วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ธรรมนูญชุมชนบนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ตะวันกำลังใกล้ลับฟ้าแล้วพร้อม ๆ กับสายฝนที่เพิ่งหยุดโปรยสาย เมื่อผมเดินทางมาถึงวัดท้ายยอ ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ภาพเบื้องหน้าบริเวณศาลาริมเลสาบ คือ ไซนั่งที่วางระเกะระกะสุดลูกหูลูกตา อาจเป็นเพราะการทำงานทำให้ผมลงมาที่สงขลาบ่อยครั้ง และได้สดับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างชาวประมงที่ทำมาหากินอยู่กับทะเลสาบสงขลากับนโยบายรัฐ ที่มองว่า “ไซนั่ง” คือ เครื่องมือประมงที่ขวางกั้นการขึ้นลงของน้ำ ทำให้น้ำถ่ายเทไม่สะดวก อีกทั้งยังปิดทางเดินของสัตว์น้ำเข้าสู่ทะเลสาบตอนกลาง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลง

คำถามสำคัญที่อยู่ในใจผมเสมอมา คือ ความสมดุลของชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ควรดำเนินไปอย่างไร ที่คนก็มีสุขและนโยบายรัฐก็ไม่กระทบสิทธิชุมชน

๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมได้รับเกียรติจากทาง "วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ" ผ่านโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการองค์ความรู้เพื่อการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)” ให้ไปเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” ให้กับแกนนำใน ๗ พื้นที่ ที่มีเป้าหมายการจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” ได้รับฟัง

ต้องไม่ลืมว่าที่จังหวัดสงขลาแห่งนี้ คือ จุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นมาของ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และส่งผลให้เกิดธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่อื่นๆ ทั้งระดับอำเภอและตำบลอีกหลายสิบพื้นที่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างสำคัญในการนำไปจัดทำเป็น “ธรรมนูญชุมชน” ในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลาย ที่มีเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในแต่ละชุมชน

การเดินทางมาครั้งนี้ผมจึงอดรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้ ที่กำลังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่เรียกว่า “ธรรมนูญชุมชน” ขึ้นมา

ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ประมาณ ๘,๕๖๓ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๓ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ใน ๒ อำเภอ คือ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร) จังหวัดพัทลุงทั้งจังหวัด (คือ อำเภอเมือง อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน อำเภอตะโหมด อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอศรีบรรพต อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าพะยอม) และจังหวัดสงขลา (ใน ๑๒ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนาหม่อม อำเภอบางกล่า อำเภอคลองหอยโข่ง)

เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังนั้นการบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จึงต้องใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการที่มีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น

โครงการฯ ที่เชิญผมมาในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายสำคัญในการทำงาน โดยใช้งานวิจัยชุมชนด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นเครื่องมือนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดทางเลือก เพื่อนำไปสู่ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองต่อไป

โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ ๔ ปี มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ประการที่ ๒ เพื่อศึกษาการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทางเลือกในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ประการที่ ๓ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานวิจัยชุมชนที่มีการพัฒนาจากประเด็นปัญหาในพื้นที่ และนำงานวิจัยชุมชนมาสนับสนุนกระบวนการชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

ประการที่ ๔ เพื่อศึกษากระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะของชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ธรรมนูญลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)

การดำเนินงานในปีนี้เป็นปีที่ ๒ โดยในปีแรกได้มีเป้าหมายอยู่ใน ๗ พื้นที่ และทั้ง ๗ พื้นที่ ต่างมีข้อตกลงร่วมกันว่า รูปธรรมการทำงานที่อยากเห็น นั่นก็คือ “ธรรมนูญชุมชน” ในเรื่องหรือประเด็นที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปีที่ผ่านมา ดังนี้

- พื้นที่ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าต้นน้ำ
- พื้นที่ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยสิทธิชุมชนเรื่องการจัดการที่ดิน
- พื้นที่ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าเสม็ดกับผึ้ง
- พื้นที่ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
- พื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยเรื่องข้าว
- พื้นที่ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าต้นน้ำ
- พื้นที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป้าหมายคือ ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการบริหารจัดการปูทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมง

จากประสบการณ์การลงไปเรียนรู้จากพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” จึงถูกประมวลเป็นสาระสำคัญและเนื้อหาที่ผมนำไปใช้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านทั้ง ๗ พื้นที่ ในเวทีครั้งนี้

ประเด็นที่ ๑ ธรรมนูญชุมชน คืออะไร

ไม่น่าเชื่อว่าฐานความคิดเดิมที่เริ่มต้นจากการลงไปเรียนรู้ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้” ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ความหมายของ “ธรรมนูญสุขภาพ” จำกัดอยู่เพียง “ภาพอันพึงประสงค์” ที่คนในชุมชนนั้นอยากเห็น อยากเป็น อยากมีในอนาคตอีก ๕ ปี ๑๐ ปี แต่เมื่อได้ไปพูดคุยกับพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการจัดทำ “ธรรมนูญสุขภาพ” ระดับพื้นที่ในระยะต่อมา ปรากฏว่าชุมชนและชาวบ้านมอง “ธรรมนูญสุขภาพ” มากกว่านั้น

บางชุมชนมองเป็นเป้าหมายหรือความฝันร่วม บางชุมชนมองเป็นข้อตกลง กฎ กติกา ร่วมกัน บางชุมชนมองเป็นศีลร่วม

และครั้งล่าสุด ได้มีโอกาสไปคุยกับคนภาคใต้ เขาเรียกธรรมนูญชุมชน ว่าคือ “ชันชี” หรือ “การตกลง หรือสัญญาร่วมกัน”

แม้จะมอง “ธรรมนูญชุมชน” แตกต่างกัน แต่มีจุดที่เหมือนกันก็คือ “สิ่งเหล่านั้นต้องเป็นสิ่งที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน และเห็นว่าสิ่งนั้นจะนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน”

ฉะนั้นหากให้ผมนิยามความหมายของ “ธรรมนูญชุมชน” จึงให้ความหมายไว้ว่าเป็น “เป้าหมาย ความฝัน ศีล ข้อตกลง กฎ กติกา ที่คนในชุมชนอยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกัน อันนำไปสู่การมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี” นั่นเอง

ในเวทีครั้งนี้ ผมเน้นย้ำไว้ว่า “ไม่ว่าเราจะเรียกเครื่องมือนี้ว่าอะไรก็ตาม สาระสำคัญที่สุดคือ ธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนท้องถิ่น เพราะเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่มีชีวิตและทรงอำนาจมากกว่าเครื่องมือไหน ๆ กฎหมายฉบับใด ๆ เพราะถูกออกแบบด้วยพ่อแม่พี่น้องลูกเล็กเด็กแดงเจ้าของปัญหา ผ่านการมีเวทีและปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนำไปสู่การจัดการสิ่งละอันพันละอย่างที่เป็นปัญหาในชุมชนร่วมกัน"

ประเด็นที่ ๒ หลักการสำคัญในการจัดทำธรรมนูญชุมชน

ผมได้นำเสนอหลักการสำคัญ ไว้ ๔ ประการคือ

หนึ่ง : การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทั้งท้องถิ่น (อบต. เทศบาล) ท้องที่ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) ท้องทุ่ง (สมาคม มูลนิธิ เครือข่าย ชมรม กลุ่มคน) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ (โรงเรียน วัด รพ.สต. เกษตรตำบล เป็นต้น)

สอง : ยึดโยงกับรากเหง้าและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนในแต่ละพื้นที่

สาม : ความเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของใคร หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทุกคนต้องจำเป็นต้องใช้ธรรมนูญชุมชนเป็นกรอบในการประพฤติปฏิบัติตัวตามเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในธรรมนูญชุมชน
สี่ : พื้นที่จัดการกันเองเป็นหลัก โดยไม่ต้องรอองค์กรภายนอกมาจัดการให้

ประเด็นที่ ๓ เงื่อนไขสำคัญในการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชน

ผมได้ถอดบทเรียนจากการเรียนรู้การขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” ในพื้นที่ต่าง ๆ แล้วเห็นว่าเงื่อนไขที่ทำให้ธรรมนูญสุขภาพมีชีวิต หรือเกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะประกอบด้วย

หนึ่ง : ต้องกินได้ และเข้าใจง่าย อันหมายถึง เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนนั้น ๆ และเมื่ออ่านแล้วเข้าใจทันที ไม่มีศัพท์แสงทางวิชาการที่ต้องตีความกันหลายตลบ

สอง : มาจากคนในพื้นที่ และเปิดกว้างให้ผู้คนในชุมชนได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตาม ร่วมได้ประโยชน์ ฉะนั้นจึงไม่ควรคัดลอกเนื้อหาสาระมาจากธรรมนูญของพื้นที่อื่นมาใช้ และไม่ควรเชื่อความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกที่เสนอให้เป็นแบบโน้นแบบนี้

สาม : การรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ จึงควรมีการสื่อสารให้คนในพื้นที่รับรู้อย่างทั่วถึง โดยช่องทาง ๆ ที่เหมาะสมกับคนในชุมชน อาทิ แผ่นพับ ป้ายโปสเตอร์ หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน การรณรงค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

สี่ : ปรับปรุง ทบทวนและเพิ่มเติมได้ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความสมบูรณ์ในเนื้อหามากนัก เพราะเมื่อใช้ธรรมนูญชุมชนไปสักระยะหนึ่ง ก็นำมาพิจารณาว่าจะปรับปรุง หรือทบทวนธรรมนูญในข้อใดก็ได้ หรืออาจจะขอเพิ่มเติมเนื้อหาบางประการลงไปใหม่ก็ได้ โดยยึดหลักการสำคัญ ๔ ประการข้างต้น

ห้า : มีคนเกาะติด โดยคน ๆ นั้น ควรเป็นคนที่มีจิตสำนึก จิตสาธารณะ จิตอาสา และจิตเข้มแข็ง ในการทำงาน

ประเด็นที่ ๔ คุณค่าของธรรมนูญชุมชน มี ๔ ประการ คือ

หนึ่ง เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สอง เป็นเครื่องมือในการยึดโยงให้ผู้คน หน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชนให้เข้ามาทำงานด้วยกันภายใต้กรอบทิศทางเดียวกัน

สาม เป็นเครื่องมือในการระดมสรรพกำลังคน กำลังเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาพัฒนางานภายใต้กรอบการพัฒนาเดียวกัน นำไปสู่การทำงานที่เสริมกำลังกัน ลดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการกันอย่างจริงจัง

สี่ เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความรักสามัคคีของคนในชุมชน

ประเด็นที่ ๕ ขั้นตอนในการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชน

ผมได้นำเสนอขั้นตอนการทำงานไว้ ๓ กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ ๑ เป็นขั้นตอนการจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ขาขึ้น” ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๑.๑ การวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องกับประเด็นที่จะจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” เช่น ธรรมนูญชุมชนว่าด้วยการจัดการป่าต้นน้ำ ก็จะต้องทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับ “ป่าต้นน้ำ” อาทิ รัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย สถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งอาจจะหาได้จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว หรือเกิดจากการจัดหาขึ้นใหม่

ขั้นตอนที่ ๑.๒ การรับฟังความคิดเห็นรายพื้นที่และรายกลุ่มที่สำคัญ โดยคำถามสำคัญที่ควรตั้งเพื่อให้ช่วยกันกำหนด นั่นก็คือ (๑) สิ่งที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ในอีก ๕ ปี ๑๐ ปี ของประเด็นที่จะจัดทำธรรมนูญชุมชน (๒) สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางรักษาหรือพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น และ (๓) สิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ในชุมชน และแนวทางการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีนั้นให้กลับเป็นสิ่งดี ๆ

ขั้นตอนที่ ๑.๓ ยกร่างธรรมนูญชุมชน โดยการประมวลข้อมูลจากขั้นตอนที่ ๑.๑ และ ๑.๒ มาทำการยกร่างโดยทีมทำงานที่ส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยองค์ประกอบที่สำคัญ ควรมีสัก ๓ ส่วน คือ ส่วนนำ ที่กล่าวถึง ปรัชญา แนวคิดหลัก และความอยากเห็นอยากเป็น อยากมี ที่ได้มาจากการรับฟังความคิดเห็น ส่วนที่ ๒ คือ สาระสำคัญของประเด็น ซึ่งขึ้นอยู่กับประเด็นของธรรมนูญ ชุมชนและข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็น

ขั้นตอนที่ ๑.๔ การรับฟังความคิดเห็นรวม โดยนำร่างธรรมนูญชุมชนไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ โดยต้องให้ครอบคลุมผู้แทนทั้งระดับพื้นที่ และกลุ่มคน หน่วยงานที่มีอยู่ในชุมชน

ขั้นตอนที่ ๑.๕ ปรับปรุงธรรมนูญชุมชน โดยแก้ไขเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้มาจากขั้นตอนที่ ๔ และถ้าจะให้มีคุณภาพมากขึ้น ควรนำกลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนให้ความเห็นชอบ

ขั้นตอนที่ ๑.๖ ประกาศใช้ธรรมนูญชุมชน โดยผมได้เสนอให้ (๑) เชื่อมโยงกับวันสำคัญของชุมชน หรือของชาติ (๒) จัดให้มี “สัจจะในที่แจ้ง” ซึ่งให้คนในชุมชนเปล่งวาจาออกมาพร้อม ๆ กัน (๓) มีพิธีกรรมที่สร้างความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือ การจัดทำธรรมนูญเป็นใบลาน เป็นต้น (๔) มีการจัดทำเป็นเอกสารประจำครอบครัว เพื่อให้ทุกครอบครัวได้ศึกษาเนื้อหาของธรรมนูญ และย้ำเตือนใจว่าเป็นสิ่งที่ตนเองได้กล่าว “สัจจะในที่แจ้งไว้”

กลุ่มที่ ๒ การนำธรรมนูญชุมชนไปปฏิบัติ หรือเรียกอีกอย่างว่า “ขาเคลื่อน” ซึ่งประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ ๒.๑ การจัดทำแผนการขับเคลื่อน โดยระบุว่าจะมีวิธีการขับเคลื่อนอย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ขั้นตอนที่ ๒.๒ การติดตามและรายงานผล เพื่อให้เห็นผลและความก้าวหน้าในการนำธรรมนูญชุมชนไปปฏิบัติ

ขั้นตอนที่ ๒.๓ การประเมินผลและทบทวนธรรมนูญชุมชน ซึ่งควรเน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วม

จากประสบการณ์ที่ได้เห็นการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพ” พบว่าบางพื้นที่นำไปจัดทำเป็นข้อบังคับขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อการผูกโยงกับงบประมาณประจำปีของท้องถิ่นไปด้วย ซึ่งก็เป็นอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อน

กลุ่มที่ ๓ งานสนับสนุนที่จะทำให้ “ธรรมนูญชุมชน” มีการดำเนินทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยดี ได้แก่ งานสื่อสารสาธารณะ งานจัดการความรู้ และงานบริหารจัดการ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญ

ทุกจังหวะของเวลาที่ค่อย ๆ ผ่านไปแต่ละวินาทีที่ผมเล่าแต่ละขั้นตอน สายตาของผู้เข้าประชุมที่เรียกตัวเองว่า “นักวิจัยชุมชน” ที่เป็นผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะจัดทำธรรมนูญชุมชนจาก ๗ พื้นที่นั้น บ่งบอกให้เห็นถึงแววของความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมในการเรียนรู้ อีกทั้งยังร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก ทำให้ผมในฐานะผู้เล่าเรื่องมีความสุขและเกิดปิติยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเล็ก ๆในครั้งนี้

แม้ผมจะไม่ได้เป็นคนที่อาศัยอยู่บนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่ก็เต็มใจอย่างยิ่งและพร้อมที่จะเป็นแรงหนุนให้พื้นที่เหล่านี้บรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ นั่นก็คือ การนำแนวคิด “ธรรมนูญสุขภาพ” มาใช้ในการจัดทำ “ธรรมนูญชุมชน” บนพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

“เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น