วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

เพลงอักษร : เรื่องเล่าชาว “สช.”

๑ มีนาคม ๒๕๕๗

แล้วคำพูดที่ผมย้ำมาตลอดว่า “ไม่ต้องเป็นนักเขียนก็เขียนได้” แค่เริ่มต้นตัดคำว่า “อยาก” ออก ให้เหลือแต่คำว่า “เขียน” จากนั้นก็อย่ารอช้า ลงมือโดยทันที ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง

เมื่อน้องๆที่เข้าร่วมเวที We Can Do เมื่อช่วงบ่ายในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ต่างทยอยส่งผลผลิตมาให้ทีละคนๆ นำมาซึ่งความดีใจเล็กๆ ของคนที่ทำหน้าที่ “จุดประกาย (ไฟ)” คนหนึ่งในเวทีวันนั้น

แน่นอนสำหรับการเริ่มต้นการเขียนเรื่องเล่าเป็นครั้งแรกของใครหลายๆคน ลองนึกถึงอะไรๆที่เป็นครั้งแรกของเรา บางทีก็แฝงไว้ด้วยทั้ง “ตื่นเต้น ผวา กริ่งเกรง ไม่คุ้นชิน ไม่คุ้นเคย วิตกกังวล ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร” แต่ความไม่พร้อมนี้เองที่บอกว่า “จงลงมือทำให้ดีที่สุด” เพราะเมื่อเริ่มต้นก้าวแรก ก้าวต่อ ๆ ไปมิใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไป

เราลองมาอ่านผลงานของน้อง ๆ เหล่านั้นกันครับ

ผมขอเปิดเรื่องที่ ๑ ด้วยเรื่องของ “อรนิต อรไชย” กับ “เรื่องเล่าที่ไม่อยากเขียน”

เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ได้มีการจัดเวที We Can Do “การเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง”

ในเวทีนี้มีวิทยากรจาก สช. จำนวน ๓ ท่าน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถอย่างมากมาย ประกอบไปด้วย (๑) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ (๒) นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต (๓) นายสัณหกิจ รัตนกุล

ก่อนเข้าร่วมเวที มีความรู้สึกส่วนตัวว่า “คุณหมออำพล งานนี้ต้องเยอะแน่ๆ เหมือนอะไรต้องเนี๊ยบ ใครไม่มีส่วนร่วมก็จะถูกตัดคะแนน” ด้วยเวลาแค่ ๒ ชั่วโมงในกิจกรรมนี้ อย่างหนึ่งที่คิดไว้ต้องมีการฝึกปฏิบัติการเขียนเรื่องเล่าแน่นอน

“อยากเข้าไปฟัง แต่ไม่อยากเขียน เพราะตัวเองไม่ถนัด ไม่ชอบการเขียน เกรงว่าจะเขียนผิดหลัก”

เปิดห้องเข้าไปจัดโต๊ะเป็นวงกลม มองเห็นหน้ากันหมด ขอนั่งไกลๆวิทยากรเพื่อจะได้ไม่ถูกถาม

“เหมือนตอนเรียนหนังสือชอบนั่งหลังห้อง”

กิจกรรมเปิดเวทีด้วยหนุ่มน้อยน้องแน้ท (สัณหกิจ รัตนกุล) เล่าถึงวิธีการเขียน ตามด้วยหนุ่มใหญ่พี่โต (วิสุทธิ บุญญะโสภิต ) เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเขียน และต่อด้วยหนุ่มใหญ่กว่า (คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ ) ผู้เขียนเรื่องเล่าให้คนเข้าร่วมเวทีอ่านและวิเคราะห์ และให้ลองฝึกปฏิบัติ

“เป็นอย่างที่คิดไว้ ซื้อหวยไม่ถูก มีการฝึกปฏิบัติการเขียนจริงๆ และยังให้ผู้มีจิตอาสาเล่าให้เพื่อนฟังด้วย เอาล่ะเราจะเขียนอะไรดีล่ะ เข้ามาแล้ว ก็ต้องทำตามเขาไป”

ก่อนจะเริ่มเขียนก็คิดเป็นสิบนาทีกว่าจะได้ชื่อเรื่อง มองคนอื่นเขาก้มหน้าก้มตาเขียนเริ่มเขียนกันแล้ว จนพอได้เวลาท่านวิทยากรก็ให้ผู้มีจิตอาสาเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ตัวเองเขียนไม่ไปถึงไหนได้ประมาณ ๕ บรรทัดจากชื่อเรื่องและไปที่เนื้อหานิดหน่อย

ชื่อเรื่องของตัวเอง เรื่องเล่าที่ไม่อยากเขียน ตั้งใจว่าจะเขียนเล่าถึงความรู้สึกของตัวเองต่อการเข้าร่วมเวทีนี้ เรื่องที่ตั้งใจจะเขียนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

“ไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้นมาเองก็ยังคิดว่ามันยากเลย เพราะคนไม่เคยทำหรือเปล่า ยิ่งตัวเองไม่มีความรู้และไม่ค่อยได้เขียนที่ถูกหลัก จะเริ่มยังไง อะไรก่อนหลัง รู้สึกมันว่ายาก ทั้งหมดนี้อาจจะมาจากความไม่ถนัด ไม่ชอบ เป็นคนไม่มีศิลปะในชีวิต ไม่มีพรสวรรค์ กลัวผิดถูก จากประสบการณ์ที่เคยเขียน ก็เขียนแบบขำๆและเก็บไว้เอง ไม่ได้ให้ใครอ่าน เป็นไดอารี่บอกความรู้สึกส่วนตัว ทำให้ไม่อยากเล่าให้ใครฟัง”

เพราะการเขียนจะต้องใช้เวลามาก ทำให้ตัวเองนิ่งๆสบายๆ และต้องรู้ก่อนว่าจะเขียนเรื่องอะไร และเขียนอย่างไรให้ผู้อ่านอ่านแล้วรู้เรื่อง อยากอ่านให้จบ นี้คือสิ่งสำคัญที่สุด

เรื่องที่ ๒ : ลิงของแม่ ของ "วิลัยรัตน์ จั่นเพิ้ง"

หลังจากที่อาบน้ำเสร็จเรียบร้อย มือซ้ายของฉันก็กำ “ลิงน้อย” ที่ถูกซักมาหมาดๆเพื่อเตรียมนำไปตากรับลม

ทันใดนั้นลูกสาวคนเล็กก็เดินตามเข้าห้องมาติดๆ แม่อารมณ์ขันอย่างฉัน ก็เอ่ยทักไปว่า “ปาย เอาหมวกไปใส่มั๊ยลูก ใส่แล้วหลับสบาย ผมจะได้อยู่ทรง”

ลูกสาวตัวแสบ เงยหน้าขึ้นมาตอบทันควัน (หน้าตาย) “แม่ ระวังติดหวัดจากโฟล์ค นะ”

“ทำไมเหรอ โฟล์คเป็นอะไร...”

ฉันฉุกคิดไปถึงโฟล์คผู้เป็นหลานที่อยู่ในบ้านเดียวกัน

“เอ๊ะ มันไม่สบายตอนไหน เมื่อกี๊ยังนั่งกินข้าวด้วยกันอยู่เลย” สมองยังคิดไม่ทันจบ เสียงจากเจ้าตัวแสบก็ดังขึ้น พร้อมกับยื่นผ้าชิ้นหนึ่งส่งมาให้เรา “แม่อย่าลืมเอาผ้าปิดปาก ปิดจมูก ด้วยนะ เดี๋ยวจะติดหวัด”

“เฮ้ย ไอ้ผ้าที่มันจะให้เราปิดปาก ปิดจมูก นั่นก็คือ “ลิงน้อย” ของแม่ มันไง”

เวลาเรียนไม่รู้จะหัวไวอย่างนี้ไหม ลูกฉัน !!!!

เรื่องที่ ๓ : เครียดแค่ไหน...”คุณวิลัย” พร้อมยิ้ม ของ "วิลัยรัตน์ จั่นเพิ้ง"

“กรี๊ด! อะไรกันนี่ เต็มโต๊ะไปหมดเลย” เสียงกรีดร้องของฉันเมื่อได้เห็นเอกสารมากมายกองอยู่บนโต๊ะทำงาน ยิ่งถ้าช่วงสิ้นปีงบประมาณหรือช่วงปีใหม่ จะมีพัสดุกล่องโตส่งมาถึง “คุณวิลัยรัตน์” ไม่ขาดสาย

“อย่าตกใจค่ะ” มันไม่ใช่ของขวัญหรือรางวัลอะไร แต่มันคือ รายงานงานฉบับสมบูรณ์ และรายงานการเงินที่ผู้รับข้อตกลงส่งมาเพื่อปิดโครงการ

“ตื๊ด ตื๊ด ตื๊ด” เสียงโทรศัพท์ดังเป็นระยะ

“คุณวิลัยรัตน์ คะ/ครับ เอกสารที่ส่งไปให้ได้รับแล้วหรือยัง แล้วจะได้เงินตอนไหนคะ/ครับ”

“อ๋อ ได้รับแล้วค่ะ เดี๋ยวจะตรวจสอบความถูกต้องให้นะคะ” ความเครียดเริ่มมาเยือน แต่ก็ปลอบใจตัวเองเสมอ ไม่เป็นไรยังไงฉันก็ยิ้มได้ จะเครียดทำไม หัวเราะเข้าไปเดี๋ยวก็หายเอง

เช็คอีเมล์ทุกวัน “คุณวิลัยรัตน์ ส่งเอกสารให้แล้ว รบกวนตรวจสอบให้ด้วย หากเรียบร้อย โอนเงินเมื่อไรช่วยแจ้งกลับด้วย ขอบคุณค่ะ/ครับ”

“จ้า ทราบแล้ว รอไปก่อนนะเพราะบนโต๊ะอีกประมาณ ๑๐ เรื่องนะจ๊ะ”

ในขณะเดียวกันโครงการใหม่ก็เร่งเปิดเพื่อโอนเงินงวด ๑ ไปให้กับเครือข่าย เงินสดย่อยก็มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารก่อนเสนออนุมัติเบิกจ่าย กองทุนเพื่อนสุชน “สมาชิกกู้ฉุกเฉิน แต่งงาน คลอดบุตร ป่วย นอน รพ. สิทธิ์วันเกิด ลาออก ฯลฯ”

กำลังก้มหน้าในบางวัน ก็มีเสียงตะโกน “ประชุมจ้า ประชุม” สิ้นเดือนต้องทำรายงานติดตามใบสำคัญค้างรับ “ปู…สัปดาห์หน้าไปต่างจังหวัดนะ” “ปู….ขอแรงไปช่วยลงทะเบียนของสำนักพี่ด้วยนะ”

“ทำไม ปูอารมณ์ดี ดูตลก หัวเราะง่าย” เป็นคำถามที่เพื่อนมาถามบ่อย ๆ

หลายคนบ้างานบ้าพลังจนเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ใครถามอะไรไม่อยากตอบ เดินสวนกับเพื่อนร่วมงาน ยิ้มให้ก็ไม่ยิ้มตอบ หน้าหงิก หน้างอ คอหัก เป็นปลาทูแม่กลอง

ยึดคติ “ยิ้มไว้ ไม่ทุกข์ สนุกดี” เจอปัญหาอุปสรรค หรือเครียดจากเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวเมื่อไหร่ ก็จะท่องคาถานี้ เป็น “ยันต์กันเครียด”

“ทำไป บ่นไป ไม่เป็นไร ยังไงก็ยิ้มได้ แถมในแต่ละวันมีเรื่องเล่า เรื่องตลก มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ฮากันเข้าไป พอหายเครียด ก็ทำงานต่อ”

เรื่องที่ ๔ : ม่านหมอกที่ผ่านฟ้า ของ "สุรชัย กลั่นวารั"

๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เช้าอันสดใสของใครหลายคน ที่ตื่นขึ้นมาเพื่อดำเนินชีวิตตามปกติ ผมก็เป็นหนึ่งคนในนั้น ตื่นขึ้นมาก็เปิดโทรทัศน์ ช่องโปรด “Blue Sky” เพื่อฟังข่าวสารการชุมนุม เพราะมีข่าวว่าวันนี้จะมีการขอคืนพื้นที่ ประกาศโดย “ศรส.”

ผมยืนฟังรายงานในโทรทัศน์อยู่พักใหญ่ ในหัวก็คิดอะไรไปเรื่อย แล้วก็มีเสียงหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ถ้าใครจะไปสวดมนต์ก็ให้ไป แต่ถ้าใครคิดจะไปใช้ความรุนแรง ก็ไม่ต้องไป” เจ้าของเสียงคือ “ภรรยาอันเป็นที่รักของผม” ผมรู้ว่าเธอเป็นห่วง และกลัว

“นั่นสินะไปนั่งเฉยๆให้มันตี มันไม่รู้สึกหรอก มันก็ตีเราจนตายนั่นแหล่ะ แล้วจะไปทำไม” ผมหันไปพูดกับเธอ ก่อนที่จะเดินขึ้นไปห้องชั้นบนไปอาบน้ำแต่งตัวออกไปทำงาน

ระหว่างทางที่ขับรถไปทำงาน ความคิดในหัวสับสนไปหมด อยากรู้เหตุการณ์ก็อยากรู้ แต่กลัวว่าถ้ารู้แล้วจะอดไม่ได้ที่จะเดินทางไปร่วมการชุมนุม คิดไปคิดมาอยู่ครู่หนึ่งก็เลยตัดสินใจเปิดวิทยุฟังการรายงานเหตุการณ์การชุมนุมด้วยเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่า ฟังนิดเดียวคงไม่เป็นไร แต่แล้วสิ่งที่ผมได้ยินคือ

“คปท. ขอความช่วยเหลือเพราะมวลชนน้อย กำลังตำรวจมีจำนวนมากตรึงอยู่ทั้ง ๒ ด้านของถนนราชดำเนิน”

พอฟังรายงานนี้จบ ผมตัดสินใจให้สัญญาณไฟเลี้ยวข้างซ้าย หาที่จอดรถข้างถนน รวบรวมอุปกรณ์ทุกอย่างที่หาได้จากในรถเพื่อเดินทางไปแยกมิสกวันด้วยความคิดที่ว่า “จะไม่ไปตีกับใคร จะรักษาตัวให้รอดปลอดภัย หวังแค่ไปเพิ่มให้จำนวนผู้ชุมนุมมีมากขึ้น และหากเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ผมคงเป็นกำลังสำคัญในการช่วยผู้หญิงและคนแก่ในที่ชุมนุมนั้นได้” ผมคิดแค่นี้จริงๆ จึงมีแค่เพียง “รองเท้าผ้าใบกับใจถึงๆ” เท่านั้น

ผมเดินทางถึงสถานที่ชุมนุมที่ คปท. โดยลงรถแท็กซี่ที่หน้าสนามม้านางเลิ้ง เดินผ่าน “สะพานชมัยมรุเชฐ” ซึ่งเป็นเวทีการชุมนุม เห็นเด็ก ผู้หญิงและคนชรา อยู่เต็มเวที ผมเดินเลยขึ้นมาเข้ากลางแยกมิสกวัน ผ่านแนวกระสอบทราย ยางรถยนต์ ตาข่าย เสียงของรถกระจายเสียงดังต่อเนื่องและกึกก้องไปทั้งถนนราชดำเนินนอก จำได้ไม่เคยลืม เจ้าของเสียงที่พูดอยู่นั้นคือ “พี่ลูกหมี ๑ ใน ๔ ทหารเสือ กปปส.” นั่นเอง

ที่แรกผมตั้งใจว่าจะเดินตามเสียงพี่ลูกหมีไปแต่รู้สึกเป็นห่วงเหตุการณ์ทางสะพานผ่านฟ้ามากกว่า เลยตัดสินใจว่าไปทางโน้นก่อนแล้วค่อยเดินกลับมาทีหลัง ผมจึงเดินเลี่ยงไปทาง “สะพานมัฆวาน” เพื่อที่จะเดินต่อขึ้นไปยัง “สะพานผ่านฟ้า” ระหว่างที่เดินใกล้จะถึง “สะพานผ่านฟ้า” ผมก็ได้พบกับสิ่งที่ผมภาวนามาตลอดว่า “ขออย่าได้เจอ”

ภาพเบื้องหน้าคือ “กระป๋องแก๊สน้ำตา” ลอยขึ้นฟ้านับสิบนัด ควันจากกระป๋องแก๊สเริ่มกระจายตัวออกไปทั่วบริเวณ ในใจคิดว่าตรงนั้นจะมีการ์ดอยู่ไหม ถ้าอยู่แล้วทำไม ไม่มีการดับแก๊สน้ำตาพวกนั้น ผมรีบเดินให้เร็วขึ้น เริ่มพูดกับตัวเองให้กล้าไว้

ผมเดินสวนกับผู้คนของกองทัพธรรม ที่หนีออกมา ได้ยินเสียงพูดว่า... “เค้าจะฆ่าเราๆ...เค้าตีเราทำไม...เราคนไทยเหมือนเค้านะ...” เสียงของรถพยาบาลดังไปทั่วทั้งถนนราชดำเนินกลางและหลานหลวง มีป้าคนหนึ่งวิ่งมาเกาะผมแล้วพูดว่า “ไอ้หนู เร็วเข้า มันตีเราใหญ่แล้วไปช่วยพวกเราด้วย”

ผมรีบวิ่งไปถึงสะพานผ่านฟ้า ภาพที่เห็น คือ ตำรวจตีทุกอย่างที่ขวางหน้า คนแก่ผู้หญิง ตีไม่ปราณี รื้อของกระจัดกระจาย ยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตาทั้งยิงทั้งขว้างใส่เต็นท์

“เอาวะ” บอกตัวเอง ถึงไม่มีผ้าปิดหน้าไม่มีอะไรป้องกันก็ช่างมัน ยังไงก็ขอเข้าไปช่วยพวกเขาที่ยังไม่โดนตำรวจจับ ที่ยังไม่บาดเจ็บออกมาให้ได้ ผมจึงเริ่มไปพาคนออกมา เพราะมีคนจำนวนมากที่วิ่งหนีออกมาบางคนแก่มากเดินไม่ไหว แต่ก็ต้องหนี เพราะตำรวจตีไล่มาเรื่อยๆ ผมพยายามอุ้มคนแก่ออกไป โดยมีคนมารับช่วงต่อ ก็อาศัยการส่งต่อกันเป็นช่วงๆ

มาถึงตอนนี้ รถกระจายเสียงระดมการ์ดเข้าช่วยเหลือเวทีกองทัพธรรมเป็นการใหญ่ ผมกลับเข้าไปที่สะพานอีกรอบคิดว่ารอบนี้คงเป็นรอบสุดท้ายเพราะบริเวณนั้นเต็มไปด้วยกลุ่มควัน เสียงการยิงกระสุนยางยังดังต่อเนื่อง มีเสียงปนแบบนานๆครั้งของอาวุธประจำกายประเภทปืนสั้นเป็นระยะๆ

ผมพยายามก้มให้ต่ำเพราะตอนนี้การทำงานของตาไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แสบตาไปหมด หายใจก็ไม่ถนัด ผมวิ่งมาหยุดตรงป้าคนหนึ่ง ที่ตอนแรกเค้านั่งกันอยู่ ๓ คน พอหันไปอีกทีเหลือคนเดียว แล้วอีก ๒ คนหายไปไหนก็ไม่รู้

ผมมองผ่านควันของแก๊สน้ำตาที่กระจายอยู่รอบตัวเรา เห็นตำรวจหน่วยอรินทราช ยกเอ็มสิบหกขึ้นประทับบ่า แล้วเดินลั่นกระสุนเป็นชุดๆ ตำรวจหน่วยนั้นอยู่ไม่ไกลจากจุดที่ผมอยู่เท่าไหร่และกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ

ผมงงมาก มันเกิดอะไรขึ้นประชาชนไม่มีอาวุธแค่ “กระบองกับโล่” ก็สู้ไม่ได้แล้ว ผมพยายามรวบรวมสติที่ตอนนี้มีเหลืออยู่น้อยมากมองหาทางออกให้ตัวเองและป้าคนข้างๆ หันซ้ายหันขวาในท่าหมอบต่ำที่สุดในชีวิต ก็ไม่พบทางที่จะคลานหนีออกไปได้เลย เพราะเสียงกระสุนปืนมันบีบหัวใจสุดๆ ป้าก็ไอ ผมก็ไอ กลัวเสียงไอจะพาตำรวจมาถึงตัวก็กลัวแต่มันก็จำเป็นต้องไอ จนกระทั่งการมาถึงของเสียงระเบิดลูกนั้น

เสียงระเบิดดังสนั่น ป้าข้างๆ ถามผมว่า “นั่นเสียงอะไรลูก”

ผมหันไปดูกลุ่มควันแล้วหันมาตอบแบบไม่ลังเลเลยว่า “เสียงระเบิดครับ” ป้าถามต่อ “เค้าจะฆ่าเราเหรอ” สิ้นเสียงป้า เสียงเอ็มสิบหกก็ดังรัวเป็นชุดต่อเนื่อง ประหนึ่งว่า “เห็นอะไรขยับ เป็นยิง”

ตอนนี้ประสาทการได้ยินก็เริ่มทำงานแบบไร้สติ จากการที่เสียงปืนดังมาจากหลายด้าน ผมเงยหน้าขึ้นมอง เห็นระเบิดลงอีกสองลูกห่างออกไปตรงป้อมมหากาฬ เสียงปืนดังไม่หยุด ช่วงนั้นเองผมคิดในใจ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ผมขอบคุณที่คุณไม่ทิ้งพวกเรา ผมหันไปจับมือป้าแล้วบอกว่า “ไปกับผม” ก่อนที่ผมจะจับมือลากแกวิ่งออกมา ยอมรับเลยว่าผู้หญิงกองทัพธรรมใจกล้าสุดยอด

ผมนำป้าไปส่งหน่วยพยาบาลตรงแถวสะพานมัฆวาน ป้าขอบคุณผมใหญ่เลย แล้วแกก็อวยพรพร้อมยิ้มให้ รอยยิ้มนั้นมันบอกให้ผมรู้ว่าสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่นี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นไม่มีอะไรต้องเสียใจเพราะแม้แต่หญิงแก่ๆยังสู้ด้วยความกล้าหาญเพื่อสิ่งที่เค้าศรัทธา

บัดนี้ผมรู้แค่ว่าเวทีกองทัพธรรมตรง “สะพานผ่านฟ้า” ได้แตกแล้ว และการ์ดทุกคนได้กลับไปรวมตัวตั้งแถวรอรับการบุกของตำรวจที่ “สะพานมัฆวาน” ปราการด้านสุดท้ายก่อนจะเข้าถึงเวทีที่ “สะพานชมัยมรุเชฐ”

ซึ่งมีผมเป็นคนหนึ่งที่ร่วมต่อสู้กับเค้าอยู่ตรงนั้นด้วยเช่นกัน

เรื่องที่ ๕ : เดินทาง ของ “ทรงพล ตุละทา”

ผมใฝ่ฝันเป็นนักเดินทางมาตั้งแต่เด็ก ของเล่นโปรดในวัยเด็กของผมคือหนังสือแอทลาส (หนังสือแผนที่) และเข็มทิศ

ด้วยความชอบผจญภัย ชอบเดินทางของผมหรือเปล่าไม่ทราบ ผมเคยได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือภาพ เรื่อง “เดินทาง” เป็นเรื่องราวการเดินทางของมดตัวหนึ่งที่ถูกสภาพแวดล้อมรอบตัวส่งผลให้มดถูกพัดพาและต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ คนที่ให้หนังสือเล่มนี้บอกว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับผม

ผมไม่เหมือนมดตัวนั้นซะทีเดียว ถึงผมจะเดินทางมามากมาย แต่การเดินทางของผมล้วนมาจากความตั้งใจของผมเอง การเดินทางหลายครั้งอาจเกิดจากเหตุบังเอิญ หรือปัจจัยต่างๆ ประจวบเหมาะ แต่ถ้าไม่ใช่เพราะผมอยากเดินทางเอง อย่างไรผมก็ไม่ไป

ผมเริ่มชีวิตนักเดินทางตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ตั้งใจมาเรียนมหาวิทยาลัยไกลๆบ้าน หัดโบกรถท่องเที่ยว ผมชอบเดินทางไปที่ต่างๆ เพื่อไปดูวิถีชีวิตของผู้คน ดูบ้านเมือง ดูสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป การใช้ชีวิตที่มีแต่การเดินทางของผมทำให้ผมคิดถึงเรื่องสมัยเด็ก ผมเคยตามญาติที่ไปให้พระดูดวงที่สุโขทัย พระรูปนั้นทักผมว่าเด็กคนนี้จะไม่ได้อยู่กับบ้านเฉยๆ ต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ จะเดินทางเรื่อยๆ จนกว่าจะแก่เฒ่าจึงจะได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ผมคิดว่าจริง เพราะทุกวันนี้ผมก็ยังเดินทางอยู่

กลับมาที่ความใฝ่ฝันของผม ผมอยากเดินทางไปยังที่ต่างๆ แม้ว่าจะไปมาหลายที่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายที่ที่ยังไม่ได้ไป งานอดิเรกของผมที่ไม่เบื่อเลยคือการศึกษาข้อมูลการเดินทาง การดูแผนที่และจดจำเส้นทาง การฝึกภาษา ศึกษาการเอาตัวรอดเวลาเดินทางต่างบ้านต่างเมือง การเดินทางไกลแต่ละครั้งคือการฝึกปฏิบัติ โอกาส และสภาพแวดล้อมที่ช่วยหล่อหลอมผมจนเป็นนักเดินทางเล็กๆคนหนึ่ง คือการทำงานเป็นนักวิจัย การได้รับโอกาสให้เป็นผู้นำทัวร์ โอกาสต่างๆเหล่านี้ทำให้ผมไล่ตามความฝันของผมได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความฝันที่อยากเดินทางไปสถานที่อีกมากมายของผม ผมยังต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เก็บหอมรอมริบ เก็บเล็กผสมน้อยทั้งทุนเงิน ทุนเวลา เพื่อสร้างโอกาสให้ตนเองได้เดินทางไปที่ต่างๆที่อยากไป เพื่อเปิดโลกทัศน์ เรียนรู้โลกกว้าง เก็บประสบการณ์ชีวิต ใช้ชีวิต เปิดโอกาสให้ชีวิตได้ทำสิ่งต่างๆ ผมยังต้องเก็บเกี่ยวสิ่งที่ทำให้บรรลุความใฝ่ฝันตั้งใจทีละเล็กทีละน้อย และคิดว่ายังทำไปอีกนาน


นี้คือ ๕ เรื่องเล่าที่สร้างความอิ่มเอมใจให้ผมไม่น้อย ไม่นับอีกว่าน้อง “ทรงพล ตุละทา” ได้โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊คของตัวเองว่า “จากแรงบันดาลใจที่ได้จากเวที We Can Do ทำให้เกิดความตั้งใจที่จะกลับมาเขียนเรื่องเล่าลงในบล็อกตัวเองให้เหมือนพี่โต”

“ดีใจที่เป็นแรงบันดาลเล็ก ๆ กับความตั้งใจครั้งนี้ ทำต่อไป อย่างน้อย ๒๑ วัน รับรองว่าจะเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแน่นอน” เป็นข้อความที่ผมตอบ “ทรงพล ตุละทา” ไป และระหว่างพิมพ์แต่ละตัวอักษร ใบหน้าน้องๆในห้องประชุมก็มาเยือนพร้อมรอยยิ้มมุมปากผมที่เผยอขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น