วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

“สช.” ก้าวย่างสู่ปีที่แปด

๓ มีนาคม ๒๕๕๗

ผมนึกถึงตอนที่ลูกชายอายุ ๗ ขวบ ช่วงนั้นคือภาพสะท้อนของวัยที่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นเด็กกับการเติบโตจะเป็นวัยรุ่น เป็นวัยแห่งการเตรียมตัวและเตรียมพร้อมของคนเป็นพ่อแม่ที่จะส่งลูกให้ไปเผชิญโลกกว้างและสามารถรับผิดชอบต่อตนเองในทุก ๆ ด้านได้ในอนาคตต่อไป

คงไม่ต่างจากการเกิดขึ้นมาของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๐

วันที่พระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ฉะนั้นวันนี้ (๓ มีนาคม ๒๕๕๗) พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย จึงมีอายุครบ ๗ ปีเต็ม ที่เปรียบเสมือนเด็กน้อยวัยประถมศึกษาที่ค่อย ๆ เจริญเติบโตวันละเล็กวันละน้อยเพื่อเติบใหญ่เป็นวัยรุ่นที่กล้าแกร่งในวันหน้า

เจตนารมณ์สำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า

“สุขภาพ หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล การวางระบบเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพประชาชน จึงไม่อาจมุ่งเน้นที่การจัดบริการเพื่อการรักษาพยาบาลเพียงด้านเดียว เพราะจะทำให้รัฐและประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก และจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ในขณะเดียวกันโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ มีการเปลี่ยนแปลงและมีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องดำเนินการให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน มีส่วนร่วมและมีระบบสร้างเสริมสุขภาพและระวังป้องกันอย่างสมบูรณ์

สมควรมีกฎหมายว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ เพื่อวางกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ รวมทั้งมีองค์กรและกลไกเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่เป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งสามารถดูแลแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง”

กล่าวโดยง่ายในภาษาชาวบ้าน ก็คือ

กฎหมายฉบับนี้รองรับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือมุมมองเรื่องสุขภาพ จากเดิมที่คิดแบบแยกส่วน มาเป็นสุขภาพในฐานะองค์รวม ครอบคลุมสุขภาวะทั้ง ๔ ด้าน คือ กาย จิต ปัญญาและสังคม และให้มุ่งเน้นไปที่การ “สร้างนำซ่อม” ที่คำนึงถึงการ “มีส่วนร่วม” จากทุกฝ่าย

ดังนั้นจึงนำมาสู่การสร้างให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในสังคมไทยถึง ๕ ประการ

ประการที่ ๑ ได้กำหนดนิยามของคำว่า “สุขภาพ” ใหม่ และได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนไว้ถึง ๘ ประการ อาทิ การกำหนดให้บุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากนโยบาย โครงการและกิจกรรมที่ดำเนินโดยภาครัฐ เป็นต้น

ประการที่ ๒ เกิดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มีองค์ประกอบตามยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ได้แก่ มีผู้แทนจาก ๓ ภาคส่วน คือ ภาครัฐและการเมือง ภาควิชาชีพและวิชาการ และภาคประชาชนและเอกชน ที่สมดุลกัน มีหน้าที่สำคัญในการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีด้านนโยบายสุขภาพ

ประการที่ ๓ เกิดสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. เป็นองค์กรอิสระ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่เลขานุการของ คสช.

ประการที่ ๔ เกิดเครื่องมือที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” เป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม

ประการที่ ๕ เกิดธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบด้านยุทธศาสตร์และนโยบายด้านสุขภาพ

ผมนั่งทบทวนผลงานในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมาของ “สช.” พบว่า เครื่องมือ ๓ ชิ้นที่เกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้ได้เริ่มแตกหน่อได้อย่างเหมาะสมกับวัย

เครื่องมือที่หนึ่งชื่อว่า “ธรรมนูญสุขภาพ” กำเนิดขึ้นใน ๒ ระดับ คือ ระดับชาติ ได้มีการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ นำไปใช้อ้างอิงในหลายประเด็น แต่ที่น่าภูมิใจก็คือ ในระดับพื้นที่ได้เกิด “ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่” ตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล และเชิงประเด็น ที่กว้างขวาง โดย “ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” เป็นฉบับแรกที่เป็นต้นแบบสำหรับการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ จนปัจจุบันมีมากกว่า ๑๐๐ พื้นที่

เครื่องมือที่สองชื่อว่า “สมัชชาสุขภาพ” ที่มีให้เลือกนำไปใช้ได้ถึง ๓ รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ ๑ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีการจัดกันมาแล้วถึง ๕ ครั้ง มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปแล้ว ๕๑ มติ หลายมติรัฐบาลนำไปกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล หลายมติก็ถูกนำไปใช้อ้างอิงกับการทำงานของหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่

รูปแบบที่ ๒ สมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ ที่มีการนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด อนุภาค และระดับภาค ซึ่งในปัจจุบันได้ถูกยกระดับเป็น “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” ที่มีกลไก กระบวนการและรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน กว่า ๔๐ จังหวัด

นอกจากนั้นยังถูกนำไปใช้ในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะของงานระดับพื้นที่อีกหลายระดับ อาทิ ในกองทุนสุขภาพตำบล ที่สนับสนุนโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แผนแม่บทชุมชนที่สนับสนุนโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นต้น

รูปแบบที่ ๓ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น มีการนำไปใช้เป็นกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในเชิงประเด็น นับ ๑๐ เรื่อง อาทิ เรื่องระบบข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสุขภาพในภาวะสุดท้ายของชีวิต เป็นต้น

เครื่องมืออีกชิ้นที่สาม คือ “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ” หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “เอชไอเอ” ที่มีการออกแบบไว้ ๔ รูปแบบ

รูปแบบที่ ๑ เป็นการใช้เป็นเครื่องมือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๗ ที่กำหนดไว้ว่าเป็นโครงการหรือกิจการที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดไว้ ๑๑ กิจการ ที่ต้องมีการจัดทำ”เอชไอเอ” ก่อน

รูปแบบที่ ๒ เป็นเครื่องมือรองรองบทบัญญัติตามมาตรา ๑๑ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่กำหนดไว้ว่า “บุคคลอาจมีการร้องขอให้มีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ”

รูปแบบที่ ๓ เป็นแบบสมัครใจ ที่หน่วยงานหรือองค์กรมีแผนงานจะทำโครงการหนึ่งที่อยู่นอกเหนือจากรูปแบบที่ ๑ ก็สามารถนำ “เอชไอเอ” ไปใช้ก่อนเริ่มนโยบาย แผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมก็ได้

รูปแบบที่ ๔ เรียกกันว่า “เอชไอเอชุมชน” เป็นเครื่องมือเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมร่วมกัน

“เอชไอเอ” ทุกรูปแบบถูกนำไปใช้ที่กว้างขวางพอสมควร โดยเฉพาะ “เอชไอเอชุมชน” ที่หลายพื้นที่นำไปใช้เป็นเครื่องมือของชุมชนท้องถิ่น ในการศึกษาควบคู่กับการดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบที่ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา จนบางพื้นที่ต้องชะลอและยกเลิกโครงการไปในที่สุด อาทิ ที่อำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

ในวาระที่เด็กน้อยชื่อ “สช.” มีอายุครบ ๗ ปีเต็มวันนี้ ที่สำนักงานจึงได้มีการจัดพิธีทำบุญเลี้ยงเพลพระ ๙ รูปขึ้น ในบริเวณชั้น ๓ ของอาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมีเพื่อนภาคี อาทิ สถาบันพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เป็นต้น มาร่วมพิธีด้วย

“พระศรีธวัช อนิวตฺติโก” เจ้าอาวาส “วัดพุทธปัญญา” จังหวัดนนทบุรี ได้เทศนาสอนให้กับผู้มาร่วมงานหลังฉันเพล เรื่อง “หัวใจพระโพธิสัตว์” ที่ “พระพุทธเจ้า” ได้สอนไว้ โดยเน้นย้ำว่า “ใครปฏิบัติก็จะเข้าใกล้พระพุทธเจ้าได้อย่างแท้จริงและรวดเร็วขึ้น”

“หัวใจพระโพธิสัตว์” มี ๔ ประการ คือ ศีล (รักผู้อื่น) สติ (ตื่นตัวทุกเวลาและนาที) สมาธิ (รักษาจิตใจให้ดี) ปัญญา (ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง)

“พระศรีธวัช อนิวตฺติโก” ยังได้อธิบายในเรื่อง “หน้าที่” ว่ามี ๒ ประการ คือ

หนึ่ง หน้าที่ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมนุษย์ทุกผู้ทุกนามมีเหมือนกัน มี ๕ หน้าที่ คือ หน้าที่ของลูกที่มีต่อพ่อและแม่ หน้าที่ของศิษย์ที่มีต่อครู หน้าที่ของเพื่อนที่มีต่อเพื่อน หน้าที่ของพลเมืองที่มีต่อประเทศชาติ และหน้าที่ของสาวกของพระพุทธศาสนา

สอง หน้าที่ที่เกิดขึ้นภายหลัง เป็นหน้าที่ตามบทบาทในสังคมของแต่ละคน เช่น หน้าที่ปฏิบัติตัวเป็นข้าราชการที่ดี หน้าที่ของนักธุรกิจ หน้าที่ของพ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น

นับเป็นคำสอนที่ให้แง่คิดที่ถือเป็นหลักสัจธรรม นั่นก็คือ คำสอนที่เป็นสัจจะ ถูกต้องเสมอแม้เวลาจะผ่านไปนานแสนนาน

เมื่อนำคำสอนมาเทียบเคียงกับหน้าที่ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ให้กำเนิดเครื่องมือ ๓ อย่าง ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม คือ ธรรมนูญสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ และเอชไอเอ

ผมในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของหน้าที่นั้น จึงขอตั้งมั่นในการทำหน้าที่ที่จะขับเคลื่อนเครื่องมือทั้ง ๓ ชิ้นนั้น เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของกฎหมายที่ในหลวงของเราพระราชทานลงมา

วันที่สาม มีนา ปีห้าเจ็ด................นับเบ็ดเสร็จ เจ็ดปี ที่ก้าวผ่าน

เหมือนเด็กน้อย ค่อยเติบโต จากคืบคลาน... ทุกวันผ่าน กาลคล้อย ค่อยค่อยยืน

ผลิตผลใหม่ เครื่องมือใหม่ มิติใหม่.........เสริมสร้างใน กระบวนการ เคยแข็งขืน

มีส่วนร่วม คือหลักการ ที่ยึดยืน...........เติบโตขึ้น สุขภาวะ สังคมไทย

ปฎิรูป ระบบ สุขภาพ .................ทุกฝ่ายนับ ร่วมเคลื่อน เขยื้อนไหว

เป้าหมายคือ สุขี ทั้งกายใจ............. จิตวิญญาณ สังคมไซร้ อย่างสมบูรณ์

ธรรมนูญ สมัชชา เริ่มแตกหน่อ........... ขยายก่อ กออ่อน รอเสริมหนุน

เอชไอเอ พัฒนา ที่สมดุล.............. เป็นฐานทุน เกื้อกูล สังคมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น