วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ทิศทางนโยบายส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพของประเทศไทย

๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ถ้ายังจำกันได้ช่วงใกล้วันวาเลนไทน์เมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เปิดเผยสถานการณ์วัยรุ่นไทยติดอันดับตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูงเป็นอันดับ ๑ ของเอเชีย และเป็นอันดับ ๒ ของโลก หรือประมาณ ๘๐ % ของวัยรุ่นทั้งหมด เด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ ๓๗๐ คน และที่อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี คลอดบุตรวันละ ๑๐ คน อายุน้อยที่สุดที่พบ คือ ๙ ปี

โดย ๗๐ % ใช้บ้านตัวเองและบ้านเพื่อนเป็นสถานที่มีเพศสัมพันธ์ และมีการใช้ถุงยางเพียง ๕๕ % เท่านั้น ส่วนใหญ่มักมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คุมกำเนิด บ้างไม่รู้ว่ามีเพศสัมพันธ์แล้วท้อง บ้างคุมกำเนิดไม่เป็น บ้างไม่สนใจคุมกำเนิด บ้างไม่สามารถเข้าถึงการบริการคุมกำเนิด บ้างกลัวการคุมกำเนิด เป็นต้น

นี้เป็นข้อมูลที่น่าตกใจไม่น้อยถึงเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นไทยในยุคปัจจุบัน

เพราะในขณะที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายกำหนดแผนประชากรในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ หรือระหว่างปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประชากรไทยทุกคนเกิดมามีคุณภาพ ได้รับการพัฒนาทุกช่วงวัยให้สามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของประเทศ มีหลักประกันที่มั่นคงพร้อมเข้าสู่สังคมอายุที่มีการจัดสวัสดิการอย่างยั่งยืนโดยครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วม”

และได้กำหนดยุทธศาสตร์ประการหนึ่ง คือ “ส่งเสริมให้ประชากรไทยทุกคนเกิดมามีคุณภาพ พร้อมที่จะพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเติบโตขึ้น”

คำถามที่ท้าทายยิ่งก็คือ เมื่อสถานการณ์การตั้งครรภ์หรือท้องในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมที่จะมีบุตรยังมีอัตราสูงอยู่เช่นนี้ จะนำไปสู่การเกิดที่มีคุณภาพตามแผนประชากรที่รัฐบาลกำหนดได้อย่างไร

มีข้อมูลวิชาการจำนวนมากที่ยืนยันว่า บุตรที่คลอดจากมารดาวัยรุ่นมักจะเจ็บป่วยบ่อย พัฒนาการล่าช้า และมีโอกาสเสียชีวิตสูง ในขณะที่ตัววัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดภาวะเเทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์สูง ไม่ว่าจะเป็นครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

ด้วยความตระหนักต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น กรมอนามัย โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างประชากรของประเทศไทยให้มีคุณภาพ จึงมีแนวที่จะจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

ต้องถือว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่ผมได้รับเกียรติอย่างสูงจากหน่วยงานดังกล่าว มอบหมายให้เป็นวิทยากรนำกระบวนการเวทีในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเอวัน พัทยากลาง จังหวัดชลบุรี

ในเวทีครั้งนี้ ผมได้พบผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ "ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล" จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล "แพทย์หญิงนันทา อ่วมกุล" อดีตผู้ทรงคุณวุฒิระดับ ๑๑ ของกรมอนามัย "รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ" จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายภาคีที่หลากหลาย อาทิ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย สำนักงานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชลบุรี ศูนย์อนามัยที่ ๓ ชลบุรี และนักวิชาการจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ เป็นต้น

ประสบการณ์สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการกองแผนงานของกรมอนามัย ถูกหยิบมาใช้ในเวทีครั้งนี้อย่างมาก

ตั้งแต่การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคาม ที่เรียกกันติดปากว่า SWOT Analysis หลักการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ ตัวชี้วัด และการกำหนดยุทธศาสตร์ และกลวิธีหรือมาตรการสำคัญที่จะนำมาใช้

ผู้เข้าร่วมเวทีราว ๓๐ ชีวิต ต่างช่วยกันระดมความคิดอย่างเข้มข้น แต่ก็แฝงไปด้วยความสนุกสนาน ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยควรมีกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน อันประกอบด้วย องค์กรภาครัฐและการเมือง ภาควิชาการและวิชาชีพ และภาคประชาชนและภาคเอกชนรวมทั้งองค์กรสื่อ ทุกระดับ (ตั้งแต่ระดับชาติ จังหวัด อำเภอและชุมชนท้องถิ่น) ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน เกิดการบูรณาการ และมีเป้าหมายที่สอดคล้องกัน

โดยยึดหลักการสำคัญเรื่อง “การเป็นเจ้าของร่วมกัน” และ “การมีส่วนร่วม” ในการทำงานเรื่องนี้

ที่ประชุมได้กำหนดวิสัยทัศน์หรือภาพอันพึงประสงค์ที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี ร่วมกันว่า “ทุกครอบครัวให้กำเนิดชีวิตใหม่ ที่มีคุณภาพและพร้อมจะเติบโต อย่างมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี ด้วยการรวมพลังของทุกภาคส่วน”

โดยนำยุทธศาสตร์สำคัญ ๕ ประการ ตาม "กฎบัตรออตตาวา" มาเป็นกรอบในการกำหนดกลวิธีหรือมาตรการสำคัญที่จะดำเนินการ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยกำหนดมาตรการสำคัญ ประกอบด้วย

• ผลักดันให้มีและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยอนามัยการเจริญพันธุ์
• การแก้ไขกฎหมายครอบครัว ให้พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายรับผิดชอบการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการเลี้ยงดูบุตร
• การแก้ไขกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง ให้สอดคล้องกับนิยามใหม่ของคำว่าสุขภาพ
• การแก้กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการรับบริการการคุมกำเนิดของวัยรุ่น กฎหมายเทคโนโลยีด้านอนามัยการเจริญพันธุ์
• ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
• การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม สิทธิอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการมีบุตรยากของครอบครัวที่พร้อม การตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร
• การพัฒนาข้อเสนอนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงการวางแผนครอบครัว และการคุมกำเนิดที่ง่าย การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ (Baby Bonus) สวัสดิการให้บิดาลาเลี้ยงลูก การดูแลการเกิดของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชนเผ่า) มาตรการทางสังคมเพื่อช่วยดูแลการเกิดที่มีคุณภาพ มาตรการสร้างเครือข่ายครอบครัว มาตรการส่งเสริมการสื่อสารเรื่องเพศในครอบครัว เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่

• การส่งเสริมและสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดให้มีศูนย์เด็กเล็กที่น่าอยู่ และสถานที่สร้างสรรค์ เช่น สนามกีฬา สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น
• การจัด zoning สถานบันเทิง ร้านเกม ร้านจำหน่ายบุหรี่/สุรา
• การควบคุมสื่อที่มีผลต่อสุขภาพ อาทิ ทีวีดาวเทียม อินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน
• การควบคุมสภาวะแวดล้อม (กายภาพ จิตใจ สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี) ที่มีผลกระทบเชิงลบ และส่งเสริมให้มีสภาวะแวดล้อมที่มีผลกระทบเชิงบวก

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง โดยมีมาตรการสำคัญ คือ

 สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โดย การพัฒนาศักยภาพและจิตสำนึกผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สร้างภาคีเครือข่ายระดับชุมชน (ร้านสะดวกซื้อ ร้ายขายยา โรงเรียน บ้าน วัด ฯลฯ) และสร้างพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับอำเภอ
 พัฒนาแกนนำระดับชุมชนให้สามารถดูแลและเป็นที่ปรึกษาได้
 สร้างเครือข่ายความร่วมมือการป้องกัน เฝ้าระวัง และการช่วยเหลือระหว่างชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ
 การถอดบทเรียนชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อเป็นต้นแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่น

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล โดยมีมาตรการสำคัญ คือ

 ส่งเสริมให้องค์กร/สื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะ เผยแพร่ความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย
 กำหนดให้มีการพัฒนาทักษะโดยใช้เพศศึกษารอบด้านเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารระดับสูง
 สร้างจิตสำนึกให้ทุกคน โดยสื่อสารสาธารณะทุกช่องทาง ทั้ง Air War และ Ground War รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์
 การพัฒนาระบบให้คำปรึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีครอบครัว
 ความรักและรับผิดชอบต่อตนเอง (ผู้หญิงรักตนเอง ผู้ชายและผู้หญิงรับผิดชอบต่อตัวเอง)
 การผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนในและนอกระบบการศึกษาทุกระดับชั้น ตามอัธยาศัย (ผลักดันการสอนเพศศึกษา และการสร้างครอบครัวในโรงเรียน)
 การพัฒนาทักษะให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว
 เพิ่มเป็นเกณฑ์ในโรงเรียนระดับเพชร
 เพิ่มช่องทางให้เด็กวัยรุ่นสามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องเพศได้อย่างต่อเนื่อง เช่น อินเตอร์เน็ต การจัด event
 จับคู่การสอนเรื่องเพศระหว่างครูกับ จนท.สาธารณสุข
 การจัด mobile team
 การทำสื่อประเภทการ์ตูน คลิปวีดีโอ (การเห็นคุณค่าในตนเอง) เพื่อช่วยสอนในกรณีที่ไม่มีผู้สอน
 สร้างแกนนำเยาวชนให้มีความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้วยตนเองได้ Youth advisory panel

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การปรับเปลี่ยนระบบบริการ โดยมีมาตรการสำคัญ

• เร่งรัดให้ระบบบริการสุขภาพผ่านการประเมินรับรองตามมาตรฐาน
• เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการ (hotline, facebook, เอกชน, โรงเรียน, ชุมชน รพ.สต. )
• พัฒนาศักยภาพคลินิกการให้คำปรึกษาในโรงเรียนและเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น
• เชื่อมโยงระบบบริการของแต่ละหน่วยงานให้มีการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน
• ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการรับผิดชอบต่อเรื่องเพศ (เช่น ขณะคลอดบุตร การดูแลสุขภาพของมารดาตั้งแต่ตั้งครรภ์ คลอดและเลี้ยงดูบุตรจนโต การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับภรรยา )
• ปรับระบบการให้บริการโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น facebook , line
• มีศูนย์ให้คำปรึกษาครอบครัว
• การเตรียมความพร้อมของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข
• การใช้ medical abortion
• คลินิกบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน
• สนับสนุนเวชภัณฑ์วางแผนครอบครัวที่หลากหลาย และฟรีทุกสิทธิ
• พัฒนาและขยายการให้บริการของศูนย์พัฒนาครอบครัวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การบริหารจัดการ โดยมีมาตรการสำคัญคือ

• พัฒนาระบบฐานข้อมูล เช่น เด็กถูกทอดทิ้ง การแท้ง และพัฒนาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานเข้าหากัน
• การพัฒนาให้ศูนย์พัฒนาชุมชนมีการจัดทำข้อมูลด้านสุขภาพครอบครัวให้ครอบคลุมและใช้ประโยชน์
• หาช่องทางในการได้มาซึ่งข้อมูลจากหน่วยบริการอื่นๆที่นอกเหนือจากภาครัฐ โดยต้องคำนึงถึงการพิทักษ์สิทธิของผู้รับบริการด้วย
• การพัฒนาระบบเพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย
• การพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล (เพื่อการพัฒนางานต่อ)
• ผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้มากขึ้น และมีการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ
• การพัฒนากลไก/แผน ทำงานให้มีประสิทธิภาพในทุกระดับ (ระดับชาติ จังหวัด อำเภอ ตำบล)
• เชื่อมโยงแหล่งทุนในชุมชน เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยผลักดันให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น (กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีงบประมาณจะลงไปสนับสนุนที่การกู้ยืม การช่วยเหลือ การพัฒนาศักยภาพสตรี มีลักษณะของกองทุน ความยั่งยืนอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการกองทุน โดยใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกองทุน)
• การสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรม การจัดการความรู้ (knowledge management )
• การลงทุนเรื่องงานวิจัย และการสร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น

เหล่านี้คือผลผลิตเบื้องต้นที่ผู้เข้าร่วมเวทีทุกคนได้ช่วยกันคิดค้น อภิปราย ถกเถียง แสดงเหตุผลและกำหนดออกมา โดยทุกคนเน้นย้ำว่า “นี้คือร่างแรก” ที่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไปอีกหลายเวที

สำหรับผมแล้ว แม้จะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการสร้างกระบวนการที่ทำให้ผู้คนได้ร่วมกันระดมสมองครั้งนี้ แต่ความรู้สึกในขณะที่มีโอกาสได้ทำงานนี้ กลับเกิดความสุขและสนุกยิ่งนักที่ได้มีส่วนร่วมในการรังสรรค์งาน ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมไทยในอนาคตให้เป็นประเทศที่มีประชากรที่มีคุณภาพต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น