วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2557

“เบื้องหลังของผู้ชายมักมีสตรีอันเป็นที่รักเสมอ”: เนื่องในวันสตรีสากล ๒๕๕๗

๘ มีนาคม ๒๕๕๗

แม้ว่าวันนี้จะเป็น "วันสตรีสากล" ที่หลายๆ หน่วยงานในประเทศไทยรวมทั้งทั่วโลกต่างจัดเวทีรำลึก หรือบ้างก็เฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงการต่อสู้ของแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องระบบสามแปด คือ ลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก ๘ ชั่วโมง และอีก ๘ ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน

แต่สำหรับผมแล้วอาจเป็นเพราะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิของผู้หญิงโดยตรง” มีเรื่องการแก้ไขปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในปี ๒๕๕๓ เท่านั้นที่คาบเกี่ยวอยู่บ้าง รวมถึงประเด็นผู้หญิงไปแทรกอยู่ในทุกๆประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมติสมัชชาสุขภาพก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความรู้ในเรื่องนี้ของผมกระจ่างขึ้นแต่อย่างใด

ตามประวัติความเป็นมาของ "วันสตรีสากล" หรือ "International Women's Day" ที่ตรงกับวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี มีจุดเริ่มต้นมาจากวันที่ ๘ มีนาคม ปี ค.ศ.๑๘๕๗ (พ.ศ.๒๔๐๐) ที่กลุ่มแรงงานหญิงจากโรงงานทอผ้าและตัดเย็บเครื่องนุ่งห่มได้พากันเดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงาน แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วยการฆาตกรรมคนงานหญิง ๑๑๙ คน โดยการเผาโรงงานในขณะที่คนงานหญิงกลุ่มนี้กำลังประท้วงอยู่

๕๐ ปีผ่านไป หรือเมื่อปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ.๒๔๕๐) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ ๑๖ – ๑๗ ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด อันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก หลายคนต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยและเสียชีวิตตามมา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ “คลาร่า เซทคิน” นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่าแรงงานหญิงด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ ๘ มีนาคม ปี ๒๔๕๐ พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้ผู้หญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

แม้การเรียกร้องครั้งนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ มีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ “คลาร่า เซทคิน” และจุดประกายให้ผู้หญิงทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ในวันที่ ๘ มีนาคมปีถัดมา มีแรงงานหญิงกว่า ๑๕,๐๐๐ คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” อันหมายถึง “การได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดี” นั่นเอง

จนกระทั่งในวันที่ ๘ มีนาคม ปี ๒๔๕๓ ความพยายามของแรงงานหญิงกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนผู้หญิงจาก ๑๗ ประเทศ เข้าร่วมประชุม “สมัชชาสตรีสังคมนิยม” ครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดาแรงงานผู้หญิงในระบบสาม แปด นั่นก็คือ “ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก ๘ ชั่วโมง และอีก ๘ ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน” พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย

พร้อมทั้งยังได้รับรองข้อเสนอของ “คลาร่า เซทคิน” ด้วยการกำหนดให้ “วันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี” เป็น “วันสตรีสากล”

สำหรับประเทศไทยแล้วในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่อเวทีโลกที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในหลากหลายรูปแบบ โดยได้มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการและกิจกรรมต่างๆ ในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย คือ สร้างให้เกิดความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายในทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้หญิงได้มีโอกาสรับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน

แน่นอนสถานการณ์การเข้าไม่ถึงความไม่ธรรมของผู้หญิงในประเทศไทยก็ยังปรากฏในหลายมิติ โดยเฉพาะความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่ต้องแสวงหาหนทางจัดการต่อไป

แต่สำหรับผมแล้วในฐานะ “ผู้ชายคนหนึ่ง” สำหรับวันสตรีสากลปีนี้ ผมกลับอยากขอบคุณผู้หญิงอันเป็นที่รักของผมหลายๆคนที่มีส่วนสร้างและเกื้อหนุน โอบอุ้มให้ผมเติบโตมายังทุกวันนี้

คนแรก แม่อันเป็นที่รักของผม “สังเวียน บุญน้อยกอ” ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดผมขึ้นมาบนโลกใบนี้ท่ามกลางครอบครัวที่อบอุ่น พร้อมกับเลี้ยงดู หล่อหลอม สั่งสอนและส่งเสียจนผมเติบโตมาจนแข็งแกร่งในวันนี้ ไม่มีวินาทีไหนที่ท่านจะไม่ห่วงใยผม แต่น่าเสียดายที่ท่านได้จากผมไปกว่า ๑๖ ปี แล้ว แต่ผมยังคงรำลึกถึงท่านอยู่เสมอ

คนต่อมา “ครูลำดวน เล็กบุญส่ง” ครูบ้านนอกที่สั่งสอนผมด้วยความรักมาตั้งแต่วัยประถมศึกษา จนผมมีความรู้และมีฐานทุนต่อยอดจนเข้าสู่มัธยมศึกษา “ครูนันทนา” และ “ครูสมพร” ครูประจำชั้นสมัยที่ผมเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ และ ๕ ที่ดูแลและสอนผมจนจบการศึกษาได้อย่างภาคภูมิใจ

“น้าวิภาดา ถาวรกุล” ภรรยา “น้าบุญเสริม ถาวรกุล” เจ้าของ “ภัตตาคารเสริมมิตร สาขาลาดพร้าว” ที่มีชื่อเสียงมากในช่วงปี ๒๕๒๕ – ๒๕๓๐ ที่เปิดโอกาสให้ผมเข้ามาทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ในตำแหน่งสมุหบัญชี หลังเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถือเป็นประสบการณ์ในการทำงานเชิงบริการอันเป็นฐานในการสร้างนิสัย “การคำนึงถึงคนอื่นก่อน” ของผมมาจนถึงทุกวันนี้

“ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธ์” รองอธิบดีกรมอนามัย ที่มีส่วนผลักดันและส่งเสริมให้ผมเข้ามามีส่วนสำคัญในการทำงานระดับชาติเมื่อครั้งที่อยู่ที่กรมอนามัย ทำให้เด็กบ้านนอกกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ จนในที่สุดกลายมาเป็นผู้อำนวยการกองในที่สุด และยังมีส่วนผลักดันให้ผมเข้ามาสู่องค์กร สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ที่ผมรักอีกด้วย

“กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร” รองเลขาธิการ คสช. ผู้มีส่วนสนับสนุนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ทำให้ผมเข้ามาทำงานที่ สช. แห่งนี้ และยังเป็นผู้บังคับบัญชาของผม สอนงานและแนะนำงานให้แก่ผมจนมีความรู้ ประสบการณ์ในการทำงาน “สมัชชาสุขภาพ” ให้แก่ผมได้ทุกวันนี้

นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้หญิงอีกมากมายที่หนุนเสริมผมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเฉพาะในช่วงที่ทำงานในฐานะผู้อำนวยการกองแผนงาน และผู้อำนวยการสำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ทีมงานส่วนใหญ่เป็น “ผู้หญิง” จนทำให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จลงด้วยดี

คนสำคัญที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้โดยเด็ดขาด คือ ภรรยาของผม “รัมภ์รดา บุญญะโสภิต” ที่เป็นทั้งคู่ชีวิตและเพื่อนชีวิตที่สร้างครอบครัวเล็ก ๆ ด้วยความรักมาด้วยกันจนมี “เรา” ในวันนี้

ว่าไปแล้วชีวิตผู้ชายคนหนึ่งๆ ที่เติบโตมายังปัจจุบัน ต่างมีส่วนสร้างจากผู้หญิงอันเป็นที่รักรายรอบไม่ทางหนึ่งก็ทางใด เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายทุกคน คือ ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังที่ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ดูแลเอาใจใส่ ปลอบประโลม ช่วยเหลือในการแก้ปัญหา ให้คำปรึกษาและตักเตือนซึ่งกันและกัน

จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของชีวิตผู้ชายคนหนึ่งจึงมีอยู่ ๓ จุดสำคัญ จุดที่หนึ่งคือ ตอนตัดสินใจเลือกเรียนต่อ สอง ตอนตัดสินใจเลือกงาน และ สาม ตอนตัดสินใจเลือกภรรยา และทั้ง ๓ จุดนี้ ต่างมีผู้หญิงอย่างน้อยคนหนึ่งอยู่เบื้องหลังเสมอ

เนื่องใน “วันสตรีสากลปี ๒๕๕๗” ผมจึงขอขอบคุณผู้หญิงทุกคนที่ทำให้มี “ผม” ในวันนี้ขึ้นมาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น