฐานที่มั่นของเราถูกย้ายมาอยู่แม่กลองคี อำเภออุ้มผาง และสุดท้ายต้องไปมอบตัวให้กับทางรัฐบาล ไปกันทั้งหมู่บ้าน แต่เขาบอกเราว่า ให้มอบแต่ตัว แต่อย่ามอบใจ คือใจที่ช่วยเหลือประชาชน ใจที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ต้องมอบให้เขา ให้เก็บที่ตัวเรา

ตอนนั้นอายุประมาณ ๒๖ ปี พอมอบตัวเสร็จก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านมอทะ แต่ก็ทำหน้าที่รักษาคนเหมือนเดิม และหาความรู้ที่เป็นสมุนไพรปกาเกอะญอควบคู่ไปกับความรู้ที่ได้จากคณะปฏิวัติ รวมทั้งเรียนรู้เรื่องการทำคลอดจากหมอตำแยในหมู่บ้านจนสามารถทำคลอดได้ คนก็มาหาตลอด จนบางทีเขาเรียกเราว่า “หมอปฏิวัติ”

จนอายุ ๓๐ ปี ก็แต่งงาน เพราะถ้าแก่กว่านี้คงหาผัวไม่ได้แล้ว ไม่มีใครเอาแล้ว ต้องแต่งงาน พอแต่งงานตอนแรกลำบากเพราะต้องทิ้งครอบครัว เพื่อดูแลคนป่วย ครอบครัวตอนแรกไม่เข้าใจ ก็เลยบอกพ่อของลูกว่า ถ้าเขารักษาตัวเองได้ เขาคงไม่มาหา ไม่มาเรียกเราหรอก ฉะนั้นเราต้องช่วยรักษาเขา หลังๆมาเขาก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เขาเห็นใจเราบ้าง โกรธเราบ้าง แต่ก็อยู่ด้วยกันจนมีลูกหลายคน

มีคนถามว่า ทำไมไม่เก็บเงินคนที่มารักษา ก็ไม่รู้ไม่กล้าเก็บเงิน เพราะต้องช่วยเหลือกัน ต้องอยู่ร่วมกัน การดูแลคนป่วยก็ลำบาก ต้องคอยเลี้ยงข้าว เตรียมน้ำให้เขาเช็ดตัว จริงๆ มีหมอปฏิวัติหลายคน ส่วนใหญ่หมู่บ้านละ ๑ คน แต่เขาก็มาหาเรา คนในหมู่บ้านก็มี คนหมู่บ้านอื่นก็มี ตอนนี้ที่หมู่บ้านมีสถานีอนามัย แต่คนก็ยังมาหา เขาบอกว่า เขาเชื่อใจ ไว้ใจ เขามาหาเราแล้วเขาหายป่วย เขามาด้วยใจก็เลยดูแลเขาด้วยใจ เห็นเขาหายป่วยเราก็หายเหนื่อย

ปัจจุบันก็ยังรักษาคนอยู่เรื่อยๆ เราคิดว่าเราไม่ได้ทำผิด เราทำถูกต้องตามหลักของมนุษย์ และตอนนี้ก็เป็น อสม. ด้วย ก็ถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานราชการในด้านการรักษาคนเจ็บป่วย ถึงแม้บางทีเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ ก็ต้องอดทนทำงานไม่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่มีกะกลางวันกลางคืน ถ้าคนมาเรียก คนมาหาก็ต้องทำ

บางทีถ้าเขาเรียกไม่ได้ เขาก็ด่าเรา บางครั้งเขาก็ชมเรา เดือนหนึ่งเฉลี่ยทำคลอดประมาณ ๓-๔ คน บางทีต้องนั่งรถมอเตอร์ไซด์ไปทำคลอดที่หมู่บ้านอื่นก็ต้องไป

โรคส่วนใหญ่คือ มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ท้องร่วง โรคบางโรคต้องใช้ยาปฏิชีวนะ โรคบางโรคต้องใช้ยาสมุนไพร คนบางคนรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้ คนบางคนต้องรักษาด้วยสมุนไพรเขาถึงจะหายจากการเจ็บป่วย โรคไม่เหมือนกัน คนไม่เหมือนกัน ต้องรู้จักทั้งโรคทั้งคน

ปัจจุบันได้มีมูลนิธิสืบ นาคเสถียร เข้ามาจัดตั้งเป็นเครือข่ายหมอปฏิวัติ และได้ประสานเรื่องยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือต่างๆ ให้ คนจะมาขอยาทุกวัน บางครั้งมีหมอจากโรงพยาบาลมาตรวจแล้วบอกว่า ยาที่นี่เยอะเกินไป เขาก็เอากลับไปใช้ที่โรงพยาบาลบ้าง ก็บอกว่าถ้าเป็นประโยชน์กับคนอื่นก็เอาไปใช้ได้

เพราะว่าโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้รักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ออกไปรักษาคนข้างนอกด้วย เพราะบางคน บางชุมชนไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ เขาจึงมีมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผาง เพื่อทำหน้าที่ระดมทุนในการช่วยเหลือผู้อยู่ห่างไกลไม่สามารถมารักษาความเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลได้ การที่เขาเอายาจากที่มีคนมาบริจาคให้เราไปรักษาคนต่อ มันก็คือจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชน

การที่มีเครือข่ายหมอปฏิวัติขึ้นมานั้น เพราะว่าในแต่ละชุมชนมีหมอที่ได้เรียนรู้มาจากคณะปฏิวัติอยู่ และการรักษาคนของเรานั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องสมุนไพร สมุนไพรก็เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เครือข่ายของเราก็เลยต้องดูแลเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนด้วย ไม่มีป่าก็ไม่มีสมุนไพร ไม่มีน้ำสมุนไพรก็ไม่รู้จะเอาน้ำที่ไหนมาให้คนป่วยเช็ดตัว ก็ต้องดูแลทั้งคนและทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป และตอนนี้ได้เริ่มฝึกคนคนรุ่นใหม่ในชุมชนมาทดแทน เช่นตอนนี้ลูกสาวก็จัดยาเป็นแล้ว ฉีดยาเป็นแล้ว จับชีพจรเป็นแล้ว

ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องที่เก็บยา เพราะอยากได้ที่เก็บยาที่ถูกหลัก เก็บเป็นหมวดเป็นหมู่ สะอาดปลอดภัย แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่ยังทำเองไม่ได้ตอนนี้ หากได้รับความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นการเติมเต็มในสิ่งที่เรายังขาดอยู่

ก็อยากฝากความหวังต่อการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยเรา คือ อยากให้มีความเข้าใจกัน ไม่ว่าคนในเมืองกับคนในเมือง และคนในเมืองกับคนในป่า ไม่อยากให้ทะเลาะกัน ไม่จับผิดกันและกัน รับฟังกัน พูดคุยกัน อยากให้มีการแบ่งปันกัน ถ้าพี่ล้ม น้องก็ต้องช่วยพยุงให้ลุกขึ้น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบประชาชน ไม่เอาเปรียบประเทศชาติ ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน

เช่นเรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพ ที่จริงอยากให้มีการส่งเสริมให้ท้องถิ่น ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสุขภาพของคนในชุมชนได้ เช่น อยากให้คนที่อยู่ในป่าได้สามารถมีสิทธิมีโอกาส มีทางเลือกในการได้รับการรักษาสุขภาพที่มีคุณภาพได้ โดยเลือกได้ว่าจะรักษาความเจ็บป่วยของตนเองที่ไหน ถ้าไปโรงพยาบาลก็จะได้รับยาและการรักษาที่มีคุณภาพ ถ้าจะรักษาในชุมชนก็มีผู้รู้ในชุมชนที่มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับหมอพื้นบ้าน ใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณถูกหลักอนามัยและวัฒนธรรมรักษาอาการเจ็บป่วยได้ และได้รับการยอมรับจากทางการด้วย ขอเป็นให้กำลังใจให้ทุกคนในการทำสิ่งที่ดีเพื่อประชาชน”

ปาฐกถาฉบับสั้นๆ แต่บ่งบอกรอยทางของประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า ๓๐ ปี ในการลดภาระความเจ็บป่วยของคนชายขอบ-ชายแดนในสังคมไทย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม "หมอแสงเดือน" จึงได้รับรางวัล “คนค้นคนอวอร์ด” เมื่อปี ๒๕๕๓

เพราะ ณ ใจกลางป่าลึก ที่นี่คือที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงหลายร้อยครอบครัวที่อาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน ความหวังอันเลือนรางในการรักษาความเจ็บป่วยได้รับการเยียวยาจาก “หมอแสงเดือน”

ปัจจุบันเธอยังคงยืนหยัดทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อต่อลมหายใจให้เพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา ฝังเข็ม ให้น้ำเกลือ ดูแลสุขภาพ หรือแม้ในยามฉุกเฉินเธอก็สวมวิญญาณแห่งเป็นหมอใหญ่ในการทำคลอดให้กับทารกที่กำลังจะลืมตามาดูโลกในผืนป่าแห่งนี้หลายร้อยคน โดยไม่ได้เรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือเรียกร้องความเห็นใจ

แม้อุปกรณ์ที่เธอมีจะน้อยชิ้น และไม่ได้ทันสมัย ครบครันเทียบได้เท่าที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลเล็ก ๆ แต่ก็เพียงพอที่จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกาย และปลอบประโลมความรู้สึกทางจิตใจของชาวบ้านหมู่บ้านหม่องกั๊วะและหมู่บ้านใกล้เคียงได้

อีกทั้งฐานะทางบ้านของเธอก็ไม่แตกต่างจากคนที่เดินทางมารักษา แต่เธอก็ยังเสียสละเวลา และใช้ที่พักอาศัยส่วนตัวเป็นที่เฝ้ารับการบำบัด รักษา ผู้คนที่ทุกข์ยากอย่างไร้ข้อยกเว้น และไม่ผูกติดกับเงื่อนไข และที่สำคัญไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายจากชาวบ้านแต่อย่างใด โดยยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ “หมอแสงเดือน” ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และวัดท่าซุง

หลังจาก พ.ศ. ๒๕๒๖ ที่สงครามปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสิ้นสุดลง สหายในเมืองทยอยกลับ แต่ “หมอแสงเดือน” ยังยึดมั่นที่จะช่วยต่อลมหายใจให้ชาวบ้าน ณ ดินแดนไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ต่อไปหลักสูตรการรักษาพยาบาลที่ได้รับมาจากสมัยการต่อสู้ยังคงถูกนำมาใช้รักษาชาวบ้านที่นี่อยู่ทุกวี่วัน

แม้การรักษาของ “หมอแสงเดือน” จะเป็นการรักษาตามอัตภาพเท่าที่จะทำได้ และบางครั้งก็ไม่มียารักษา แต่ชาวบ้านก็เชื่อใจ “หมอแสงเดือน” ยิ่งกว่าการเดินทางไปหาหมอที่สถานีอนามัยเสียด้วยซ้ำ และบ่อยครั้ง “หมอแสงเดือน” ต้องพบกับผู้ป่วยที่เกินกำลังในการรักษา เพราะยาและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ แต่เธอก็ต้องไปดูแลคนไข้เหล่านั้น เพราะเพียงแค่คนไข้เห็นว่า “หมอแสงเดือน” มาแล้ว จะทำให้คนไข้อุ่นใจและมีกำลังใจที่ดีขึ้น แม้เธอจะทำได้เพียงแค่ดูอาการเฉย ๆ ก็ตาม

ว่าไปแล้วระบบสุขภาพประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของคนตัวใหญ่ๆที่อยู่ใจกลางเมืองหลวงเพียงเท่านั้น แต่นี้คือเรื่องราวของผู้หญิงกะเหรี่ยงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่อยู่ริมชายแดนตะวันตกประเทศไทย แต่เธอกำลังทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ เธอกำลังยื้อยุดลมหายใจที่กำลังพรากชีวิตให้มีชีวิตต่อ

“ชีวิตคน รอคอยไม่ได้ การเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นตลอด จะป่วยตอนนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ แต่การไปทำไร่ หรือไปวัด วันนี้เราไปไม่ได้แต่วันพรุ่งนี้เรายังไปได้ ไปทำบุญที่วัด บุญนี่ยังรอพวกเราอยู่นะ แต่ชีวิตคนนี่ไม่มีการรอคอย วันนี้ก็คือวันนี้ ถ้าช่วยไม่ทัน ชีวิตก็จะเสียหาย”

เสียงของหมอแสงเดือนแว่วเข้ามา พอ ๆ กับบทปาฐกถาที่จะถูกจดจารและจดจำตลอดไป แม้ว่าการจัดงานสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๖ จะยุติลงอย่างกะทันหันโดยปราศจากเหตุผลที่ชัดแจ้งก็ตามที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น